โดยสมจิตร จันทร์เพ็ญ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา พี่น้องชาวกะเหรี่ยงภาคตะวันตกและหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดงาน “มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตะวันตก และสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์ (ภูเหม็น) ตำบลวังทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี” งานนี้ถือว่าเป็นการสานพลังพี่น้องเครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่เป็น ‘กะเหรี่ยงโผล่ว’ หรือ ‘โปว์’ (กะเหรี่ยงทางภาคเหนือส่วนใหญ่เป็น ‘ปกาเกอยอ’) ภายในงานมีการจัดนิทรรศการฐานการเรียนรู้ วิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญา อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น เช่น การทอผ้า ย้อมผ้า พืชผักที่ปลูก การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่น
“พุเม้ยง์” หรือดอกเข้าพรรษา เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน
อัตลักษณ์ 9 อย่างของกะเหรี่ยงโผล่วบ้านพุเม้ยง์
ชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วบ้านพุเม้ยง์ หรือคนภายนอกออกเสียงว่า “ภูเหม็น” สำหรับคนเมืองเพียงแค่ได้ยินชื่อบ้าน “ภูเหม็น” ก็มีคำถามชวนให้หาคำตอบว่าทำไม “ภูจึงเหม็น?”
ชาวบ้านเล่าว่า “พุเม้ยง์” (ออกเสียงคล้าย “พุเม่น”) หรือ “ภูเหม็น” เป็นพืชตระกูลขิง คนไทยเรียกกันว่า “ว่านเข้าพรรษา” หรือต้นเข้าพรรษา มีดอกสีเหลืองเป็นช่อ จะออกดอกมากในช่วงฤดูเข้าพรรษา (ชาวสระบุรีนิยมนำมาทำบุญถวายพระในช่วงวันเข้าพรรษา) แต่คนภายนอกเรียกเพี้ยนจาก “พุเม้ยง์” กลายเป็นภูเหม็นจนถึงวันนี้
การแต่งกายของผู้หญิงบ้านภูเหม็น มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ผู้หญิงจะสวมชุดเสื้อสีแดงและผ้าถุงสีแดง เสื้อและผ้าถุงทุกบ้านจะทอใช้เอง เสื้อจะทอสีดำและปักมือด้วยด้ายสีแดง บางตัวใช้เวลานับปี ช่วงว่างจากงานไร่นาจึงมาทอผ้า ลายผ้ามีความละเอียดมาก กลางคืนแสงไฟไม่พอ การปักด้วยมือช่วงกลางวันจะสะดวกรวดเร็วกว่า เมื่อสังเกตลายผ้าถุงอย่างละเอียดพบว่า 1 ผืน มี 3 ชิ้นต่อกัน ผู้หญิงบ้านพุเม้ยง์บอกว่า หากทอไม่ครบ 3 ชิ้น จะไม่ใส่เพราะถือว่ายังไม่เสร็จ เสื้อและผ้าถุงสีแดงนี้จะใส่ในโอกาสพิเศษเท่านั้น ไม่ได้ใส่ในชีวิตประจำวันทั่วไป นอกจากเสื้อผ้าแล้วยังมี “ย่าม” เอาไว้ใส่ข้าวของซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายเช่นกัน
วัฒนธรรมการแต่งกายนี้ ถือเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นอัตลักษณ์ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงพุเม้ยง์ 9 ข้อ คือ 1.เจ้าวัตร (เจ้าวัด) คือผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง จะนุ่งขาวห่มขาว นับถือศีล 5 แบบชาวพุทธ แต่สามารถมีครอบครัวและอยู่ในบ้าน เพราะชาวกะเหรี่ยงไม่มีวัด เป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมต่างๆ ชาวกะเหรี่ยงให้ความเคารพนับถือ 2.เจดีย์ มีลักษณะเป็นพื้นที่ 4 เหลี่ยม ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ในการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญ 3.ภาษา ชาวกะเหรี่ยงโผล่วมีภาษาพูดและตัวหนังสือเป็นของตัวเอง 4. การแต่งกาย ผู้หญิงจะสวมเสื้อผ้าสีแดง ส่วนเด็กผู้หญิงจะสวมชุดสีขาว
5.อาหาร ชาวกะเหรี่ยงนิยมกินข้าวกับน้ำพริกต่างๆ เช่น น้ำพริกมะเขือ น้ำพริกปลา น้ำพริกกะปิ กินกับผักสด ผักต้ม และมีแกงต่างๆ เช่น แกงไก่ใส่หยวก แกงเผือกมะเขือส้ม ฯลฯ ส่วนใหญ่อาหารจะมาจากพืชผักที่ปลูกเอาไว้ หากมีงานสำคัญจึงจะมีไก่หรือหมู 6.ด้ายเหลือง มีความเชื่อว่าทุกคนต้องผูกด้ายเหลืองตั้งแต่สายสะดือหลุด ด้ายเหลืองผูกข้อมือครั้งแรก เชื่อว่าเหมือนได้บวชลูกเป็นเทวดาแล้ว และเป็นการเรียกขวัญให้อยู่กับตัว
7.ไร่ข้าว เมื่อก่อนชาวกะเหรี่ยงจะปลูกข้าวไร่แบบหมุนเวียน แต่เมื่อมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินกับทางหน่วยงานรัฐ พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนจึงลดน้อยลงไป พิธีกรรม เช่น การทำขวัญข้าว การเรียกขวัญข้าวจึงแทบสูญหายไป 8. การละเล่น มีการละเล่นในงานที่สำคัญ เช่น สะบ้า เดินขาหย่าง ตีลูกข่าง การรำตง ฯลฯ 9.ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีล้างเท้าให้เจ้าวัตรหรือผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีกรรมอาบน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ ฯลฯ
ขนมมิงสิทำจากข้าวเหนียวนึ่งตำในครกกระเดื่อง ใส่เกลือและงา รสชาติหวานมัน
อาหารอัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยงหนึ่งใน 9 ข้อ อาหารที่นิยมทำกินกันและเลี้ยงเวลามีงานหรือพิธีที่สำคัญ ผู้เข้าร่วมงานจะได้ลองลิ้มรสจากแม่ครัวบ้านพุเม้ยง์ เช่น ขนมมิงสิ (ทองโย้) ตำข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วด้วยครกกระเดื่อง จนกลายเป็นแป้งเหนียวแล้วใส่งา ใส่เกลือ กลิ่นงาผสมกับข้าวเหนียวหุงใหม่ ๆ หอมชวนกินเมื่อเดินเข้าสู่บริเวณงาน จากนั้นแม่ครัวจะนำไปทอดให้กินกรอบนิด ๆ หนึบ ๆ เคี้ยวเพลินทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แกงไก่ใส่หยวกกล้วย ใช้เครื่องแกงพื้นบ้าน ไก่บ้าน และหยวกกล้วย (จากต้นกล้วยที่ยังไม่เคยออกลูก) แกงเผือกมะเขือส้ม หากทำให้เจ้าวัตร จะใส่เนื้อปลาแทนเนื้อหมู ฯลฯ
ผลงานของเด็กนักเรียนบ้านตลิ่งสูง
การจัดงาน “มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตะวันตก” ครั้งแรกที่บ้านพุเม้ยง์นี้ พี่น้องชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน (200 ครัวเรือน ประมาณ 700 คน) มาช่วยงานกันอย่างเต็มที่ และแบ่งงานกันทำ เช่น ฝ่ายงานครัว ฝ่ายต้อนรับ ฝ่ายจัดซุ้มนิทรรศการ กิจกรรมสานสัมพันธ์ ฯลฯ งานนี้รวมหญิงชายทุกกลุ่มวัยทั้งผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชน กิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ โครงการปลูกใจเยาวชนคนรักษ์มรดกโลกห้วยขาแข้งของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านตลิ่งสูง
นายรุ่ง สุริยะกานต์ ผอ.โรงเรียนบ้านตลิ่งสูง เล่าว่า เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้คุณค่าของสัตว์ป่าและผืนป่ามรดกโลก เด็กได้ทำกิจกรรมดูนกเงือก รู้จักเอกลักษณ์ของนกแต่ละตัว บันทึกข้อมูลนกผ่านการวาดรูป ซึมซับและเกิดสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติ ในงานมีการนำเสนอผลงานของเด็ก และเด็กๆ ก็มาเล่นดนตรีในงานด้วย
สถาปนาพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์
นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรม “สืบชะตาลำน้ำพุเม้ยง์ บวชป่าต้นไม้ใหญ่ สักการะแผ่นดินบรรพชน” โดย ‘เจ้าวัตร’ ผู้นำจิตวิญญาณ ได้พาชาวกะเหรี่ยงและผู้ร่วมพิธีเดินเวียนรอบต้นไม้ใหญ่ 3 รอบ ผู้ร่วมพิธีถือเทียนขี้ผึ้งจากธรรมชาติ และจุดเทียนเมื่อเดินครบ 3 รอบ มีการแนะนำครอบครัวผู้ดูแลต้นไม้ใหญ่ที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ทั้งหมดเป็นผู้หญิง ตั้งแต่รุ่นแม่ คือ นางโพธิ์ ภูเหม็น อายุ 58 ปี, รุ่นลูก นางบุญพึ่ง กระแหน่ อายุ 40 ปี, รุ่นหลาน นางสาวนารี ภูเหม็น อายุ 32 ปี และนางสาวประวีณา กระแหน่ อายุ 23 ปี จนถึงรุ่นเหลน คือ ด.ญ.ชญานิศ ไม้เจ๊ง (หนูยิ้ม) อายุ 4 ปี
ครอบครัวที่ดูแลต้นไม้ยักษ์
ต้นไม้ใหญ่ต้นนี้ คือต้นผึ้ง มีอายุประมาณ 300 ปี ต้องใช้คนจับมือกันประมาณ 30 คนจึงจะโอบต้นไม้นี้ได้ และมีความสูงราว 30 เมตร ครอบครัวที่ดูแลต้นไม้ต้นนี้บอกว่า “เห็นต้นไม้ต้นนี้ตั้งแต่เด็ก จะไม่ตัด ไม่ทำลายต้นไม้ ดีใจที่ได้ดูแลต้นไม้ และจะสืบทอดการดูแลต้นไม้จนถึงรุ่นต่อ ๆ ไป”
นอกจากนี้ยังมีพิธีปักหมุดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์ ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ที่มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’ โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ เช่น 1. ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าที่มีหลักฐานประจักษ์ว่าชุมชนอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว 2.ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่พิพาทเรื่องที่ทำกิน ฯลฯ เพื่อปกป้องและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเปราะบางให้สามารถดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเองต่อไปได้
ทั้งนี้การประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษเป็นแนวคิดการจัดการพื้นที่เพื่อคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถธำรงวิถีชีวิต บนพื้นฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาตามประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผสานความรู้ใหม่ สอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่นที่มีนัยของความพอเพียง มีคุณธรรม จริยธรรม ความยั่งยืนในกระบวนการดำรงวิถีชีวิตตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 โดยกำหนดแนวเขตเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ครอบคลุม ‘พื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่จิตวิญาณ’ ของกลุ่มชาติพันธุ์
ส่วนการจัดงานในวันสุดท้าย มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดต่างๆ ที่มาร่วมงาน เช่น ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งบอกเล่าปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยซึ่งทับซ้อนกับเขตป่าไม้ ป่าอนุรักษ์ อุทยาน ฯลฯ ซึ่งมาประกาศทีหลัง เพราะชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่อยู่อาศัยกันมานานกว่า 100 ปีก่อนที่จะมี พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับต่างๆ และปิดท้ายงานด้วยการประกาศเจตนารมณ์ “ชุมชนบ้านพุเม้ยง์ ดินแดนแห่งอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญากะเหรี่ยงโผล่ว” โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า....
“พวกเราขอเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’ อันได้แก่ การเพิกถอนพื้นที่ป่าที่มีหลักฐานประจักษ์ว่าชุมชนอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว การสร้างความเข้าใจเรื่องไร่หมุนเวียน ยุติการคุกคาม จับกุม ดำเนินคดี ยึดพื้นที่ชาวกะเหรี่ยง การผลักดันให้มีการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ และการผลักดันให้การทำไร่หมุนเวียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม”
ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์
ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ผู้มาเยือนได้เรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วบ้านพุเม้ยง์ หลายคำตอบช่วยคลี่คลายความสงสัย ทั้งจากเอกสารประกอบการจัดงาน ข้อมูลจากการพูดคุยกับชาวบ้าน คำตอบที่เรียบง่าย ตามวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง
เมื่อถามว่า “ลูกเรียนอยู่ชั้นไหน อนาคตอยากให้เป็นอะไร ?”
คำตอบของแม่คนหนึ่งที่มีลูกเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นบอกว่า “อยากให้ลูกเรียนปริญญาตรี ได้งานดี ๆ เพราะการทำไร่มันเหนื่อยลำบาก สมัยก่อนเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ ตอนที่เตรียมเพาะปลูกพืชไร่ก็ต้องวิ่งหนีเพราะกลัวเจ้าหน้าที่ เคยมีเจ้าหน้าที่จับกุมชาวบ้านข้อหาบุกรุกป่า แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว เพราะมีการพูดคุยแก้ปัญหาเรื่องนี้”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |