นักวิชาการชี้มาตรการคุมเข้มโฆษณาแอลกอฮอล์ไทยมีข้อจำกัด ห่วงการค้าเสรีตลาดยุคดิจิทัลทำร้ายเด็ก-เยาวชนทั่วโลก ประกาศเจตนารมณ์ปกป้องอนาคตของชาติจากสินค้าเสพติด ทำลายสุขภาพ หนุนคัดค้านแก้กฎหมายควบคุมสุราให้อ่อนแอลง
ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กทม.
บนเวที “อนาคตชาติไทยกับการควบคุมปัญหาเหล้า-เบียร์” มีการเปิดใจบุคคลที่เคยได้รับผลกระทบจากน้ำเมาจนต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษกร่วมเปิดใจชะตากรรมหลังเจอพิษสุราทำร้ายชีวิต และได้เชิญนักศึกษาที่ได้รับทุนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย สะท้อนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับปัญหาอบายมุขจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านการพูดคุยบนเวที และกล่าวสุนทรพจน์เล่าอุทาหรณ์และข้อเสนอให้สังคมฉุกคิดถึงโทษต่างๆ ที่มากับสุรา โดยมีนามสมมติชื่อเอ เยาวชนผู้ได้รับผลกระทบและตัวแทนจากบ้าน กาญจนาภิเษก ขุนแผน นิ่มแก้ว นักเรียน กศน.ได้ทุนการศึกษาเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ ผ่องใส กาวี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ดำเนินการอภิปราย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์
เอ-เยาวชนที่เคยตกเป็นเหยื่อน้ำเมา เล่าว่า เริ่มดื่มเหล้าครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ปี ทำให้ชีวิตในวัยเด็กย่างก้าวเข้าสู่วงการขายยาเสพติดเพื่อนำเงินมาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมั่วสุมอบายมุขโดยที่ไม่สนใจว่าครอบครัวจะรู้สึกอย่างไร? จนกระทั่งถูกตำรวจจับตอนอายุ 17 ปี เพราะคดียาเสพติด ถูกส่งตัวไปอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษก “ครอบครัวผมไม่สมบูรณ์ ผมอยู่กับยาย เพื่อนๆ ก็มีปัญหาไม่แตกต่างกัน จึงหันหน้าพึ่งเหล้าเบียร์เพื่อลืมทุกข์ สังคมรอบข้างหาซื้อเหล้าได้ง่าย แค่เดินออกจากบ้านไปซื้อที่ร้านค้าก็มีขายแล้ว เพียงแค่บอกว่าซื้อให้พ่อให้พี่ ร้านค้าก็ขายให้ ไม่ได้คำนึงว่าเราเป็นเด็ก ต้นทุนชีวิตน้อยไม่ได้อยากเรียน เพราะไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม ทำทุกอย่างเพื่อประชดชีวิตตัวเอง ทำอะไรก็ได้ให้ชีวิตตัวเองมีความสุข ไม่ได้คิดว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี แต่ปัจจุบันผมคิดได้แล้ว เพราะสุดท้ายคนที่อยู่กับเราในยามทุกข์ที่สุดคือครอบครัว”
เอไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนชีวิตตัวเอง จนกระทั่งถูกตำรวจจับเมื่ออายุ 17 ปี ไปอยู่ที่บ้านต้นทาง คนที่เสียน้ำตาคือพ่อแม่ และคนที่ผมเรียกเขาว่าพ่อและแม่ ไม่มีเพื่อนมาเยี่ยมสักคนเดียว ตอนอยู่บ้านต้นทางก็ยังไม่ได้คิดจะปรับปรุงตัวเอง คิดกับเพื่อนว่าเราจะค้ายาแบบไหนดี จะทำอย่างไรให้ตัวเองรอดได้ “ผมถือหลักว่าจะอยู่รอดได้ต้องใช้ความรุนแรง อยากอยู่ในที่สบายๆ ไม่มีรั้วกั้น ไม่มีกำแพงควบคุม เมื่อถูกส่งมาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษก แรกๆ ผมคิดจะหนี อยู่ไปอยู่มาแล้วผมรักบ้านกาญจนาฯ เพราะที่นี่ให้ผมวิเคราะห์ข่าวเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ตอนนี้ไม่คิดจะหนีแล้ว ที่นี่ให้โอกาสผมไม่ว่าผมจะก้าวพลาดแค่ไหน ตอนนี้ผมเริ่มกลับตัวกลับใจ เพราะผมกำลังจะมีลูกแล้วจะได้มีชีวิตอยู่กับครอบครัว ผมกลัวครอบครัวจะเสียใจแล้วเขาจะไม่อยู่กับผม”
ขุนแผน นิ่มแก้ว นักเรียน กศน. เล่าว่า “ผมไม่มีพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก ครอบครัวไม่สมบูรณ์ แต่รู้ว่าตัวเองมีพรสวรรค์จึงใช้ความสามารถด้านการพูดและเขียนมาประกวดสุนทรพจน์ในหัวข้ออนาคตไทยกับปัญหาเหล้าและเบียร์มีเป้าหมายสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรู้ถึงคุณและโทษ ทำอย่างไรให้เยาวชนรู้ถึงคุณและโทษน้ำเมาที่มีฤทธิ์เหมือนดาบสองคม
ขุนแผนเล่าว่า ในสังคมไทยเด็กอายุ 12-13 ปี หาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ง่ายมาก เสนอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ควบคุมผู้ขายให้มากขึ้น ยิ่งยุคที่การตลาดยุคดิจิทัลสื่อสารรอบทิศทาง สังคมต้องทำให้เยาวชนวัยรุ่นตระหนักถึงภัยร้ายแรงที่มาจากสุราอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้
ผ่องใส กาวี เล่าว่า ในช่วงวัยรุ่นพยายามค้นหาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เพื่อจะได้รับการยอมรับทางสังคม บางคนมีปัญหาครอบครัว การแก้ไขปัญหาต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา การปรับทัศนคติให้ยอมรับปัญหาชีวิตอย่างมีสติ รับมือกับทุกอย่างโดยที่ไม่พึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผ่องใสพูดบนเวทีว่า “ทัศนคติอ่อนด้อยทำให้การใช้ชีวิตอ่อนแอ ถ้าเรามีทัศนคติแข็งแรง ไม่ดื่มเหล้าเบียร์ รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อคิดได้เราต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี เริ่มต้นจากตัวเรา สังคม ครอบครัว ประเทศชาติ ก็จะแก้ไขปัญหานี้ได้” เธอนำแนวคิดจากไอน์สไตน์มาปรับใช้ในการเขียนสุนทรพจน์และส่งผลงานเข้าประกวดไปหน่วยงาน สสส. ด้วยเห็นว่าโครงการนี้น่าสนใจ และผลการตัดสินก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ ขณะนี้มีชมรมควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เราในฐานะเยาวชนต้องร่วมมือเป็นหูเป็นตาให้กับครูในโรงเรียน การศึกษาของเยาวชนในยุคศตวรรษที่ 21 ต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ดีงาม
ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นักวิชาการ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวในงาน “การส่งเสริมการตลาดและการขายสุราในยุค พลิกผัน : ความน่าเป็นห่วงของเยาวชนไทย” ว่า การได้รับสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอิทธิพลต่อการเริ่มต้นดื่ม การดื่มหนักของเด็กและเยาวชน ปัจจุบันมีเทคนิคทางการตลาดของบริษัทดึงดูดเยาวชนมากมาย สร้างนักดื่มหน้าใหม่ในยุคการค้าเสรีและยุคดิจิทัล ที่การโฆษณาต่างๆ สื่อสารแพร่หลายในทุกทิศทาง จนกลายเป็นปัญหาข้ามพรมแดน เพราะบริษัทเหล้ายักษ์ใหญ่ย้ายฐานการตลาดสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และโฆษณาต่างๆ สามารถแพร่กระจายไปทั่วโลก หากประเทศใดไม่มีกฎหมายควบคุมจะต้องแบกรับผลกระทบที่ตามมาจากการบริโภคแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้ประชาคมโลกได้เห็นปัญหาและกำลังร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนข้อตกลงกฎระเบียบระหว่างประเทศจัดการ
“กฎหมายควบคุมสุราในประเทศไทย มีเจตนารมณ์หลักในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และปกป้องสังคมจากผลกระทบของแอลกอฮอล์ กฎหมายควบคุมการโฆษณาแอลกอฮอล์ยังมีจุดอ่อนอยู่ เพราะยังไม่ห้ามโฆษณาทั้งหมด ประกอบกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง ลงทุนโฆษณาและส่งเสริมการตลาดมหาศาล จึงทำให้การบังคับใช้ยังไม่เต็มที่ ล่าสุดประเทศไทยได้ออกอนุบัญญัติห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ที่เป็นค้าปลีกแล้ว ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นที่จะส่งผลดีต่อเด็ก เยาวชนและสังคมไทยโดยภาพรวม” ดร.ภญ.อรทัยกล่าว
ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวบนเวที “อนาคตชาติไทยกับการควบคุมปัญหาเหล้า-เบียร์” ว่า สถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาพบเยาวชนไทยมีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหา ทางออกปฏิรูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น และหนึ่งในปัญหาที่มีข้อค้นพบจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกคือปัญหาด้านแอลกอฮอล์ที่กระทบต่อเยาวชนอย่างชัดเจน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเกิดอาชญากรรม ประสบการณ์ที่เลวร้ายจากความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุ การติดแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน และอายุที่เริ่มต้นดื่มแอลกอฮอล์เร็วขึ้น อยากเรียกร้องให้เยาวชนไทยสนใจต่อการสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนไทยในอนาคต
ชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามของกลุ่มผู้ผลิตคราฟเบียร์ อุตสาหกรรมสุรารายใหญ่และกลุ่มสุราข้ามชาติ เคลื่อนไหวผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2563 เครือข่ายด้านเด็กและเยาวชนกว่า 20 องค์กร ได้แสดงจุดยืนและมีข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น คัดค้านความพยายามของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีสาระเพื่อการลดทอนประสิทธิภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิต นำเข้าและจัดจำหน่าย เครือข่ายฯ สนับสนุนประเด็นลดการผูกขาดของตลาดธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย แต่ควรแก้ปัญหาให้ตรงจุดที่ประมวลกฎหมายสรรพสามิต ไม่ใช่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีประชาชนเข้าลงชื่อสนับสนุนกันมากกว่า 13 ล้านคน
“ขอเรียกร้องรัฐสภารับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน หากมีประเด็นการขอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ควรยึดหลักการแก้ไขให้การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ห้ามโฆษณาทุกกรณี กรณีคนเมาไปก่อเหตุให้ร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ร่วมรับผิดด้วย ไม่ใช่แก้ไขให้อ่อนแอลง เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา เป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมากมายหากปล่อยให้ค้าขายอย่างไร้ขอบเขต และเยาวชนยังเรียกร้องไปยังกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มที่เคลื่อนไหวผลักดันแก้กฎหมายฉบับนี้ ให้หันมาค้าขายอย่างรับผิดชอบ ดีกว่าพยายามหาช่องทางสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง และผลักภาระให้คนดื่ม จนบรรดาผู้ขายผู้ผลิต ลอยตัวออกจากความรับผิดชอบทั้งที่เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ในทางธุรกิจ แต่ผลกระทบทางสังคมคนไทยคือผู้รับผลกรรม
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวสรุปและปิดการประชุมการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 11 ก้าวสู่ทศวรรษที่สองของนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย กล่าวว่า เราทุกคนตอบตัวเองได้ว่าการแก้ไขปัญหานี้ให้เยาวชนเป็นจุดศูนย์รวมทุกฝ่าย เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าเอาอนาคตของประเทศชาติ เยาวชนเป็นตัวตั้ง ทุกคนไม่มีใครโต้เถียง เรามีลูกหลานอยากให้เขาประพฤติปฏิบัติไปในหนทางที่ดี ปลอดภัย สังคมสร้างสรรค์ การประชุมเปิดเนื้อหาปฏิบัติการ มีคนพูดเสมอว่าการประชุมให้คิดแบบฝรั่ง เรียนรู้ประสบการณ์ทำงานในประเทศไทย
“ผมประทับใจความสามารถของเยาวชนเป็นพิเศษ สมัยที่ผมเป็นเด็กผมเขียนบันทึกข้อความแต่ละวัน แต่ในวันนี้ผมเลือกโอกาสที่เป็นความทรงจำที่ดีที่สุด วันนี้ผมประทับใจตัวแทนเยาวชนจากบ้านกาญจนาภิเษก กลับไปแล้วจะเขียนเรื่องแรงบันดาลใจของเยาวชนที่ให้ความรู้ มีผู้แทนสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในห้องนี้หรือไม่ เราจะมีการประชุมกันในวันศุกร์สัปดาห์หน้า ประชุมนโยบาย การที่เรามี moment เขย่าอารมณ์ในฐานะที่คนแก้ไขปัญหา เราจะทำอย่างไรได้บ้าง ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ร่วมกันจัดงานผ่านไปด้วยดี เราปิดประชุมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการ ปีหน้าเราจะมาพบกันอีกเพื่อทบทวนว่าเราทำอะไรได้บ้างในทศวรรษหน้า”
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการแอลกอฮอล์และอนามัยระหว่างประเทศ เปิดเผยสถิติผู้เสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก อยู่ในช่วงวัย 15-49 ปี โดยพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อครอบครัวยากจนมากกว่าครอบครัวร่ำรวย เสียชีวิตด้วยโรควัณโรค ไวรัสเอชไอวี เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินอาหาร อุบัติเหตุทางถนน จากการศึกษาพบว่าความรุนแรงที่เกิดจากโรคและบาดเจ็บมีมากกว่า 200 ชนิด ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยเฉพาะกิจด้านนโยบายการคลังเพื่อสาธารณสุขของ Bloonberg พบว่าหากทุกประเทศเพิ่มภาษีสรรพสามิตเพื่อเพิ่มราคายาสูบ แอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลให้สูงขึ้นอีก 50% เราจะป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ในประชากร 50 ล้านคน ภายใน 50 ปีข้างหน้า และทำให้เก็บภาษีเพิ่มได้อีกกว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์ การเพิ่มภาษีและราคาในอนาคตจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้อีก และทำให้มีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นอีก
‘ขุนแผน นิ่มแก้ว’ นักเรียน กศน. กล่าวสุนทรพจน์รางวัลชนะเลิศ
‘อนาคตชาติไทยกับการควบคุมปัญหาเหล้าเบียร์’
ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มากล่าวสุนทรพจน์ “อนาคตชาติไทยกับการควบคุมปัญหาเหล้าเบียร์” การแก้ไขปัญหาเหล้าเบียร์ไม่ต้องรอเวลา โลกขาดคนมีคุณธรรม เสมือนหนึ่งสังคมที่ปลาขาดน้ำไม่ได้ ปลาต้องดิ้นรนสุดท้ายก็ต้องตาย คนเรานั้นถ้าขาดคุณธรรมภายในจิตใจก็ไม่ต่างอะไรไปจากโจร มนุษย์ดำรงตนอยู่กับคุณงามความดี หลีกหนีความชั่ว ละเว้นจากการดื่มสุรานำทางไปสู่ความตาย ทุกวันนี้ปัญหามีมากมายไม่เว้นแต่ละวัน การดื่มน้ำเมาเป็นการเพิ่มกิเลสเป็นต้นทางบดบังจิตใจ เป็นเรื่องจริงมีการรบราฆ่าฟันกันในครอบครัวเป็นความโหดร้าย เมามัวจนลืมนึกถึงความดีงาม หรือบางครั้งก็ทุบตีพ่อแม่จนถึงแก่ความตาย หลายคนหลงคิดว่าสุราคือเครื่องดื่มที่เข้าสังคม ที่ใดมีงานสังสรรค์ที่นั่นมีสุรา มีโทษมากมายหลายด้าน ปัญหาในครอบครัว สุราเป็นความสุขของผู้ดื่ม แต่หลงลืมไปว่าคือความทุกข์ของคนในครอบครัว คนหนึ่งติดสุราทำให้คนในครอบครัวต้องทุกข์ใจ บางรายต้องกู้หนี้ยืมสิน น้ำตาไหลรินเพราะน้ำเมา ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ขาดสติในการดำรงชีวิต มีสิทธิ์เกิดอุบัติเหตุกลายเป็นผู้พิการหรือพบพานมัจจุราชก่อนวัยอันควร
ผลจากงานวิจัย 79% ผู้ก่อเหตุดื่มสุราทำร้ายผู้อื่น ปัญหาเหล้าเบียร์นำไปสู่ปัญหาระดับชาติ สสส.เห็นแนวทางแก้ไขปัญหา ช่วยให้เราก้าวเดินไปตามเส้นทาง สร้างฝันสู่แผ่นดินไทยเป็นบันได 3 ขั้น บันไดขั้นที่ 1 ลด ละ เลิก ดื่มสุรา ขจัดปัญหาด้วยการดื่มให้น้อยลง ถ้าลดการดื่มเหล้าเบียร์จะลดอุบัติเหตุได้มากถึง 90% การออกกำลังกาย โดยคำนึงถึงโทษของการดื่มสุรา บันไดขั้นที่ 2 การเป็นจิตอาสาเป็นกระบอกเสียงด้านการประชาสัมพันธ์การรณรงค์เปิดประตูสู่ความสำเร็จให้นักดื่มตระหนักอยู่ในจิตใจเสมอ บันไดขั้นที่ 3 ปลูกฝังจิตสำนึก ขณะนี้มีนักดื่มหน้าใหม่เกิดจากเยาวชนเป็นจำนวนมาก ถึงเวลาแล้วต้องจับมือผสานใจควบคุมตัวเอง ร่างกายนั้นมีคุณ ต้องร่วมกันแก้ไขวิกฤติให้เป็นโอกาสอย่างแท้จริง ผมคนเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้าเราร่วมด้วยช่วยกันความฝันนี้จะเป็นจริงได้ด้วยการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส 1 สมอง 2 มือ เยาวชนร่วมด้วยช่วยกันลด ละ เลิก ช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล้าเบียร์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |