15 ธ.ค.63 - ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ นำโดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กทม. ว่า รัฐบาลได้เตรียมการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มโดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกำหนดแนวทาง 12 มาตรการ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นหมอกควันและไฟป่า จากการตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กพบว่ามี 14 พื้นที่ในกทม.และปริมณฑล เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์เมตร ในช่วง 3-4 วัน
ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรฯเป็นหน่วยงานหลักบูรณาร่วมกันหน่วยงานอื่น อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ เพื่อกำหนดขอบเขตปฎิบัติการจากเบาไปเข้มข้น เช่น ปลัดสปน .ได้ประสานกับพื้นที่ใกล้กทม.งดเผาในที่โล่ง ระหว่างวันที่ 14-17 ธ.ค.นี้ และประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ขณะที่ผู้ใช้รถขอความร่วมมือรถดีเซล กำมะถันต่ำ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก 2 ค่ายน้ำมันใหญ่ ในการจำหน่าย เป็นต้น
เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ไขจะพิจารณาใช้อำนาจ เพื่อประสานระหว่างหน่วยงานอย่างไร นายอรรถพล กล่าวว่า หากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานไปถึง 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์เมตร กระทรวงทรัพยากรฯ จะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธาน เพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรี รับทราบ และยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหามากขึ้น ซึ่งเราไม่อยากยกระดับการแก้ไขสถานการณ์ให้ประชาชนเดือดร้อน จึงขอความร่วมมือจากประชาชนในการดำเนินมาตรการด้วย โดยระยะสั้นถ้าช่วยให้แหล่งกำเนิดของPM2.5 เบาบางได้ เช่น ลดการใช้รถยนต์และใช้รถสาธารณะมากขึ้น เป็นต้น
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สภาพอากาศวันนี้มีเพดานอากาศต่ำ เนื่องจากอากาศหนาวเพดานอากาศจะต่ำ พอเพดานอากาศต่ำจะเห็นกลุ่มควันมาก ประกอบกับช่วง 2-3 วันนี้ความกดอากาศสูงอ่อนกำลังลง ลมไม่พัด ฝุ่นที่มีอยู่ในกทม.จึงดูปกคลุมมากขึ้น เราเจอแบบนี้ทุกปีในช่วงหนาว แต่อีก 1-2 วันความกดอากาศสูงจากตอนบนของประเทศ หรือทางตอนใต้ของจีนจะลงมา พอความกดอากาศสูงมา จะทำให้ลมพัดแรงขึ้น ฝุ่นจะกระจายตัว โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประสานกับกรมควบคุมมลพิษ ในเรื่องข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าให้ทราบเป็นระยะ ส่วนช่วงปีใหม่นั้น ยังไม่แน่ใจว่าความกดอากาศสูงจะมาต่อเนื่องหรือไม่
เมื่อถามว่าหากฝนตกจะทำให้ฝุ่นเบาบางลงได้ มีแนวคิดในการทำฝนเทียมเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 หรือไม่ นายณัฐพล กล่าวว่า การทำฝนเทียมมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายด้าน ไม่ใช่ความชื้นอย่างเดียว คิดว่าทางกรมฝนหลวงน่าจะดูอยู่ว่าสามารถเข้าไปทำในสภาวะแบบนี้ได้หรือไม่ ซึ่งกรมฝนหลวงคงเข้าไปดำเนินการ
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในกรุงเทพมหานครในวันนี้ ฝุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 74.6ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเมื่อวาน มีฝุ่นอยู่ที่ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยทั้งกรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงได้ออกมาตรการเตรียมพร้อมเป็นแผนปฏิบัติประมาณสองเดือนซึ่งเราคาดการณ์ว่าจะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยสิ่งที่กรุงเทพมหานครกลับไปแล้วตามปกติจะมีมาตรการ 12 มาตรการ คือการกำกับดูแลพื้นที่ก่อสร้างที่เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นเป็นจำนวนมาก เรื่องการงดกิจกรรมการแจ้งของทางโรงเรียนต่างๆ เช่น เข้าแถว กิจกรรมอื่นๆที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับฝุ่นจนเป็นอันตราย เรื่อง การกวดขันการเผาในพื้นที่โล่งโดยเฉพาะเขตรอบนอกนคร การล้างถนน การฉีดละอองน้ำจากตึกอาคารสูงและการเปิดคลินิกมลพิษ เหล่านี้คือมาตรการสำคัญที่ทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการไปแล้วในสถานการณ์ปกติ
แต่เนื่องจากสถานการณ์ได้มีการเพิ่มระดับมากขึ้น และคาดการณ์ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะทรงอยู่ประมาณ 2-3 วัน แล้วจะพักไปช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาอีกในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งสถานการณ์ค่อนข้างรุนแรงเป็นระดับสอง จึงต้องเพิ่มมาตรการมากขึ้น โดยเพิ่มมาตรการหลักคือ การบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เผาอย่างเข้มข้นมากขึ้นโดยประสานให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานกับเขต เพื่อไปตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นการเผาน้อยหรือเผามาก เพื่อขอความร่วมมือให้ไม่เผา การออกหน่วยสาธารณสุขโดยการนำรถของกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นจำนวนมาก เช่น ดินแดง เพื่อให้หน่วยบริการสาธารณสุขเข้าช่วยประชาชน
สำหรับกิจกรรมก่อสร้าง ทางกรุงเทพมหานครยกระดับ การก่อสร้างขนาดใหญ่ การก่อสร้างรถไฟฟ้า หรือก่อสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นมาก หรือการก่อสร้างที่คาดว่าจะทำให้เกิดฝุ่นมาก ก็จะยกระดับในช่วง 2-3 วันนี้ เพราะคาดการณ์ว่าจะมีค่าฝุ่นสูงโดย ให้สามารถก่อสร้างต่อได้ ในส่วนกิจกรรมที่ทำไม่ให้เกิดฝุ่น เช่น การตกแต่งภายใน ทาสี แต่สำหรับการที่จะทำให้เกิดฝุ่นจำนวนมาก อาทิ ขนดิน ขุด เจาะ ถม ในโครงการขนาดใหญ่เราก็จะประสานขอให้งด 2-3 วันช่วงนี้ก่อน
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการถามกันมากเรื่องการปิดโรงเรียน ทางกรุงเทพมหานครได้ให้ผู้อำนวยการเขต กับผู้อำนวยการโรงเรียน พิจารณาโรงเรียนที่จะปิดก่อนในช่วง 2-3 วันนี้ เนื่องจากอาจมีบางพื้นที่มีค่าฝุ่นสูง ทำให้บางโรงเรียนที่มีเด็กเล็กและเกิดความเสี่ยง แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น กรุงเทพมหานครก็จะยกระดับขึ้นไประดับสาม โดยผู้บัญชาการสถานการณ์คือ ผู้ว่ากทม. ได้มีแผนเตรียมพร้อมรับมืออยู่แล้ว สำหรับการฉีดพ่นน้ำมีหลายลักษณะ จึงขอรณรงค์ 4 ลักษณะ 1. ฉีดพ่นละอองน้ำใส่ต้นไม้ไปไม้ เพราะเปรียบเสมือนเครื่องกรองอากาศ เพื่อช่วยประสิทธิภาพในการ กรองอากาศ 2. ฉีดน้ำเพื่อพ่นล้างถนน เพราะเป็นพื้นที่ที่ฝุ่นจะตกลงพื้น เพื่อชะล้างลงท่อระบายน้ำ
3. พื้นที่ก่อสร้างที่จะทำให้เกิดฝุ่นมากได้ก็จะฉีดน้ำเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้าง 4.ฉีดน้ำจากบนอาคาร โดยขอใช้น้ำปริมาณมากพอควรเพื่อดักจับฝุ่น ทำให้ฝุ่นอ้วนขึ้นแล้วตกสู่พื้น แล้วทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าว และคนที่อยู่ในอาคารปลอดภัยจากฝุ่นPM 2.5 ส่วนการฉีดน้ำขึ้นฟ้า ที่ไหนหน่วยงานทำอยู่นั้นสามารถช่วยลดPM2.5 ได้นิดหน่อย จึงขอความร่วมมือขอให้ใช้การฉีดพ่นน้ำ4ลักษณะที่ได้กล่าวไปข้างต้น
“ยืนยันว่ากรุงเทพมหานครมีความพร้อมที่จะรับสถานการณ์นี้เพราะเราเตรียมการมากกว่า 3 เดือน ถ้าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นเราก็พร้อมที่จะใช้มาตรการเข้มข้นมากขึ้น แต่ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเราก็พร้อมที่จะลดมาตรการลง กรุงเทพมหานครจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้คนในกรุงเทพ มีสุขภาพดี”ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตอนนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการสธ.เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในเรื่องของการดำเนินการและเตรียมความพร้อมในการรับมือแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ โดยให้นายเกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. เปิดศูนย์ปฏิบัติการรับมือ และเตรียมความพร้อมของสถานบริการสาธารณสุขในทุกๆพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีผลกระทบสูง อย่างกทม.และปริมณฑลรวมทั้งที่จะเตรียมการดูแลผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กทางภาคเหนือ ขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องของฐานข้อมูลคนที่มีผลกระทบโดยตรง เฉพาะคนที่เป็นโรคทางเดินหายใจและเส้นเลือดในสมองต่างๆ
นพ.ดนัย กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่ได้เตรียมการไว้คือ 1.หมอสาธารณสุข 2.หมออนามัย 3.หมอครอบครัว ซึ่งกลไกเหล่านี้จะเป็นกลไกที่อยู่ในส่วนของระดับพื้นที่คอยดูแลประชาชนในเรื่องของการป้องกันผลกระทบ อีกส่วนที่มีการดำเนินการในปัจจุบันที่มีการป้องกันโควิด-19 วิธีการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งกลไกเหล่านี้ก็จะเป็นตัวที่ช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องของผลกระทบ แต่หากว่าสถานการณ์ของฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนเพิ่มรอบระยะเวลาสวมหน้ากากในสถานที่นั้นๆเพิ่มขึ้น ในกรณีของโควิคเราอาจจะให้ความสำคัญในพื้นที่ที่แออัด แต่ในกรณีของฝุ่นละอองขนาดเล็กในขณะนี้ ช่วงใดที่เราจะต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีค่าสีเหลือง สีส้มหรือสีแดง ประชาชนก็ควรระมัดระวังและสวมหน้ากากอนามัยอยู่สม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาที่ออกไปอยู่ในส่วนของพื้นที่เหล่านี้
นพ.ดนัย กล่าวด้วยว่า ในส่วนของคนที่มีโรคประจำตัวและมีความเสี่ยงต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงและพยายามที่อยู่ในห้องปลอดฝุ่นและมีการดูแล อีกประเด็นคือถ้าพบว่ามีลักษณะอาการไม่สบายในการหายใจหรือว่ามีผลกระทบในเรื่องของการแสบร้อน สามารถที่จะปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีการเตรียมการและดูแล เพราะสธ.พยายามให้ความสำคัญผลกระทบเหล่านี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
เมื่อถามกลุ่มที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงต่อฝุ่นละอองขนาดเล็กได้เช่น นักเรียนที่จำเป็นต้องเข้าแถวก่อนที่จะเข้าชั้นเรียน นพ.ดนัย กล่าวว่า ระยะเวลาในการเข้าแถวใช้เวลาไม่นาน แต่ก็ขอความร่วมมือกับทางคณะครูให้ทำกิจกรรม 10 - 15 นาที และให้เข้าสู่ห้องเรียน ในส่วนของห้องเรียนเองก็ต้องดูแลเรื่องของการป้องกันฝุ่นด้วยเช่นเดียวกัน ถามต่อว่าในกรณีที่ในห้องเรียนไม่มีเครื่องปรับอากาศต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ นพ.ดนัย กล่าวว่า ในขณะนี้การนั่งในห้องเรียนก็ยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยเนื่องจากสถานการณ์โควิด
นพ.ดนัย กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคนเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาในขณะที่ปฏิบัติงานตามท้องถนนหรือบริเวณที่มีการสะสมของมลพิษทางอากาศ เมื่อถามว่าสามารถสวมหน้ากากผ้าได้หรือไม่ นพ.ดนัย กล่าวว่า เป็นการผ่อนหนักเป็นเบา อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการกรองได้ในระดับหนึ่งแม้จะไม่ได้ทั้งหมดแต่ผลกระทบเหล่านั้นเป็นผลในระยะยาวระยะสั้นสามารถป้องกันได้
นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐได้ดำเนินการเดินมาถูกทางแล้ว เพราะที่ผ่านมามีการศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิชาการทั้งจากกรมควบคุมพลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมอนามัยมาเป็นพื้นฐานในการกำหนดนโยบายและมาตรการ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากสภาพอากาศที่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ทำให้ในพื้นที่กทม.มาสภาพอากาศนิ่ง ทำให้มีหมอกในตอนเช้า จากนั้นช่วงสายก็กลายเป็นฝุ่นละออง ซึ่งการแก้ไขปัญหาในช่วงนี้จะแก้ให้หมดได้คงยาก แต่สามารถบรรเทาสถานการณ์ให้เบาบางลงได้ สำหรับการแก้ไขปัญหามี 3 จุดคือ 1.แหล่งตัวระบายมลพิษทางอากาศออกมาหรือ PM 2.5 2.การกำจัดให้มลพิษที่ลอยอยู่ในอากาศตกลงสู่พื้นที่ดิน และ 3.การปกป้องคนที่เป็นผู้รับฝุ่นเข้าสู่ร่างกายด้วยการสวมใส่หน้ากากทั้ง 3 จุดภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่
สำหรับแหล่งกำเนิด ข้อมูลวิชาการช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกทม.มาจากการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้มีควันดำออกมาจนสะสมทำให้เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขณะที่การเผาที่โล่งแจ้งในกทม.มีน้อย แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรที่อยู่รอบกทม. เช่น ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยาที่ถูกลมเหนือพัดพามาในกทม. โดยเฉพาะทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกทม. ทำให้บริเวณเขตบางขุนเทียน และจ.สมุทรสาครเป็นพื้นที่สีแดง สำหรับการใช้น้ำมันดีเซลของรถยังคงมีกำมะถันค่อนข้างสูง ถ้าใช้น้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำมาก ที่ตอนนี้บริษัทน้ำมันก็ให้ความร่วมมือ จากการทดสอบทางวิชาการพบว่าสามารถช่วยลดการระบายของฝุ่นในน้ำมันดีเซล โดยลดลงไปได้กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ช่วยทำให้ฝุ่นเกิดลดลง คาดว่าจะตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ต่อไป
เมื่อถามว่า มวลไอน้ำในอากาศแปรปรวนถือเป็นฝุ่นหรือหมอกควันด้วยหรือไม่ นายสุพัฒน์ กล่าวว่า ในทางวิชาการหากเป็นหมอกตอนเช้าไม่ถือว่าเป็นฝุ่น แต่การเกิดหมอกได้ในทางวิชาการต้องมีแกนกลางของไอน้ำที่ไปควบแน่นเกาะ ดังนั้นช่วงช่วงส่วนใหญ่จะเป็นหมอก ไม่ถือเป็นฝุ่นโดยตรง ทั้งนี้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะขึ้นคือช่วงเช้าที่มีการจราจรหนาแน่น และช่วงบ่ายภายหลังเลิกงานที่ขึ้นจนถึงเวลา 24.00 น. ก่อนที่สถานการณ์จะลดลงมาจนถึงช่วงเช้า จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนพยายามหลีกเลี่ยงถ้าไม่จำเป็นไม่ควรขับรถมาทำงาน ขอให้ใช้รถขนส่งมวลชนแทน เพื่อลดจำนวนการปลดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ขณะที่หน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนพิจารณาสามารถทำงานจากที่บ้านได้หรือไม่ เพื่อลดการเดินทางในช่วงวิกฤตและลดการใช้รถในกทม.ให้ได้มากที่สุดเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
เมื่อถามว่า ถ้าเราดำเนินการตามมาตรการภาครัฐ และมาตรการการขอความร่วมมือทั้งหมดมีโอกาสฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะหมดไปจากประเทศไทยหรือไม่ นายสุพัฒน์ กล่าวว่า มีโอกาส แต่คงไม่เกิดขึ้นภายใน 1-2 ปี ต้องใช้การดำเนินการในระยะยาวเพื่อแก้ไข อย่างไรก็ตามสถานการณ์แบบนี้จะคงยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่จะเกิดเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆจนกว่าจะหมดฤดูหนาว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |