ผ่าสนามเดือด เลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค.


เพิ่มเพื่อน    

 ศึกเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค. ไม่เห็นแสงสว่างกระจายอำนาจ

            เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า วันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. กับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าช่วงโค้งสุดท้ายในหลายจังหวัด การแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.ที่บางแห่งกลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี ที่เพดานการแข่งขันไปไกลกว่าการเมืองท้องถิ่นไปแล้ว เช่นที่เชียงใหม่เป็นต้น

            "รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ จาก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งใน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีวิษณุ  เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน" ประเมินสถานการณ์การเลือกตั้ง อบจ.ที่จะเกิดขึ้นด้วยมุมวิเคราะห์แบบตรงไปตรงมา แม้จะเป็นกรรมการกระจายอำนาจ ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่เห็นสัญญาณในทางบวก ในเรื่องความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจในประเทศไทย รวมถึงวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งว่าสุดท้ายแล้ว กลุ่มที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ ฝ่ายของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะก้าวหน้า จะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนกับการปักธงท้องถิ่นในการเลือกตั้งรอบนี้

เริ่มต้นที่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง-การเลือกตั้งท้องถิ่นจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าการเลือกตั้ง 20 ธ.ค. ถือว่าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่สำคัญ เพราะเป็นการเลือกคนที่จะเข้าไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ โดยการเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในช่วงเกือบ 7-8 ปีที่ผ่านมา  สำหรับผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งที่ผู้บริหารหมดวาระไปนานแล้ว แต่บางแห่งก็สั้นกว่า 7 ปี ถือเป็นความก้าวหน้าในเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่รัฐบาลปัจจุบันยอมปล่อยให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้ว่าจะไม่ได้เต็มรูปแบบทั้งหมด  อย่างน้อยการเลือกตั้งระดับ อบจ.ครั้งนี้ก็เป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งว่า ถึงเวลาที่ควรปล่อยให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น

...สาเหตุที่ใช้คำว่า "สัญลักษณ์" เพราะหากรัฐบาลจริงใจเรื่องนี้ ก็ควรให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมดทุกรูปแบบ แบบปูพรมครบทุกรูปแบบไปเลย ทำให้ดูเหมือนกับรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของชาวบ้านโดยภาพรวม ถึงใช้การเมืองท้องถิ่นเป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น แม้รัฐบาลอาจมองแยกส่วนได้ให้เป็นการเมืองระดับชาติ ระดับจังหวัด อบจ. เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล แต่หากเขามองให้ดีจริงๆ คนที่รอรับบริการท้องถิ่น คือชาวบ้าน การที่เขา freeze (แช่แข็ง) มา 7 ปี แม้ อปท.หลายแห่งจะมีการเดินหน้าทำงานต่อ แต่หลายแห่งที่เมื่อเป็นผู้บริหารแบบรักษาการอยู่ในวาระไปเรื่อยๆ ก็เห็นชัดว่าผู้บริหารท้องถิ่นหลายแห่งไม่ active อย่างที่ควรจะเป็น

                "การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น 20 ธ.ค. ในภาพรวมเป็นความก้าวหน้าในเชิงสัญลักษณ์อันหนึ่งเท่านั้น ที่รัฐบาลยอมผ่อนคลายอุณหภูมิทางการเมือง แต่ไม่เรียกว่าเป็นสัญญาณของความก้าวหน้าหรือความสำเร็จอะไรเลย"

...ในช่วงรัฐบาลสมัยที่แล้ว ตอนปี 2561 รัฐบาลมีการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่น-การเลือกตั้งท้องถิ่นหลายฉบับ เช่นมีการแก้ไขเรื่องกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่นไม่ให้อยู่ในตำแหน่งเกินสองวาระ ซึ่งจะพบว่ากฎหมายที่มีการแก้ไขเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงกรอบกฎหมายเท่านั้น แต่ทว่าไม่มีกฎหมายที่ทำให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น แต่กลับมีกฎหมายที่มาครอบท้องถิ่นให้เป็นแขนเป็นขาให้เป็นส่วนเดียวกันกับกลไกของรัฐ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน, ยุทธศาสตร์ชาติ, กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ, กฎหมายการเงินการคลัง จนทำให้ท้องถิ่นเข้าไปอยู่ในโครงสร้างระบบของส่วนกลางเกือบทั้งหมด ไม่ได้ทำให้เกิดความก้าวหน้าอะไรในเรื่องท้องถิ่น แต่กลับยิ่งทำให้ท้องถิ่นถอยหลังด้วยซ้ำ

-ความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง กรณีบางพรรคอย่างเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ให้มีการส่งผู้สมัครบางคนในนามพรรคอย่างเป็นทางการ แต่บางพรรคอย่างพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ไม่ยอมประกาศอย่างเป็นทางการ?

            ไม่มีแพตเทิร์นชัดๆ คือวันนี้การที่พรรคการเมืองจะประกาศส่งคนลงสมัครในนามพรรคอย่างเป็นทางการหรือไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ มันไม่มีผลอะไรเลย เป็นแค่ผลในทางกฎหมาย แต่ที่ไม่ส่งในนามพรรคเพื่อไม่ให้ดูว่ามันขัดแย้ง ใครไปช่วยใคร เพราะมีข้อห้ามทางกฎหมายอยู่ ที่ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐไปช่วย เพราะเกรงจะดูไม่เป็นกลาง แต่โดยพฤตินัยถามว่ารู้ไหมใครเป็นใคร ก็รู้กันหมดในพื้นที่  เอาแค่ว่าสวมแจ็กเกตสีอะไรคนก็รู้แล้ว และพวกนี้ก็ยินดีให้รู้ด้วยว่าอยู่สังกัดไหน เพื่ออาศัยทั้งกระแสตัวเองและกระแสพรรคเป็นตัวชูโรง ยกเว้นคนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเลย  อันนั้นประกาศชัดก็คือจบ การส่งผู้สมัครอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการในนามพรรค ผมจึงมองว่าไม่ได้มีผลเลยต่อการเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องของการไม่ให้มีประเด็นทางกฎหมาย

-กลุ่มประชาชนที่จะได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 20 ธ.ค. อย่างกลุ่ม new voter จะมีผลอย่างไรหรือไม่ต่อผลการเลือกตั้งที่จะออกมา?

                มีเยอะแน่ คนกลุ่มนี้ เพราะโดยข้อเท็จจริงก็เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวันอยู่แล้ว ซึ่งมีประเด็นน่าคิด เพราะ new  voter ที่เยอะขึ้นมีผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่ ก็พบว่าอย่างการเลือกตั้งใหญ่เมื่อมีนาคม 2562 ก็มีผล เห็นการเปลี่ยนแปลงชัด ทำให้มีพรรคการเมืองตั้งใหม่ เพิ่งเข้าสู่การเลือกตั้ง อย่างอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.มาร่วม 80 เสียง ได้มากกว่า พรรคเก่าแก่ ประชาธิปัตย์ หรือพรรคที่ตั้งมาก่อนอย่าง ภูมิใจไทยด้วยซ้ำ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอิทธิพลของ first-time voters, new voter แต่มันก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณาในด้านหนึ่ง ผมก็ยังเชื่อว่า first-time voters, new voter มีความตื่นตัวทางการเมือง ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลการเมืองแบบเดิมๆ ในพื้นที่เช่นบ้านใหญ่ แต่เมื่อไปดูกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ก็อาจจะมีผลต่อผลลัพธ์ที่จะออกมาจากการเลือกตั้งได้ เช่นการกำหนดวันเลือกตั้ง 20 ธ.ค. ที่อยู่ระหว่างการหยุดยาวสี่วัน ตามมติ ครม. คือ 10-13 ธ.ค. ซึ่งผมเชื่อว่าคนต่างจังหวัดมีจำนวนเยอะพอสมควรที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา และอีกรอบหนึ่งคือช่วงใกล้ปีใหม่  ที่คนก็จะเริ่มวางแผนกลับบ้านช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็จะมีสองช่วงที่คนจะวางแผนกลับต่างจังหวัด แล้วการที่กำหนดให้เลือกตั้ง 20 ธ.ค. ถามว่าคนต่างจังหวัดจะกลับไปใช้สิทธิ์เลือกอบจ. 20 ธ.ค.สักกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะคนอาจมองว่ากลับบ้านช่วง 10-13 ธ.ค. สี่วันกลับแล้วคุ้มกว่า ไม่งั้นก็กลับช่วงใกล้ปีใหม่ดีกว่า

            ...วันเลือกตั้ง 20 ธ.ค. คนกลุ่มไหนที่พร้อมจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หากผมประเมินก็คิดว่าก็คือคนกลุ่มที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว อาจเป็นเกษตรกร ชาวนา ผู้สูงอายุ  หรือเด็ก แต่ก็ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส่วนคนวัยทำงาน เด็กวัยเรียน นักศึกษา ก็เป็นกลุ่มที่ไปอยู่นอกพื้นที่ ซึ่งอาจไม่ได้กลับบ้านช่วง 20 ธ.ค. อาจมีจำนวนถึงครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้กลับ  เพราะอาจจะกลับบ้านไปก่อนแล้วช่วง 10-13 ธ.ค. และจะกลับมาอีกทีก็ตอนช่วงใกล้ๆ หยุดปีใหม่ อย่างผมถามนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด เขาก็บอกว่าคงไม่กลับช่วง 20 ธ.ค. แต่จะกลับช่วง 10-13 ธ.ค.นี้ แล้วค่อยไปทำเรื่องแจ้งการไม่ไปใช้สิทธิ์ต่อไป หากพฤติกรรมคนเป็นแบบนี้ ผลเลือกตั้งที่จะออกมาจะแตกต่างจากตอนเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ ก็จะพบว่าเมื่อคนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่ม Gen  รุ่นเก่า ที่ก็อาจอยู่ภายใต้อิทธิพลการเมืองแบบเก่า

...เมื่อเป็นแบบนี้บางฝ่ายอย่างรัฐบาล พลังประชารัฐ อาจชอบ คุมได้หมด รวมถึงประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยก็ชอบ  แต่คนรุ่นใหม่ที่ออกไปนอกพื้นที่ เห็นโลกทัศน์ เห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็น new voter ส่วนหนึ่ง รวมถึงคนวัยทำงาน คนกลุ่มนี้เขาไม่กลับพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะมีการทำโพลทำเซอร์เวย์แล้วก็ได้-ผมไม่รู้ เรื่องอุดมการณ์ วิธีคิดทางการเมือง ซึ่งมันเห็นได้จากการเลือกตั้ง ส.ส.ว่าคน gen นี้ เยาวชนกับคนทำงาน แนวโน้มจะเป็นอย่างไร เขาเลยคิดว่าทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ไม่มาใช้สิทธิ์ แค่นี้ก็จัดการผลลัพธ์ของการเลือกตั้งได้แล้ว

ความเห็นข้างต้นผมประเมินด้วยเหตุและผล กับการที่ให้มีการเลือกตั้ง 20 ธ.ค. ซึ่งแปลกทั้งที่วันซึ่งน่าจะลงตัว สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการเดินทางของผู้คน ทำไมไม่ให้เลือกตั้งในช่วงหยุดยาวสี่วัน (10-13 ธ.ค.) ซึ่งผมไม่เชื่อว่า ที่ไม่เลือกช่วงสี่วันดังกล่าวเพราะจัดการเลือกตั้งไม่ทัน  เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะ กกต.ไม่ใช่คนคุมหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด แต่คนคุมคือกระทรวงมหาดไทย-ท้องถิ่น ที่พร้อมอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องของกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ เพราะเมื่อคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงานไม่อยู่บ้านวันเลือกตั้ง ผลลัพธ์ก็คือคน Gen เก่าก็จะเป็นคนตัดสินใจ ก็อาจทำให้ผลลัพธ์ผลการเลือกตั้ง อบจ.ที่จะออกมาก็จะได้แบบเดิม อาจเป็นจำนวนสักครึ่งหนึ่งของ 76  จังหวัด โอกาสที่กลุ่ม new voter จะสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมืออาจมีให้เห็นน้อยมาก ยกเว้นเมืองใหญ่ๆ หรือจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ คนกลับบ้านได้ง่าย คนก็อาจกลับไปใช้สิทธิ์กัน

รูปการณ์แบบนี้ดูแล้วไม่ดี เพราะไม่ได้เปิดให้มีการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้อย่างอิสระอย่างแท้จริง อุปสรรคเรื่องการเดินทางเป็นตัวสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะก็ใช้กันทั่วโลก เป็นแท็กติกทางการเมือง เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาเข้าข้างฝ่ายตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะรัฐบาลเองก็เป็นหนึ่งในผู้เล่น แม้พรรคพลังประชารัฐจะประกาศไม่ส่งคนในนามพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริงก็ส่ง เพียงแต่ไม่บอกว่าเป็นคนของพรรคที่ส่งมา แต่หากไปดูในพื้นที่ ถามว่าคนในพื้นที่ไม่รู้หรือว่าคนนั้นเป็นคนของพรรคการเมืองใด-ก็รู้หมด ก็มีคนของพลังประชารัฐลงไปตั้งหลายคน จะบอกว่าไม่ใช่คนของรัฐบาลก็พูดไม่ออก ไม่จริง  ปฏิเสธไปก็โกหก

เมื่อเป็นแบบนี้รัฐบาลคือหนึ่งในผู้เล่น จึงมีส่วนได้ส่วนเสีย ผมจึงไม่เชื่อว่ารัฐบาลเป็นกลาง รัฐบาลจะคุยนอกรอบหรือไม่คุย หรือจะกะพริบตาให้รู้กัน-ก็ไม่รู้ ว่าให้เอาวันที่ 20 ธ.ค.แล้วจะได้เปรียบกับเขา ก็กล่าวหาเลยนะ (หัวเราะ)

-มองโอกาสการเข้าสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ของคณะก้าวหน้า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - ปิยบุตร  แสงกนกกุล อย่างไร?

            ไม่เหนือความคาดหมาย เท่าที่ตามดูบรรดาพรรคการเมืองปัจจุบัน พรรคที่นำเสนอประเด็นเรื่องท้องถิ่น การกระจายอำนาจชัดที่สุด เท่าที่เห็นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ก็คืออนาคตใหม่เดิม ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งท้องถิ่น แล้ว ฝ่ายธนาธร-ปิยบุตรส่งคนลงมาสมัคร จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย หากเขาทำด้วยอุดมการณ์จริงๆ และที่เข้ามาก็อาจเป็นเรื่องของพื้นที่ทางการเมืองที่เขาต้องการรักษาไว้ เหมือนกับการหล่อเลี้ยงมวลชน เพราะการเมืองระดับชาติไม่เหลือพื้นที่ให้เขาเล่น (ถูกตัดสิทธิ์การเมืองจากคดียุบพรรค) การเมืองพื้นที่ท้องถิ่นจึงเป็นทางออก  และอีกอันที่ตีความได้ก็คือ ที่ทำแบบนี้เพราะต่อไปต้องการเป็นสถาบันการเมืองใช่หรือไม่ ผมก็มองว่าใช่ ค่อนข้างชัดแล้ว คือจะหาพื้นที่เล่นทั้งการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น  ซึ่งก่อนหน้านี้หลายพรรคการเมืองก็เคยทำ เช่นเพื่อไทยก็เคยทำ ส่วนประชาธิปัตย์ก็ทำมาก่อนตั้งนานแล้ว

-ที่คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครนายก อบจ. 42 คน  ประเมินว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน กระแสตอบรับจะเป็นแบบตอนเป็นพรรคอนาคตใหม่ช่วงเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 หรือไม่?

 อาจได้ระดับหนึ่งแต่ไม่ง่าย ไม่เทกระจาด สมัยเลือกตั้ง ส.ส.เขาได้กติกาการเลือกตั้งมาช่วยหนุน แล้วก็ได้กระแสพรรคจากองค์ประกอบต่างๆ เช่นคะแนนนิยมจากผู้บริหารพรรค รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่นผลจากการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ก็ทำให้มีคะแนนเทเข้าไปที่อนาคตใหม่

            ส่วนการเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ โอกาสที่จะอาศัยกระแสอนาคตใหม่เดิมอาจจะยังพอมี ส่วนโอกาสที่จะได้จากตัวผู้ลงสมัคร เช่นความน่าเชื่อถือส่วนบุคคล น้อยกว่าครึ่ง  ส่วนผลงานไม่ใช่ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ดังนั้นจากที่กลุ่มก้าวหน้าส่งคนลงนายก อบจ. 42 คน หากได้สัก 10-15 คนก็ถือว่าเก่งแล้วหากทำได้ เพราะการเมืองท้องถิ่นไม่มีกระแสปาร์ตี้ลิสต์มาช่วย เป็นเรื่องของตัวบุคคลและพื้นที่ล้วนๆ

อีกทั้งวันนี้บริบทการเมืองก็ไม่เอื้อกับเขามาก เพราะกระแสความขัดแย้งมันชัดเจนมากขึ้น จริงเท็จอย่างไรไม่รู้  แต่สังคมไทยอาจเป็นสังคมที่ตามกระแส ถ้ามีกระแสของม็อบ คนของเขาก็อาจได้คะแนนจากประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ยังมีคนที่ออกมาหนุนรัฐบาล กระแสเสื้อเหลืองรักสถาบันก็มีอยู่ จึงได้เห็นภาพคนในพื้นที่ออกมาประท้วง ทำให้การลงไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครคณะก้าวหน้าของธนาธรจึงไม่ง่าย ทำให้ขายไม่ได้ในบางพื้นที่ ขายไม่ได้กับคนบางกลุ่ม และอย่างที่ประเมินข้างต้น หากวันเลือกตั้ง 20 ธ.ค.เป็นวันที่คนที่อยู่ในพื้นที่ตลอด คน Gen  เก่าออกไปใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่ ก็ทำให้โอกาสที่ธนาธรและคณะก้าวหน้าจะประสบความสำเร็จมันไม่ง่าย

“หากผู้สมัครนายก อบจ.ของคณะก้าวหน้าได้ 10 คนยังพอมีลุ้น แต่ 15 คนถือว่าหืดขึ้นคอแล้ว เพราะคนเดิมที่เคยเป็นครั้งที่แล้วและลงต่ออีกก็ต้องสู้ขาดใจ ด้วยผลประโยชน์ ชื่อเสียง สถานภาพ โอกาสในอนาคตที่จะได้ทำงานกับรัฐบาล โดยหากคณะก้าวหน้าได้นายก อบจ.สัก 10 คน ก็อาจถือว่าเขาก็  success ในมุมของเขาในฐานะที่เพิ่งลงมาสู่การเมืองท้องถิ่นครั้งแรก การได้ 10 จาก 70 กว่าจังหวัดถือว่าไม่เบา ยิ่งหากเทียบได้มา 10 คนจากที่ส่งไป 42 คน ก็คือ 1 ใน 4 เพียงแต่มันไม่ง่าย”

-โค้งสุดท้าย การซื้อเสียง ความรุนแรงต่างๆ เช่น การสังหารหัวคะแนนจะเกิดขึ้นหรือไม่?

            เรื่องความรุนแรงอย่างการยิงหัวคะแนนไม่ค่อยน่าห่วง อย่างหากจะมีการเก็บหัวคะแนน สมมุติผมว่ามันจะมีแค่นักการเมืองรุ่นเก่า เพราะกลุ่มใหม่ๆ ที่ลงมารอบนี้ดูแล้วเขาเล่นการเมืองแบบไม่ชวนทะเลาะ ไม่เล่นใต้ดิน ถ้ามันจะมีก็จะเป็นคนกลุ่มเดิมที่จะรักษาฐานหัวคะแนนเดิมอย่างไร แต่ก็เชื่อว่ามีไม่กี่จังหวัดที่เป็นลักษณะแบบนี้ เพราะการเมืองท้องถิ่นเริ่มจะปฏิรูปไปสู่อะไรใหม่ๆ มากขึ้นแล้ว เพราะผมมองว่าการเมืองท้องถิ่น ผลประโยชน์ไม่ได้เยอะมากถึงขนาดต้องห้ำหั่นกัน เพราะที่บอกกันว่างบท้องถิ่นเยอะ แต่คนที่อยู่ในวงการเขาจะรู้ว่าลึกๆ แล้วงบดังกล่าวทำอะไรไม่ได้เยอะเลย โอกาสน้อยกว่า ส.ส.

...มาวันนี้ผมจะบอกให้ อย่างที่ผมได้ยินมา ที่มองกันว่าจะมีการทุ่มเงินซื้อเสียง จริง ๆ แล้วคนใจไม่ถึงกันเยอะ  มีหลายคนที่ผมเคยได้คุยด้วย เขาบอกการลงสมัคร อบจ.รอบนี้ต้องคิดหนัก อย่างหากจะลงบางจังหวัดต้องหลักร้อยล้าน เขาบอกใจไม่ถึง ไม่เอาดีกว่า ยอมถอยดีกว่า ซึ่งก็พบว่าก็ไม่มีชื่อเขาลงสมัคร ผมจึงเชื่อว่าในอดีตที่เคยคิดกันว่า  อบจ.งบเยอะ เป็นพันล้านสองพันล้านบาท ลงสมัครแล้วก็จะเข้าไปกอบโกยเพื่อคืนทุน ซึ่งผมก็เชื่อว่าข้อเท็จจริงวันนี้มันไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจกัน งบ อบจ.ไม่ได้มีอะไรให้หาผลประโยชน์เยอะ ถูกตัดแข้งตัดขาเยอะ ทำให้พอคนคิดแล้วว่ามันไม่ใช่เวทีที่จะเข้าไปกอบโกยได้มาก โอกาสที่จะซื้อเสียง โอกาสที่จะเด็ดหัวคะแนนฝ่ายตรงข้ามมันน้อยลงไปเยอะ คือมันอาจจะมี ผมไม่ปฏิเสธ แต่หากดูตั้งแต่เริ่มมีการรับสมัคร หาเสียงเลือกตั้ง อบจ. จะไม่ค่อยมีข่าวเรื่องทำนองนี้ออกมา

            "การเมือง อบจ.วันนี้ในลักษณะที่เป็นการเมืองด้านมืด ผมดูแล้วแนวโน้มจะน้อยลง เพราะมันไม่มีอะไรมาล่อใจมากแล้ว ผลประโยชน์มันไม่เยอะ เพราะว่างบประมาณ อบจ.ที่ได้ในการพัฒนา ตีว่าจังหวัดหนึ่ง 700 ล้านบาทต่อปี เท่ากับปีหนึ่ง อบจ.มีงบราวๆ  53,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้ก็จะมีงบ อสม., เงินที่เป็นภารกิจฝากให้ อบจ.ที่จะนำไปใช้ตามอำเภอใจไม่ได้ คิดเป็นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เหลือเงินงบประมาณให้ อบจ.พัฒนาได้ทั่วประเทศจะมีแค่ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท

สมมุติหากจะมีการใช้เงินซื้อเสียงกันหลายจังหวัดจำนวนมาก โอกาสเรียกผลตอบแทนคืนน้อยมาก ถ้าผมมองวันนี้ระดับมาเฟีย เจ้าพ่อ อาจจะยังเหลืออยู่ในบางจังหวัด แต่ถ้าเล่นการเมืองเก่าๆ ทุ่มหน้าตักเต็มที่เพื่อหวังไปกอบโกยคืนมา มันไม่คุ้ม ไม่มีใครยอมควักกันแล้ว เพราะคนที่คุ้นเคยระดับเจ้าพ่อที่เล่นการเมืองอยู่ในท้องถิ่น เขาจะรู้แล้วว่าโอกาสจะเข้าไปหาผลประโยชน์ตอบแทนมันไม่ได้เยอะเหมือนเมื่อก่อน"

                เมื่อถามถึงว่า ผลการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค.นี้จะมีผลสะท้อนต่อการเมืองระดับชาติอย่างไรหรือไม่ ดร.วีระศักดิ์ มองว่าคงไม่ แต่ผลเลือกตั้งที่ออกมาหากคนที่ได้รับชัยชนะ ส่วนใหญ่เป็นคนจากซีกฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ถ้าออกมาแบบนี้ก็บอกได้ว่ามันไม่ได้ก้าวหน้า มันก็แค่การเมืองท้องถิ่นที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองระดับชาติ ท้องถิ่นถูกทำให้เป็นหนึ่งในกลไกของรัฐ ทุกอย่างก็จะเหมือนตอนนี้ก่อนวันเลือกตั้ง จะมีการต่อเป็นเนื้อเดียวกันได้ดีขึ้น ที่ก็ไม่ได้ต่างจากวันนี้ที่ให้สัมภาษณ์ก่อนวันเลือกตั้ง แต่หากผู้ชนะส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล มันจะเริ่มมีการเรียกร้องและใช้ตำแหน่งที่มีที่ได้มาโดยชอบธรรม ทำให้มีการตีรวนโต้แย้งนโยบายรัฐบาล ที่อาจเป็นไปได้ แต่คงไม่สร้างกระแสรุนแรงเพราะอำนาจของท้องถิ่นกับรัฐบาลมันคนละ level มันไม่สมมาตรกัน ต่อรองกันไม่ได้เยอะมาก

                “รัฐบาลอาจประเมินตั้งแต่ก่อนให้มีการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้แล้วว่า จาก 76 จังหวัด ฝ่ายเขาทั้งพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ อาจจะได้สักเกิน 40  จังหวัด ถึงยอมให้มีการเลือกตั้ง คือไม่ได้มีเจตนาจะกระจายอำนาจ แต่เป็นเกมการเมือง จากตอนแรกยังไม่รู้ชัดว่าไพ่จะออกแบบไหน พอรู้แล้วว่าไพ่จะออกยังไงถึงยอมเล่น"

                ถามย้ำในตอนท้ายว่า เหตุใดถึงไม่ค่อยคาดหวังกับการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค.นี้เท่าใดนัก ดร.วีระศักดิ์ ตอบว่า เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับการกระจายอำนาจเลย ถามว่าก่อนวันเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งเสร็จไปแล้ว การกระจายอำนาจจะมีความก้าวหน้า มีทิศทางต่อไปอย่างไร ผมมองว่าก็ไม่ได้แตกต่าง  อาจจะเป็นแค่ผู้เล่นคนใหม่หน้าใหม่ อบจ.จะมีศักยภาพและความเป็นอิสระเพิ่มขึ้นหรือไม่ในการทำหน้าที่ของตนเอง คำตอบก็คือไม่มีสัญลักษณ์อะไรเลยที่จะบ่งชี้ไปในทางบวกแบบนั้น

            ...ส่วนภาพรวมการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมาก็พบว่าเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีความตื่นตัว ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นเนื่องจากถูกดองมานาน ทำให้มีคนส่วนหนึ่งเริ่มรู้สึกว่า แม้ไม่มีเลือกตั้งท้องถิ่นเขาก็อยู่ได้ คำว่าอยู่ได้หมายถึงปกติก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากอยู่แล้วกับท้องถิ่น ดังนั้นถึงจะมีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้งก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เขาก็อยู่แบบนี้ไป แต่ก็มีส่วนหนึ่งก็อาจบอกอย่างน้อยให้มีการเลือกตั้ง ให้มีความหวังเกิดขึ้น ให้มีผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของเขา แต่ผมก็ยังมองว่าก็มีจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้สร้างความหวือหวาอะไรมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ รอบนี้ถามว่ามีกระแสตื่นตัวไหม มีการจัดเวที มีการทำแคมเปญหาเสียงในภาพใหญ่ของประเทศ เช่นสังคมไทยจะได้อะไรจากเลือกตั้ง อบจ.ที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน จะพบว่ารัฐบาลนิ่งไม่สนใจ ไม่พูดอะไรเลย ท้องถิ่นแต่ละแห่งก็ไปเคลื่อนไหวกันเอง แต่กระแสที่จะพอมีพลังมากพอที่จะสะท้อนไปในภาพใหญ่ให้เห็นว่า ทิศทางประเทศไทยควรมีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นหรือไม่ พบว่าไม่เห็น

...อย่างช่วงนี้ที่มีการหาเสียง อบจ. แต่ก็จะพบว่าก็ไม่มีใครพูดเรื่องแนวทางการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงออกมา ไม่มีการใช้เวทีเลือก อบจ.ครั้งนี้ไปสู่สปริงบอร์ดภาพที่ใหญ่ขึ้นในเรื่องการกระจายอำนาจได้เลย ซึ่งจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ หากมาใช้สิทธิ์ถึง  60 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์ก็ถือว่าเก่งแล้ว เผลอๆ อาจแค่ประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะกระแสตื่นตัวไม่เยอะ แล้วคนในพื้นที่ออกไปทำงานต่างถิ่น คนไปเรียนหนังสือในพื้นที่อื่นแล้วไม่ได้กลับไปใช้สิทธิ์ แล้วรัฐบาลก็ไม่ได้โหมกระแสเรื่องการเลือกตั้ง

            "เลือกตั้ง 20 ธ.ค.จะบอกอะไรหรือไม่ คำตอบก็คือ ก็ไม่ได้ก้าวหน้า ก็ย่ำอยู่แบบนี้ ไม่ได้ไปไหน ถ้าถามว่าโดยรวม 20 ธ.ค.จะเป็นสัญญาณทางบวกของประเทศจะเดินไปทางไหนเรื่องท้องถิ่น-การกระจายอำนาจ คำตอบคือไม่เห็นแสงสว่างที่ชัดเท่าไหร่ ดูแล้วสิ้นหวังเหมือนกัน มันควรจะไปได้มากกว่านี้ แต่มันก็ไม่มี ก็ยังรู้สึกเสียดาย" ดร.วีระศักดิ์สรุปปิดท้าย.

                                                            โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"