สถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษแห่งที่ 13 ‘กะเหรี่ยงพุเม้ยง์’ จ.อุทัยธานี ขณะที่กะเหรี่ยง 3 จังหวัดยื่นหนังสือถึง รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ร้องปัญหาที่ดิน


เพิ่มเพื่อน    

การประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์ (ภูเหม็น)

 

จ.อุทัยธานี / พี่น้องกะเหรี่ยงและภาคีเครือข่ายร่วมพิธีสถาปนา ‘เขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ’ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี  เป็นแห่งที่ 13 ของประเทศ  ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ตั้งเป้าปี 2564 ประกาศเขตคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์อีก 34  พื้นที่  ขณะที่ตัวแทนชาวกะเหรี่ยง 3 จังหวัดยื่นหนังสือผ่าน ‘นพดล  พลเสน’ ผู้ช่วย รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรรมชาติฯ เรียกร้องให้ ‘วราวุธ  ศิลปอาชา’ แก้ไขปัญหาที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ  ด้านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย-อาชีพ-คุณภาพชีวิตพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ  ประเดิมที่บ้านพุเม้ยง์ 200 ครัวเรือน

          

ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคมนี้  มีการจัดงาน ‘มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตะวันตก’  และพิธี ‘สถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ’  ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์หรือ ‘ภูเหม็น’  ต.ทองหลาง  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี   โดยมีชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ภาคตะวันตก 6 จังหวัด  คือ  ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  ราชบุรี  กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  และอุทัยธานี  พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย  ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนประมาณ 400 คนเข้าร่วมงาน

 

ผู้ช่วย รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ร่วมงานสถาปนาเขตคุ้มครองฯ

โดยในวันนี้ (8 ธันวาคม) นายนพดล  พลเสน  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.ทส.) เดินทางมาร่วมงาน  และร่วมพิธีสถาปนา ‘เขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ’ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์ (ภูเหม็น)  โดยมีเจ้าวัตร-แม่ย่า (ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง) และชาวกะเหรี่ยงประมาณ 100 คนร่วมกันทำพิธีและสวดมนต์บริเวณหลักหมุดเขตคุ้มครองฯ  เพื่อความเป็นสิริมงคล  และขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองชาวกะเหรี่ยงพุเมยง์ให้อยู่ดี  กินดี  มีความสุข

 

นายนพดล  พลเสน  (เสื้อกั๊กดำ)

 

นายนพดล  พลเสน  ผู้ช่วย รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ  กล่าวว่า  เนื่องจากในวันนี้เป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี  นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.ทส.  จึงมอบหมายให้ตนมางานนี้แทน  โดยนายวราวุธได้ฝากข้อคิดเห็นมาถึงพี่น้องกระเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์ 3 ประเด็น  คือ 1.จะทำอย่างไรให้บ้านพุเม้ยง์ เป็นต้นแบบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  เช่นเดียวกับที่บ้านน้ำพาง  อ.แม่จริม  จ.น่าน  ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ภูเขาหัวโล้นจากการบุกรุกทำการเกษตร  แต่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่สีเขียว  เพราะชาวบ้านช่วยกันปลูกต้นไม้  รักษาป่าต้นน้ำ

 

“พื้นที่ใดมีสายน้ำก็มีชีวิต  ดังนั้นชาวบ้านพุเม้ยง์จะต้องช่วยกันทำฝายกักเก็บน้ำ  เพื่อนำมาสร้างอาชีพเกษตรกร  โดยหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรฯ เช่น  อุทยานห้วยคต  และหน่วยงานต่างๆ จะช่วยกันสนับสนุนเพื่อให้พี่น้องมีอาชีพ  มีรายได้”  นายนพดลกล่าว

 

2.ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม  โดยเฉพาะที่บ้านพุเม้ยง์มีต้นทุนทางธรรมชาติ  คือมีอากาศดี  มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น  สามารถทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนได้  โดยชุมชนต้องเตรียมเรื่องที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว  และเตรียมจัดการเรื่องขยะจากการท่องเที่ยว 

 

3.หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ จะต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชน  ไม่รังแกประชาชน  และหากประชาชนทำผิดครั้งแรกให้ตักเตือน  หากทำผิดซ้ำให้ดำเนินการตามกฎหมาย  และหากพื้นที่ใดที่ประชาชนได้รับเอกสารสิทธิ์ (พื้นที่ป่าไม้) ห้ามมีการเปลี่ยนมือหรือซื้อขาย  หากตรวจพบจะยึดพื้นที่คืน

 

ชาวกะเหรี่ยง 3 จังหวัดยื่นหนังสือถึง รมว.ทส.ร้องปัญหาที่ดิน

ขณะเดียวกันผู้แทนชาวกะเหรี่ยงใน 3 จังหวัด  คือ  สุพรรณบุรี  ราชบุรี  และประจวบคีรีขันธ์  ได้ยื่นหนังสือผ่านนายนพดลถึงนายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ  เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ  คือ  1.ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก  ต.วังยาว  อ.ด่านช้าง    จ.สุพรรณบุรี  ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ยึดพื้นที่ทำกินตั้งแต่ปี 2528   ปัจจุบันบางส่วนได้รับการจัดสรรพื้นที่ทำกินแล้ว  แต่ยังมีอีก 15 ครอบครัว  รวม 80 คน  ยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน  จึงขอให้ รมว.ทส.แก้ไขปัญหา 2.ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุระกำ  อ.สวนผึ้ง  จ.ราชบุรี  จะได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ 2,000 ไร่  มีชาวบ้านได้รับผลกระทบประมาณ 70 ครอบครัว  จึงอยากให้กระทรวง ทส.ชะลอโครงการนี้ก่อน  และศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน  และ 3.ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าหมาก  อ.สามร้อยยอด  จ.ประจวบคีรีขันธ์  ประมาณ 170 ครอบครัวจะได้รับผลกระทบด้านที่ดินที่อยู่อาศัยจากการประกาศพื้นที่มรดกโลกแก่งกระจาน (รวมพื้นที่ในเขตอำเภอสามร้อยยอด) จึงขอให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ช่วยแก้ไขปัญหา

 

ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงยื่นหนังสือกับนายนพดล

 

ด้านนายนพดล พลเสน  ผู้ช่วย รมว.ทส. กล่าวว่า  นายวราวุธได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือร้องเรียนจากผู้แทนชาวกะเหรี่ยง 3 จังหวัด  หลังจากนั้นจะนำเรื่องเรียนไปนำเสนอต่อนายวราวุธเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553   เห็นชอบ ‘แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’ 

ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่กันมานานหลายร้อยปี  รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายมาอยู่ในภายหลัง  รวมทั้งหมดประมาณ 70 กลุ่ม  เช่น  กะเหรี่ยง  อาข่า  ม้ง  เย้า  ลัวะ  ลาหู่  ไทใหญ่  กูย  ชาวเล  มันนิ  ฯลฯ  ประชากรรวมกันประมาณ  6.1 ล้านคน  โดยมีชาวกะเหรี่ยงมากที่สุดประมาณ  300,000  คน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ  ที่ผ่านมาชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  เพราะมีวิถีชีวิต  ประเพณี  วัฒนธรรมในการผูกพันพึ่งพากับป่าไม้และธรรมชาติ  แต่สวนทางกับนโยบายของรัฐในอดีตที่ต้องการให้คนออกจากป่า 

 

คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชาชีวะ  ได้มีมติเมื่อ 3 สิงหาคม 2553  โดยเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’  โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ เช่น  1. ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าที่มีหลักฐานประจักษ์ว่าชุมชนอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว  2.ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่พิพาทเรื่องที่ทำกิน ฯลฯ  เพื่อปกป้องและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเปราะบางให้สามารถดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเองต่อไปได้

 

อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้ง  มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553  จึงไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง  จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว  แต่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงยังได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ  เช่น  ปัญหาเรื่องการประกาศเขตพื้นที่ป่าทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยง  ทำให้ชาวกะเหรี่ยงถูกขับไล่หรือถูกจับกุมดำเนินคดี  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  

 

 ‘เจ้าวัตรและแม่ย่า’  ผู้นำทางจิตวิญาณชาวกะเหรี่ยงทำพิธีสวดมนต์บริเวณหมุดคุ้มครองวัฒนธรรม

 

ดังนั้นพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและหน่วยงานภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้มติ ครม. ดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติ  โดยการสนับสนุนการจัดตั้ง เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยง’ ขึ้นมาแล้วจำนวน 12 พื้นที่ในภาคเหนือ  และผลักดันให้มติ ครม.ยกระดับเป็นกฎหมายที่มีผลในทางปฏิบัติต่อไป   เพื่อให้สามารถคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

 

พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษแห่งที่ 13 ‘กะเหรี่ยงพุเม้ยง์’ จ.อุทัยธานี 

ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์  ต.ทองหลาง  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี  ถือเป็นพื้นที่หรือชุมชนชาวกะเหรี่ยงแห่งที่ 13 ของประเทศไทยที่ได้รับการสถาปนาหรือจัดตั้ง ‘เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมพิเศษชาวกะเหรี่ยง’ ขึ้นมาในวันนี้ (8 ธันวาคม)  มีประมาณ 200 ครัวเรือน  ประชากรประมาณ 700 คน  มีอาชีพทำการเกษตร  ปลูกข้าวไร่  มันสำปะหลัง  ข้าวโพด  สับปะรด  ฯลฯ

             

ลุงอังคาร  ครองแห้ง  ผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยท์  บอกว่า  หมู่บ้านพุเม้ยท์ก่อตั้งมานานประมาณ 148 ปี  โดยมีหลักฐานว่ามีผู้ใหญ่บ้านคนแรกในปี 2415  มีต้นมะพร้าวอายุกว่า 100 ปีที่ชาวบ้านปลูก  ปัจจุบันต้นมะพร้าวมีความสูงประมาณ 30   เมตร  และมีต้นไม้ใหญ่คือ ‘ต้นผึ้ง’ ที่ขึ้นตามธรรมชาติ  มีความกว้างใหญ่ประมาณ 30 คนโอบ  สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 300 ปี  โดยชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษา  ถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ

 

ต้นผึ้งขนาด 30 คนโอบ  อายุกว่า 300 ปี

             

“เราอยู่กันมานานเกือบ 150 ปี  ก่อนจะมีกฎหมายป่าไม้  และมีเขตอุทยาน  แต่เมื่อมีการปลูกสวนป่าในปี 2535 และประกาศเขตอุทยานห้วยคตในปี 2557 ชาวบ้านจึงเริ่มได้รับผลกระทบ  เพราะเข้าไปปลูกข้าวไร่แบบหมุนเวียนไม่ได้  หากเข้าไปก็จะถูกจับ  เมื่อไม่มีพื้นที่ปลูกข้าว  ชาวกะเหรี่ยงก็ไม่มีข้าวกิน  ต้องเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพด  ปลูกมันสำปะหลังขาย  ต้องใช้ปุ๋ย  ใช้สารเคมี  ทำให้มีรายได้ไม่พอกิน  ต้องเป็นหนี้สิน  เราจึงร่วมกันต่อสู้  เรียกร้องวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกลับคืนมา”  ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์บอก

             

ทั้งนี้การเจรจาแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนของชาวกะเหรี่ยงกับเขตอุทยานห้วยคตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  จังหวัดอุทัยธานี  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ  อุทยานห้วยคต  โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหา  และทางอุทยานฯ ได้อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปร่วมดูแลรักษาป่า  ใช้ประโยชน์จากป่าโดยไม่ทำลายต้นไม้  แหล่งน้ำ เช่น  ปลูกข้าวไร่  ปลูกพืชผัก  เก็บเห็ด  หน่อไม้  ฯลฯ ในพื้นที่ประมาณ 13,000 ไร่ที่ประกาศเป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรม

             

เกรียงไกร  ชีช่วง  เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม  เขตงานตะนาวศรี  กล่าวว่า  การประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรมเป็นการยืนยันว่าชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มานานแล้ว   มีวัฒนธรรม  ประเพณีเป็นของตัวเอง  เช่น  การปลูกข้าวไร่แบบหมุนเวียน  สลับกันไป  เพื่อให้ผืนดินได้พักฟื้น และกลับมามีความอุดมสมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี  ไม่ใช่เป็นการทำไร่เลื่อนลอย  หรือทำลายป่าไม้ 

             

“การประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษของชาวกะเหรี่ยง  ไม่ใช่จะทำให้เรามีสิทธิเหนือกว่าคนอื่น  แต่เป็นการรักษาประเพณี  วิถีชีวิตของเราเอาไว้  และเป็นการทำตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2563  ซึ่งมติ ครม.นี้เป็นแนวนโยบายที่รัฐจะได้ประโยชน์อย่างชัดเจน  ทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชน  การสร้างความเป็นธรรม  ลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างสังคมพหุวัฒนธรรม  รวมทั้งมิติสิทธิชุมชน  นี่คือการทำตามนโยบายและแนวทางของรัฐบาล  คือจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง”  ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงกล่าว

 

พิธีสักการะต้นผึ้ง

             

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือคุ้มครองวิถีชีวิตฯ ชาวกะเหรี่ยง

การจัดงานที่บ้านพุเม้ยง์ในวันที่ 8 ธันวาคม  มีพิธีลงนาม ‘บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ  ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษบ้านพุเม้ยง์ ต.ทองหลาง อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี’  โดยได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ตามมติ  ครม. 3 สิงหาคม 2553  เรื่อง ‘แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง’ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563  

 

ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษบ้านพุเม้ยง์เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม  ภาคีเครือข่าย  ภาครัฐ  ภาควิชาการ  ภาคประชาสังคม  และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษบ้านพุเม้ยง์  โดยมีข้อตกลงร่วมมือกันดังนี้

1.ส่งเสริมสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา  อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน  ตามหลักจารีตประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชน  โดยยึดหลักปฏิบัติตามแนวฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 

2.ส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เร่งรัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่และส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาวัฒนธรรม

3.สนับสนุนการสืบทอดวิถีวัฒนธรรมของชุมชน  รวมทั้งสร้างกลไกขับเคลื่อนการทำงานในเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ  ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม  เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน  ในวิถีวัฒนธรรมที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน  และพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน 

 

สำหรับรายชื่อหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนาม  ประกอบด้วย  1.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์  2.สำนักจัดการทรัพยกรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์  3.อำเภอห้วยคต  4.องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง  5.ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคตะวันตก  6.ที่ปรึกษาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  7.มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ  8.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 9.กำนันตำบลทองหลาง และ 10. ผู้แทนชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้งย์

 

พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ

 

เตรียมประกาศเขตวัฒนธธรมพิเศษกลุ่มชาติพันธ์อีก 34 พื้นที่

 นายอภินันท์  ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  กระทรวงวัฒนธรรม  กล่าวว่า  การประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ  ขณะนี้ประกาศไปแล้วในชุมชนกะเหรี่ยง 13 แห่ง (รวมทั้งบ้านพุเม้ยง์)  เช่น บ้านห้วยลาดหินใน  ต.ป่าโป่ง  อ.เวียงป่าเป้า  จ.เชียงราย,  บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ต.แม่วิน  อ.แม่วาง  จ.เชียงใหม่, ชุมชนบ้านกลาง อ.แม่เมาะ  จ.ลำปาง, บ้านดอยช้างป่าแป๋  ต.ป่าพลู  อ.บ้านโฮ่ง  จ.ลำพูน  ฯลฯ 

 

ส่วนในปี 2564 นี้  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทรฯ และภาคีเครือข่ายจะร่วมกันสนับสนุนให้พื้นที่หรือชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีความพร้อมประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษอีก  รวม 34 พื้นที่  คือ  ชุมชนชาวเลภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน 14 พื้นที่  และชุมชนชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือและตะวันตกอีก 20 พื้นที่

 

ทั้งนี้การประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษเป็นแนวคิดการจัดการพื้นที่เพื่อคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถธำรงวิถีชีวิต  บนพื้นฐานองค์ความรู้  ภูมิปัญญาตามประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผสานความรู้ใหม่  สอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่นที่มีนัยของความพอเพียง  มีคุณธรรม  จริยธรรม  ความยั่งยืนในกระบวนการดำรงวิถีชีวิตตามมติ ครม. 2 มิถุนายน (การคุ้มครองชาวเล)  และมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 (ชาวกะเหรี่ยง)  โดยกำหนดแนวเขตเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์  ครอบคลุม ‘พื้นที่ทำกิน  พื้นที่อยู่อาศัย  และพื้นที่จิตวิญาณ’ ของกลุ่มชาติพันธุ์

 

ส่วนปัจจัยการขับเคลื่อนเขตวัฒนธรรมพิเศษ นายอภินันท์กล่าวว่า  มีปัจจัยดังนี้  1.ชุมชนต้องเข้มแข็ง  เห็นคุณค่าภูมิปัญญาวัฒนธรรมของตนเอง  2.สร้างแนวร่วมการทำงานทั้งภายในและภายนอก  เน้นสร้างความเข้าใจ  ไม่สร้างความขัดแย้ง  3.สร้างพื้นที่รูปธรรมให้เห็นว่าชุมชนสามารถจัดการตนเองได้บนฐานทุนทางวัฒนธรรม  และ 4.บูรณาการทุนความรู้ชุมชนกับความรู้จากภายนอก
 

 ‘เจ้าวัตร’ ผู้นำจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงพุเม้ยง์ถือศีล 5 แบบชาวพุทธ

 

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการสนับสนุนการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษแล้ว  รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์  โดยรัฐบาลได้จัดความสำคัญให้เป็นกฎหมายเร่งด่วน 16 ฉบับที่ต้องจัดทำให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน  (กำหนดไว้ในเอกสารภาคผนวกคำแถลงนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560)  และมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม  โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติ ‘ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ...’ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว

 

“ตามแผนงานคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2564  ร่าง พ.ร.บ.ฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จ  และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ  หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา  เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป  และคาดว่าภายในปี 2565  พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จะประกาศใช้ได้”  นายอภินันท์กล่าว

 

พอช.พร้อมสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

นายวิชัย  นะสุวรรณโน  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า พอช. จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ  ตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2564 ที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี  จำนวน 200 ครอบครัว  เช่น  สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้ที่มีรายได้น้อย  สภาพบ้านเรือนผุพังทรุดโทรม  โดยการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม  เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและปลอดภัย 

 

บ้านเรือนชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้หรือไม้ไผ่ทำให้ผุพังเร็ว

 

“นอกจากนี้ พอช.จะส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง   เช่น  ส่งเสริมเรื่องอาชีพ  รายได้   และด้านสังคม  เพื่อให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  รวมทั้งการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในหมู่บ้าน  และต่อไปจะขยายการทำงานจากบ้านพุเม้ยง์ให้ครอบคลุมทั้งตำบลและทั้งอำเภอห้วยคต  โดย พอช.จะร่วมกับอำเภอห้วยคตและเจ้าหน้าที่ป่าไม้  รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่  เพื่อสำรวจข้อมูลปัญหา  และนำมาวางแผนการพัฒนาชุมชนร่วมกันต่อไป”  นายวิชัยกล่าวในตอนท้าย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"