สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ขับขี่บนท้องถนนในกรุงเทพฯ กำลังเป็นพาหนะได้รับความนิยมมากขึ้นจากคนเมืองใหญ่ เพื่อหนีการการจราจรที่สาหัสมากขึ้น มนุษย์เงินเดือนต้องตื่นและออกจากบ้านแต่เช้ามืด เย็นก็ต้องนั่งแช่ในรถเป็นชั่วโมงๆ กว่าจะกลับบ้าน บางคนที่ต้องอาศัยขนส่งสาธารณะเผชิญความยากลำบาก ทั้งรถเมล์ที่รอนาน หาแท็กซี่ไม่ได้ ขณะที่การเดินทางไปไหนมาไหนด้วยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามีความคล่องตัวมากกว่า สามารถสัญจรได้บนถนนหรือทางเท้า ซอกแซก ไม่ต้องเจอรถติดทำให้หงุดหงิดสุขภาพจิตพัง
แต่ใครที่คิดจะขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามีสิ่งที่ต้องระวัง ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ถนนในกรุงเทพฯ ปราบเซียนแค่ไหน ถนนหลายเส้นผิวถนนไม่เรียบ เป็นหลุมเป็นบ่อ ขี่ไม่ระวังมีสิทธิล้มเอาง่ายๆ ถนนบางเส้นรถที่ตามมาขับเร็วเสี่ยงจากอุบัติเหตุถูกเฉี่ยวชน ถนนหลายเส้นรถยนต์จอดริมถนนจำนวนมาก อาจเปิดประตูออกมาเลย อันตรายกับผู้ใช้ เพราะสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขับขี่แบบไร้เสียง
ในประเทศอังกฤษนั้น มีรายงานว่าจะให้ติดแตรสัญญาณสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เพื่อเป็นเสียงเตือนบอกให้คนเดินทางและเดินเท้ารู้ว่า มีรถสกู๊ตเตอร์กำลังเขามาใกล้แล้ว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งตามเมืองต่างๆ ที่เมืองผู้ดีนั้นมีบริการสกู๊ตเตอร์ให้ใช้ และได้ทดสอบด้านความปลอดภัย แต่ทั้งนี้ ในเมืองโคเวนทรี ถูกยกเลิกหลังจากดำเนินการได้ 5 วัน เมื่อผู้ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าฝ่าฝืนกฎจราจร หันกลับมาในบ้านเราการใช้สกู๊ตเตอร์ก็มีเสียงเตือนไม่สามารถควบคุมอุบัติเหตุได้ และข้อกังวลผู้ขับขี่ส่วนหนึ่งจะขับขี่ด้วยความเร็ว ไม่สามารถหยุดรถได้จนเกิดบาดเจ็บเสียชีวิต
โมเดล Scooter sharing ใช้สกู๊ตเตอร์ev สัญจรระยะสั้นสนับสนุน’จุฬา สมาร์ทซิตี้
ใจกลางกรุงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโมเดลใหม่ๆ ทดสอบการสัญจรระยะสั้นด้วยรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า หรือ EV หนึ่งในพาหนะ คือ สกู๊ตเตอร์ รศ.ดร.วิษณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาฯ เล่าว่า เราต้องการสร้างเมืองใหม่รอบมหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิด “ จุฬา สมาร์ทซิตี้ ” ฝั่งสามย่าน สวนหลวง สนามกีฬา ด้วยคอนเซ็ปต์เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ มีคุณภาพ นวัตกรรม ชุมชน สังคมอยู่ด้วยกัน 4 ด้าน ภายใต้แนวคิด “SMART4” ด้านการสัญจรมีเป้าลดใช้รถยนต์ส่วนตัวเข้ามาในพื้นที่ ปัจจุบันมีระบบเชื่อมต่อจากมหาวิทยาลัยไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอส เช่น รถชัตเติลบัสเป็นรถ EV วิ่งบริการฟรี ดูเส้นทางและตำแหน่งได้ผ่านแอปพลิเคชั่น ยังมีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ EV เราร่วมกับสตาร์ตอัพไทยพัฒนาขึ้นมาใช้บริการผ่านแอป
“ เราต้องการให้สกู๊ตเตอร์เป็นทางเลือกเดินทางกิโลเมตรสุดท้ายในพื้นที่ จึงเปิดพื้นที่ทดลองร่วมกับสตาร์ตอัพคนไทยรุ่นใหม่ให้ยืมสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าใช้ระยะสั้น เป็น scooter sharing ใช้บริการผ่านแอป กำหนดจุดจอด จำกัดความเร็ว ดำเนินการมา 1 ปี ในไทยต้องมีการเรียนรู้ทีจะใช้สกู๊ตเตอร์ แม้แต่ในต่างประเทศที่มีบริการใช้กัน ก็มีประเด็นเรื่องความปลอดภัย อัตราความเร็ว และพฤติกรรมคน จากจุฬา สมาร์ทซิตี้ มีพาหนะทางเลือกอำนวยความสะดวกผู้ใช้ ลดใช้รถยนต์ ประหยัดเวลา ลดมลพิษอากาศ ลดฝุ่น PM 2.5 เพราะเป็นพลังงานสะอาด เอื้อให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งเราจะขยายผลพื้นที่อื่นต่อไป “ รศ.ดร.วิษณุ บอก
ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า พบเห็นขับขี่ตามถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อบีทีเอส เอ็มอาร์ที หรือแอร์พอร์ตแรลลิ้ง เอาเข้าจริงเป็นภาพสะท้อนวิกฤตจราจรเมืองใหญ่ ทำให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ เลยไม่น่าแปลกใจเลยที่พวกเขาและเธอจะเลือกจอดรถ หันมาขี่สกู๊ตเตอร์ตากแดดตากฝน เสี่ยงชีวิต
คงเดช กี่สุขพันธุ์ เจ้าของบล็อกกาฝาก(kafaak) กับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าคู่ใจที่ใช้จริง
จากประสบการณ์ขี่มากว่า 7,000 กิโลเมตร ของ คงเดช กี่สุขพันธุ์ เจ้าของบล็อกกาฝาก (kafaak) วัย 41 ปี ใช้มาร่วม 4 ปี เปลี่ยนมาแล้ว 3 คัน คำถามแรก ทำไมถึงเลือกสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า คงเดช บอกว่า กรุงเทพฯ รถติดมากและรอรถเมล์นานมาก จึงลองใช้สกู๊ตเตอร์ เริ่มจากขี่ออกจากบ้านพักย่านพระราม 2 ไปป้ายรถเมล์ ระยะทาง 3 กม. เอาขึ้นรถเมล์แล้วขี่ต่อ 2 กม. ไปที่ทำงานแถวสนามหลวง พอเจอรถติดหนักๆ เสียเวลาบนถนน จึงเปลี่ยนเป็นพาหนะหลักขี่ไกลจากบ้านไปที่ทำงาน ระยะทาง 18 กม. ใช้เวลาเฉลี่ย 45-60 นาที เทียบกับนั่งรถเมล์ 2-3 ชั่วโมง ขี่ไป-กลับ 36 กม. รู้สึกเราสามารถวางแผนชีวิตได้ แล้วก็เหมือนขี่ฟรี ค่าไฟที่บ้านก็ไม่ได้เพิ่มจนผิดปกติ
“ ผมขี่ด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สูงสุด 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วแบบนี้ไม่ได้เร็วกว่าเสือภูเขาหรือเสือหมอบ เวลาขี่ลงถนนต้องสวมหมวกกันน็อค บางเส้นไม่มีเลนจักรยาน คนใช้รถยนต์ก็จะมองเราเกะกะบนถนน รถและมอเตอร์ไซด์บางคันขับตามมาด้วยความเร็ว ก็มาปาดหน้า เสี่ยงกับอุบัติเหตุ ปกติจะใช้เส้นทางเดิม เพราะรู้ว่าต้องระวังอะไร ถ้าไปใช้เส้นทางใหม่ต้องขี่ด้วยความระมัดระวัง ฝาท่อไม่เสมอผิวถนน เวลาฝนตกถนนก็ลื่น อันตรายที่สุด ถนนมีน้ำขัง ทำให้ลงหลุมลงบ่อ ถ้าใช้เวลากลางคืนไฟส่องสว่างต้องเพียงพอ “ คงเดช เตือนคนที่คิดจะขี่สกู๊ตเตอร์
มาขับขี่ในกรุงเทพฯ มีอุบัติเหตุสองครั้ง ทำให้กลับไม่ถึงบ้าน เจ้าของบล็อกเกอร์คนเดิมบอกครั้งแรกสะดุดหลุมบนถนนหน้าห้าง ตัวลอยปลิวไปคนละทางกับสกู๊ตเตอร์ ต้องไปโรงพยาบาลแทน อีกครั้งขี่ริมถนนรถยนต์จอดอยู่เปิดประตูออกมา ด้วยความเร็วแบบนี้ เบรกก็เอาไม่อยู่ รถล้มโชคดีไม่บาดเจ็บมาก อย่างไรก็ดี เรื่องสำคัญ คือ อย่าริไปขี่กลางถนน ถ้าเป็นไปได้ ขี่ชิดซ้ายสุดเอาไว้เสมอด้วย อย่าขี่ซอกแซก เพื่อความปลอดภัยของเราเอง บางครั้งต้องขี่บนทางเท้าต้องให้เกียรติคนใช้ทางเท้า ไม่บีบแตรไล่ ส่วนรัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถ EV สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็เป็นทางเลือกหนึ่ง จะต้องจำกัดความเร็วและเลนส์รองรับเพื่อความปลอดภัย
สิริพัฒนา แสงเดือน อาจารย์มหาวิทยาลัยขี่สกู๊ตเตอร์สัญจรในกรุงเทพฯ ทุกวัน
อีกประสบการณ์ผู้ใช้งานตัวจริง ตะลุยมาทั่วกรุงเทพฯ สะสมไมล์ไม่น้อยกว่า 1,000 กม. ในช่วง 2 ปี สิริพัฒนา แสงเดือน อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 39 ปี บอกว่า เคยใช้จักรยานปั่นเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะในเมืองมาก่อน แต่มีเหงื่อมาก ต้องอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าเมื่อถึงออฟฟิศ ก็มองว่าพาหนะใหม่ สนใจเทคโนโลยีสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ต้นทุนค่าพลังงานก็ต่ำ ชาร์ตแบตเตอรี่หนึ่งครั้งอยู่ที่ 3 บาท วิ่งได้ 50 กิโลเมตร ประหยัดกว่าค่าน้ำมันรถยนต์และไม่สร้างมลพิษ
“ ผมใช้สกู๊ตเตอร์ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ถ้าไปทำงานก็ขี่มาจากบ้านพักย่านบางพลัด มาจอดจุดจอดจักรยานในห้างย่านอนุสาวรีย์ใส่ที่ล็อค แล้วต่อรถตู้ไปมหาวิทยาลัย ขากลับก็เช่นกัน ระยะทางไม่เกิน 10 กม. ใช้เวลา 30 กว่านาที ช้าสุด 45 นาที ถ้าขับรถยนต์ใช้เวลามากกว่า 2 เท่า นอกจากนี้ ผมขี่เที่ยวชมเกาะรัตนโกสินทร์ เจริญกรุง ไปกินข้าวตามร้านรวงในชุมชน ไม่ต้องกังวลเรื่องที่จอดรถด้วย “ สิริพัฒนา บอก
บนทางเท้าชาวสกู๊ตเตอร์ใช้วิธีจูงรถแทนขี่ ลดอันตรายคนสัญจรบนทางเท้า
เมื่อได้ขี่สกู๊ตเตอร์ ทำให้อาจารย์หนุ่มผู้นี้ติดใจ ไม่กลัวตาย แต่เขาก็ไม่ประมาทความปลอดภัยในชีวิตที่ฝากไว้บนสองล้อ และตระหนักขี่ไม่กีดขวางการสัญจร ไม่สร้างปัญหาให้ผู้ร่วมทาง ขับชิดซ้ายเป็นหลัก ถ้ารถติดไม่ขยับค่อยแทรกระหว่างเลนส์ ส่วนบนฟุตบาทใช้การเข็นรถสกู๊ตเตอร์เป็นหลัก เพื่อไม่ให้อันตรายกับคนเดินเท้า ทั้งนี้ ผู้ที่ขับขี่สกู๊ตเตอร์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายบนท้องถนน ส่วนเส้นที่ปราบเซียนคือ ถนนวิภาวดี เพราะรถขับเร็วมาก ถนนที่สวยคือทางจักรยานถนนราชวิถีตั้งแต่สวนจิตรลดาต่อเนื่อง ม.สวนดุสิต หรือถนนประดิษฐ์มนูญธรรมก็มีทางจักรยาน กลุ่มผู้ใช้นิยมมาก ปลอดภัย เหมือนทางด่วนเลย
“ สกู๊ตเตอร์เป็นพาหนะที่ใช้แล้วคล่องตัวในสภาพการจราจรเมืองใหญ่ที่แออัด เพราะถ้ารถไม่ติด รถยนต์ และมอเตอร์ไซด์เดินทางได้เร็วกว่าอยู่แล้ว ทุกเช้าผมเคยใช้เวลาเดินทางไปอนุสาวรีย์เกือบ 2 ชั่วใมง แต่สกู๊ตเตอร์ทำเวลาถึงเป้าหมายได้เร็วกว่า แถมยกขึ้นรถไฟฟ้า ใต้ดินก็พับเก็บได้ไม่เกะกะ การขี่สกู๊ตเตอร์ขึ้นอยู่กับจำนวนเลนของถนน ความหนาแน่นของรถ และเข้าใจจังหวะของไฟเขียว ไฟแดง จะทำให้คล่องตัว นี่เป็นทักษะคนขี่ เวลาพบตำรวจจราจรยังไม่มีปัญหา แต่จะทักหรือถามว่า ความเร็วแค่ไหน ราคาเท่าไหร่ “ สิริพัฒนา แบ่งปันเรื่องราวระหว่างทาง
ภูมิ เหล่าภัทรเกษม Chief Marketing Officer แบรนด์ MONOWHEEL
ตอนนี้มีสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าหลายยี่ห้อวางจำหน่ายในประเทศไทย ภูมิ เหล่าภัทรเกษม Chief Marketing Officer (CMO) แบรนด์ MONOWHEEL กล่าวว่า ตอนนี้นอกจากขายสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแล้ว ได้ร่วมกับจุฬาฯ พัฒนาระบบ scooter sharing เพื่อชุมชนขึ้นมา ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น อนาคตจะรองรับนักท่องเที่ยวในย่านนี้ด้วย โมเดลนี้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์สนใจและต่อยอดเกิดโอกาสทำสกู๊ตเตอร์ระบบเช่าและเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ จัดสกู๊ตเตอร์บริการให้ลูกบ้าน ส่วนที่มีหลายรุ่นจะช่วยให้คนเลือกพาหนะที่เหมาะกับตัวเองที่สุด แต่เราจะไม่ขายสกู๊ตเตอร์รุ่นที่เร็วๆ แรงๆ บิดได้ถึง 100 กม.ต่อ ชม. กลัวลูกค้าตาย เวลานี้ไทยไม่มีกฎหมายจำกัดความเร็ว ส่วนมาตรฐานสากล 25-30 กม.ต่อชม.
“ กราฟในช่วงปี 61-63 ตลาดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นสามเท่า ดันรายได้โตขึ้น เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า กลุ่มลูกค้าของตน ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดมีเล็กน้อย อายุเฉลี่ย 35 ปี เป็นผู้ชาย 65% เหตุผลที่คนเลือกซื้อเมื่อเทียบกับรถยนต์ คือ คล่องตัว พกง่าย พับเก็บได้ น้ำหนักเบา สามารถใช้ควบคู่กับรถไฟฟ้า ออกแบบการเดินทางได้ ยิ่งถ้าเป็นระบบ sharing ยิ่งง่าย ไม่ต้องซื้อสกู๊ตเตอร์ ลดตุ้นทุน ไม่ก่อฝุ่นพิษ บ้านเราถ้ามีเลนส์พิเศษ ปรับปรุงสภาพถนน ระบบขนส่งมวลชนเปิดบริการครอบคลุม มีสถานีจอด การใช้สกู๊ตเตอร์จะมีประโยชน์มาก “ ภูมิ ซีอีโอหนุ่มผู้ใช้สกู๊ตเตอร์เป็นพาหนะทุกวันยืนยันตลาดสกู๊ตเตอร์มาแรง
การใช้สกู๊ตเตอร์ พาหนะไฟฟ้าในเมืองมีประโยชน์ แต่จะต้องได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้งานบนท้องถนนที่สอดคล้องและเหมาะสมกับชุมชน หรือพื้นที่ที่อยู่อาศัย จำกัดสปีด ที่สำคัญจะต้องให้ความใส่ใจเกี่ยวกับข้อกังวลของผู้ใช้รถใช้ถนน และความปลอดภัยของผู้ที่เดินสัญจรบนทางเท้า