เชียงรายพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 3 คน เข้าไทยจากท่าขี้เหล็กถูกต้อง อยู่ในสถานกักตัวแล้ว ขณะที่ ศบค.เผย บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มอีก 1 คน นั่งกินข้าวร่วมกันกับเคสก่อนหน้า ขณะ “สธ.” แจงปมพยาบาลป่วยนั่ง MRT-BTS ช่วงยังไม่ป่วยและสวมหน้ากากตลอด ชี้คนร่วมไทม์ไลน์เสี่ยงต่ำ ส่วนการนำเข้าจากท่าขี้เหล็กยังไม่น่ากังวล
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ลานหน้าศาลากลาง จ.เชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงราย ร่วมกับ นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย และ นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผอ.โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 พื้นที่่ จ.เชียงราย
นายประจญเปิดเผยว่า พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวน 3 ราย ทั้งหมดพบในสถานที่กักกันเฝ้ารอดูอาการ เป็นผู้เดินทางเข้ามาตามช่องทางปกติที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ติดกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ขณะนี้จังหวัดเชียงรายพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวมยอด 46 ราย รักษาหายกลับบ้าน 11 ราย รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ 35 คน และมีผู้อยู่ในสถานที่กักกัน (Local State Quarantine) ทั้ง 6 แห่ง เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ รวม 188 คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากผู้ป่วยเชื้อโควิด-19
ผู้ว่าฯ เชียงรายกล่าวว่า สำหรับผู้ที่อยู่ใน Local State Quarantine นั้น ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทุกคนจะถูกตรวจโรค 3 รอบ และเฝ้ารอดูอาการ 14 วัน ซึ่งเกินมาตรฐานโลกที่กำหนดเอาไว้แค่ 7 วัน ปัจจุบันได้รับแจ้งว่าจะมีการส่งคนไทยจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เข้ามาทาง อ.แม่สาย อีกประมาณกว่า 100 คน ซึ่งกรณีปัญหาว่าคนแจ้งชื่อแล้วเข้ามาไม่ครบ เกิดจากขั้นตอนในประเทศเมียนมา ปัจจุบันพบว่ามีการปล่อยข่าวปลอมออกมามากมาย เช่น เชียงรายมีผู้ติดเชื้อ 600 คน คนเชียงรายติดเชื้อจำนวนมาก ฯลฯ บางครั้งปล่อยออกมาเป็นคลิปเสียงก็มี ขณะนี้ตำรวจและทหารกำลังตรวจสอบเพื่อจับกุมดำเนินคดีฐานเป็นข้อมูลเท็จที่สร้างความเสียหายให้กับ จ.เชียงราย
ด้าน นพ.ทศเทพกล่าวว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ 3 รายล่าสุด เป็นชายอายุ 33 ปี หญิงอายุ 28 ปี และ 29 ปีตามลำดับ ทั้งหมดไม่มีอาการป่วย และทำงานอยู่ในสถานบันเทิงแหล่งเดียวกันทุกคน ปัจจุบันนี้ จ.เชียงราย มีสถานะเป็น State Quarantine เช่นเดียวกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่รับคนจากต่างประเทศ ดังนั้นการมีตัวเลขคนป่วยเพิ่มจึงเป็นเรื่องปกติ และพบว่าคนส่วนใหญ่เข้ามาก็ไม่ใช่คนเชียงราย แต่เข้าไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากปล่อยให้กลับภูมิลำเนาจะเกิดปัญหาได้ ในวันที่ 10 ธ.ค. ก็จะเข้ามาเพิ่มเติมอีกเป็นประมาณ 170 คน ซึ่งตัวเลขจะไม่นิ่ง เพราะมีการเข้าและออกตามกำหนดเวลา และมี Local State Quarantine รองรับอย่างเพียงพอ
ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 18 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 17 ราย และผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,169 ราย ยอดหายป่วยสะสม 3,888 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 221 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 ราย
บุคลากรการแพทย์ติดเชื้ออีกราย
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า แม้จะมีข่าวว่าบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่เราดูแลผู้ที่เข้ามาในประเทศกว่า 170,000 คน ซึ่งเหตุการณ์บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากคนที่เข้าพักในสถานที่กักกันโรคของรัฐ เราจะต้องเข้ามาศึกษา โดยวันเดียวกันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 18 ราย โดยมี 1 รายเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลบีเอ็นเอช โดยบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่รายที่ 1 ที่ติดเชื้อเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ซึ่งการสอบสวนโรคก็เจอรายที่ 2-3 โดยมีการเกี่ยวข้องกันคือรับประทานอาหารร่วมกันและทำงานร่วมกัน ซึ่งโดยปกติแล้วพยาบาลและเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ถ้าอยู่ในการทำงานส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัย เราจึงมีความสงสัยมากที่สุดคือการนั่งร่วมกันรับประทานอาหาร และต่อมาเจอรายที่ 4 ซึ่งก็มีความสงสัยว่าจะเป็นต้นทางของการติดเชื้อครั้งนี้
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อรายที่ 6 ซึ่งเป็นรายล่าสุด เกิดขึ้นจากการเอาพยาบาลและผู้ใกล้ชิดมาตรวจเช็กอย่างละเอียด รวมถึงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่สงสัยที่อยู่ในโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวทั้งหมด 851 คน โดยผลตรวจเป็นลบไปแล้ว 745 คน ทั้งนี้ ประชาชนมีความสงสัยว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อทั้ง 6 รายมีไทม์ไลน์เดินทางไปที่ไหนบ้าง ทางกรมควบคุมโรคจะทำรายงานเพื่อมารายงานให้ประชาชนรับทราบอย่างละเอียด
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้มีรายงานการติดเชื้อเพิ่มเติม มี 1 รายที่เป็นการติดเชื้อในประเทศ โดยเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ที่ ASQ เป็นหญิงอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการรายงานไปแล้ว จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 31 ราย ที่อยู่ในการดูแลอยู่แล้ว ซึ่งจากการตรวจเชื้อครั้งแรกวันที่ 5 ธ.ค. ไม่พบเชื้อ แต่เมื่อตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ธ.ค. ก็พบติดเชื้อ และนับเป็นผู้ติดเชื้อรายที่ 6 ของกลุ่มนี้ โดยมีประวัติรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งนี้ โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของบุคลากรรายนี้ได้มีการตรวจคนอื่นๆ เพิ่มเติมอีก 745 คน ซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำที่ทำงานในโรงพยาบาลเดียวกัน ทุกคนผลเป็นลบ และมีอีก 106 คนที่อยู่ระหว่างการรอผลตรวจ ขณะการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เป็นห้องสัมภาษณ์งานที่ รพ.รัฐแห่งหนึ่ง คนในครอบครัว เพื่อร่วมงานในสถานที่กักกันทางเลือก 2 แห่ง ทั้งหมดไม่พบเชื้อ
ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไปกล่าวอีกว่า สำหรับบุคลากรการแพทย์ผู้ติดเชื้อและมีการเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะในการไปสมัครงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งนั้น ขอชี้แจงว่าเป็นผู้ป่วยรายที่ 1 ซึ่งเป็นรายแรก (หญิงอายุ 26 ปี) ที่ทำให้เราทราบว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก่อนที่จะมีการสอบสวนและพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 5 ราย รวมเป็น 6 รายในวันที่ 10 ธ.ค. ตามไทม์ไลน์ รายที่ 1 นี้เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. แต่มีกิจกรรมก่อนหน้านี้ โดยทำงานอยู่ที่สถานที่กักกันทางเลือกที่โรงแรมเลอเมอริเดียน ถนนสีลม ระหว่างวันที่ 24-26 พ.ย. มีการเข้าไปทำการวัดไข้ผู้ที่ได้รับการกักกันโรค โดยมีการสวมใส่ชุดป้องกันและผลการตรวจของผู้กักตัว ซึ่งขณะนั้นผู้กักตัวยังตรวจไม่พบเชื้อ ต่อมาวันที่ 28 พ.ย. ไปทำงานที่สถานที่กักกันทางเลือกอีกแห่งหนึ่งคือโรงแรม Pullman G ถนนสีลม โดยมีการวัดไข้ผู้กักกัน ซึ่งในวันนั้นยังไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน
นั่ง MRT-BTS ก่อนป่วย
นพ.โสภณกล่าวว่า ส่วนนอกเวลางาน กลับมาพักกับผู้ป่วยรายที่ 2 (หญิง 40 ปี) และรายที่ 4 (หญิงอายุ 25 ปี) ซึ่งขณะที่อยู่ด้วยกันนอกเวลางานไม่ได้มีการสวมหน้ากากอนามัย มีการใช้ห้องน้ำร่วมกัน ในวันที่ 30 พ.ย. ก็ไปปฏิบัติงานที่ ICU และมีการสวมชุดป้องกันเต็มรูปแบบ มีการแวะซื้อยำหน้าหอพักที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยมีการสวมหน้ากากอนามัยตามปกติ จากนั้นวันที่ 1 ธ.ค. มีการทำงานที่สถานที่กักกันทางเลือกคือที่โรงแรม Pullman G ถนนสีลม โดยรับเวรต่อจากผู้ป่วยรายที่ 3 (หญิง 32 ปี) และรายที่ 5 (ชายอายุ 27 ปี) จากนั้นมีการเดินทางไปสัมภาษณ์งานที่ รพ.แห่งหนึ่งย่านฝั่งธนฯ เดินทางด้วย MRT เป็นเวลา 10 นาที ช่วงเวลาประมาณ 10.00-10.15 น. ขากลับเดินทางด้วย BTS สถานีสาทร ลงที่สถานีสีลม ในช่วงเวลา 14.00-14.10 น. ซึ่งการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะยังไม่มีอาการป่วยและมีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ป่วยจริงคือวันที่ 3 ธ.ค. เริ่มมีอาการไข้ก็ได้รายงานตัวกับผู้บังคับบัญชา ในช่วงเย็นมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และวันรุ่งขึ้นมีอาการมากขึ้น ก่อนจะพบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19
เมื่อถามถึงกรณีข่าวลือโรงพยาบาลบีเอ็นเอชมีเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลติดเชื้อ 24 รายจริงหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า จากการค้นหาผู้สัมผัสทั้งหมดมีเพิ่มเติมเพียง 6 ราย ข่าวที่พบ 24 รายไม่เป็นความจริง
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับกรณีท่าขี้เหล็ก ณ วันนี้ยังคง 46 รายเช่นเดิม โดยมี 27 รายเป็นการนำคนไทยจากท่าขี้เหล็กมาอยู่ในสถานกักกันโรค ขณะพื้นที่แต่ละจังหวัดได้มีการดำเนินมาตรการเข้มข้นในบริเวณพื้นที่ชายแดน มีการประสานหากมีคนไทยตกค้างจะนำตัวเข้าสู่สถานกักกันโรคต่อไป โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายมีผู้ที่อยู่ในสถานกักกันโรคจำนวนมาก และอาจจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสถานกักกันโรค ซึ่งวันเดียวกันนี้อาจจะมีรายงานเพิ่มเติมอีก 3 รายก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถือเป็นเรื่องดีที่เราสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทาง ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม จังหวัดพะเยาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ส่วนกรุงเทพฯ รายล่าสุดวันที่ 6 ธ.ค. จังหวัดพิจิตรรายล่าสุดวันที่ 1 ธ.ค. หากบวกไปอีก 14 วัน เช่น จังหวัดพิจิตรถึงวันที่ 15 ธ.ค. ถือว่าสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เป็นต้น
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมสถานบริการสาธารณสุขในการรับมือโรคโควิด-19 ของ จ.เชียงใหม่ ว่าทรัพยากรต่างๆ ทั้งเตียง ยา เวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย ชุด PPE ของ จ.เชียงใหม่ มีความพร้อมรองรับผู้ป่วยประมาณ 3 เดือน โดยมี AIIR 62 เตียง ห้องแยก Isolation Room 69 ห้อง Cohort Ward 369 เตียง ICU 92 เตียง และเครื่องช่วยหายใจ 188 เครื่อง ถือว่าเพียงพอ มีสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (Local Quarantine) มีจำนวน 4 แห่ง รองรับได้ 1,158 คน สามารถตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการได้ 2,088 ตัวอย่างต่อวัน และพร้อมยกระดับการบริหารจัดการกรณีมีผู้ป่วยจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยประสานมายังส่วนกลางซึ่งมีการสำรองอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆ ไว้ ทั้งนี้ มีความมั่นใจในการทำงานของบุคลากรในการสอบสวนควบคุมโรค แต่ขอให้เพิ่มเติมเรื่องของการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่าเราไม่มีการปกปิดข้อมูล หากประชาชนมีข้อสงสัย พบคนลักลอบเข้ามา สามารถแจ้งได้ที่หน่วยงานสาธารณสุข.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |