ดูเหมือนภาพรวมเศรษฐกิจไทย ณ สิ้นปี 2563 จะมีทิศทางที่สดใสขึ้น แม้สุดท้ายตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ออกมาจะขยายตัวติดลบ แต่ก็เป็นการติดลบที่ไม่มากอย่างที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ในช่วงแรกๆ จากมาตรการการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงอานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
โดยมาตรการที่ดูมีประสิทธิภาพที่สุด และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี คงหนีไม่พ้น "โครงการคนละครึ่ง" ที่หลายฝ่ายต่างยอมรับว่า เป็นโครงการจากรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี และสามารถจูงใจให้ประชาชนตื่นตัวและอยากจะใช้จ่ายได้จริง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต่างรู้สึกว่าราคาสินค้าถูกลง ขณะที่ร้านค้าเองก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเกินกว่าเท่าตัว เรียกว่าทุกฝ่ายต่างก็ "แฮปปี้" ไปตามๆ กันกับมาตรการนี้
"โครงการคนละครึ่ง" เฟสแรก ที่เปิดรับลงทะเบียน 10 ล้านสิทธิ์ พบว่ามีผู้ใช้สิทธิ์แล้วกว่า 9.5 ล้านคน โดยมียอดใช้จ่ายสะสม ณ วันที่ 13 ธ.ค.2563 อยู่ที่ 4.33 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 2.21 หมื่นล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 2.11 หมื่นล้านบาท ขณะที่ร้านค้าสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วถึง 9.7 แสนร้านค้า โดยคาดว่าจนถึงสิ้นสุดระยะโครงการในเฟสแรก คือ วันที่ 31 ธ.ค.นี้ จะมีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามเป้าหมายที่ 6 หมื่นล้านบาท
หลังจากที่โครงการในเฟสแรกประสบความสำเร็จอย่างดี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2563 ก็ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนิน "คนละครึ่งเฟส 2" ต่อ วงเงินดำเนินการ 2.25 หมื่นล้านบาท โดยยืนยันว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานรากให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงไตรมาส 1/2564 ผ่านการบริโภคจับจ่ายใช้สอยของประชาชน คาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 4.5 หมื่นล้านบาท หลักของโครงการยังเป็นไปตามเดิมเหมือนกับเฟสแรก คือ รัฐบาลจะร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน
ทั้งนี้ โครงการคนละครึ่ง เฟส 2 จึงเตรียมจะเปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น. โดยแบ่งผู้เข้าร่วมโครงการเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ลงทะเบียนใหม่ จำนวน 5 ล้านคน และ 2.กลุ่มที่ได้รับสิทธิ์คนละครึ่งเฟสแรก ซึ่งมีการใช้สิทธิ์แล้ว 9.5 ล้านคน จะต้องกดปุ่มยอมรับเงื่อนไขและรับสิทธิ์โครงการคนละครึ่งเฟส 2 เพื่อรับเงินเพิ่มอีก 500 บาท ในแอปพลิเคชันเป๋าตุง ซึ่งจะไม่มีการกำหนดเวลา แต่หากไม่กดปุ่มดังกล่าวก็จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติม โดยทั้ง 2 กลุ่มที่ได้รับสิทธิ์จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมทั้งสิ้น 3.5 พันบาทต่อคน
สำหรับการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนี้มีขั้นตอนเช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่งระยะแรก คือ 1.ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com โดยกรอกข้อมูลชื่อ-สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และเบอร์โทรศัพท์ที่จะติดตั้งแอปพลิเคชันเป๋าตัง 2.รอรับ SMS แจ้งผลการลงทะเบียน
และ 3.ติดตั้งแอปพลิเคชันเป๋าตัง และยืนยันตัวตน และเมื่อดำเนินการครบก็สามารถใช้จ่ายกับร้านค้าที่ติดตั้งแอปพลิเคชันถุงเงินที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับสิทธิเงินร่วมจ่ายจากรัฐ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,500 บาท ซึ่งผู้ได้รับสิทธิจะต้องเริ่มใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ตนได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ หรือวันที่เปิดให้เริ่มใช้จ่ายตามโครงการ ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นกังวลว่า ระบบการรับลงทะเบียนจะเสถียรเพียงพอรองรับการลงทะเบียนของประชาชนพร้อมๆ กันจำนวนมากหรือไม่นั้น "กรุงไทย" ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้ ยืนยันแล้วว่าระบบมีความพร้อมและไม่ล่มแน่นอน โดยได้มีการเพิ่มปริมาณการรองรับการลงทะเบียนเป็น 2 เท่า สูงสุดที่ 5 แสนรายการต่อนาที ส่วนเรื่องที่เคยเป็นปัญหาและถูกวิจารณ์อย่างมากไม่แพ้ระบบล่ม คือเรื่อง OTP นั้น กรุงไทยก็ได้มีการพัฒนาระบบให้ดีขึ้น โดยสามารถส่งเลข OTP ได้ 8-9 พันรายการต่อวินาที ถือเป็นการยืนยันความพร้อมของระบบการรับลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายในประเทศต่อไป มีการประเมินว่าจากมาตรการคนละครึ่ง เฟส 2 ที่จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบไม่น้อยกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมของรัฐบาล ที่ใช้งบกว่า 2 หมื่นล้านบาท จะช่วยทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก 0.2%.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |