โฆษกรัฐบาลไม่กังวลม็อบคนอยากเลือกตั้งขู่บุกทำเนียบฯ เตือนอย่าทำผิดกฎหมาย เลขาฯ สมช.ชี้เป็นแผนขยายการชุมนุมมากกว่าเดิม "สมเจตน์" ข้องใจม็อบพ่วงประเด็นการเมืองสร้างปัญหาวุ่นวายทำให้เลื่อนเลือกตั้งได้ เตือนสมาชิกเพื่อไทยพบ "แม้ว" รับนโยบายเข้าข่ายครอบงำอาจโดนยุบพรรค กกต.รับอาจโดนร้องเรียน ขณะที่ "ทักษิณ" สวนกลับทหารดูดไปมากๆ ระวังได้แต่คนสีเทาๆ โวเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเสียงท่วมแบบแลนด์สไลด์
เมื่อวันอาทิตย์ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเตรียมบุกทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 22 พ.ค. เพื่อเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลาออก ให้กองทัพยุติการสนับสนุน คสช. และจัดการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.นี้ ว่าส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ เพราะรัฐบาลไม่ได้วิตกกังวลอะไรในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่รัฐบาลอยากฝากเตือนให้การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย อย่าทำอะไรที่ผิดกฎหมาย
"ทุกวันนี้ที่รัฐบาลทำอยู่ ไม่ใช่เพราะเดินหน้าเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งหรืออย่างไร แต่การที่จะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งได้นั้น มันต้องมีกรอบระยะเวลาของตัวกฎหมายที่ได้เขียนเอาไว้ เมื่อคำนวณตามกรอบระยะเวลาแล้ว การเลือกตั้งก็จะเกิดไม่เกินเดือน ก.พ.ปี 62 แน่นอน รัฐบาลขอยืนยันชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการยืดระยะเวลาในการเลือกตั้ง แต่มันต้องไปตามโรดแมปที่ได้วางไว้ "
ส่วนรัฐบาลจะมีการเรียกแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเข้ามาพูดคุยหรือไม่นั้น พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้มองในส่วนนี้ เพราะทุกวันนี้รัฐบาลมีงานที่จะต้องทำอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปฏิรูป เรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้รัฐบาลต้องเดินหน้าต่อไป อะไรที่เป็นเรื่องยิบย่อยก็อย่าไปทำให้เป็นเรื่องใหญ่ บางเรื่องเป็นแค่ลมพัดใบไม้ไหว อย่าตระหนกไปเลย
"ถ้าวันนี้เรามีการเลือกตั้ง แต่ทุกคนยังไม่เคารพกฎหมาย ก็จะป่วยการเปล่าๆ ที่จะบอกใครว่าเรามีประชาธิปไตย โดยที่ทุกคนไม่เคารพในตัวของกฎหมาย" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
ด้าน พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า กิจกรรมทั้งหมดอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่มีการเคลื่อนขบวนไปที่ไหน ถือว่าการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่และแกนนำเป็นไปด้วยดี ภาพรวมทั้งหมดก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการกระทบกระทั่งกัน การอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ส่วนการปราศรัยบนเวทีจะมีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ก็ติดตามดูอยู่เป็นรายคน ส่วนที่แกนนำประกาศจัดชุมนุมใหญ่วันที่ 22 พ.ค.ที่ทำเนียบฯ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 4 ปี คสช. ก็ต้องติดตามสถานการณ์และองค์ประกอบต่างๆเพื่อนำมาประเมินมาตรการที่จะใช้รองรับต่อไป
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ถือเป็นแผนการชุมนุมเขาอยู่แล้วที่ต้องดำเนินการตามขั้นที่วางไว้ ขยายพื้นที่การชุมนุมมากกว่าเดิม แต่ฝ่ายความมั่นคงมีแผนในการเฝ้าระวังดูแลอยู่แล้ว แต่ต้องดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ เขาต้องมาขออนุญาตการชุมนุมตามกฎหมายก่อน ซึ่งในกฎหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ไว้อยู่แล้ว ทั้งนี้เราต้องดูแลมากขึ้นอยู่แล้ว และใช้กฎหมายที่มีอยู่ดูแล
ม็อบจ้องก่อความวุ่นวาย
ส่วนที่ดูเหมือนนายกฯ แสดงความเป็นห่วงการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ในช่วงนี้ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจให้มีการเลือกตั้งอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้มีสถานการณ์รุนแรงมากระทบโรดแมปเลือกตั้ง ถ้าสถานการณ์สงบ การเลือกตั้งก็เป็นไปตามโรดแมป การแสดงออกไม่ว่าอะไรก็ตาม ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย คงไม่สร้างสถานการณ์บานปลายรุนแรงมากขึ้น
เมื่อถามว่า นอกเหนือจากการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยังต้องจับตามองเรื่องอื่นด้วยหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงจะได้ประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง ส่วนการลงพื้นที่ต่างจังหวัดของนายกฯ ต้องเพิ่มอะไรเป็นพิเศษหรือไม่นั้น คงต้องประเมินไปเรื่อยๆ เพราะการเลือกตั้งยังอีกระยะหนึ่ง
"มีไม่กี่กลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ เราต้องมีประเมินความพร้อมและประชุมเตรียมการรับมือในวันที่ 22 พ.ค." พล.อ.วัลลภกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีมากขึ้น
ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า การชุมนุมดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งได้ เพราะสิ่งที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องถือเป็นการสร้างปัญหาทางการเมือง และอาจเกิดความวุ่นวายจนทำให้กลายเป็นปัจจัยที่ต้องเลื่อนการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ช่วง ก.พ.2562 เลื่อนออกไปได้ กรณีที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องโดยพ่วงประเด็นทางการเมืองที่ให้ คสช.ลาออก ถือเป็นนัยที่แสดงให้เห็นว่าเขาพยายามถือเหตุหนึ่งเพื่อนำไปอ้างกับอีกเหตุที่เกินเลยออกไป และ คสช.ไม่มีทางทำตามคำร้องขอได้แน่ ซึ่งกลุ่มที่ชุมนุมเขารู้ดี แต่เขายังมาเรียกร้อง จึงไม่แน่ใจว่ากลุ่มที่ชุมนุมเรียกร้องให้เลือกตั้งโดยเร็ว แท้ที่จริงเขาอยากจะให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ใจเย็นๆ ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ขอให้ใช้การเจรจา อย่าใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม เพราะเมื่อช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีการฝึกกองกำลังทหารตำรวจปราบจลาจลที่พื้นที่ใกล้ๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการซ้อมเพื่อข่มขู่คุกคามกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือไม่
"คิดว่าต่อจากนี้คนจะเริ่มออกมาชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์พูดจาโลเลไม่แน่นอน หาว่าคนอื่นเป็นเด็กเลี้ยงแกะ แต่ พล.อ.ประยุทธ์เลี้ยงอะไร ประชาชนไม่เชื่อแล้วว่าจะเลือกตั้งใน ก.พ.ปี 62 เพราะกฎหมายที่ร่างเองยังต้องส่งให้ศาลตีความ เหมือนทีมฟุตบอลที่คอยเขี่ยลูกให้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เลื่อนเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้คนจนลงเรื่อยๆ อยู่กันไม่ไหว อยากเลือกตั้งกันแล้ว" นายวรชัยกล่าว
ส่วนความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เดินทางมาประเทศสิงคโปร์ และมีนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยเข้าพบนั้น พล.อ. สมเจตน์กล่าวว่า เชื่อว่าสังคมจะรับทราบได้ว่านายทักษิณต้องการหรือมีเป้าประสงค์อย่างไร ส่วนการเดินทางไปพบอดีตนายกฯ ของนักการเมืองและสมาชิกของพรรคเพื่อไทยนั้น หากไปในฐานะคนคุ้นเคยและรู้จักกันมานาน ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่เกิดความเสียหาย ยกเว้นบุคคลที่เข้าไปพบไปรับนโยบาย หรือทิศทางที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนทางการเมือง รวมถึงการวางแผนต่อการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงเพราะการกระทำเช่นนั้นถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ทำผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองที่มีผลบังคับใช้แล้ว และอาจได้รับโทษหนักถึงขั้นยุบพรรค
เตือน พท.โดนยุบพรรค
"หากมีหลักฐานว่านายทักษิณเข้าไปครอบงำกิจการของพรรค หรือชี้นำบุคคลของพรรค ตามกฎหมายพรรคการเมืองเขียนไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกพรรค บุคคลที่อยู่นอกพรรค ไม่สามารถเข้าชี้นำหรือครอบงำกิจกรรมใดๆ ของสมาชิกพรรคได้ พรรคนั้นหรือผู้นั้นถือเป็นความเสี่ยงที่จะได้รับโทษทางกฎหมาย หากมีผู้นำหลักฐานมาฟ้องร้องให้ตรวจสอบตามกฎหมาย และหากตรวจสอบพบว่าเป็นข้อเท็จจริงอาจรับโทษถึงขั้นยุบพรรค" พล.อ.สมเจตน์กล่าว
เตือน
พล.ท.สรรเสริญกล่าวถึงกรณีนายทักษิณระบุว่าพลังดูดของรัฐบาลนั้นจะได้แค่คนสีเทาๆ ที่มองแค่ผลประโยชน์ ไม่ใช่อุดมการณ์ ว่ากรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนไปแล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ตระหนักอยู่นั้นคือการมองหาคนที่มีความรู้ความสามารถและมีใจที่จะเข้ามาช่วยรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าไปด้วยกัน โดยที่นายกฯ ได้เน้นย้ำเสมอว่าการเข้ามาร่วมงานรัฐบาลนั้น ไม่ได้มีผลตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อะไรทั้งสิ้น
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ไปพบนายทักษิณที่ประเทศสิงคโปร์ว่า การที่เขาจะไปพบใครที่เขารักเป็นสิทธิของเขา การที่คนเขาจะรักกันจะไปห้ามไม่ได้ ซึ่งตนสนับสนุนให้รักกัน แต่อย่าทำให้บ้านเมืองวุ่นวายก็เป็นอันใช้ได้ ตนยังมองไม่เห็นว่าจะผิดกฎหมายพรรคการเมืองอย่างไร เพราะต้องมีข้อเท็จจริงที่มากกว่านี้ มีการกระทำหรืออยู่ใต้อาณัติของบุคคลใดหรือไม่ และไม่มีอะไรจะป่วนรัฐบาล เพราะเป็นการไปพบกับคนที่เขารัก รัฐบาลก็อย่าไปกังวลจนเกินเหตุ คนเขาจะรักกัน และไม่น่าจะเกี่ยวกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เคลื่อนไหวในเวลาเดียวกัน
“ที่ผมกังวลคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มที่ไปพบนายทักษิณ เพราะการชุมนุมที่มีประชาชนเข้ามาสนับสนุนในระดับหนึ่ง อาจจะมีสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องพยายามอย่าให้เกิดความรุนแรง” นายนิพิฏฐ์กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวว่า การพบปะกันตามปกติไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็มีความล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาหรือร้องเรียนได้ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะเป็นการครอบงำหรือชี้นำได้ เนื่องจากตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกกระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
"ดังนั้นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่อยากเห็นพรรคการเมืองกระทำผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงอยากให้ศึกษาข้อกฎหมายให้มากๆ เพราะขณะนี้กฎหมายพรรคฉบับใหม่มีเนื้อหามาก นักการเมืองและพรรคการเมืองจำเป็นที่จะศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ ให้ดีและรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง" นายทะเบียนพรรคการเมืองกล่าว
แม้วฟุ้งชนะแลนด์สไลด์
มีรายงานว่า กรณีที่อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยรวมทั้งอดีตรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบนายทักษิณและ น.ส.ลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ประเทศสิงคโปร์นั้น นายทักษิณได้พูดถึงเรื่องพลังดูดตอนหนึ่งว่า ไม่รู้สึกกังวลใจในเรื่องนี้เลย เพราะเป็นเรื่องธรรมดา ที่ผ่านมาอดีต ส.ส. และคนในพรรคเพื่อไทยก็เคยเผชิญกับอะไรมามาก และรู้แล้วว่าอะไรเป็นยังไง ดังนั้นจึงไม่รู้สึกว่าจะต้องกังวลเรื่องพลังดูด แต่เป็นฝ่ายทหารเองมากกว่าที่ต้องระวัง เพราะดูดไปมากๆ ก็ระวังจะได้คนสีเทาๆ เพราะนิสัยของนักการเมือง ได้ประโยชน์ก็ไป ดังนั้นคนที่ต้องระวังจึงไม่ใช่พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์
อย่างไรก็ตาม นายทักษิณยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย จะกลับมาได้คะแนนอย่างท่วมท้นแน่นอน และแลนด์สไลด์ที่เคยเป็นของพรรคก็จะยังคงเป็นของพรรค นอกจากนี้ นายทักษิณยังได้มีการพูดถึงทิศทางการเมืองไทย ทิศทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และเรื่องบ้านเมือง โดยย้ำว่าเป็นการวิเคราะห์ในฐานะคนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาเท่านั้น
ขณะที่นายวัน อยู่บำรุง อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย บุตรชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ภาพลงเฟซบุ๊ก 2 ภาพ ซึ่งเป็นภาพที่นายวันและ ร.ต.อ.เฉลิมถ่ายภาพคู่กับนายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมระบุข้อความ ผมชอบภาพนี้ ผมสะดวกแบบนี้
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยแห่ไปพบ นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ไปด้วยความรักและผูกพัน ไม่ใช่พบแล้วจะครอบงำกันได้ แค่ไปพบปะเยี่ยมเยียน อยากบอก พล.อ.ประยุทธ์ว่า การห้ามคนรักกันไปพบเจอกันนั้นเป็นบาป และเป็นการละเมิดสิทธิ พล.อ.ประยุทธ์พยายามเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคนละเรื่อง หาก พล.อ.ประยุทธ์รักใครชอบใคร มีคนบอกว่าห้ามไปพบกันทำได้หรือไม่ ดังนั้นอย่าจำกัดสิทธิเสรีภาพ ใช้อำนาจเกินขอบเขต
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตามปกติทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ก็จะมี ส.ส.ตัดสินใจย้ายพรรคด้วยหลากหลายเหตุผลอยู่แล้ว แต่จำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคที่ย้ายออกจะไม่ค่อยมากเท่าใด ส.ส.เก่าส่วนมากยังอยู่พรรคเดิม การย้ายพรรคน่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือย้ายสังกัดพรรคอื่น เพราะอุดมการณ์สอดคล้องกัน หรือย้ายออกไปจัดตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ตามอุดมการณ์ของตน และย้ายเพราะพลังดูด โดยได้รับผลประโยชน์ต่างตอบแทนรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจเป็นตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง หรือการช่วยเหลือทางธุรกิจ เรื่องคดีความต่างๆ รวมถึงการอุดหนุนปัจจัยให้โดยตรง
รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ในส่วนของพรรคปชป. ขณะนี้มีอดีต ส.ส.แจ้งความจำนงลาออกจากพรรคเพียง 3 ราย แต่อดีต ส.ส.ส่วนมากเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ยังสมัครใจทำงานรับใช้ประชาชนร่วมกับพรรค ปชป.ต่อไป ทั้งนี้ การลาออกของอดีต ส.ส.จะไม่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนการทำงานของพรรคปชป.ยุคใหม่ เพราะขณะเดียวกันก็มีหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ไฟแรงขอแจ้งเกิดทางการเมืองสนใจที่จะลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคตามเขตพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการ, ผู้เชี่ยวชาญ, คนทำงานภาคประชาสังคมจากหลากหลายภาคส่วนที่มีชื่อเสียง สนใจทำงานการเมืองรูปแบบต่างๆ กับพรรคอีกด้วย
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ ระบุว่า คสช.คุมประเทศ 4 ปี คือ 1 เทอมของรัฐบาลเลือกตั้ง มีอำนาจล้นฟ้า มี ม.44 อยู่ในมือ แค่ระบอบทักษิณยังทำอะไรไม่ได้ นับประสาอะไรกับเรื่องปฏิรูปประเทศ คสช.ไม่มีข้ออ้างใดๆ นอกจากอยากเสพอำนาจต่อไป ระยะเวลา 4 ปี คือ 1เทอมของการบริหารประเทศ ช่วยยกผลงานของ คสช.ให้เห็นเป็นรูปธรรมสัก 1 เรื่อง แม้แต่การขายลอตเตอรี่เกินราคา สุดท้ายก็ล้มเหลว เศร้าครับประเทศไทย
ปฏิรูป 5 ด้านได้กองหนุนกลับ
ขระที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นด้วยที่รัฐบาลประกาศปฏิรูปประเทศในเรื่องเร่งด่วน 5 เรื่อง โดยทำให้เป็นรูปธรรมภายใน 8 เดือน ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง เพราะการกำหนดประเด็นและกรอบเวลาที่ชัดเจนแบบนี้ จะทำให้ประชาชนเห็นโรดแมป เห็นแผนการปฏิรูป และสามารถติดตามตรวจสอบ มีส่วนร่วมและประเมินผลการทำงานได้ว่ารัฐบาลมีความจริงจังและสำเร็จมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ถ้ารัฐบาลทำได้จริง กองหนุนจะกลับมา เพราะสังคมคาดหวังสูงในประเด็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
"กรอบปฏิรูปเร่งด่วนทั้ง 5 กรอบที่รัฐบาลประกาศไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบราชการ การแก้ปัญหาปากท้องประชาชน การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การปฏิรูปกระบวนการประชาธิปไตย และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้ง 5 เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ซึ่งเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง จะสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับความกล้าหาญของรัฐบาลว่าจะปฏิรูปไปถึงระดับโครงสร้างหรือไม่ ถ้าทำแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าระดับผิวเผินอย่างนี้ไม่เรียกว่าปฏิรูป เพราะเป็นแค่งานรูทีนในหน้าที่ของรัฐบาลทั่วไปเท่านั้น การปฏิรูปรอบนี้หากจำเป็นต้องใช้ ม.44 เพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปที่ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ การใช้ ม.44 ในลักษณะแบบนี้ เสียงคัดค้านจะน้อย ฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะใช้เพื่อประโยชน์อะไรกันแน่" นายสุริยะใสกล่าว
ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ พรรคประชาธรรมไทย มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1/2560 เพื่อพิจารณาข้อบังคับ และเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค โดยสมาชิกเสนอชื่อ 1.นายพิเชษฐ สถิรชวาล 2.พ.ต.ท.ชำนาญ โตวงศ์ ให้สมาชิกพรรคกาบัตรลงคะแนนโหวตเลือก ปรากฏว่านายพิเชษฐได้รับเลือกด้วยคะแนน 323 คะแนน พ.ต.ท.ชำนาญได้ 20 คะแนน ต่อมามีการเลือกรองหัวหน้าพรรค 4 คน ประกอบด้วย นายชัยวุฑ ตรึกตรอง, พ.ต.ท.ชำนาญ โตวงศ์, นายสมเพชร วัฒนะทรัพย์ และนางรัตนาวรรณ สุขศาลา ขณะที่นายปณชัย แดงอร่าม ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค และมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคอีก 7 คน นอกจากนี้ยังมีคนในแวดวงศิลปิน นักแสดงมาเป็นสมาชิกพรรค อาทิ นายรังสี เสรีชัย, นายรุ่งเพชร แหลมสิงห์ และนายไกรลาศ เกรียงไกร เป็นต้น
นายพิเชษฐกล่าวต่อสมาชิกพรรคตอนหนึ่งว่า เมื่อผู้นำรัฐบาลประกาศจะให้มีการเลือกตั้ง ก.พ.2562 หวังว่าคงไม่เลื่อน หลายคนบอกพรรคประชาธรรมไทยเป็นพรรคคนแก่ ไม่ได้แก่แบบไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ ตนผ่านความล้มเหลว ล้มลุกคลุกคลานมา หากได้ไปอยู่ในส่วนหนึ่งของการบริหารประเทศ จะรื้อฟื้นโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด เชื่อม 2 มหาสมุทร อันดามัน อ่าวไทย เข้าด้วยกัน รวมทั้งจะขอฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทยกับซาอุดีอาระเบียด้วย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการไปแสวงบุญประกอบพิธีฮัจญ์ พรรคประชาธรรมไทยไม่มีเจ้าของ ทุกคนเป็นเจ้าของ มีที่ยืนให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 1,158 คน เรื่องประชาชนคิดอย่างไร กับการดูด ส.ส.ระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2561 พบว่า อันดับ 1 เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย ที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้น 50.94%, อันดับ 2 แต่ละพรรคมีการแข่งขันกัน เสนอผลประโยชน์ให้กับ ส.ส. 24.82%, อันดับ 3 ไม่น่าเกิดขึ้น ไม่สร้างสรรค์ ทำให้การเมืองไม่พัฒนา 21.79%
สำหรับ "ข้อดี" ของการดูด ส.ส.ตามระบอบประชาธิปไตย คือ อันดับ 1 พรรคการเมืองได้จำนวน ส.ส.เพิ่มมากขึ้น ได้ฐานเสียงตามที่ต้องการ 41.51%, อันดับ 2 เกิดการแข่งขัน มีความหลากหลาย ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น 37.83%, อันดับ 3 เป็นการหมุนเวียน ส.ส. ทำให้พรรคมีคนเก่งมากขึ้น 27.61% ส่วน“ข้อเสีย” คือ อันดับ 1 เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ทะเลาะเบาะแว้ง โจมตีกัน 54.36%, อันดับ 2 การเมืองไม่เข้มแข็ง ไม่มีจุดยืน ขาดอุดมการณ์ 36.92%, อันดับ 3 ขาดความน่าเชื่อถือ ภาพลักษณ์ไม่ดี 29.06%
เมื่อถามว่า การดูด ส.ส.เป็นเรื่องที่ขัดหลักประชาธิปไตยหรือไม่ อันดับ 1 ไม่ขัด 44.21% เพราะ เป็นเรื่องที่มีมานาน เคยเกิดขึ้น ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งมักจะมีการย้ายพรรค นักการเมืองมีสิทธิที่จะเลือก เป็นความสมัครใจ ฯลฯ, อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 35.15% เพราะ ต้องดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง มีทั้งข้อดีข้อเสีย ต้องพิจารณาหลายด้าน ฯลฯ, อันดับ 3 ขัดหลักประชาธิปไตย 20.64% เพราะไม่ควรทำ เป็นการใช้อำนาจในทางที่ไม่เหมาะสม ควรแข่งขันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียม
ส่วนผลจากการดูด ส.ส.ครั้งนี้ สะท้อนการเมืองไทยลักษณะใด อันดับ 1 การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ 45.82%, อันดับ 2 เห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง ต้องการสืบทอดอำนาจ 32.58%, อันดับ 3 การเมืองไม่พัฒนา เหมือนอดีตที่ผ่านมาประชาธิปไตยไม่ก้าวหน้า 20.21%, อันดับ 4 พฤติกรรมนักการเมืองเหมือนเดิม ไม่มีอุดมการณ์ 15.85%, อันดับ 5 ถึงเวลาต้องปฏิรูปการเมืองให้มีคุณภาพ เข้มแข็ง 12.72%
และเมื่อถามว่า กรณี ส.ส.ที่ย้ายพรรคหรือถูกดูด มีผลต่อการตัดสินใจเลือก ส.ส.ของประชาชนหรือไม่
อันดับ 1 ไม่มีผล 58.81% เพราะดูที่ตัวบุคคล เลือกจากพรรคที่ชอบ สามารถพิจารณาตัดสินใจเองได้ ดูจากประวัติ ผลงานที่ผ่านมา ฯลฯ, อันดับ 2 มีผล 41.19%เพราะต้องพิจารณาตัดสินใจ เกิดความลังเล ไม่แน่ใจ รู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัว ส.ส.ที่ย้าย ทำให้เบื่อหน่าย ฯลฯ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |