11 ธ.ค.63 - ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์บทความเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ เรื่อง The King Can Do No Wrong มีใจความดังนี้
#หลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับ #ปัญหาที่เกิดจากพลเอกประยุทธ์
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาบัญญัติเรื่องระบอบการปกครองของประเทศไว้ที่มาตรา 2 ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่ดูเหมือนว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อย - โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีท่านปัจจุบัน - ที่อาจจะไม่เข้าใจหลัก The King Can Do No Wrong ของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือ Constitutional Monarchy และไปสับสนปนเปกับ ‘ระบอบราชาธิปไตย’ จึงทำให้เกิดปัญหาในขณะนี้
1. #ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เริ่มต้นในประเทศไทยเมื่อใด? และ #ทำไมวันที่10ธันวาคมจึงเป็นวันรัฐธรรมนูญ?
ถ้าถามว่าทำไมวันที่ 10 ธันวาคม จึงเป็น ‘วันรัฐธรรมนูญ’ แทบทุกคนจะตอบว่า เพราะเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ถูกต้อง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยคือ ‘พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้ 3 วันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคือวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งมีคำปรารภและมาตรา 1 ดังต่อไปนี้
“โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยมาตราต่อไปนี้
มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฏรทั้งหลาย”
โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยท้ายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 2475 ฉบับนี้โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในทางนิตินัยจึงมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจสูงสุดอันเป็นของพระองค์มาแต่เดิมให้กับราษฎร และสถาบันพระมหากษัตริย์ยินยอมที่จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจสูงสุดให้กับราษฎรทั้งหลาย ประเทศไทยจากจากระบอบ ‘ราชาธิปไตย’ ที่อำนาจ ‘อธิปไตย’ เป็นของ ‘พระราชา’ ก็ได้กลายเป็นระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ ที่อำนาจ ‘อธิปไตย’ เป็นของ ‘ประชาชน’ โดยเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ มานับแต่บัดนั้น
ความจริงแล้วนายปรีดี พนมยงค์ มิได้ตั้งใจเขียนพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ให้ใช้เป็นการ ‘ชั่วคราว’ แต่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ เข้าไป ด้วยอาจทรงเห็นว่าระยะเวลาในการจัดทำสั้นนัก และขอให้นำไปปรับปรุงแล้วจึงนำมาทูลเกล้าใหม่ นายปรีดีจึงนำไปปรับปรุงแก้ไข 5 เดือนต่อมาก็นำขึ้นทูลเกล้า เมื่อทรงโปรดเกล้าก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และด้วยความที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว อีกทั้งมีการบัญญัติศัพท์คำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ แล้ว จึงมีการกำหนดให้วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีที่มาจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ให้เป็น ‘วันรัฐธรรมนูญ’
แม้ว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 จะถูกเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ ลงไป แต่มีความสำคัญเป็นที่สุด เพราะเป็นรอยต่อของระบอบ ‘ราชาธิปไตย’ กับระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ จากการลงพระปรมาภิไธยโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการแบบราชาธิปไตย หลังจากนั้นเป็นต้นมาเมื่ออำนาจสูงสุดเป็นของปวงชน รัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมถึงตัวบทกฎหมาย และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินทั้งหมดต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง เพราะอำนาจสูงสุดของประเทศได้กลายเป็นของปวงชนไปแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงโปรดเกล้าในเรื่องราชการแผ่นดินได้ ต่อเมื่อตัวแทนปวงชนได้ทูลเกล้าขึ้นไปเท่านั้น และทำให้ทรงอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง นี่เองคือหลัก The King Can Do No Wrong คือทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง
2. หลัก The King Can Do No Wrong หมายความว่า #พระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงกระทำผิด หรือ #พระมหากษัตริย์ทรงทำอะไรก็ไม่ผิด?
“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” นั้นบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 3 ประโยคแรก แต่ประโยคที่สองของมาตรา 3 ซึ่งเขียนว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” อาจจะทำให้เกิดความสับสน และไม่เข้าใจว่า ประชาชนเป็นแค่เจ้าของ แต่ไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแต่ไม่ใช่เจ้าของ หมายความว่าอย่างไร?
หากจะอธิบายอย่างย่นย่อ การใช้อำนาจอธิปไตย ‘ทางรัฐสภา’ ของพระมหากษัตริย์คือ กฎหมายที่ออกมาจากรัฐสภา มีชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติ’ หรือ ‘บัญญัติ’ ของ ‘พระราชา’ ต้องให้พระราชาทรงลงพระปรมาภิไธย จึงจะใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ การใช้อำนาจอธิปไตย ‘ทางคณะรัฐมนตรี’ คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ จึงจะเป็นคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินได้ และการใช้อำนาจอธิปไตย ‘ทางศาล’ คือ ผู้พิพากษาและตุลาการมาจากการโปรดเกล้าแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ จึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่างๆ ได้
แต่คำถามคือ หากกฎหมายมาจากพระมหากษัตริย์ คณะรัฐมนตรีมาจากพระมหากษัตริย์ และศาลก็มาจากพระมหากษัตริย์ แล้ว ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ จะแตกต่างจาก ‘ระบอบราชาธิปไตย’ อย่างไร?
คำตอบคือ สิ่งที่แตกต่างกันโดยพื้นฐานที่สุดคือ ร่างพระราชบัญญัติมาจากการพิจารณาของรัฐสภา (รัฐธรรมนูญ 2560 ม. 81) นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฏร (ม. 159) โดยตามบทเฉพาะกาลมาจากที่ประชุมของรัฐสภา คือให้วุฒิสภาชุดแรกเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฏร (ม. 272) ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ม. 196) ตุลาการศาลปกครองมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ม. 198) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา (ม. 204) องค์กรอิสระก็มาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา (ม. 217 วรรคสอง)
ตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงมิได้ทรงตราพระราชบัญญัติ หรือเลือกนายกรัฐมนตรีเอง หรือเลือกสมาชิกวุฒิสภา ผู้พิพากษา ตุลาการ และองค์กรอิสระหากทรงโปรดเกล้าตามที่ได้มีการทูลเกล้าขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงไม่ทรงต้องรับผิดชอบเมื่อกฎหมายมีปัญหา หรือเมื่อนายกรัฐมนตรีบริหารบ้านเมืองไม่ดี หรือถูกประชาชนประท้วง หรือผู้พิพากษาหรือตุลาการตัดสินคดีแล้วผู้คนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม หรือองค์กรอิสระทำหน้าที่แล้วคนไม่เห็นด้วย
นี่คือหลัก The King Can Do No Wrong หรือพระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงกระทำความผิด ซึ่งหลักการพื้นฐานในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ความหมายคือถ้าเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ทรงโปรดเกล้าต่อเมื่อมีการทูลเกล้าเท่านั้น ดังนั้นคนรับผิดชอบคือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่ใช้อำนาจในเรื่องนั้น และคนที่ทูลเกล้า ไม่ใช่พระมหากษัตริย์
ที่บางคนกล่าวว่า The King Can Do No Wrong หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงทำอะไรก็ไม่ผิด เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะนั่นคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด มีทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ทำให้ทรงทำอะไรก็ไม่ผิด แม้จะทรงทำผิดก็ไม่ผิด ซึ่งแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ทรงโปรดเกล้าตามที่มีผู้ทูลเกล้าขึ้นไป พระมหากษัตริย์จึงไม่อาจทรงกระทำผิด เพราะ #คนรับผิดชอบคือผู้มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและผู้ทูลเกล้า
รัฐธรรมนูญมักจะไม่เขียนว่าใครเป็นผู้ทูลเกล้า แต่จะเขียนว่าใครเป็น ‘ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ’ ซึ่งผู้นั้นเองจะเป็นผู้ทูลเกล้า เพราะเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าลงมา ผู้นั้นคือผู้ที่ต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งโดยหลักทั่วไปแล้วผู้ทูลเกล้าคือนายกรัฐมนตรี เว้นแต่ในเรื่องใดรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นคนอื่น ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 182 ซึ่งกำหนดไว้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับก่อนหน้านี้คือ “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ..”
ดังนั้น แม้พลเอกประยุทธ์ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งจะถูกประท้วง แต่คนรับผิดชอบคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่เลือกพลเอกประยุทธ์ เราก็ต้องไปโทษ ส.ส. และ ส.ว. โดย ส.ว. ก็ต้องโทษคนเลือก ส.ว. คือพลเอกประยุทธ์ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหลาย มาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา และก่อนหน้านี้มาจาก สนช. ซึ่ง สนช.ก็มาจากพลเอกประยุทธ์ หากเราไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่พอใจการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น กกต. หรือ ปปช. เราไม่อาจไปโทษพระมหากษัตริย์ผู้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้ง แต่ต้องโทษพลเอกประยุทธ์ ที่เป็นคนเลือก สนช. และ ส.ว.
ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พลเอกประยุทธ์ต้องออกหน้า ไม่ใช่อยู่ข้างหลัง และทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกันดังที่เกิดขึ้นในขณะนี้
3. #เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
นายกรัฐมนตรีก่อนหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในปี 2549 ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้ง จำนวน 5 คน ล้วนแต่เคยถูกประชาชนชุมนุมต่อต้านมาทั้งสิ้น แต่ไม่เคยมีคราวใดที่เรื่องราวจะลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ดังเช่นในครั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า #สาเหตุหลักมาจากการสืบทอดอำนาจของคสช. และความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลัก The King Can Do No Wrong ของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์
ในตอนที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์มีสถานะเป็น ‘คนกลาง’ เข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่สถานะคนกลางก็หมดไปเมื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังจากเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากตนเองเลือก ที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฏร และมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มาจาก สนช. ซึ่งก็มาจากพลเอกประยุทธ์ ว่าง่ายๆ องค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับการแต่งตั้งหลังจากการยึดอำนาจในปี 2557 ที่มีอำนาจหน้าที่ในปัจจุบัน มีที่มาที่ยึดโยงกับพลเอกประยุทธ์ทั้งสิ้น
หากพลเอกประยุทธ์ไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้ง หรือ ส.ว.ที่ คสช.เลือก ไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่มีการประท้วงแบบนี้ เพราะพลเอกประยุทธ์จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และถ้าจะมีการประท้วงก็จะเป็นการประท้วงนายกรัฐมนตรีคนอื่น ที่มาจากการเลือกตั้ง และจะไม่มีการเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นนี้
การเริ่มต้นเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และเกิดความเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ผู้เขียนเห็นว่ามาจากเหตุที่สำคัญที่สุดคือการยุบพรรคไทยรักษาชาติ การยุบพรรคอนาคตใหม่ คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีนายกรัฐมนตรีอ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ และพฤติกรรมของพลเอกประยุทธ์เอง
#การยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยศาลรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นหลังจากที่มี ‘ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ’ แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้เกิดการเริ่มต้นการเชื่อมโยง และ #จุดที่เป็นชนวนของการประท้วง ซึ่งเริ่มจากการประท้วงพลเอกประยุทธ์ก่อน #คือการยุบพรรคอนาคตใหม่
โดยเหตุที่ประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งมาถึง 8 ปี การเลือกตั้งในปี 2562 จึงมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมากกว่าปกติถึงสองเท่า โดยมีตั้งแต่อายุ 18 ปีไปจนถึง 26 ปีซึ่งส่วนใหญ่เลือกพรรคอนาคตใหม่ และเนื่องจากพรรคเพื่อไทยเว้นเขตเลือกตั้งไว้ 100 เขตให้พรรคไทยรักษาชาติ พอพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ใน 100 เขตนั้น ผู้เลือกตั้งที่เคยจะเลือกพรรคไทยรักษาชาติ หรือจะเลือกพรรคเพื่อไทย จึงเปลี่ยนมาเลือกพรรคอนาคตใหม่ และทำให้พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งถึง 80 คน โดยเป็น ส.ส.ใหม่ทั้งหมด ซึ่งไม่เคยเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนเลย
พอพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แล้วก็ด้วยเหตุผลที่เห็นกันว่าฟังไม่ขึ้น และไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงถึงขนาดต้องยุบพรรค ทำให้ผู้เลือกพรรคนี้ออกมาชุมนุม และเนื่องจากการยุบพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นหลังจากที่พรรคไม่ให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังกำลังพล ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ฯ ยิ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยอื่นของศาลรัฐธรรมนูญอีกที่ทำให้เกิดความเข้าใจเช่นนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ #คดีพลเอกประยุทธ์อ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องอ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่อง ‘ระหว่างพระมหากษัตริย์กับนายกรัฐมนตรี’ ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจในทางที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยผ่านพลเอกประยุทธ์มากขึ้นไปอีก
และเมื่อพลเอกประยุทธ์ มักจะอ้างถึงพระมหากษัตริย์ในการทำอะไรหรือไม่ทำอะไรอยู่บ่อยครั้ง จากต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ เรื่องก็เลยลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และกลายเป็นประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในขณะนี้
4. #หนทางแก้ไขยังมีอยู่หรือไม่?
(1) การเมืองมีผิดมีถูก การตัดสินใจทางการเมืองมีทั้งประชาชนชอบและไม่ชอบ การแก้ปัญหาคือต้องยึดมั่นในหลัก The King Can Do No Wrong ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีหลักการคือ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง ในทางปฏิบัติคือ พลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องออกหน้ามารับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และต้องดำเนินการตามมาตรา 182 อย่างเคร่งครัดคือ “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ”
(2) สาเหตุของการประท้วงมาจากการสืบทอดอำนาจของ คสช. พลเอกประยุทธ์ต้องหยุดการสืบทอดอำนาจ และแสดงให้เห็นว่า จะไม่สืบทอดอำนาจอีกต่อไป ด้วยการยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป แม้ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้จะตกไป แต่ควรที่จะได้มีการเสนอใหม่อีกครั้งโดยเร็ว ซึ่งจะแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุไปได้กว่าครึ่ง
(3) รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีคนต่อต้านมากที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และทั้งนี้เนื่องจากรัฐสภาไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มี สสร. ที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน ดังนั้น ในวาระแปรญัตติของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงต้องรับฟังเสียงของประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่มาของ สสร.
(4) ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดความเห็นต่างและนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชน การนำเสนอเรื่องนี้จึงต้องทำด้วยวิธีการที่เหมาะสม และทุกฝ่ายต้องเคารพความคิดเห็นของกันและกัน ไม่สร้างความเกลียดชังหรือแตกแยกในสังคมให้มากไปกว่าเดิม
นายกรัฐมนตรีที่ถูกประท้วงก่อนหน้านี้ พอผู้ประท้วงเห็นว่าประท้วงไม่ได้ผล ก็มักจะมีการถวายฎีกาให้พระมหากษัตริย์ทรงมาก้าวก่ายทางรเมือง เช่น การถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานในช่วงเวลาที่มีการประท้วงทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557
แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกประท้วงแล้ว คนกลับประท้วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ #เราคงพอจะสรุปได้แล้วว่าเราควรจะแก้ปัญหาที่ตรงจุดใด และเราก็ควรแก้ไปที่จุดนั้น
สาเหตุของปัญหาเกิดจากพลเอกประยุทธ์ ทั้งในเรื่องการเมืองที่สืบทอดอำนาจ และเรื่องการไม่ยึดมั่นในหลัก The King Can Do No Wrong หากพลเอกประยุทธ์ยังไม่แก้ไข แล้วยิ่งอยู่นานไปยิ่งเป็นปัญหา เราก็คงต้องไปแก้ที่พลเอกประยุทธ์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |