พอมีข่าวเรื่องอังกฤษและสหรัฐฯ เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชน ผู้คนที่จับตาชีพจรด้านเศรษฐกิจก็บอกว่าน่าจะเห็น "แสงสว่างที่ปลายถ้ำ"
ปีนี้ทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะติดลบหนัก (แม้จะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับบางประเทศ) และปีหน้าจะเริ่มเป็นบวก
แต่อย่าลืมว่าจะเป็นตัวบวกที่มาจากฐานใหม่ที่ติดลบหนัก
เป้าหมายที่สำคัญคือ เศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับ "ก่อนโควิด" ได้ในปีไหน
บางสำนักบอกว่า 3 ปี แต่อีกบางสำนักบอก 5 ปี
ไม่ได้อยู่ที่แนวโน้มการลดการระบาดของโควิดเท่านั้น แต่อยู่ที่ความสามารถของผู้บริหารประเทศด้วยเป็นสำคัญ
และคุณภาพของผู้บริหารประเทศนั้นย่อมอยู่ที่คุณภาพของกลไกการเมือง และกติกาสูงสุดที่กำลังถกแถลงกันอย่างรุนแรงและหนักหน่วง
และอยู่ที่ผู้บริหารจะสามารถเปิดกว้างให้ผู้คนทุกหมู่เหล่าเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศร่วมกันหรือไม่อีกด้วย
หลายสำนักวิจัยและวิเคราะห์มองว่า เศรษฐกิจปีหน้าของไทยจะพลิกเป็นบวกที่ประมาณ 2-3%
แต่ยังกังวลเรื่อง "ความไม่แน่นอน" ในด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในระดับสูง
ถ้าเป็นนักธุรกิจและนักวิชาการ รวมไปถึงผู้บริหารนโยบายการเงินการคลังของประเทศก็จะเป็นห่วงเรื่องเงินบาทแข็งตัวเร็วเกินไป
และแน่นอนปัจจัยการเมืองในประเทศ ก็เป็นเหตุที่ต้องนำเข้าพิจารณาในการประเมินภาพของประเทศในสองสามปีข้างหน้า
กับหวั่นว่าหนี้เสียหรือ NPL จะพุ่งขึ้นเกินกว่าระดับที่จะสบายใจได้
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 2.6% แต่เชื่อว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงเพราะการกระจายวัคซีนต้องใช้เวลา
ขณะที่อีกสำนักหนึ่งคือ "SCB EIC" มุ่งมอง 5 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยได้
หากหนี้เสียเพิ่มมากก็จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงแหล่งทุนของภาคเอกชน
ค่ายนี้คาดว่าผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ของไทยปีหน้าน่าจะเพิ่มขึ้นได้ 3.8%
ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพยากรณ์ว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตที่ 2.6% นั้น ก็เพราะเชื่อว่าจะมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งการบริโภคและการลงทุน
แต่ก็เชื่อว่าการฟื้นตัวที่ช้านี้เพราะมีปัจจัยของความไม่แน่นอนอย่างน้อย 3 เรื่อง
1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก และแม้จะมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งกว่าจะมีผลทางบวกต่อเศรษฐกิจ
2.ค่าเงินบาทแข็งตัวเร็ว โดยมีแนวโน้มไปแตะที่ระดับ 29.0-29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2564
เหตุเพราะได้แรงหนุนของปัจจัยพื้นฐานเงินบาทจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากการขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัด
อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ภายใต้ "โจ ไบเดน" ที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างมากโดยธนาคารกลาง
3.ปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้
มองไปในปีหน้าแม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่มีประเด็นความเพียงพอของการกระจายวัคซีน ผลข้างเคียงวัคซีน และระยะเวลาในสร้างภูมิคุ้มกัน
เพราะคำถามเหล่านี้จึงทำให้การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยทำได้ช้า
ประเมินกันว่าในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4.5-7.0 ล้านคน
"กรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 อยู่ในช่วง 0.0-4.5% โดยหากการเข้าถึงวัคซีนดำเนินการได้เร็วกว่าที่ประเมิน ก็จะส่งผลดีต่อกิจกรรมเศรษฐกิจและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ GDP โน้มเข้าหากรอบบนของประมาณการ ขณะที่หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสรุนแรง อีกทั้งการพัฒนาและการเข้าถึงวัคซีนทำได้น้อยและล่าช้าออกไปกว่าปลายปี 2564 จะส่งผลให้ GDP เอียงเข้าสู่กรอบล่างของประมาณการ" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
พรุ่งนี้: ฟื้นอย่างน่ากังวล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |