หลังคณะราชทูตจากสยามที่ประกอบด้วย เจ้าพระยามหาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นออกพระวิสูตรสุนทร เป็นราชทูต ส่วนอุปทูตได้แก่ ออกหลวงกัลยาราชไมตรี (ฉ่ำ) ซึ่งเคยเป็นราชทูตไปเมืองจีนมาแล้ว ตรีทูตคือ ออกขุนศรีวิสารวาจา บุตรของราชทูตสยามที่เคยไปกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เดินทางถึงประเทศฝรั่งเศสเพื่อเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นั้น คณะทูตได้เดินทางไปหลายสถานที่และหนึ่งในนั้นคือร้านขายเพชร
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๕ ตอนราชทูตไทยไปดูห้างขายเพชร เขียนถึงประเด็นนี้ว่า...รุ่งขึ้นจากวันที่ได้ไปดูพระอารามนั้น เจ้าคุณราชทูตกับพรรคพวกได้ไปดูห้างขายเพชร และเครื่องเงินทองของรูปพรรณของท่านอาจารย์ช่างทองเดอมงตาร์ซีส์ ซึ่งเป็นหัวหน้าช่างทองหลวง และที่มีชื่อเสียงปรากฏว่าเป็นผู้ที่มีเพชรเม็ดใหญ่และแพงที่สุดในทวีปยุโรป เครื่องเพชรพลอยที่ประดับพระมาลามหามงกุฎพระบาทสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กับเครื่องทรง อื่นๆ ซึ่งทรงใช้ในงานใหญ่ล้วนแล้วด้วยฝีมือของนายช่างคนนี้ทั้งนั้น
ที่ห้างขายเพชรนี้ท่านราชทูตได้มีโอกาสชมรัตนะเครื่องเพชรพลอยอันมีค่าตั้งหลายๆ ล้านบาท อย่างที่เรียกกันว่า อนัคฆมณีแก้วหาค่ามิได้หรือราคาค่าควรเมือง ฉะนั้นการดูเพชรนี้ท่านราชทูตเพ่งพิศดูไม่ผิดแบบกับที่ดูสิ่งอื่นคือ ดูดูจริงๆ ที่ห้างขายเพชรนี้มีรัตนะกี่อย่างกี่ชนิด
ท่านราชทูตดูจนทั่วและทุกๆ เม็ดที่สำคัญท่านจับตรวจดูน้ำดูแวว ดูฝีมือเจียระไนถ้วนถี่ทุกอย่าง แล้วถามถึงวิธีใช้และราคาและความนิยมของบุคคลพร้อมเสร็จ ที่จริงท่านนี้ก็เป็นผู้ชำนาญในทางดูเพชรพลอยเก่งทีเดียว เพราะท่านพูดถูกต้องว่าน้ำชนิดนี้ชนิดนั้นเป็นราคาเท่านี้เท่านั้น และชนิดนั้นเขานิยมใช้ทำแหวน ทำเครื่องประดับอื่นๆ เช่นสายสร้อยเป็นต้น ดูท่านพูดถูกต้องคล่องแคล่วราวกับพ่อค้าเพชรหรือช่างทองคนหนึ่งก็ว่าได้
เมื่อได้ดูเครื่องเพชรพลอยเครื่องเงินทองของรูปพรรณเสร็จแล้ว ท่านเดอมงตาร์ซีส์ได้พาท่านราชทูตไปดูหอพิพิธภัณฑ์ของท่านซึ่งเต็มไปด้วยโบราณวัตถุชนิดเดียว คือแผ่นเสมาที่ระลึกและเหรียญเงินตรา เหรียญทองตราต่างๆ ซึ่งรัฐบาลทั้งหลายเคยทำ ใช้แลกเปลี่ยนซื้อสิ่งของแต่ครั้งโบราณกาลลงมาจนถึงรัชสมัยปัจจุบันนั้น
หอเก็บเสมานี้มีตู้สำหรับเก็บรักษาตั้ง ๔๐ ตู้ด้วยกัน มีแผ่นเงิน แผ่นทอง ทองแดง ตะกั่นดีบุก แทบทุกรัชกาลและทุกประเทศที่มีชื่อเสียงในโลกในสมัยนี้ เช่นเมืองฝรั่งเศส เมืองสเปน เมืองเยอรมันนี เมืองอิตาลี เมืองอังกฤษ เมืองปอลอญ เมืองสวิส เมืองฮอลันดาและอื่นๆ อีกเป็นอันมาก
ท่านเดอมงตาร์ซีส์นั้นเป็นคนน่าชมจริง คือว่าท่านไม่ใช่คนมัวแต่เล่นเก็บอัฐเก็บสตางค์ไว้เพื่ออวดเพื่อนฝูงว่ามีแปลกๆ หลายร้อยหลายพันชนิดเท่านั้นๆ แผ่น (อย่างพวกเล่นบอนและกล้วยไม้เป็นต้น) ท่านสะสมไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในทางสอบสวนโบราณคดีมีตำนานพงศาวดารเป็นต้น เหตุให้รู้ว่าท่านเดอมงตาร์ซีส์เป็นนักโบราณคดี รู้พงศาวดารในสากลโลกละเอียดสุขุมนั้น
คือว่าเมื่อท่านราชทูตหยิบแผ่นเหรียญไหนถามว่า "นี้สร้างมาแต่ครั้งไร เพื่ออะไร" ท่านก็ตอบทันควันว่า "สร้างมาแต่ครั้งแผ่นดินพระราชาองค์นั้นๆ เมืองนั้นๆ เนื่องด้วยมงคลและเหตุเศร้าโศกนั้นๆ" ดังนี้ทุกแผ่นไม่มีติดหรือฉงนเลย ดูราวกับท่านอ่านในพงศาวดารก็ว่าได้ ฉะนี้จึงได้รู้ว่าท่านเป็นนักโบราณคดีรู้ข้อความในพงศาวดารแห่งโลกดีจริงผู้หนึ่งหาผู้เสมอยาก
ฝ่ายท่านราชทูตเล่า นอกจากพินิจดูด้วยตาและตั้งกระทู้ถามท่านยังได้แสดงความจงรักภักดี ซึ่งท่านมีไว้ต่อเจ้านายหรือตนอย่างน่าชม และโดยไม่ต้องพูดสักคำเดียวเพราะเหตุนี้จึงเป็นการแปลก ถ้าเป็นแต่ยอสรรเสริญพระบารมีด้วยปากธรรมดาก็ไม่แปลกอะไร แต่นี่ท่านนิ่งไม่พูดไม่จาสักคำเดียว
และถึงกระนั้นการดุษณีภาพนี้เป็นที่สรรเสริญบารมีของเจ้านายตนดีกว่าคำพูดตั้งหลายเท่า เรื่องได้เกิดขึ้นดังนี้คือเมื่อท่านราชทูตกำลังดูแผ่นเหรียญเหล่านั้น เผอิญมีอยู่แผ่นหนึ่งซึ่งท่านหยิบขึ้นมาพิจารณาด้านหน้ามีรูปอะไรต่ออะไรไม่แปลกอะไรนัก แต่ด้านหลังมีคำจารึกมากมายและยืดยาวกว่าแผ่นเหรีญอื่นๆ เป็นอันมาก ท่านราชทูตจึงถามว่า "คำจารึกเหล่านี้มีใจความอย่างไร ทำไมจึงยาวยืดพิสดารดังนี้เล่า"
ท่าเดอมงตาร์ซีส์อธิบายว่า "เหรียญแผ่นนี้เป็นเหรียญที่พวกขบถได้หล่อขึ้นเมื่อศก ๑๖๗๒ เมื่อสงครามได้เกิดขึ้นในระหว่างประเทศยุโรป รูปข้างหน้าเป็นรูปเปรียบเสียๆ หายๆ ต่อพระมหากษัตริย์ต่างๆ และคำจารึกที่ด้านหลังก็ล้วนคำติเตียนว่ารัฐบาลของพระมหากษัตริย์เหล่านั้นทั้งสิ้น"
เมื่อท่านราชทูตได้ฟังคำอธิบายนั้น ท่านก็โยนทิ้งเหรียญแผ่นนั้นลงทันทีโดยอาการแค้นใจและเกลียดชังอย่างที่สุด และอาการอันนี้ของราชทูตก็เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้านายและความเกลียดชังต่อคนพาลที่ได้ปรากฏขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมอย่างเปิดเผย ดีกว่าใช้วาจาสวามิภักดิ์และติเตียนเป็นอันมาก
ในบรรดาเหรียญและเสมาที่ระลึกซึ่งให้ท่านราชทูตดูนั้นมีอยู่หลายแผ่นซึ่งเป็นเหรียญซึ่งได้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และมีหลายแผ่นที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ปรากฏอยู่ในนั้นด้วย แผ่นที่มีพระบรมรูปนั้นสังเกตดูท่านราชทูตพิเคราะห์แล้วพิเคราะห์เล่าเป็นกาลนาน ไม่ค่อยจะวางลงได้ ดูเหมือนมีเสน่ห์อะไรอันหนึ่งดลใจท่านราชทูตให้ชอบดูยิ่งกว่าแผ่นอื่น ๆ
ต่อเมื่อท่านราชทูตได้ตรวจดูแผ่นเหรียญเหล่านั้นเสร็จหมดแล้ว ท่านก็ได้กล่าวชมเชยความคิดและธรรมเนียมของผู้สร้างเหรียญชนิดนั้นว่า "เป็นธรรมเนียมอันดีอย่างยิ่ง เพราะเป็นเหมือนหนึ่งประกาศคุณความดีของคนในสมัยหนึ่ง ให้คนในสมัยหลังได้รู้ถึงด้วย หาไม่เมื่อคนสมัยปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว ชื่อเสียงและเกียรติคุณความดีมักหายสูญไปเร็ว หามีพยานปรากฏให้คนชั้นหลังทราบทั่วถึงกันไม่ เพราะความทรงจำของมนุษย์ย่อมไม่ยืดยาวเป็นธรรมดา
ถึงกระนั้นก็ดีส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กฤษดาภินิหารและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์มากเหลือล้น ถึงแม้จะไม่สร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นไว้ เกียรติศักดิ์เกียรติคุณของพระองค์ก็คงแผ่เผยฟุ้งซ่านไปเองจนชั่วกัลปาวสาน เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ย่อมทรงฝังในจิตใจของพลเมืองฝรั่งเศสทั่วทุกคนในพระราชอาณาจักรของพระองค์
ฉะนี้จึงเข้าใจว่าแม้นไม่มีเสมาที่ระลึกก็คงไม่มีวันสูญเป็นแน่ แต่เมื่อยิ่งมีเสมาเตือนให้ระลึกถึงด้วยก็ยิ่งดี เพราะเป็นเหมือนหนึ่งส่งเสริมคุณความดีของพระองค์ให้ยิ่งแผ่ซ่านออกไกลสิ้นกาลนาน ซึ่งไม่เป็นการเกินสมควรหามิได้ เพราะพระบารมีของพระองค์น่าสรรเสริญหาที่สุดมิได้"
เมื่อดูแผ่นเหรียญเสร็จแล้ว ท่านราชทูตได้แสดงความขอบใจต่อท่านเดอมงตาร์ซีส์ในการที่ท่านได้โปรดอธิบายฐานที่เกิด และพงศาวดารของเหรียญเหล่านั้นโดยละเอียดลออจนเข้าใจดี แล้วต่างก็ได้พากันไปดูรูปต่างๆ ซึ่งแขวนอยู่ในบ้านของท่านเดอมงตาร์ซีส์พร้อมทั้งคำอธิบายถึงรูปภาพที่แขวนไว้รอบห้องนั้นด้วย
เมื่อท่านราชทูตได้เห็นรูปพร้อมทั้งคำอธิบายฉะนี้แล้ว จึงได้รู้เข้าใจถึงการที่ไปพบประเทศอเมริกาเพราะในจำนวนรูปเหล่านั้นมีรูปท่านคริสโตบาลโกลำโบนายเรือเอกสเปนอยู่รูปหนึ่ง ซึ่งได้ไปพบปะเมืองอเมริกาเป็นคราวแรกเมื่อคริสตศก ๑๔๙๒
นอกจากรูปเหล่านั้นซึ่งท่านราชทูตชมแล้วชมเล่าถึงกับซักถามชื่อของนายช่างผู้ที่เขียนหมดทุกรูป ท่านยังได้ดูอีกสิ่งหนึ่งในห้องของท่านเดอมงตาร์ซีส์ซึ่งควรจะต้องกล่าวถึงบ้าง คือนาฬิกาเรือนหนึ่ง ซึ่งไขคราวเดียวแล้วก็เดินไปได้ตลอดถึง ๓ เดือนไม่หยุด พอดูนาฬิกานี้แล้วก็นับว่าราชทูตได้ดูหมดในของน่าดูซึ่งมีอยู่ที่ห้างขายเพชรนั้น ท่านราชทูตจึงได้ขอบใจและอำลาท่านเดอมงตาร์ซีส์กับภรรยาอีกคำรบหนึ่งแล้วก็ได้ออกไปขึ้นรถซึ่งรอคอยอยู่หน้าห้าง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |