เริ่มนับจากวันอังคารที่ 15 ธ.ค. เหลือเวลาอีก 6 วันก็จะถึงวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายกฯ อบจ. กับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) กันในวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค.นี้
“รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มี วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน” มองการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามเรื่องการเมืองท้องถิ่นของประเทศไทยเป็นเวลานาน
โดยเมื่อถามถึงว่า การตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค. มองว่าประชาชนจะมีแนวทางการตัดสินใจที่แตกต่างไปจากตอนเลือกตั้งใหญ่ มีนาคม 2562 หรือไม่ ดร.วีระศักดิ์ วิเคราะห์ว่า น่าจะแตกต่างกันพอสมควร เพราะเวลาคนไปเลือกตั้ง ส.ส. คนจะมองว่าประเทศจะเดินไปทางไหนต่อหลังเลือกตั้ง เป็นเรื่องของภาพใหญ่ระดับประเทศ เป็นเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง สีทางการเมือง แต่การเลือกผู้บริหารท้องถิ่น เชื่อว่ามุมมองของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์จะมองถึงบริการหรือโครงการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม มากกว่า “สีและอุดมการณ์ทางการเมือง” ดังนั้น ที่หลายคนอาจคาดหวังไปว่าเลือกผู้บริหารท้องถิ่นแบบนี้จะได้คนที่มีอุดมการณ์การเมืองเดียวกับการเมืองระดับชาติ จะได้พัฒนาพื้นที่แบบไม่มีรอยต่อ สุดท้ายมันอาจเป็นคนละเรื่องก็ได้ เพราะการเมืองท้องถิ่น ถ้าจะสำเร็จมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมืองล้วนๆ แต่ขึ้นอยู่กับผลงาน-โครงการพัฒนา-งานที่เป็นรูปธรรม ตอนนี้คนเรียนรู้แล้วเรื่องการกระจายอำนาจจากรัฐ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เวลาไปเลือกตั้งการเมืองระดับชาติ ไปเลือกด้วยเหตุผล เช่น อุดมการณ์ทางการเมือง แต่พอเป็นการเมืองท้องถิ่นเขาจะมองว่าโครงการอะไรในพื้นที่ซึ่งทำแล้วจะเกิดประโยชน์กับเขา ทำให้เข้าใจได้ว่า กลุ่มสี-อุดมการณ์ทางการเมืองจะมาทีหลัง เพราะคนจะมองผลงานที่เป็นรูปธรรมของคนที่จะเลือก ซึ่งหากคิดต่อจากข้อเท็จจริงตรงนี้ ผู้สมัคร อบจ.คนไหนโหนกระแสการเมืองระดับชาติ เช่น บอกว่าให้เลือกเพราะอยู่กลุ่มเดียวกับรัฐบาล หรือขอให้เลือกเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่ง สุดท้ายอาจไม่ได้เป็นหลักประกันความสำเร็จก็ได้ ดังนั้นหากถามว่าการเมืองและการเลือกตั้งท้องถิ่นสอดคล้องหรือมีความเหมือนกับการเมืองระดับชาติหรือไม่ ก็พบว่ายังมีความแตกต่าง
- พวกระบบเครือข่ายบ้านใหญ่ในพื้นที่ และหัวคะแนน มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้แค่ไหน?
เป็นเรื่องปกติ ทั้ง ส.ส.-นักการเมืองท้องถิ่น เรื่องของระบบกลุ่ม หัวคะแนนเป็นเรื่องปกติ ส่วนเป็นเรื่องดีหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ดี เพราะทำให้คนไม่ฟรีโหวตเต็มที่ แต่เราจะเปลี่ยนข้อเท็จจริงนั้นได้หรือไม่ ในสังคมไทย เลือกตั้ง ส.ส.ก็ยังต้องมีเลย ยังมีระบบบ้านใหญ่ ต้องวิ่งไปหาคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ดูได้จากก่อนเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อมีนาคม 2562 พวก game player ต่างๆ อย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังต้องเดินไปหาบ้านใหญ่หลายจังหวัด อันนี้คือข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลเวลานี้ก็เป็น เมื่อวัฒนธรรมการเมืองการเลือกตั้งของไทยเป็นแบบนี้ มันก็ต้องใช้เวลากว่าจะหลุดพ้น เพราะเป็นเรื่องที่มีแต่คนบ่น แต่ไม่มีใครอยากแก้ เพราะทุกคนได้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว ทำให้เลยแก้ไม่ได้
- การที่อดีตผู้บริหาร อบจ.สมัยที่แล้ว เช่น อดีตนายกฯ อบจ. กลับมาลงสมัครอีกครั้งในรอบนี้ ทำให้มีความได้เปรียบผู้สมัครคนอื่นหรือไม่?
ไม่เสมอไป ไปสรุปว่าจะได้เปรียบทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะว่าอยู่นานอาจจะได้เปรียบและเสียเปรียบในตัว จริงอยู่ ว่าอยู่นานคนเห็นผลงานเชิงประจักษ์ แต่อยู่นานแล้วทำงานไม่เป็นที่ถูกใจชาวบ้านก็เสียเปรียบในตัว หลายพื้นที่คนอยู่เก่าไม่กล้าลงรอบนี้ก็มี เพราะเทียบแล้วผลงานไม่เข้าตา หรือบางแห่งเขาพบว่า อุดมการณ์ทางการเมืองของคนในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป วิธีคิดวิธีมองเปลี่ยนไป บางคนเลยต้องใช้วิธีส่งนอมินีแทน ผมจึงคิดว่าไม่แตกต่างกัน จะเป็นผู้บริหารคนเดิมแล้วลงสมัครรอบนี้อีกครั้งหรือจะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ต่างก็มีโอกาสจะได้รับเลือกทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ดร.วีระศักดิ์ ยังกล่าวถึงคนที่จะเข้าไปเป็นนายกฯ อบจ.รอบนี้ว่า จะแตกต่างจากอดีต เพราะสมัย คสช.มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารท้องถิ่น ที่มีการล็อกไว้ว่าให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน ซึ่งมองว่ามีไม่กี่ประเทศในโลกที่ทำแบบนี้ เพราะการเมืองท้องถิ่น คือการเมืองของประชาชน เป็นเรื่องที่ชาวบ้านแต่ละแห่งตัดสินได้เร็วมาก เช่น หากคนคนหนึ่งเป็นผู้บริหาร อบจ.-อบต.-เทศบาล ทำงานดี ชาวบ้านอยากให้เขาทำงานต่อไป แต่ไม่มีสิทธิ์แล้ว เพราะถูกมัดมือชกทางกฎหมาย และส่วนใหญ่ที่เห็น คนที่ทำไม่ดี เลือกตั้งครั้งต่อไปก็ไม่ได้รับเลือกกลับเข้ามา เพราะการเมืองท้องถิ่นมันเร็ว มันมองเห็นชัด เลือกเข้ามาแล้วพื้นที่มีการพัฒนาขึ้นหรือไม่ คนในพื้นที่เห็นได้ชัดมาก เร็วกว่ารัฐบาลส่วนกลางเยอะ
...กฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่นที่แก้ไขเมื่อปี 2561 ในเรื่องนี้จึงเป็นการถอยหลังในหลักการเพราะตัดสิทธิ์ประชาชนแล้วใช้กรอบกฎหมายกำกับเอาไว้ว่าให้อยู่ได้แค่ไม่เกินสองวาระ ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ว่ามาจำกัดเพราะอะไร ถ้าอ้างว่ากลัวการผูกขาดอำนาจ ผมว่ากลไกรัฐน่ากลัวกว่า เพราะท้องถิ่น หากผูกขาดอำนาจ อยู่นานแล้วไม่ทำอะไร ชาวบ้านเดินขบวนร้อยคน เก้าอี้ก็ร้อนแล้ว อยู่ไม่ได้
ส่วนอำนาจของ อบจ.ที่จะเช้าไปทำหน้าที่หลังมีการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2561 ก็พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงภารกิจเรื่องอำนาจการตัดสินใจ เห็นได้เลยว่าความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวันนี้เมื่อเทียบกับอดีตไม่ได้ดีขึ้นเลย แย่ลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะด้วยกลไกปัจจุบัน กฎหมายปัจจุบันที่ดึงทุกอย่างเข้าไปอยู่ในกลไกเดียวกับกลไกของรัฐ ทำให้ความเป็นอิสระของท้องถิ่นในด้านต่างๆ ถอยหลังกว่าตอนออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 เสียอีก เพราะในปีนี้ 2562 เท่ากับผ่านมา 20 ปี ท้องถิ่นไม่ก้าวหน้าขึ้นเลย มีการสร้างกลไกต่างๆ มาคอยดึงรั้ง เช่น ไม่ให้ อบจ.คิดโครงการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเป็นอิสระเหมือนเดิม
เป็นความเห็นมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่มองอนาคตการเมืองหลังการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค.นี้ และขอเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมกันออกไปใช้สิทธิ์ดังกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |