แด่ 'อัยการสูงสุด' ด้วยรัก


เพิ่มเพื่อน    

     ท่าน "วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์" ผู้เป็น "อัยการสูงสุด" ครับ

                องค์กรท่าน...

            "สำนักงานอัยการสูงสุด" ผู้ครองอำนาจตามกฎหมายในคำว่า "คำสั่งเด็ดขาด" ในการไม่ฟ้องคดีเป็นประกาศิต

            ก็อยากกราบเรียนท่านว่า ระยะนี้ การทำหน้าที่ทนายแผ่นดินของอัยการ หลายเรื่อง นอกจากไม่เข้าตาแล้ว

            บางเรื่อง-บางคดี.........

            ยังไม่เป็นที่เข้าใจของประชาชนด้วย เช่น เรื่อง "นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ" น้องชายนายธนาธร เจ้าของสโลแกน "สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส"

            ที่ให้เงินเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ๒๐ ล้านบาท ซึ่งคดี "ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง" มีคำพิพากษาลงโทษในส่วนของเจ้าหน้าที่ทรัพย์สินฯ ไปแล้ว

            แต่เกิดข้อสงสัยเป็นประเด็นวิพากษ์เชิงถกเถียงกันอื้ออึงขณะนี้ว่า ในส่วน "คนติดสินบน" และกรรมการบริษัทล่ะ

            อัยการจะว่าอย่างไร?

            ปล่อยคดีจบไปแค่นั้น หรือมีแนวปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายต่อไปอย่างไร ทั้งด้านพนักงานสอบสวนและด้านอัยการ?

            คดีก็แดงแทงใจชาวบ้านมานานวันจนแมลงวันรุมตอม  ถึงขั้นมีคนไปยื่นหนังสือถึงท่าน คือนายวัชระ เพชรทอง  เพื่อขอคำชี้แจงจากท่านก็มี ที่วิพากษ์ขรมตามสื่อโซเชียลก็มาก

            ผมก็คาดหวังว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุด คงจะมีคำชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจบ้าง

            จนเมื่อวาน (๗ ธ.ค.๖๓) เห็นมีข่าวสารออกมา นึกว่าเป็นข่าวสารสนองรู้ แต่กลายเป็นคำสั่ง "แต่งตั้งโฆษก-รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด" ซะนี่

            "เกาไม่ถูกที่คัน" เลยครับท่าน!

            เรื่องนี้ ไม่ใช่ลิเก ไม่จำเป็นต้องคั่นด้วยการออกแขก  ตั้งน่ะ ก็ตั้งไปเถอะ แต่การให้วิทยาทานทางกฎหมายแก่ชาวบ้านเรื่องสินบน

            ออกฉากได้เลยครับ!

            ยิ่งนาน ข้อสงสัยยิ่งบาน ควร "ตัดไฟแต่ต้นลม" ก่อนไฟลามไหม้ถึงองค์กรอัยการ ที่ผุกร่อนทางศรัทธาในเวลานี้

            อย่าว่าแต่ระดับชาวบ้านสงสัย ระดับอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ยังสงสัยในขั้นตอนปฏิบัติหลังศาลมีคำพิพากษา

            นี่ไงครับ......

            ท่าน "ชูชาติ ศรีแสง" อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์วันก่อน ดังนี้

            กรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อท 76/2562 คดีอาญา หมายเลขแดงที่ อท 228/2563

            ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1, ที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 143, 264, 265, 268 ฯ

            โดยให้จำคุก คนละ 3 ปี

            มีข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาว่า........

            นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริษัท  เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

            ได้สิทธิการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) โดยมีค่าตอบแทน 500 ล้านบาท

            ต่อมานายสกุลธรได้จ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองรวม 3  งวด เป็นเงิน 20 ล้านบาท เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยทั้งสองจะร่วมกันไปติดต่อประสานงาน

            และให้นำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน โดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมาย

            เพื่อจูงใจรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้กระทำในหน้าที่ ด้วยการจัดสรรที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ให้บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าระยะยาว

            โดยไม่ต้องผ่านการประมูลตามขั้นตอนตามปกติของการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ อันเป็นคุณแก่บริษัท  เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

            และทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ เสียประโยชน์ที่จะได้รับเงินจากการประมูลที่สูงที่สุด ในประการที่จะได้รับความเสียหายแก่สำนักงานทรัพย์สินฯ...ฯลฯ

            ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 บัญญัติว่า ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน ฯลฯ

            เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่

            ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

            การกระทำของนายสกุลธรที่เสนอจ่ายค่าตอบแทนให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 500 ล้านบาท โดยจ่ายให้แล้ว 20  ล้านบาท และให้นำเงินบางส่วนไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ

            เพื่อจูงใจให้กระทำในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ให้บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

            ได้สิทธิการเช่าระยะยาว.....

            โดยไม่ต้องผ่านการประมูลตามขั้นตอนตามปกติ ฯ

            จึงเป็นการให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินแก่รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ตามมาตรา 144

            แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้นำเงินที่นายสกุลธรจ่ายให้ไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ แต่นายสกุลธรก็ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว

            นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ย่อมเข้าข่ายมีความผิดฐานพยายามกระทำความผิดมาตรา 144 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ซึ่งมีโทษ 2 ใน 3 ของโทษตามมาตรา 144

            พนักงานสอบสวนในคดีนี้ ย่อมทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดี แต่มีเหตุผลอะไร

                จึงไม่สอบสวนดำเนินคดีแก่นายสกุลธรในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144, 80?

                นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เรียกหาความเสมอภาคนิ่งเฉยได้อย่างไร?

                พรรคก้าวไกล ต้องตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีโดยรีบด่วน?

                สังคมไทยจะปล่อยให้คนเสนอจ่ายสินบน 500 ล้านบาทลอยนวลหรือ?

            นี่คือข้อสงสัยของอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่อัยการน่าจะมีคำตอบ

            นอกจากนั้น "น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ" อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีมุมมองในฐานะนักกฎหมายน่าสนใจ ๒ ประเด็น

            ๑.ช่วงเกิดเหตุ นายธนาธร เป็น ๑ ในผู้ถือหุ้นบริษัท  ทราบหรือรู้เห็นเป็นใจมากน้อยเพียงใด ถึงการกระทำและเจตนาของนายสกุลธร กับการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้บริษัทฯ ชนะการประมูล

            นายธนาธรที่มักชอบการตรวจสอบทุจริต เรียกร้องความโปร่งใสอยู่เป็นประจำ ทราบเหตุแล้ว ทำไมไม่ใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๖๙ ที่บัญญัติว่า

            "ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้น ขึ้นว่าก็ได้"

            หรือว่านายธนาธรละเว้นการตรวจสอบทุจริตเพื่อความโปร่งใสเพราะเป็นการกระทำของเครือญาติของตนเองใช่หรือไม่?

            ๒.ช่วงเกิดเหตุ กรรมการบริษัทเรียลแอสเสทมีผู้ใดบ้าง หากนายสกุลธรกระทำในฐานะกรรมการบริษัท นายธนาธรซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นก็ต้องร่วมรับผิดด้วย ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๔๔ บัญญัติว่า

            "บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง"

            และมาตรา ๑๑๖๗ ที่บัญญัติว่า

            "ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยตัวแทน"

            เห็นมั้ยล่ะท่าน ว่าเรื่องมันยาว....

            เรื่องกฎหมายไม่ใช่เรื่องกำลังภายใน ที่จะใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ตัวกฎหมายมันโยงไปถึงนี่แล้วเห็นมั้ย

            "วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์" ที่ยื่นหนังสือถึงท่าน โพสต์ขมวดประเด็นว่า

            แม่และพี่ชายรู้เรื่องด้วยหรือไม่???

                "ขณะเกิดเหตุกระทำผิดตามคำพิพากษา คือ มี.ค.  2560 - 18 ก.ย. 2560

                บริษัทเรียลแอสเสทฯ แสดงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เมื่อ 3 ก.ค. 2560 ลำดับที่ 1 นางสมพร ลำดับที่ 2 นายธนาธร  และลำดับที่ 6 นายสกุลธร

                นางสมพรเคยบอกว่าบุตรชายไม่โกงแน่นอน

                แต่การติดสินบน ถือเป็นการโกงหรือไม่???"

                ครับ...ภารกิจอัยการมีว่า

            พนักงานอัยการมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน

            ต้องทำด้วยความรวดเร็ว เท่าเทียมกันและเป็นธรรม  กับทั้งต้องทำให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน

            ดังนั้น ท่านอัยการสูงสุดครับ......

                อย่าให้นางสมพรแถลงก่อน แล้วทีมโฆษกชุดใหม่ แถลงตามหลังเลยครับ.

               

              


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"