เป็นครั้งแรกที่ได้ใช้บริการสายการบินไทยสมายล์ ช่วงนี้ราคาตั๋วโดยสารพอๆ กับสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไป ดีกว่าที่มีอาหารและเครื่องดื่มให้บริการบนเที่ยวบิน สำคัญสุดคือไม่มีค่าธรรมเนียมในการชำระเงินซื้อตั๋วทางเว็บไซต์ ขณะที่โลว์คอสต์แอร์ไลน์ทั่วไปคิดค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูงและสูงลิ่วเมื่อจ่ายด้วยบัตรเครดิต ตกประมาณ 1 ใน 5 ของราคาตั๋วก็มีในบางครั้ง
นิทรรศการ “108 ภาพฝัน เส้นทางเล่าขาน ตำนานเมืองน่าน” โดยกลุ่ม “สห+ภาพ”
เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ผมได้นั่งเครื่องบินมาลงสนามบินน่านนคร อาคารผู้โดยสารขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ประดับตกแต่งได้อย่างน่ารักน่าประทับใจ โดยเฉพาะภาพเขียนและภาพถ่ายขนาดใหญ่สื่อแสดงความเป็น “น่าน” จำนวน 5 ภาพ ติดอยู่บนผนังฝั่งทางออกสู่ด้านนอกตัวอาคาร
รถยนต์ต่อคิวรับญาติมิตรอยู่แถวยาวเหยียด ที่จอดอยู่เฉยๆ รอให้ญาติมิตรเดินไปหาก็มาก ผมมองเห็นรถสองแถวก็เดินข้ามถนนไปสอบถามลุงโชเฟอร์ แกว่ายังไม่มีผู้โดยสาร ขอให้รออีกหน่อย หันไปเจอแท็กซี่จอดอยู่ไม่ไกลจึงเดินไปถามราคาเข้าเขตข่วงเมืองน่าน ระยะทางห่างไปราว 3 กิโลเมตร คนขับตอบ 100 บาท ผมเปิดประตู ปลดเป้ลงจากบ่าวางบนเบาะหลังดันไปยังฝั่งขวาแล้วมุดตามเข้าไปนั่ง
ทราบจากพี่คนขับว่าแท็กซี่ในเมืองน่านมีอยู่แค่ 10 คัน มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีอยู่ประมาณสาม-สี่วิน รถสองแถวมีเพียงรถวิ่งรอบเมืองที่ออกจากสถานีขนส่งน่าน และรถจากโรงพยาบาลน่านมายังสนามบิน
"เที่ยวน่านต้องวางแผนเรื่องรถดีๆ" พี่โชเฟอร์ย้ำ ผมมาทราบภายหลังว่ามี Grab ให้บริการก็ตอนที่กำลังจะเดินทางออกจากน่านแล้ว สำหรับคนต่างถิ่นเที่ยวน่านขอแนะนำเพจเฟซบุ๊ก “เสน่ห์น่านวันนี้” อ่านแล้วได้ข้อมูลเป็นประโยชน์อย่างมาก
ผมเคยเดินทางมาน่านครั้งแรก ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ไม่ได้ค้าง ครั้งที่ 4 เมื่อ 15 ปีก่อนถึงนอนค้างก็จำอะไรไม่ได้เลย ครั้งที่ 5 เมื่อปีที่แล้ว แต่เป็นแค่เพียงทางผ่านไปเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว การมาเยือนน่านครั้งนี้จึงให้ความรู้สึกไม่ต่างจากเด็กน้อยที่ไปถึงสถานที่ใหม่เป็นครั้งแรก
หลังเช็กอินที่เกสต์เฮาส์บนถนนมหาพรหมเวลาประมาณ 5 โมงเย็น เก็บกระเป๋าในห้องพักแล้วฉวยแจ็กเกตกันหนาวออกมาทันที เดินผ่านวัดหัวข่วง เลี้ยวขวาจะเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ-น่าน แต่ปิดทำการลงแล้วจึงเดินไปทางด้านหน้าวัดภูมินทร์ที่กำลังมีการออกร้านขายของบนถนนคนเดิน พบว่ามีงานใหญ่จัดอยู่ใกล้ๆ กันในบริเวณที่เรียกว่ากาดข่วงเมืองน่าน ซึ่งข่วงก็คือ “ลานกว้าง” เป็นไปได้ว่าถนนคนเดินคือส่วนหนึ่งของงานใหญ่นี้
ภาพ “ขบวนสาวงามไทลื้อ อ.ปัว” โดย “ประสงค์ ไกรศักดาวัฒน์”
ก่อนเข้างานมีเจ้าหน้าที่ควบคุมให้สวมหน้ากากผ้า-หน้ากากอนามัยให้เรียบร้อยพร้อมลงทะเบียน ต้องไม่ลืมว่าเกือบ 1 ปีผ่านไป น่านยังเป็นหนึ่งในไม่กี่จังหวัดที่ผู้ป่วยโควิด-19 ยังเป็นศูนย์ ต้องพยายามรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องนี้ไว้ให้ดี
งานใหญ่ที่กล่าวถึงคือ กิจกรรม “เปิดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนวิถีคนเมืองน่าน” จัดโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน มีการจำลองวิถีชีวิตและภูมิปัญญา 10 ชุมชนคุณธรรม การออกร้านแสดงและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมของแหล่งท่องเที่ยว 27 แห่ง และที่ดึงดูดคนต่างถิ่นได้เป็นพิเศษก็คือการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายในชื่อ “108 ภาพฝัน เส้นทางเล่าขาน ตำนานเมืองน่าน”
เดือนก่อน สำนักวัฒนธรรมจังหวัดน่านได้จัดกิจกรรมสัญจรไปยัง 30 แหล่งท่องเที่ยวและชุมชนในหลายอำเภอ โดยรถตู้ 14 คัน ท่องไปยัง 7 เส้นทาง มีบรรดาบล็อกเกอร์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากหลายองค์กร คณะของ 3 ศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา และคณะช่างภาพมืออาชีพ กลุ่ม “สห+ภาพ” ซึ่งคุณจิระนันท์เป็นประธานที่ปรึกษาของกลุ่ม พวกเขาได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในรูปแบบของภาพถ่าย ก่อนจะคัดเหลือ 108 ภาพนำมาจัดแสดงในงาน ใกล้ๆ เวทีการแสดง ซึ่งเวทีตั้งอยู่ติดกำแพงวัดภูมินทร์ (งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 ธันวาคม 2563)
ภาพที่ถูกคัดมาไม่ได้เน้นภาพวิวทิวทัศน์ หากแต่มุ่งไปที่คน ชุมชน วิถีชีวิตชาวน่านที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ภาพที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี งานพุทธศิลป์ เป็นต้น หากท้องไม่ร้องเรียกอาหารผมก็คงไม่ผละออกไปจากซุ้มการแสดงภาพถ่ายนี้ง่ายๆ ท่านที่ต้องการชมทั้ง 108 ภาพ สามารถเข้าไปที่เพจเฟซบุ๊ก “เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนวิถีคนเมืองน่าน” และเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มสห+ภาพ (facebook.com/fotounited)
ภาพ “ไม่ต้องแย่ง แบ่งกันกิน” โดย “รังสิต ทองสมัคร์”
ถนนผากองส่วนที่ให้คนเดินทอดยาวด้วยแถวขายอาหาร 2 แถว 4 แนวร้านค้า ยาวประมาณสองร้อยเมตร แล้วต่อด้วยโซนเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ผมเดินได้ไม่กี่เมตรก็ต้องรีบปลงใจให้กับของกินง่ายๆ เพราะคนแน่นเหลือเกิน ฟังเสียงสำเนียงคุยแล้วสันนิษฐานว่าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวมาจากกรุงเทพฯ บรรดาสุภาพสตรีต่างพร้อมใจกันพรางรูปอยู่ในชุดแต่งกายพื้นเมือง เป็นภาพที่เห็นแล้วชวนให้ยิ้มชื่นใจ
การแสดงบนเวทีเริ่มขึ้น จากนั้นเป็นการเปิดงานโดยคุณสโรช รัตนมาศ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน กล่าวรายงาน ประธานของงานคือ คุณนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผมเดินกลับเข้าไปในงานฟังข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ ได้ทราบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวของจังหวัดน่านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 10 ปี หลังโครงการ “น่านนิรันดร์ 100 ภาพฝันบันทึกแผ่นดิน” เมื่อ พ.ศ.2553 หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในเวลานั้นก็คือกลุ่มสห+ภาพ
ปี 2552 น่านมีนักท่องเที่ยวประมาณ 3 หมื่นคน ผู้มาเยือนค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น กระทั่งปีที่แล้ว พ.ศ.2562 มีถึง 1 ล้านคน และปีนี้แม้จะมีปัญหาการระบาดของโควิด-19 แต่จังหวัดน่านก็ยังมีนักท่องเที่ยวถึงราว 8 แสนคน
กิจกรรมของงานดำเนินไปถึงช่วงที่อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ขึ้นเวทีไปครวญเพลงขลุ่ยจำนวนหลายบทเพลง รวมถึงเพลง “ณ น่าน” ที่ประพันธ์คำร้องโดยอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แต่งทำนองและผลิตโดยอาจารย์ธนิสร์เอง ได้ศิลปินชาวน่าน “หญิง ธิดารินทร์” ขึ้นมาขับร้อง
ภาพ “เพลินเพลงพิณ” โดย “วีระยุทธ พิริยะพรประภา”
ช่วงหนึ่งคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา (อยากจะเรียกอาจารย์จิระนันท์ แต่ยังไม่เห็นมีใครเรียก) กวีซีไรต์ขึ้นไปอ่านบทกวี 2 บท หนึ่งในนี้ชื่อ “108 ภาพฝันวิถีคนน่าน” เพิ่งประพันธ์ขึ้นใหม่สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ ผมกลับไปฟังใหม่ในเพจเฟซบุ๊ก แล้วล้วงกระดาษปากกาขึ้นมาจด และขออนุญาตคุณจิระนันท์เผยแพร่ไว้ตรงนี้ครับ
“กี่ร้อยเรื่อง เมืองน่าน ที่ผ่านพบ
จากขุนเขา บรรจบ สายน้ำน่าน
กี่ร้อยปี วิถีคน คือต้นธาร
ร่วมชีวิต จิตวิญญาณ น่านผูกพัน
ทุกชุมชน เชิงช่าง สะพรั่งพร้อม
ทุกมือที่ ทอย้อม สานก่อปั้น
ทุกวาระ ประเพณี ชื่นชีวัน
คือภาพฝัน บันทึกไว้ ในแผ่นดิน
ให้รักษา ส่งเสริม เติมต่อยอด
ให้สืบทอด ทิศทาง สร้างศาสตร์ศิลป์
ให้วัฒนธรรม ค้ำชู การอยู่กิน
ให้พื้นถิ่น เป็นพื้นฐาน น่านนิรันดร์”
เพลงขลุ่ยของอาจารย์ธนิสร์ยังคงดังอยู่ แต่ได้ย้ายลงไปบรรเลงแนบชิดผู้ชมด้านล่างเวทีตอนที่ผมเดินไปหาของกินรอบสอง อุณหภูมิช่วงเวลา 2 ทุ่มกว่าๆ ลดลงเหลือไม่ถึง 20 องศา ผมแวะเข้าห้องน้ำของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแล้วใส่แจ็กเกตกันหนาวเดินออกจากงาน หวังจะหาเบียร์ดื่มโดยลืมไปว่าในเขตเมืองเก่านี้ไม่มีร้านรวงจำพวกนั้น แต่ก็เห็นคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งนั่งล้อมวงโต๊ะใครโต๊ะมันอยู่ในเวิ้งเล็กๆ ริมถนน มีทางเข้าไนท์บาซาร์-ถนนคนเมือง ศูนย์โอท็อปน่าน และร้านขายของที่ระลึกอยู่ด้านหลัง บรรดารถเข็นขายของยำของทอดอยู่ด้านหน้า นักดนตรีเล่นอะคูสติกอยู่ที่มุมหนึ่ง ไม่มีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พวกเขาซื้อจากร้านสะดวกซื้อที่อยู่ติดกันมานั่งดื่มแกล้มของยำของทอด
ภาพ “ภูษาอาภรณ์ชาวเมี่ยน อ.ปัว” โดย “พัฒนะ จึงวัฒนาสมสุข”
ผมทำได้แค่เข้าไปซื้อเบียร์ 2 กระป๋อง แล้วเดินกลับเกสต์เฮาส์ไปนอนเปลบนชั้นดาดฟ้า ดื่มแกล้มเดือนที่ยังลอยดวงเด่น เพราะยังเป็นช่วงต้นๆ ของคืนข้างแรม เวลานี้ผมยังไม่รู้ว่าน่านมี Grab ให้บริการ ไม่งั้นก็คงกดแอปเรียกออกไปโซนดื่มกินใกล้วัดสวนตาลหรือไม่ก็ร้านอาหารริมน้ำน่านเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นความไม่รู้ที่มีประโยชน์ อากาศหนาวๆ อาจดื่มเข้าไปมากมายเกินพอดี
อุณหภูมิในเช้าวันใหม่ลดลงเหลือ 14 องศา เสร็จมื้อเช้าในเกสต์เฮาส์แล้วก็ออกไปหากาแฟสดดื่ม เลือกได้ร้านใกล้ๆ ศูนย์โอท็อปน่านที่เมื่อตอนกลางคืนคือเวิ้งล้อมวงของคนหนุ่มสาว จากนั้นเดินไปทางตะวันตกนิดเดียวถึงวัดมิ่งเมือง มีเสามิ่งเมืองหรือเสาหลักเมืองน่านตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ ทั้งอาคารเสาหลักเมืองและพระอุโบสถตกแต่งด้วยปูนปั้นสีขาวลวดลายวิจิตรอลังการ ฝีมือช่างพื้นเมือง เป็นต้นแบบของวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ภายในพระอุโบสถพบภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าตำนานเมืองน่าน
ผมกลับไปเช็กเอาต์ตามเวลากำหนด 11 โมง ฝากกระเป๋าไว้กับผู้ดูแลเกสต์เฮาส์แล้วเดินไปยังวัดหัวข่วง เข้าไปไหว้พระในวิหารของวัด จากนั้นเดินลอดซุ้มลีลาวดีอันขึ้นชื่อก่อนเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน สถานที่แห่งนี้ในอดีตคือหอคำหรือวังของเจ้าผู้ครองนครน่าน
ภาพ “กระซิบรักเมืองน่าน” โดย “ศุภรัตน์ แก่นจันทร์”
อาคารพิพิธภัณฑ์มี 2 ชั้น โดยชั้นบนบริเวณโถงใหญ่มีห้องกระจกจัดแสดงงาช้างดำ สมบัติคู่เมืองน่านมาแต่โบราณ ลักษณะเป็นงาปลี ยาว 97 เซนติเมตร มีจารึกอักษรธรรมล้านนา แปลได้ว่า “กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” หรือประมาณ 18 กิโลกรัม ตำนานเล่าขานมีอย่างน้อย 2 เรื่อง ทำให้สรุปประวัติที่แน่ชัดไม่ได้
นอกจากนี้ในห้องโถงใหญ่ยังจัดแสดงข้อมูลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจังหวัดน่าน ศิลาจารึก สมุดข่อยอาณาจักรหลักคำกฎหมายเมืองน่าน ภาพลำดับเชื้อสายของเจ้าผู้ครองนครน่าน ข้าวของเครื่องใช้โบราณ ภาพถ่ายเก่า รวมถึงอาวุธจำพวกหอก ทวน และดาบ ในห้องปีกของอาคารฝั่งขวาจัดแสดงพระพุทธรูปยุคต่างๆ ที่พบในเขตจังหวัดน่าน ฝั่งซ้ายจัดแสดงหีบพระธรรมไม้แกะสลัก
เมื่อลงไปยังชั้นล่าง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้เวลาพักเที่ยงรับประทานอาหาร ผู้เข้าชมจึงต้องทยอยออกจากอาคาร ข้อมูลจากเว็บไซต์ museumthailand.com ที่เกี่ยวกับการจัดแสดงชั้นล่างระบุไว้ว่า
ชั้นล่าง แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
อนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์รองสุดท้าย หน้าหอคำ ฝั่งตรงข้ามคือวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
1.ห้องโถง จัดแสดงเรื่องราวด้านชาติพันธุ์วิทยา เกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของภาคเหนือ มีการจำลองลักษณะบ้านเรือน ร้านน้ำ ห้องนอน ครัวไฟ เครื่องใช้ชีวิตประจำวัน การทอผ้าและตัวอย่างผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ รวมถึงเรื่องประเพณีความเชื่อ การแข่งเรือยาว และงานสงกรานต์ เป็นต้น
2.เฉลียงด้านหน้าและปีกอาคาร จัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของเผ่าชนต่างๆ ในจังหวัดน่าน อาทิ ไทลื้อ แม้ว เย้า ชนเผ่าตองเหลือง สุดท้ายเป็นห้องที่ระลึกและห้องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติชาวจังหวัดน่าน”
ผมเดินข้ามถนนจากพิพิธภัณฑ์หรือวังเก่าไปยังวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดนี้เรียก “วัดหลวง” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.1949 เจ้าผู้ครองนครน่านใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาและพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา วัดนี้มีความโดดเด่นที่เจดีย์ช้างค้ำซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอยู่ภายใน วิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดยืนปางประทานอภัยสร้างขึ้นในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 19
ยังมี "พระเจ้าทันใจ" ซึ่งพงศาวดารเมืองน่านบันทึกไว้ว่าเจ้าฟ้าอัตถวโรปัญโญทรงสร้างขึ้นหลังจากเดินทางลงไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ.2331โดยสร้างขึ้นตอนรุ่งสาง แล้วเสร็จในตอนพระอาทิตย์ตกดิน การสร้างภายในวันเดียวนี้ถือว่ามีอานิสงส์และศักดิ์สิทธิ์มาก
พระพุทธรูปแกะสลักไม้ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
ผมเข้ากราบพระประธานในพระอุโบสถแล้วเดินออกจากวัด นัดหมายในเย็นวันนี้อยู่ที่จังหวัดแพร่ มีคณะนักข่าวอาวุโสกำลังขับรถกันมาจากกรุงเทพฯ เพื่อรับประทานอาหารเย็นกับผู้ใหญ่คนสำคัญของแพร่และนอนค้างเมืองแพร่ 1 คืน รุ่งขึ้นคณะก็จะเดินทางมาไหว้พระที่น่าน เจาะจงพิเศษที่วัดภูมินทร์ ผมจึงยกยอดวัดภูมินทร์และภาพจิตรกรรมฝาผนัง “กระซิบรักบันลือโลก” ไปไว้วันพรุ่งนี้
เวลาขึ้นรถมินิบัสจากสถานีขนส่งจังหวัดน่านคือ 14.30 น. กะว่าจะเดินไปวัดสวนตาล เพราะอากาศไม่ร้อน ระยะทางห่างออกไปประมาณ 1.2 กิโลเมตร ค่อยกลับมารับกระเป๋าแล้วต่อไปสถานีขนส่ง เดินไปได้ไม่กี่ร้อยเมตรก็เกิดท้อ ไม่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างวิ่งผ่านมาเลย ขากลับหากหารถไม่ได้ก็อาจขึ้นมินิบัสไม่ทัน จึงแวะกินมื้อเที่ยงแล้วเดินกลับเกสต์เฮาส์ ถามผู้จัดการว่าจะไปสถานีขนส่งได้ด้วยวิธีไหน
เธอบอกว่ามี Grab และมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่รู้จักกัน ผมอ้าปากค้าง 3 วินาทีเมื่อทราบว่ามี Grab สุดท้ายขอเบอร์มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ปลายสายเป็นสุภาพสตรีรุ่นใหญ่ คุณป้าแจ้งว่าเวลานี้อยู่ไกล แกจะโทรไปบอกเพื่อนให้มารับแทน เพียงอึดใจเพื่อนต่างเพศแต่ร่วมวัยของคุณป้าก็มาถึง
มินิบัสน่าน-เด่นชัย ขนาด 20 ที่นั่ง ออกจากสถานีขนส่งน่านก่อนเวลาเกือบ 5 นาที ผู้โดยสารมีรวมกันแค่ 3 คนเท่านั้น เมื่อไปถึงแพร่ผมก็ทราบว่าคณะนักข่าวอาวุโสเปลี่ยนแผนไม่ไปน่าน แต่จะตรงไปดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย ทำเอาผมน้ำตาแทบไหล
หวังว่าจะกลับมาน่านใหม่ไม่เกินหนาวนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |