เส้นทางพัฒนาคมนาคม


เพิ่มเพื่อน    

 

      การเปลี่ยนแปลงในโลกนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงจะถือว่าเป็นการเดินไปข้างหน้า แม้อาจจะไม่มีใครรู้ว่ามันจะดีหรือไม่ แต่คนเราก็ไม่สามารถย่ำอยู่กับที่ได้ตลอดเวลา และที่ผ่านมามีหลายอย่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วมีผลลัพธ์ที่ดีอยู่เสมอนั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาทำให้โลกนั้นมีแนวโน้นที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งยังตอบสนองความต้องการของคนในสังคมได้อย่างดีอีกด้วย 

                ทั้งนี้ ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่ผลักดันให้เกิดการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือด้านการคมนาคม ที่ปัจจุบันถือว่ามีสิ่งแปลกใหม่เกิดขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก และบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ก็ได้จัดทำรายงานที่สรุปเทรนด์ด้านการคมนาคมในอนาคตของภูมิภาคเอเชีย ภายใต้หัวข้อ “เมืองแห่งการสัญจร : ขับเคลื่อนการปฏิวัติการคมนาคมในเอเชีย” ซึ่งเป็นรายงานที่รวบรวมข้อมูลการวิจัย และบทสัมภาษณ์ต่างๆ เพื่อสรุปเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์ด้านการคมนาคมของ 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ จีน และประเทศไทย ซึ่งทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของด้านคมนาคมมากยิ่งขึ้น

                โดยรายงานได้กล่าวถึงความท้าทายที่แต่ละประเทศต้องประสบ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล ความจำเป็นของทางเลือกในการเดินทางและการคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งภาพรวมด้านการคมนาคมต่างๆ เช่น พฤติกรรมการเดินทางของผู้คนในแต่ละวัย ช่องทางการคมนาคม ไปจนถึงการพัฒนาด้านการขนส่ง และความท้าทายที่เกิดขึ้นจากโควิด-19

                ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรชนชั้นกลาง การที่ผู้คนมีรายได้สูงขึ้น และมีความมุ่งหวังต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้กำลังส่งผลกระทบต่อความต้องการด้านการคมนาคมของผู้คนทั่วเอเชีย นอกจากนี้การที่ผู้คนมองหาความสะดวกสบายมากขึ้น ผลกระทบจากทางเลือกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น และความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมานั้นยังส่งผลถึงรูปแบบการคมนาคม ที่เหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศด้วย

                สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ว่าที่ผ่านมาผู้คนจะใช้ยานพาหนะสองล้อเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันก็มีทางเลือกเพื่อการคมนาคมมากมาย เช่น รถไฟความเร็วสูง บริการเรียกรถตามความสะดวก นอกจากนี้ยังมีการใช้รถยนต์ส่วนตัวในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะก็มีการขยายตัว รวมถึงยังมีโครงการที่จะก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่สามในกรุงเทพฯ ด้วย

                นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ เชลล์ กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่สามารถก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง และมีศักยภาพในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการเดินทางและคมนาคมขนส่ง หากมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการวางแผนเพื่อรุดไปข้างหน้า อย่างไรก็ดี เส้นทางสู่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งจากรัฐบาล พันธมิตรในอุตสาหกรรม รวมถึงผู้บริโภคด้วย

                “รัฐบาลไทยได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า อีกทั้งกระทรวงพลังงานก็พยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าเสรีระดับโลกของก๊าซธรรมชาติเหลว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาสในการสนับสนุนพลังงานทางเลือก เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงโอกาสในการประเมินศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับไฮโดรเจน” ปนันท์กล่าว

                แม้ว่าแต่ละประเทศในเอเชียจะต้องมีการพัฒนาด้านการคมนาคม ระบบนิเวศของพลังงานเชื้อเพลิง และการกำหนดนโยบาย ตลอดจนกฎระเบียบที่จะสามารถตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงและเหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศเอง แต่สิ่งที่ทุกประเทศต้องมีเหมือนกันคือ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค เพื่อนำเสนอทางเลือกที่ตอบสนองต่อเทรนด์ใหม่ๆ และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ.

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"