นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐใหม่ภายใต้การนำของโจ ไบเดน จะแตกต่างจากโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไร เป็นหัวข้อใหญ่ที่ควรจะวิเคราะห์กันให้รอบด้าน
เพราะมีผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อไทย
คนที่อยู่ใน “วงใน” คนหนึ่งคือ Daniel Russel เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในยุคของบารัค โอบามา และโจ ไบเดน (ตอนเป็นรองประธานาธิบดี)
รัสเซลใกล้ชิดกับไบเดนไม่น้อย ในทุกการพบปะระหว่างไบเดนกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และอดีตนายกฯ ชินโซะ อาเบะ ของญี่ปุ่น รัสเซลจะอยู่ด้วยเสมอในฐานะที่ต้องทำนโยบายสหรัฐต่อเอเชีย
วันนี้รัสเซลเป็นรองประธาน Asia Society Policy Institute ทางด้านความมั่นคงระหว่างประเทศและการทูต ซึ่งเป็น Think Tank ทางวิชาการว่าด้วยแนวทางสหรัฐต่อเอเชีย
รัสเซลให้สัมภาษณ์ Nikkei Asia ว่าความแตกต่างที่สำคัญระหว่างทรัมป์กับไบเดนคือ
ทรัมป์เป็น “โชว์แมน”
ไบเดนเป็น “แอคชั่นแมน”
นั่นหมายความว่าทรัมป์เชื่อในการทูตโฉ่งฉ่าง โวยวาย สร้างภาพและเป็น Show Man
ขณะที่ไบเดนเป็น “Doer” หรือคนที่เน้นการบรรลุเป้าหมายด้วยการลงมือทำ พูดน้อยต่อยมาก
เขาบอกว่าไบเดนจะเน้นแนวทางที่ “ปฏิบัติได้ผล” กับจีน และจะ “ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว” น้อยลง
ถามว่าแนวทางนโยบายต่างประเทศภายใต้ไบเดนจะต่างจากสมัยโอบามาหรือไม่อย่างไร
รัสเซลตอบว่า
“แน่นอนว่าจะต้องมีความต่อเนื่องจากยุคโอบามาถึงยุคไบเดนโดยเฉพาะในแง่บุคลากร และจะมีความต่อเนื่องด้านค่านิยม, ปรัชญาทางการเมืองด้วย”
รัสเซลบอกว่าไบเดนเป็นคนเชื่อในเรื่อง “กฎกติกาของระเบียบโลก”
เขาใช้คำว่า Rules-based international order
คำนี้เราจะได้ยินจากวอชิงตันบ่อยขึ้นจากนี้ไป
มันคือ “ระเบียบโลก” ที่อยู่บนพื้นฐานของ “กติกา”
และนั่นย่อมหมายความถึงกติกาที่กำหนดโดยสหรัฐเป็นหลัก
เพราะไบเดนเคยประกาศอย่างชัดแจ้งแล้วว่าเขาจะไม่ยอมให้จีนเป็นคนเขียนกติกาโลก สหรัฐต้องเป็นแกนหลักในเรื่องนี้
นี่คือประเด็นที่จะทำให้การแข่งขันระหว่างสองยักษ์ใหญ่ยิ่งจะเข้มข้นขึ้น เพราะการแย่งชิงสิทธิที่จะเป็นคนเขียนกติกา
อเมริกาบอกว่า “ฉันต้องเป็นคนเขียนกติกาโลก”
จีนก็จะบอกว่า “ฉันต้องการจะมาเขียนกติกาโลกร่วมด้วย”
นอกจากนี้รัสเซลบอกว่า
ไบเดนเป็นคนเชื่อเรื่องประชาธิปไตยอย่างจริงจัง
และเชื่อในเรื่องการเคารพต่อพันธมิตรและหุ้นส่วนประชาธิปไตย
นี่คือที่มาของคำประกาศของไบเดนก่อนหน้านี้ว่า เมื่อเขาเข้านั่งทำเนียบขาวก็เรียกประชุมสุดยอดประเทศที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยโดยด่วน
เขาเรียกกลุ่มนี้ว่า D-10 หรือ 10 ประเทศหลักที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง
เป้าหมายที่ชัดเจนคือ ไบเดนจะระดมเครือข่าย “ชาติประชาธิปไตย” เพื่อกดดันและสกัดอิทธิพลจีน, รัสเซียและเกาหลีเหนือที่เขาเห็นว่าเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
รัสเซลบอกว่าความเหมือนระหว่างรัฐบาลโอบามากับไบเดนก็คือการเน้นเรื่องประชาธิปไตย
และการต้องเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่
แต่ที่จะต่างกันก็คือความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในยุคสมัยที่มี social media ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญของการบริหารบ้านเมือง
ในยุคโอบามานั้นความก้าวหน้าด้านดิจิทัลยังไม่หนักหน่วงรุนแรงเท่ากับยุคของไบเดนอย่างแน่นอน
“ที่ไม่เหมือนอีกประการหนึ่งคือ ไบเดนจะเจอกับโควิด และปัญหาโลกร้อนที่แย่กว่าที่ผ่านมา”
รัสเซลย้ำว่า “ความแตกต่างมากที่สุด” คือ “ความท้าทาย” จากประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
เขาไม่ลังเลที่จะระบุว่าจีนและรัสเซียเป็นภัยแห่งความท้าทายสำหรับอเมริกาที่สำคัญที่สุดสำหรับรัฐบาลของไบเดน
“จีนกำลังดำเนินนโยบายวันนี้ที่คุกคามความมั่นคง, เศรษฐกิจ และเสถียรภาพของอเมริกาและญี่ปุ่น เป็นต้น...”
ถ้าเทียบกับยุคโอบามาแล้ว แนวทางการเผชิญหน้ากับจีนของไบเดนจะต้อง “ยกระดับ” มากขึ้นหลายขุมทีเดียว
พรุ่งนี้ : “ไบเดนจะต้องกร้าวกับจีนแน่นอน”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |