เมื่อว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ประกาศเลือก "เจเน็ต เยลเลน" เป็นว่าที่ขุนคลังหญิงคนเเรกของสหรัฐฯ ผู้คนในวงการเศรษฐกิจก็ฮือฮาไม่น้อย
เพราะเธอไม่เพียงแต่เป็นผู้หญิงคนแรกในตำแหน่งนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นคนแรกที่นั่ง 3 ตำแหน่งสำคัญที่วางนโยบายเศรษฐกิจของมหาอำนาจแห่งนี้ด้วย
นั่นคือตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ (Chair of the Council of Economic Advisers)
ประธานธนาคารกลางของประเทศ (Chairman of the Federal Reserve) และล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โดนัลด์ ทรัมป์ไม่ยอมให้เธอเป็นประธาน Fed รอบสอง
วันนี้เธอได้รางวัลตอบแทนมากกว่าที่คาดคิดเสียอีก
คนที่ทรัมป์ตั้งให้เป็นประธาน Fed แทนคือ Jerome Powell ต้องเจอกับประธานาธิบดีที่ทำอะไรนอกรูปแบบเดิมอย่างน่าตกใจ
ปกติประธานาธิบดีจะไม่แทรกแซงการทำงานของประธาน Fed เพราะต้องเคารพในความเป็นมืออาชีพที่ไม่ต้องการให้อิทธิพลการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินนโยบายการเงินที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อเอาใจประธานาธิบดีที่นั่งอยู่ในทำเนียบขาว
แต่ทรัมป์วิพากษ์ประธาน Fed อยู่บ่อยๆ ทั้งส่วนตัวและผ่านทวิตเตอร์
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยหรือทิศทางของนโยบายการเงินที่ทรัมป์เห็นต่างไปจากธนาคารกลาง
สมัยเจเน็ต เยลเลนเป็นประธาน Fed ประธานาธิบดีชื่อบารัก โอบามา
เธอเป็นผู้หญิงคนแรกในตำแหน่งนั้น และทำงานได้อิสรเสรีพอสมควรเพราะโอบามาเคารพในความเป็นอิสระและมืออาชีพของผู้บริหารธนาคารกลาง
เธอทำงานได้ดีจนวันนี้ โจ ไบเดนต้องขอใช้บริการเธอในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทีเดียว
เจเน็ต เยลเลนในวัย 74 ต้องถือว่าผ่านงานหนักๆ มามาก และวันนี้เธอต้องเตรียมรับตำแหน่งเพื่อร่วมแก้วิกฤติเศรษฐกิจหนักหน่วงอันเกิดจากโควิด-19
ประสบการณ์ของเธอหลากหลาย เช่น
อดีตประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจยุคอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน
อดีตประธานธนาคารกลางในยุคโอบามา
และหากได้รับอนุมัติโดยวุฒิสภา เธอจะสร้างประวัติศาสตร์ในหลายๆ มิติทีเดียว
หนีไม่พ้นว่าในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัยการเมืองและกระบวนการต่างๆ ที่ต้องทำงานกับสมาชิกสภาคองเกรส
เมื่อพรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีไบเดนไม่ได้มีเสียงข้างมากในวุฒิสภาและเสียงในสภาผู้แทนฯ ก็หดตัวลง จึงต้องมีการต่อรองกันระหว่างสองพรรคใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เรื่องใหญ่อันดับหนึ่งหนีไม่พ้นเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ปัญหาหนักอึ้งสำหรับเธอคือ ความไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกัน
แต่ประสบการณ์ในอดีตน่าจะช่วยให้เธอสามารถทำงานหนักเฉพาะหน้าได้
เยลเลนเคยสนับสนุนมาตรการที่ช่วยอุ้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายหลัง "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ปี 2008
ช่วงนั้นเฟดดำเนินมาตรการมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้รอด
เธอน่าจะมีแนวคิดคล้ายกับไบเดนที่ต้องการเร่งมาตรการเยียวยาเจ้าของกิจการขนาดเล็ก
ก่อนที่ออกซิเจนจะหมด ล้มละลายไปต่อหน้าต่อตา
เยเลนรับงานต่อจากรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน สตีฟ มนูชิน ว่ากันว่าไม่ค่อยจะกินเส้นกับประธานเฟดคนปัจจุบันนัก
เหตุเพราะมนูชินสั่งให้ยกเลิกโครงการให้เงินกู้ฉุกเฉิน ที่อยู่ในการบริหารของเฟด
ประธานเฟดค้านเต็มที่
เยลเลนมานั่งตำแหน่งนี้จะทำงานกับประธานเฟดคนปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหนต้องคอยดู
แต่อย่างน้อยในฐานะที่เธอเคยนั่งอยู่ที่ธนาคารกลาง ก็ย่อมจะเข้าใจกลไกการทำงานของคนที่นั่นได้ดีกว่า
เยลเลนเป็น "เด็กนิวยอร์ก" ของแท้ เติบโตที่เขตบรูคลิน นครนิวยอร์ก
เธอเรียนหนังสือเก่ง สอบได้ที่หนึ่งของโรงเรียนรัฐในชั้นมัธยมปลาย ก่อนที่ไปต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยบราวน์
จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยล
เธอเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเบิร์กลีย์ และมหาวิทยาลัย London School of Economics
สามีของเธอเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบล นายจอร์จ เอเคอร์ลอฟ สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในกรุงวอชิงตัน
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Paul Krugman เขียนชื่นชมเยลเลนว่าเป็นคนมีฝีมือจริง เพราะเธอเคยทำงานวิจัยเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาคอย่างจริงจัง
"เธอเก่งจริงเพราะเธอไม่ได้ใช้แต่เพียงหลักการของตัวเลขและสถิติเท่านั้น แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐศาสตร์ที่แม่นยำที่สุดนั้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนเป็นหลัก"
แต่จะเก่งเพียงใด เจอปัญหาหนักอย่างโควิดก็ไม่แน่
เพราะความเฟื่องฟูในอดีตไม่ได้รับรองความสำเร็จในอนาคต!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |