กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ปี 63 'ชีวิตยามอยู่บ้าน' จัดแสดง 701 ภาพจากสายพระเนตร


เพิ่มเพื่อน    

10 ธ.ค.63 - เมื่อเวลา 8.58 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2563 โดยมีคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), ฐาปน สิริวัฒนะถกดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), ดาว วาสิกศิริ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, นิติกร กรัยวิเชียร เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และ รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย ประธานกรรมการมูลนิธิ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2563 ภายใต้หัวข้อ "ชีวิตยามอยู่บ้าน : Life@Home" เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสได้ร่วมตามรอยเสด็จฯ และชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่านภาพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในช่วงปี 2561-2562 เพื่อจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้

ประกอบไปด้วยภาพแขวนผนัง จำนวน 145 ภาพ ภาพขนาดเล็กในห้อง 8 เหลี่ยม จำลองบรรยากาศสวนและเสียงนก จำนวน 546 ภาพ และภาพขนาดใหญ่ จำนวน 10 ภาพ โดยแต่ละภาพที่นำมาจัดแสดง นอกจากเป็นภาพที่สวยงามทรงคุณค่าทางศิลปะการถ่ายภาพแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองจากสายพระเนตรที่ทรงประสบพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่ทรงสนพระราชหฤทัยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่าย อีกทั้งยังให้ข้อคิดเตือนใจในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มาชมภาพที่เปรียบเสมือนการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายของพระองค์ท่าน

การนี้ ทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2563 ความว่า หนังสือภาพถ่ายเล่มนี้ตั้งชื่อว่า “ชีวิตยามอยู่บ้าน”  แต่จริงๆ ก็ไม่อยู่บ้านเท่าไหร่ อยู่บ้านจริงๆ ประมาณ 2 เดือนเวลาอื่นๆ ก็ออกไป หลังจากเดือนพฤษภาคมแล้ว แพทย์บอกว่า พอจะออกไปข้างนอกหรือพบผู้คนได้ ปีนี้ไปต่างประเทศ 2 ครั้ง ครั้งแรกที่สิงคโปร์ แต่ไม่มีภาพในนิทรรศการครั้งนี้ อีกครั้งก็ที่อินเดีย และที่วางแผนไว้มากมายเป็นอันว่า จบสิ้นกันไป

ทรงบรรยายว่า ปี 2562 ช่วงปลายเดือนกันยายนถึงเดือนมกราคมได้ไปที่สาธารณรัฐประชาชนจีน รับเครื่องอิสริยาภรณ์ รัฐมิตราภรณ์ เป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ที่ให้แก่มิตรหรือเพื่อนที่สำคัญ ตอนแรกทางสถานทูตขอให้ปิดเป็นความลับ ก็ดูจะลับลมคมใน จะคุยจะโม้ก็ไม่ได้ เดี๋ยวผิดสัญญาเขา ก็ต้องอึกๆ อักๆ อยู่ คนที่ได้จะเป็นใครบ้าง ทางสถานทูตก็ไปเที่ยวสืบมาพอจะได้บ้าง เพราะตอนนั้นเขายังไม่ประกาศ มีหลายท่านที่เป็นชาวต่างประเทศ และกลุ่มบุคคลดีเด่นที่เป็นคนจีนด้วยกัน ตอนแรกจะไปเฉพาะวันรับ เพราะว่าช่วงเดือนกันยายนตุลาคม วุ่นกันอยู่นิดๆ เพราะเป็นสิ้นปีงบประมาณของเรา ในที่สุดเขาบอกว่า ไปรับเสร็จแล้ว ต้องให้มาร่วมงานวันสถาปนาสาธารณรัฐจีนครบ 70 ปี ก็อยู่จนกระทั่งถึงวันที่ 1 ตุลาคม วันสถาปนา เป็นเกียรติที่ได้รับเชิญไปร่วมงาน แต่ว่าไม่ค่อยจะเห็นอะไร คนที่ดูทีวีอยู่บ้านจะเห็นขั้นตอน และมีคำบรรยาย จะรู้ชัดมากกว่า เอากล้องกดไปเรื่อยๆ

ภาพ "ไปดูการสวนสนามวันชาติจีน แต่ถ่ายรูปออกมาไม่รู้เรื่องเลย"  รูปนี้รูปอะไรก็ไม่ทราบ คล้ายกับแอร์โชว์ที่เขาโฆษณาในทีวี ก่อนหน้านี้ อยากดูมาก เขาจะทำไว้สวยงามมาก แต่พอถ่ายจริงๆ ออกมาเป็นอย่างนี้ เขาพ่นควันและมีเครื่องบินนิดหน่อย บ้างตอนก็ปล่อยนกออกมา ไม่แน่ใจว่าอะไร อาจควันเครื่องบินหรือนกก็ได้

ภาพ "ไปดูพาเหรดวันชาติ"  รูปนี้ข้างหน้าเป็นพวกผู้ใหญ่จีน มาทุกหน่วยงาน มีหน่วยรถถัง และยุทโธปกรณ์ต่างๆ เหมือนการสวนสนามของทหาร แต่ใหญ่และใช้เวลานานมาก ก็ดีในช่วงเวลานั้นได้พบคนหลายคนที่เคยพบ ที่ไม่ได้เจอกว่า 10 ปีก็ได้เจอ ได้ทักทายกัน มีการแสดงของผู้คนของมณฑลต่างๆ ของนักเรียนเด็กๆ เป็นการสวนสนามที่ยิ่งใหญ่มาก อันนี้มีสัญลักษณ์โอลิมปิค

กลุ่มภาพสัตว์เลี้ยงส่วนพระองค์และสัตว์ในวังสระปทุม ทรงบรรยายว่า วันนี้เดี๋ยวจะเห็นตลอดนิทรรศการ เพราะว่าที่ว่าอยู่บ้านก็ถ่ายหมู หมา แมว แมลงไปเรื่อยๆ ต้นหมากรากไม้ แต่ว่าที่จริงตรงนั้นไม่ทำงานก็ไม่ใช่ เพราะว่าเวลาทางการปิดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ปิดโรงเรียนไปด้วย เขาบอกห้ามเข้าโรงเรียน เพราะทุกคนมีคอมพิวเตอร์ มีทีวี ก็ให้เรียนจากคอมพิวเตอร์ เรียนจากทีวี แต่ว่านักเรียนที่ดูแลอยู่ไม่มีใครมีคอมพิวเตอร์  ไม่มีใครมีทีวี จะหาให้ ก็สัญญาณไม่มี ค่อนข้างจะลำบาก อาหารการกินก็น่าห่วง เพราะว่าส่วนมากเด็กจะไปรับประทานอาหารที่โรงเรียน แต่ว่าก็ไม่เท่าไหร่ เพราะสมัยนี้การเพาะปลูก การทำของเพื่อรับประทานเองที่บ้านก็ดีพอสมควร จะไปส่งเสริมในหมู่บ้านของนักเรียน จะทำอย่างไร อย่างเรื่องเครื่องเขียน สมุดปากกา หนังสือ ก็ไม่มีให้ หลายๆ อย่างที่ต้องเข็นตั้งแต่ปีก่อน จะได้ก็ไม่ได้ซักที ตอนนี้ยิ่งไม่ได้ใหญ่ ก็พยายามจัดชุดและมีผู้คนธรรมดาบริจาคกัน ได้หนังสือ เครื่องเขียน และสื่อที่ทำไว้นานแล้ว ตอนนี้หนังสือ 60 พรรษา ก็เอามาบางส่วน ให้เรียนสหกรณ์ เรียนภาษา ไปเรื่อยๆ บางคนที่พออ่านออกเขียนได้ก็ช่วยกันไปเท่าที่ช่วยกันทำได้ มีเมล็ดพันธุ์ให้เพาะปลูก หัดเพาะถั่วงอก กิจกรรมต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ต้องคอยติดต่อทางมือถือหรือไลน์ แต่ไม่ค่อยได้ จะกดผิดกดถูกตามประสาคนไม่ค่อยได้ใช้

อย่างภาพ "น้องละมุนฉลองฮัลโลวีน" วันฮาโลวีนที่ถ่ายคุณละมุนละไม ใช่ว่าจะได้รูปอย่างนี้ง่ายๆ จะถ่ายรูปท่านพวกนี้ต้องมีขนม อย่างรูปนี้ก็ต้องถือกล้องและมีขนมปังเสียบไว้ตรงกล้องให้เขาดู เผื่อว่า พอถ่ายแล้วจะมีโอกาสได้ลิ้มรส ต้องมีของสังเวยกันตลอด

ภาพ "น้องฮ้อเซียงโกวดมดอกไม้" มีน้องใหม่ชื่อน้องฮ้อเซียงโกวอายุไม่ถึงขวบ มาตั้งแต่สองเดือน เขาหมาคอลลี่ตอนแรกนึกว่า ละมุนจะโกรธที่มีหมาตัวใหม่ หมาพันธุ์เดียวกันก็ไม่เอา แต่ละมุนนี่เอาฮ้อนอนบนขาละมุน ตอนหลังละมุนหน้ายับ น่าแกล้งกัดละมุนหน้ายืด ฮ้อเซียงโกวคอยเดินหากัน เอาหัวจ่อมาปรึกษากัน ฮ้อเซียงโกว เป็นชื่อของหนึ่งในแปดเซียนซึ่งเป็นเซียนผู้หญิงท่านเดียว

ภาพ "ป้ายชื่อที่เกาะเกร็ดคู่กับอีกป้ายว่า กูไม่ไหวแล้วโว้ย โปสเตอร์ท่องการกระจายกริยาไวยากรณ์เยอรมัน วังสระปทุม" มีป้ายซื้อมาอยู่นานแล้ว ซื้อมาจากเกาะเกร็ด เขามีป้ายอันนึงเขียนว่า “อะไรๆ ก็กู” ก็เลยซื้อมา แล้วมีอีกแผ่นเขียนว่า “กูไม่ไหวแล้วโว้ย ” อยู่ด้านบน (ทรงพระสรวล) ส่วนข้างล่างเป็นโปสเตอร์ท่องการกระจายกริยาไวยกรณ์เยอรมัน แต่จำไม่ได้เพราะไม่ค่อยได้ดู ติดไว้เฉยๆ

ส่วนภาพ "พระเอกตลอดกาลของเรา" เป็นรูปของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล พระเอกใหญ่ประจำงาน แค่นี้ก็ดีใจที่ท่านมาอีก และได้เตรียมกล้องเพื่อมาถ่ายอีกครั้ง ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ามีรูปท่านกับภาพพริกปู่เมธกี่ครั้ง กำลังดูว่าจะให้ยืนตรงไหน เพื่อไม่ให้บังกันเอง

กลุ่มภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ จ.อุทัยธานี ทรงบรรยายความว่า ภาพ "ฮกแซตึ๊ง บรรพบุรุษของเจ้าของ" ในนิทรรศการนี้ก็แปลก มีรูปมาจากอุทัยธานีหลายรูปอยู่เหมือนกัน รูปนี้อยู่ในร้านขายยาเก่าของอุทัยธานี ชื่อ”ฮกแซตึ๊ง” รู้จักมาแต่เด็กๆ แต่ตอนหลังไม่ได้ขายยาแล้ว ค่อนข้างทรุดโทรมเจ้าของตกลงจะยกให้ คิดว่า ถ้าซ่อมแล้วจะสวยงามและจะเป็นประโยชน์กับคนในจังหวัดอุทัยธานี ก่อนหน้านี้ มีศูนย์วงเดือนมาจากคุณป้าวงเดือน อาคมสุรฑัณฑ์ ถวายที่ดินเปล่ามาให้ ก็มาสร้างอาคารและอบรมกับ กศน.สอนวิชาการต่างๆ ให้กับชาวบ้าน ทำกับข้าว ประดิษฐ์ ดนตรี มีครูจากกรุงเทพฯ อุทัยธานี นครสวรรค์มาสอน ชาวบ้านได้ความรู้ คนมาเยี่ยมเยอะแยะ อยากขยายมาทำที่ฮกแซตึ๊ง นอกจากที่ ก็มีตู้ยาจีนซึ่งสวยงามแบบดั้งเดิม ถ้าซ่อม เราคงไม่ขายยา แต่ขายยาหม่อง ลูกประคบ และหัดทำอะไรให้ชาวบ้าน ข้างหลังเป็นที่ว่างโล่ง เป็นสวนตะพาบน้ำหรือเต่า จะจัดสวนให้ดูดีให้คนมาศึกษา และพักผ่อนหย่อนใจ กำลังสำรวจและขุดดูรากฐานว่ามีความแข็งแรงอยู่หรือเปล่า พบเศษถ้วยชาม ของโบราณ

ส่วนภาพ "ร้านที่อุทัยธานี" คือ ร้านเทคนิคโฟโต้ เป็นร้านเก่าแก่ ปัจจุบันยังทำการอยู่ อีกภาพ”ร้านกาลครั้งหนึ่ง ณ อุทัยธานี “เดินไปเดินมาก็เจอ ร้านกาลครั้งหนึ่ง ณ อุทัยธานี เปิดดูข้อมูลในอินเตอร์เน็ต มีเล่าเรื่องของร้าน มีหนังสือต่างๆ น่าสนใจมาก เจ้าของนอนอยู่ในซอกตู้ ชะโงกดูคนขายอยู่หรือเปล่า เขาอธิบายได้ แต่ไม่น่าจะมีคนมาซื้อมาก แต่วันนั้นน่าจะคุ้ม ซื้อไปยังอ่านไม่จบเลย เพราะอ่านหนังสืออื่นๆ เผอิญซื้อหนังสือที่ชอบมากอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ “ยังดีที่มีแมว”รู้สึกว่าตรงกับใจ อย่างน้อยยังมีแมวเก่าแก่ คือใบตอง ซึ่งร้ายชอบไล่แมวอื่น เป็นเจ้าถิ่น ใบตองเคยหายไปหนหนึ่ง เอาป้ายติด วันนั้นกลัวมาก ถ้าไม่ได้ใบตองคืนมา จะต้องมีคนหวังดี เอาแมวเทาๆ ลายๆ มาให้สักร้อยตัว ก็จะแย่แน่ แต่ว่าพอดีได้ใบตองกลับมาเร็ว

ทรงบรรยายภาพ "ดอกไม้สวนปทุมอก Baobab Adansonia Digitata Flower" เป็นรูปดอก Baobab Adansonia Digitata Flower ซึ่งมี 8 ชนิด ที่สวนปทุมมีครบ 8 ชนิด หายากมาก ไปมาดากัสการ์ก็ได้ต้นไม้หลายชนิดที่ห้ามเอาออก แต่ประธานธิบดีเซ็นออกให้เอง เพราะพูดภาษาฝรั่งเศสได้ ก็มีประโยชน์แบบนี้ ต้นโตนี้เขาว่า อยู่ได้เป็นพันพันปี ,2,000 3,000 ปีก็อยู่ได้ มีดอก ซึ่งใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง มีน้ำมัน มีแป้ง กินได้ ลูกเม็ด เพราะว่าต้น Baobab มีประโยชน์มาก ไปที่มาดากัสการ์ มีโพรงให้เข้าไปนั่งเหมือนเป็นบ้าน และมีของต่างๆ เป็นไม้ที่แกะเป็น Baobab จริงๆ แล้ว ทางการไม่อยากให้นักท่องเที่ยวซื้อของพวกนี้ ก็ซื้ออยู่ดี เขาบอกว่า เป็นการส่งเสริมให้ทำลายป่า

ทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ทรงบันทึกไว้ครั้งเสด็จฯ ไปอินเดีย ความว่า ภาพ "Taj Falaknuma Palace ไฮเดอราบัด" เพื่อนเที่ยวอินเดียกัน ซึ่งไม่ได้ไปด้วย กลับมาก็ถ่ายรูปส่งมาโชว์ว่า ไปพักที่โรงแรมนี้สวยงามมาก Taj Falaknuma Palace อยู่ไฮเดอราบัด เป็นวังเก่าที่เจ้านายเป็นคนที่มีความสามารถและมีความรู้ ในนั้นจะมีห้องสมุด แล้วเป็นห้องรับประทานข้าว ห้องรับแขก ห้องนอน ซึ่งยังเก็บไว้ส่วนหนึ่งที่ไม่มีคนอยู่แล้ว เหมือนพิพิธภัณฑ์ อยากไปบ้าง ตั้งใจเพื่อจะไปที่นี่โดยเฉพาะ และเจ้าของก็ใจดี อยากจะหยิบหนังสืออะไรในตู้ดูได้ทั้งนั้น มีหนังสือหลายภาษามาก ถ้ามีเวลาอีกเพลิดเพลิน ไม่ต้องไปท่องเที่ยวที่ไหน ดูแค่โรงแรมนี้ก็สนุกแล้ว เขาจะโปรยดอกกุหลาบ ซึ่งสวยงามมาก

ระหว่างทางก็ถ่ายภาพ "โปรยดอกกุหลาบ ทางขึ้นโรงแรม Taj Falaknuma"  สำหรับภาพ "โรงแรมรูปปลา" ตอนแรกตอนบรรยายภาพก็เขียนว่า "โฮเต็ลรูปเครื่องบิน" ทีมงานบอกไม่ใช่ มันเป็นรูปปลา ก็ไปดูมาแล้ว เห็นแล้ว ถ่ายรูปมาเหมือนกัน มันเป็นปลาไม่ใช่เป็นเครื่องบิน ก็แน่ใจ สมัยเด็กไปเนี่ยจำได้ว่า เคยพรีเซ็นต์งาน ครูให้เลือกประเทศมาแล้วค้นคว้า พรีเซ็นต์งาน ก็เลือกออสเตรเลีย ในรูปเห็นไกลๆ เป็นแกะเต็มทุ่งไปหมด นี่มันอะไร รูปไม่ได้ทันศึกษาให้ดี ก็บรรยายว่า นี่คือรูป "แรด" ในที่สุดตอนเพื่อนวิจารณ์จะบรรยายหรือจะทำนิทรรศการอะไรใดควรจะศึกษาให้ดีเสียก่อน ไม่ใช่เห็นแกะเป็นแรดแบบนี้ ตอนนี้เกือบจะกลับมาอย่างเดิม คือเห็นปลาเป็นเครื่องบิน

ที่ไปอินเดียเดินทางด้วยทางรถยนต์ไกลมาก โขยกเขยก หมุนไปหมุนมาเป็นชั่วโมงๆ อาหารต้องกินในรถ กว่าจะไปถึงหอดูดาว มีกล้องดูดาวที่ใหญ่กว่าของไทย กำลังคิดในเรื่องของความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์กับอินเดีย และน่าจะได้ผลในเรื่องดาราศาสตร์นี้ ปีหน้ากะจะไปหอดูดาวอีก แต่ว่ายังฟาวล์เสียก่อน เพราะโรคโควิด ซึ่งเปรียบเสมือนควายขวิดนี่แหละ ส่วนภาพ "พระอาทิตย์ตกดินที่หอดูดาวเทวาสถล" ตอนนี้ไปถึงตอนพระอาทิตย์ตกดินที่หอดูดาวก็สวยงามมาก ที่หอดูดาวมีศาลพระศิวะ เขียนคำอ้อนวอนพระศิวะ เป็นภาษาสันสกฤต

ทรงรับสั่งว่า เชิญถ่ายภาพในนิทรรศการได้ตามสบาย และหวังว่าจะสนุกกับการชมภาพ แม้ว่าจะล็อคดาวน์อยู่บ้าน แต่ก็ถ่ายๆ จำไม่ได้ว่า ถ่ายอะไร บรรยายผิดถูกไปบ้างก็คงให้อภัย เพราะเดี๋ยวนี้ความจำไม่ดี 

สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ หัวข้อ “ชีวิตยามอยู่บ้าน: Life@Home”  หัวข้อ "ชีวิตยามอยู่บ้าน" ใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ถึง 7 กุมภาพันธ์ 2564 (หยุดทุกวันจันทร์) เปิดระหว่างเวลา 10.00-19.00 น. และมีการจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ชีวิตยามอยู่บ้าน: Life@Home” ในราคาเล่มละ 900 บาท ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (สี่แยกปทุมวัน) และศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ รายได้ทั้งหมดนำขึ้นทูลเกล้าถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"