ขบวนชุมชนและ พอช.ร่วมขับเคลื่อนบ้านมั่นคงปี 2564 เป้าหมาย 21,200 ครัว จับมือมูลนิธิยุวพัฒน์พัฒนาคนรุ่นใหม่เริ่มในศูนย์เด็กเล็กนำร่อง 11 พื้นที่


เพิ่มเพื่อน    

ผู้ร่วมประชุม ‘การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขบวนที่ดินและที่อยู่อาศัย ปี 2564’

 

พอช./ ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศและ พอช.ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยปี 2564  รวม 21,200 ครัวเรือน  แยกเป็นโครงการบ้านมั่นคงเมือง 3,100 ครัวเรือน  บ้านมั่นคงชนบท 3,100 ครัวเรือน  และบ้านพอเพียงชนบท 15,000 ครัวเรือน  เน้นการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่าย  และแก้ปัญหาทั้งเมือง  ขณะเดียวกันจะร่วมกันสร้างเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ  คิดเป็น  ทำเป็น  โดยส่งเสริมการพัฒนาตั้งแต่เด็กในศูนย์เด็กเล็กชุมชนผ่านโครงการบ้านมั่นคง  นำร่อง 11 พื้นที่ทั่วประเทศ  เริ่มต้นปี 2564

 

ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม  สำนักบ้านมั่นคงและที่ดิน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ   เรื่อง ‘การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขบวนที่ดินและที่อยู่อาศัย ปี 2564’ ที่โรงแรมพันทิพย์  และที่ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 5 ภูมิภาค  เจ้าหน้าที่และผู้บริหารสถาบันฯ เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 150 คน  โดยมีนายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน 

 

 

สถานการณ์ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและข้อเสนอแนะจาก ปธ.กมธ.ที่ดิน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 5 ภูมิภาคต่างได้รับผลกระทบจากการพัฒนา  ผลกระทบจากนโยบายรัฐ  และภัยพิบัติต่างๆ  เช่น  ภาคเหนือ  การพัฒนาคลองแม่ข่า  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  ส่งผลกระทบเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย   ปัญหาฝุ่นควันสูงสุดของประเทศ  ฯลฯ  ภาคอีสาน  ผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูง  รถไฟรางคู่  ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สองข้างทางรถไฟจะได้รับผลกระทบจากการรื้อย้าย  ปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วมทำให้บ้านเรือนเสียหาย 

 

ภาคกลางและตะวันตก  ผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (จ.พระนครศรีอยุธยา) รถไฟรางคู่ (อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์)  พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนบางไทร-บางบาล (จ.พระนครศรีอยุธยา)  กรุงเทพฯ และภาคตะวันออก  ผลกระทบจากการขยายเมือง  ราคาที่ดินสูง  การไล่รื้อชุมชนเร่งด่วน  พื้นที่รับน้ำจากกรุงเทพฯ  พื้นที่พัฒนา EEC   การขยายตัวของแนวเขตรถไฟฟ้าความเร็วสูงและสนามบิน   ฯลฯ  ภาคใต้   ปัญหาที่ดินราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์  อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี  ราคายางพาราตกต่ำ   การใช้ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันดามัน  ฯลฯ

 

 

นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สภาผู้แทนราษฎร  ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในที่ประชุม    โดยเสนอสาระสำคัญในการผลักดันให้ภาครัฐกระจายอำนาจสู่ภาคประชาชน  เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการที่ดิน  ทั้งในเชิงโครงสร้างและความชอบธรรมทางกฎหมาย  คือ 1.กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการที่ดิน  ทั้งในเชิงโครงสร้าง  ความชอบธรรมทางกฎหมาย  และการปฏิบัติการร่วมในพื้นที่  2.บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐ คลี่คลาย ยุติปัญหาที่ดินรัฐทับซ้อนกัน  3.ชุมชนดั้งเดิม มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐ  และ 4.ปรับปรุงข้อกฎหมาย  ข้อบังคับที่ล้าสมัย  และจำกัดสิทธิ  เสรีภาพของชุมชน

 

พอช.หนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 249,000 ครัวเรือน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง  คือการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  เช่น  ชุมชนในที่ดินบุกรุกทั้งรัฐและเอกชน  หรือที่ดินเช่าที่ไม่มีความมั่นคง  โดย พอช.จะสนับสนุนให้ชาวชุมชนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เช่น  จัดหาที่ดินใหม่หรือเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง  โดย พอช.สนับสนุนด้านความรู้  สินเชื่อ  และงบอุดหนุนบางส่วน  โครงการที่สำคัญ  เช่น  โครงการบ้านมั่นคง  โดย พอช. เริ่มโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ในปี 2546 เริ่มจากโครงการนำร่อง 10 โครงการแรกในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

 

ในช่วงแรก พอช.จะทำโครงการบ้านมั่นคงทีละโครงการ หรือตามความพร้อมของชุมชน แต่ในปีต่อมาจึงเริ่มทำหรือสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทั้งเมือง โดยการสำรวจข้อมูลชุมชนแออัด ข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยทั้งเมือง แล้วนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาทั้งเมือง ทำให้แก้ไขปัญหาได้เร็ว โดยใช้กลไกความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจึงขยายไปทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการบ้านมั่นคงชนบท โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม มีฐานะยากจน)

 

2546 ที่ พอช.เริ่มทำโครงการบ้านมั่นคงจนถึงปัจจุบัน พอช.ได้สนับสนุนการแก้ปัญหาให้ประชาชนผู้ยากไร้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยทุกประเภทไปแล้วกว่า 3,000 ชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ ประมาณ 249,000 ครัวเรือน (บ้านมั่นคงในเมืองและชนบท 116,719 ครัวเรือน, บ้านพอเพียงชนบท 69,425 ครัวเรือน, ชุมชนริมคลองลาดพร้าว-เปรมประชากร 2,972 ครัวเรือน, ซ่อมสร้างบ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 11,388 ครัวเรือน, ซ่อมสร้างบ้านในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ 48,992 ครัวเรือน ฯลฯ)

 

 

เป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัยปี 2564         

ในช่วงการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19  ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563  พอช.ได้สนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ  โดยเฉพาะชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด  เช่น  ตกงาน  ไม่มีรายได้  หรือมีรายได้ลดน้อยลง  จัดทำครัวกลางเพื่อแจกจ่ายอาหารช่วยเหลือชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  รวมทั้งหมด 27 เมือง  16 จังหวัด  รวม 69 จุด  จัดทำอาหารแจกจ่ายทั้งหมดประมาณ 300,000 กล่อง

 

รวมทั้งจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศในช่วงสถานการณ์โควิด-19  รวม 234 เมือง  1,557 ตำบล  เช่น  การสร้างความมั่นคงทางอาหาร  การปลูกผัก  เพาะเห็ด  เลี้ยงไก่ไข่  เลี้ยงปลา  กบ  ฯลฯ   เพื่อลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  สร้างแหล่งอาหารสำรอง

 

ส่วนในปี 2564  พอช.มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ชาวชุมชนที่มีรายได้น้อย  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ปลอดภัย  และมีคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยแยกเป็น 1.บ้านมั่นคงเมือง  รวม 3,100 ครัวเรือน  (สนับสนุนสินเชื่อระยะยาว  ดอกเบี้ยต่ำ  ไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท  และอุดหนุนอื่นๆ)  2.บ้านมั่นคงชนบท  รวม 3,100 ครัวเรือน  (สนับสนุนการสร้างบ้านและพัฒนาด้านต่างๆ ไม่เกินครัวเรือนละ 72,000 บาท)  และ 3.บ้านพอเพียงชนบท  รวม 15,000 ครัวเรือน  (สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม  ฐานะยากจน  ไม่เกินครัวเรือนละ 19,000 บาท

 

ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง  อ.เมือง จ.อุทัยธานี  จะได้รับการซ่อมสร้างใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท

 

‘6 เปลี่ยน  8 ทิศ  9 เนื้อหา’            

ทั้งนี้ในปี 2564 พอช.สนับสนุนให้ขบวนองค์กรชุมชนพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศโดยใช้แนวทาง ‘6 เปลี่ยน 8 ทิศ  9 เนื้อหา’  โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

6 เปลี่ยน  : เปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเมืองและชนบท  คือ  1.เปลี่ยนจากไม่ทำร่วมกับใคร เป็นการสร้างความร่วมมือ 2.เปลี่ยนจากการทำโครงการบ้านมั่นคงเดี่ยว เป็นทำทั้งเมือง/ตำบล 3.เปลี่ยนวิธีคิดจากการทำเพียงบ้าน (ด้านกายภาพ) เป็นการสร้างบ้านที่มากกว่าบ้าน (มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจในชุมชน เพื่อให้ลูกหลานมีงานทำ มีรายได้ ไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานที่ต่างจังหวัด) 5.เปลี่ยนจากการเป็นเครือข่ายเฉพาะชุมชนบ้านมั่นคง ขยายครอบคลุมชุมชนคนจนที่มีอยู่ในเมือง 6.เปลี่ยนจากการถูกออกแบบให้ กำหนดให้เป็นการร่วมกันออกแบบ

 

8 ทิศ  :  ทิศทางการพัฒนาเมืองและชนบท  คือ 1.พัฒนาองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีสมดุล  มีส่วนร่วม มีแผน มีระบบ ตื่นตัวในการเรียนรู้ 2.วางผังวางแผนการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า 3.การฟื้น/ สร้างกองทุนชุมชน กองทุนเมือง ให้เป็นสถาบันการเงินของชุมชนที่มีความเข้มแข็ง 4.มีแผน แนวคิดในการพัฒนาอาชีพ รายได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง 5.ส่งเสริมบทบาท เปิดพื้นที่ให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ 6.ส่งเสริมผู้หญิงให้มีบทบาทในการทำงานพัฒนา 7.สร้างชุมชนแห่งสวัสดิการและการอยู่ร่วมกัน 14.การมีส่วนร่วมการพัฒนาเมืองและท้องถิ่น

 

9 เนื้อหา : แนวทางการทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองและชนบท  คือ  1.ที่ดิน  ผลักดันนโยบายที่ดิน  สร้างความร่วมมือในที่ดินรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย  2. ข้อมูลเมือง/ตำบล   จัดทำฐานข้อมูล  โดยการสำรวจข้อมูลเมืองทุกเรื่อง  โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่จัดทำระบบข้อมูล  3.กองทุน  สร้างการออมทรัพย์  กองทุนชุมชน  กองทุนสวัสดิการชุมชนให้เข้มแข็ง  4.เครือข่าย  เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนระหว่างเมือง  ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลาง   ผู้เดือดร้อนและขบวนองค์กรชุมชนเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา  หน่วยงานต่างๆ ช่วยหนุนเสริม  5.ระบบสาธารณูปโภค  ประปา  ไฟฟ้า  ถนน  6.พัฒนาคุณภาพชีวิต  วิเคราะห์ต้นทุนเมือง  วางแผนพัฒนากลุ่ม  ชุมชน  เมือง  ครอบคลุมทุกด้าน  7.พัฒนาคุณภาพองค์กร  พัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง  เสริมสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมการพัฒนาและแก้ไขปัญหา  8.กฎหมาย  กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  ผังสีที่ดิน/เมือง  การขอทะเบียนบ้าน  9.นวัตกรรม/เทคโนโลยี   แสดงข้อมูลบนแผนที่  ใช้โปรแกรมภูมิศาสตร์สารสนเทศ  ภาพถ่ายทางอากาศ  โดรน  ฯลฯ

 

การพัฒนาชุมชนต้องเริ่มจากเด็กเล็ก

วันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นวันสุดท้าย  มีการแนะนำโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่บูรณการการเรียนรู้ผ่านการเล่นโดยเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้  โดย นพ.สันติ ลาภเบญจกุล  จากมูลนิธิยุวพัฒน์

 

 นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา 

 

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา  ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและที่ดิน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เกริ่นนำว่า ขบวนองค์กรชุมชนจะก้าวเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาชุมชนทุกด้าน  ทั้งด้านที่อยู่อาศัย  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  การสร้างคน  การสร้างเด็กยุคใหม่ให้มีคุณภาพ  โดยต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก  ซึ่งไม่ใช่เอาเด็กไปไว้ในศูนย์เด็กเล็กเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยง  แต่จะต้องพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชนขึ้นมาให้มีคุณภาพ  โดยขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้ทำ  ไม่ต้องรอนโยบายจากรัฐ  และขยายไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างเยาวชน  คนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้มีคุณภาพ  คิดเป็น  ทำเป็น

 

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล  มูลนิธิยุวพัฒน์  กล่าวถึง การทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กในตลอด 10 ปีที่ผ่านมาว่า  มีทั้งกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ  เพราะปัญหาสำคัญคือการพัฒนาเด็กที่ยังไม่เปิดให้เด็กเรียนรู้  คิด วางแผน ออกแบบ และทำกิจกรรม  

 

“แต่ในมิติใหม่ของการพัฒนาเด็ก  พัฒนาเด็กเพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแรงของสังคมตั้งแต่ปฐมวัยนั้น  จะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี  ซึ่งเด็กช่วงอายุนี้  หากถูกเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงดูจะมีภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิต และหลีกเลี่ยงการก่อปัญหาในสังคม  เช่น  การท้องก่อนวัยอันควร  การไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด  การไม่ก่ออาชญกรรม ซึ่งเป็น 3 ปัญหาสำคัญของสังคมในปัจจุบัน” นพ.สันติกล่าว

 

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล  

 

นอกจากนี้ในกลุ่มเด็กช่วงอายุ 2-4 ขวบ  ที่มักจะนำไปฝากเลี้ยงในสถานที่รับเลี้ยงศูนย์เด็กต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศนั้น  มักถูกเลี้ยงโดยการให้นอน  ให้ดูทีวี  ให้เล่นโทรศัพท์ ซึ่งสูญเสียเวลา 6-7 ชั่วโมงที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ที่ถูกต้องสำหรับเด็ก  จึงเป็นที่มาของการจะเปลี่ยนเวลา 6-7 ชั่วโมงนี้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเด็กมากขึ้น  ด้วยรูปแบบแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก ในรูปแบบ Active Learning โดยส่งเสริมให้เด็กอยู่กันเป็นกลุ่มเพื่อให้เขารู้จักแบ่งปันกัน  ช่วยเหลือกันมากขึ้น

 

นพ.สันติยกตัวอย่างพื้นที่รูปธรรมที่ตำบลลำสนธิ (ศูนย์เด็กเล็กเขาน้อย) อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรีว่า เป็นพื้นที่ที่มีคนยากจนเป็นจำนวนมาก ซึ่งสภาพเดิมของศูนย์เด็กเล็กที่นี่  เด็กอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย  จัดสถานที่การเรียนรู้  ของเล่น หรือกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมกับวัย  แต่เมื่อมูลนิธิได้เข้าไปหนุนเสริมก็ได้ปรับสภาพแวดล้อม  สถานที่ภายในศูนย์ใหม่  ประดิษฐ์ของเล่นจากสิ่งของที่มีโดยคนในชุมชน ให้เด็กๆนำหนังสือนิทานเพื่อกลับไปให้พ่อแม่เล่าให้ฟัง

 

ส่งเสริมให้นักโภชการที่มีอยู่ในท้องถิ่นลงไปออกแบบเมนูอาหารร่วมกับโรงเรียน จัดกิจกรรมให้กับเด็กในแต่ละวัน  เช่น  ช่วงเช้ากิจกรรมออกกำลังกายเบาๆ ดื่มน้ำตอนเช้า  ทานอาหารก่อนล้างมือ  สานสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กด้วยการกอด  ฝึกระเบียบวินัยในการต่อแถวเข้าห้องน้ำ  หากิจกรรมที่ให้เด็กเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้ใหญ่  เช่น ข้าวคืออะไร  มีอะไรบ้าง วัฒนธรรมไทยคืออะไร  มีอะไรบ้าง ฯลฯ

 

 

“นอกจากนี้ยังมีมุมเล่นเสรี  มุมศิลปะ  มุมหนังสือ  เวลา 7.00 – 12.00 น. จะให้เด็กวางแผนกันว่าวันนี้เด็กจะทำกิจกรรมอะไร?  เรียนรู้อะไร?  ลงมือปฏิบัติโดยให้เด็กใช้เวลากับการเล่น 1.30 ชั่วโมงต่อวัน  หลังจากนั้นให้เด็กๆ มารวมกลุ่มกัน เล่าให้กันฟังว่าไปเล่นอะไรมา  และถามตอบกันไปมา  โดยเด็กๆ จะอธิบายตามที่เขาเข้าใจในภาษาของเขา  จนมูลนิธิพัฒนาเป็นหลักสูตร ICAP  โดยมีผลการศึกษาพบว่า  การทำกิจกรรมต่างๆ  ดังกล่าว  ทำให้ค่า EF ของเด็กลำสนธิสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วประเทศ”  นพ.สันติยกตัวอย่าง

 

ขบวนองค์กรชุมชนร่วมพัฒนาเด็กผ่าน ‘บ้านมั่นคง’

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งเข้าร่วมงานในวันนี้  กล่าวเสริมว่า การเลี้ยงเด็กที่ดีและเหมาะสมสำหรับเด็กนั้นควรจะเป็นอย่างไร  ซึ่งเด็กไทยช่วงแรกเกิดนั้นมีระดับไอคิวที่ไม่แตกต่างกับเด็กในต่างประเทศ  แต่เมื่อโตขึ้นเด็กไทยกับเด็กต่างประเทศจะมีระดับไอคิวที่เริ่มไม่เท่ากัน  เนื่องจากการได้รับการดูแลจากครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน  ขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัวอย่างใกล้ชิด  มีกระบวนการดูแลให้ความรู้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน  โภชนาการทางอาหารที่ไม่เหมือนกัน  รวมทั้งการฝากเลี้ยงดูเด็กเล็กในศูนย์ต่างๆ ที่มีระบบการจัดการตามช่วงเวลา  ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กได้เล่น ได้แสดงออก ออกแบบสิ่งที่เขาอยากจะทำได้เต็มที่  ส่งผลให้ระดับไอคิวเด็กจะเริ่มต่ำลง

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

 

ทั้งนี้ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนที่เข้าการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้  มีความสนใจที่จะนำโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่บูรณการการเรียนรู้ผ่านการเล่นโดยเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของมูลนิธิยุวพัฒน์ไปพัฒนาศูนย์เด็กเล็กของชุมชน  รวมทั้งหมด 11 พื้นที่  โดยจะเริ่มในช่วงต้นปี 2564 ระยะเวลา 2 เดือน  เช่น  ศูนย์เด็กเล็กที่ดำเนินการโดยท้องถิ่น พื้นที่บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ   ศูนย์เด็กเล็ก อบต.ไทรใหญ่ จ.นนทบุรี  ศูนย์เด็กเล็ก ตำบลตำมะลัง จ.สตูล   ศูนย์เด็กเล็กในโครงการบ้านมั่นคง  เช่น  พื้นที่ตำบลคลองหินปูน จ.สระแก้ว  เครือข่ายที่อยู่อาศัยสร้างบ้านแปงเมือง จ.พะเยา   เครือข่ายที่อยู่อาศัย จ.ลำปาง  เครือข่ายที่อยู่อาศัย จ.นครสวรรค์  ฯลฯ

 

โดยมูลนิธิยุวพัฒน์จะหนุนเสริมชุดความรู้สำหรับพัฒนากระบวนการเรียนรู้เด็กเล็ก  พัฒนาบุคลากรในศูนย์เด็กเล็ก  รูปแบบกิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก   หนุนเสริมการเลือกอุปกรณ์  สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก   การออกแบบสถานที่สำหรับเด็ก   ส่วนเครือข่ายบ้านมั่นคงจะกำหนดให้การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเป็นหนึ่งในเนื้อหาของการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบ้านมั่นคง  การคัดเลือกพื้นที่ปฏิบัติการรูปธรรม  และเชื่อมโยงการเรียนเพื่อขยายผลกับสภาองค์กรชุมชน  และท้องถิ่น  และนำไปขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"