กวิ้นแตกหักสหาย! ปัดร่วมแก๊ง‘คอมมิวนิสต์’ลั่นจุดยืนปฏิรูปสถาบันฯ


เพิ่มเพื่อน    

 

“เพนกวิน” โดดหนีผีคอมมิวนิสต์ ประกาศไม่ใช่สมาชิกเยาวชนปลดแอก ลั่นยังยึดจุดยืน 3 ข้อ ขู่ถึงทางแยกที่ชนชั้นนำต้องเลือกว่าจะไปถนนปฏิรูปหรือปฏิวัติ! รัฐบาลเมินกฐินไม่ไว้วางใจ “วิษณุ” เหน็บอกสั่นระรัวกลัวจะตาย “ธรรมนัส” เตือนคนอภิปรายเจอสวนจะหนาว “สุทิน” ฟุ้งมีหมัดเด็ดแน่ เย้ย “บิ๊กตู่” ที่ไม่กลัวเพราะตายด้านไปแล้ว โวไม่มีหักเหลี่ยมกันเองอีกแน่ รบ.เคาะชื่อ “เทอดพงษ์-สุภรณ์” นั่งกรรมการสมานฉันท์
    เมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม ยังคงมีความต่อเนื่องกรณีกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ในเครือข่ายคณะราษฎร 63 เสนออุดมการณ์คอมมิวนิสต์จนตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำคณะราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กถึงพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยว่า เป็นสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งจุดยืนในเพจเยาวชนปลดแอกนั้น เป็นแนวทางของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเอง ไม่ใช่แนวทางของตนเอง และไม่ใช่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่สำคัญไม่ใช่มติของราษฎร
    “ผมยังคงยึดมั่นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีเผด็จการหรือศักดินาแทรกแซงครอบงำ เพื่อประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียม และเพื่อประชาธิปไตยที่มีรัฐสวัสดิการโอบอุ้มชีวิตของทุกคน การเสนออุดมการณ์ไม่ว่าจะแนวคิดใดมิใช่เรื่องผิดบาป ถือเป็นเสรีภาพของผู้เสนอ แต่ในเชิงการเคลื่อนไหวต่อสู้นั้น จะต้องประเมินให้ดีว่าแนวคิดที่จะเสนอนั้นสอดคล้องกับเจตจำนงของมวลชนหรือไม่”
    นายพริษฐ์โพสต์อีกว่า เรายังยึดมั่นในข้อเสนอสามข้อซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูป แต่ตามธรรมชาติแล้ว การปฏิรูปจะเกิดขึ้นก็เมื่อชนชั้นนำยอมปรับเปลี่ยนตัวเอง หากชนชั้นนำไม่ยอมปรับตัวก็จะไม่เกิดการปฏิรูป และเมื่อไม่เกิดการปฏิรูปก็จะเกิดการปฏิวัติ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ทั่วโลก ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นรถยนต์ ก็เหมือนอยู่ที่สามแยก ทางหนึ่งเลี้ยวไปหาการปฏิรูป ทางหนึ่งเลี้ยวไปหาการปฏิวัติ ประชาราษฎรได้ขับรถมาถึงหน้าสามแยกแล้ว แต่จะเลี้ยวไปทางไหนนั้น สถาบันและองคาพยพศักดินาจะเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าเลือกปรับปรุงตัวรถก็เลี้ยวเข้าถนนปฏิรูปสามข้อ แต่ถ้ายังดื้อด้าน รถก็เลี้ยวเข้าทางปฏิวัติข้อเดียวก็เท่านั้น
    ขณะเดียวกันยังคงมีความต่อเนื่องกรณีพรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ ท่านไม่เห็นทำอะไรเลย และเมื่อถามว่าจะอภิปรายเรื่องบ้านพักหลวง พล.อ.ประวิตรก็กล่าวว่า ก็จบไปแล้ว เขามีคำสั่งกันเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2548
    เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านจะอภิปราย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียด คงต้องถามเจ้าตัว
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีมีชื่อจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมีการเตรียมพร้อมอย่างไร ว่าไม่มีความเห็น ส่วนจะถูกอภิปรายอะไรนั้น ต้องถามฝ่ายค้าน มาถามตนเองไม่ได้ เพราะก็อยากรู้
“วิษณุ”อกสั่นระรัว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าไม่กังวลใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอไม่ตอบ เพราะถ้าตอบอย่างไรก็ตามสื่อก็จะเอาไปพาดหัวว่าไม่ยี่หระ ไม่แคร์ ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ทั้งๆ ที่อกสั่นระรัวกลัวจะตายอยู่แล้ว
    ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวเรื่องนี้เช่นกัน ว่าไม่มีเรื่องใหม่ เป็นเรื่องเดิม ส่วนที่คาดกันว่าจะอภิปรายเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.ว่าเอื้อประโยชน์นายทุนนั้น ก็พร้อมทุกเรื่อง เรามาสู่เวทีการเมืองแล้วจะไปกลัวอะไรกับการอภิปราย ขอบคุณที่ให้ความใส่ใจ ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร เราทำงาน แต่คนที่จะอภิปรายนั้นต้องพิจารณาตัวเอง เดี๋ยวสวนกลับบ้างจะหนาว
    ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เชื่อว่าหลังปีใหม่น่าจะได้ข้อสรุป โดยอาจยื่นญัตติได้ประมาณเดือน ม.ค.2564 เนื่องจากสมัยประชุมสภาจะสิ้นสุดลงเดือน ก.พ.2564
    เมื่อถามว่า จากการรวบรวมข้อมูลของฝ่ายค้าน มีอะไรเป็นหมัดเด็ดและทำให้การอภิปรายมีน้ำหนักมากขึ้น นายสุทินกล่าวว่า เรื่องนี้ยังบอกไม่ได้ โดยรู้แต่ว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลล้มเหลว ซึ่งหากล้มเหลวจากเหตุสุดวิสัยนั้นไม่เป็นไร แต่ปรากฏว่าความล้มเหลวเกิดจากการไม่รู้เรื่องและวิเคราะห์ที่ผิดพลาด เกิดการทุจริตซ้ำ เป็นเรื่องไม่น่าให้อภัย รวมทั้งยังมีอีกหลายเรื่องที่ได้สร้างความเสียหายในวงกว้าง และเป็นการวางพื้นฐานให้เกิดทางตันในระยะยาว เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่เรามีข้อมูลลึกๆ ว่ามีบางเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรทำ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมายและยังผิดหลักมนุษยธรรม
     ถามอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าไม่กลัวการอภิปราย แม้ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลที่ทำให้ช็อกได้ นายสุทินกล่าวว่า คิดว่านายกฯ เป็นมาขนาดนี้แล้ว ไม่รู้สึกอะไรแล้ว เป็นคนไร้ความรู้สึกของประชาชน ไม่ร้อนไม่หนาวแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นายกฯ จะไม่กลัว"
       ถามย้ำว่า ข้อมูลที่จะทำให้รัฐบาลช็อกนั้นฝ่ายค้านมีแน่นอนใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ถ้าเป็นคนอื่นคงช็อก แต่ถ้าเป็นนายกฯ ก็ไม่รู้ เราไม่ได้บอกว่าหนานะ แต่บอกว่าแกมีความรู้สึกเหมือนกับคนตายด้านแล้วสำหรับความเดือดร้อนของประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่จะอภิปรายนั้นจะเน้นคนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถ้าเปิดออกมาแล้วนายกฯ บอกว่าไม่รู้ คนจะไม่เชื่อ เพราะไปทุจริตในที่ที่ไม่ควรทุจริต
ลั่นไม่ซ้ำรอยหักเหลี่ยม
    เมื่อถามว่า การอภิปรายครั้งนี้จะเกิดเหตุการณ์ที่ฝ่ายค้านมาหักเหลี่ยมกันเองเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่มีแน่นอน เพราะที่ผ่านมาประสบการณ์ในการเป็นฝ่ายค้านยังน้อย และพรรคร่วมฝ่ายค้านต่างเป็น ส.ส.มือใหม่หัดขับเท่านั้น ดังนั้นเราอาจมีปัญหาอยู่บ้างคือ ความไม่เจนจัด แต่มาวันนี้เราเชื่อว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคมีประสบการณ์และเล่นเข้าขากันแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งจะมีการติวเข้มกันเป็นปกติ และตรวจสอบข้อมูลกันให้ครบถ้วนต่อไป
    วันเดียวกัน ยังคงมีความต่อเนื่องในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลจะส่ง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ และนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นตัวแทนรัฐบาลร่วมคณะกรรมการฯ ว่าคงต้องเข้าที่ประชุม ครม.ก่อน
    เมื่อถามว่าจะส่งรายชื่อ 2 คนนี้แจ้งให้ ครม.รับทราบใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรยิ้มและพยักหน้ารับ ส่วนที่มีเสียงท้วงติงถึงรายชื่อทั้ง 2 คนนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า เขายังไม่ทำเลย จะไปคิดเช่นนั้นได้อย่างไร ให้เขาทำงานก่อน
    ถามต่อว่าทำไมถึงเลือกบุคคลทั้งสองร่วมกรรมการสมานฉันท์ พล.อ.ประวิตรตอบว่า เขารู้อยู่แล้วว่าเขาจะต้องทำอะไร เมื่อถามว่าเป็นเพราะนายสุภรณ์เคยร่วมชุมนุมมาก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรยิ้มพร้อมกล่าวว่า แล้วแต่จะคิด เมื่อถามอีกว่าภาพลักษณ์ของทั้ง 2 คนที่ผ่านมาเหมือนเป็นคนตอบโต้ประเด็นต่างๆ ของผู้ชุมนุม แล้วจะทำให้เกิดความปรองดองได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็ต้องคุยกัน ให้เขาทำงานก่อน
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคเสนอชื่อนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งได้แจ้งให้นายวิษณุที่นายกฯ มอบหมายให้รับผิดชอบแล้ว คาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร และนายเทอดพงษ์มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ เชื่อว่าการส่งตัวแทนของพรรคจะไม่มีปัญหาอะไร
       แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบให้นายวิษณุเป็นผู้ประสานเพื่อพิจารณารายชื่อ 2 บุคคลที่ต้องส่งในนาม ครม.ไปให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยหากพิจารณาเสร็จแล้วไม่จำเป็นต้องขอมติจากที่ ครม.เห็นชอบ เพียงรายงานให้นายกฯ ทราบก่อน โดยโควตากรรมการในส่วนของ ครม. พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นร่วมกันว่าให้เป็นตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ 1 คน และพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน ซึ่งนายจุรินทร์เสนอชื่อนายเทอดพงษ์  ส่วนพรรค พปชร.คาดว่าเป็นชื่อนายสุภรณ์
    ทั้งนี้ ในช่วงพักประชุม ครม. นายสุภรณ์ได้ขอเข้าพบและพูดคุยกับนายจุรินทร์เป็นการส่วนตัว คาดว่าพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจหลังจากที่มีกระแสข่าวว่าพรรค พปชร.จะส่งรายชื่อนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายสุภรณ์ ร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์
    นายสุทินกล่าวถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เตรียมหารือกับฝ่ายค้านในวันที่ 16 ธ.ค. เพื่อให้มาร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์อีกครั้งว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคมีมติไปแล้วว่าไม่เข้าร่วม ก็ต้องลองดูว่าหากประธานรัฐสภาขอความร่วมมืออีกครั้ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าท่าทีของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคจะมีมติอย่างไร  
ผุดกก.จับตาแก้รธน.
       ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมคณะกรรมการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำโดยนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการการเมือง ก่อนแถลงข่าว โดยนายชัยเกษมระบุว่า พรรคเห็นความสำคัญของการแก้รัฐธรรมนูญ และต้องได้ผลออกมาดีต่อประเทศ จึงตั้งคณะกรรมการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ
       นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ในฐานะคณะกรรมการผลักดันการพิจารณารัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ขอความคืบหน้าจาก กมธ.ของพรรค ซึ่งสรุปได้ว่าประเด็นที่ยังมีปัญหาขัดแย้ง และยังเห็นไม่ตรงกัน ประกอบด้วย 1.รัฐธรรมนูญควรแก้ไขได้ยากหรือง่ายกว่ากฎหมายธรรมดา 2.ควรเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยตรงจากประชาชน หรือควรแต่งตั้งด้วย และ 3.การทำประชามติ
       ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน กล่าวว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้เสร็จภายใน 8 ม.ค.2564 ซึ่งที่ผ่านมาก็มีประเด็นที่ กมธ.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเห็นตรงกัน อาทิ การตัดเสียงเสียงข้างน้อย การไม่มีแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งในญัตติเรายืนยันว่าจะไม่มีการแก้ไข 2 หมวดดังกล่าว เว้นแต่ทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความสมบูรณ์มากขึ้น
     เมื่อถามถึงกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เป็นคำร้องที่เคยร้องไปแล้วเมื่อปี 2555 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองและรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ได้มีมาตราใดระบุข้อห้ามในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้เลย.
    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"