ยังคงตกเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ใช่ข่าวกระแสหลัก นั่นก็คือ ข่าวการให้เงินสินบนกับอดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับการได้สิทธิ์เช่าที่ดินระยะยาว บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ย่านชิดลม-เพลินจิต ที่กำลังจะหมดสัญญาในปี 2565 ซึ่งเป็นที่ดินทำเลทองเกรดพรีเมียมของประเทศไทย ที่มีมูลค่าทางธุรกิจหลายพันล้านบาท
หลังเรื่องดังกล่าว แม้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จะตัดสินลงโทษจำเลยในคดีดังกล่าวไปแล้ว แต่เมื่อสังคมพบว่า คดีดังกล่าวมีเครือญาตินักการเมืองดังแห่งยุคอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า-อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพบว่าน้องชาย "สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บ.เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ไม่ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ แต่จำเลยสองคนได้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด คือ ประสิทธิ์ อภัยพลชาญ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายโครงการพิเศษสำนักงานทรัพย์สินฯ และสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช นายหน้า ที่ถูกศาลตัดสินคดีว่ามีความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม
สังคมและผู้คนในแวดวงต่างๆ จึงตั้งคำถามว่า แล้วเหตุใดผู้ให้เงินตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ถึงไม่ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วม ปมนี้คือประเด็นที่สังคม โดยเฉพาะนักกฎหมายหลายคนกำลังตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม ที่ยังมีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงก็มีการขยับของบางฝ่าย ที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงเรื่องราว-ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ความกระจ่างแก่สังคม
แน่นอนว่า ด้วยความที่ "สกุลธร" คือน้องชายของธนาธร จึงทำให้ธนาธรเลยถูกบางกระแสโยงเขาเข้ามาด้วยกับเรื่องนี้ แม้บางฝ่ายเช่นกองเชียร์คณะก้าวหน้า อาจแย้งว่าเป็นเรื่องของสกุลธร ไม่ใช่ ธนาธร ใครทำอะไรก็ต้องไปตั้งคำถามกับคนนั้น ไม่ควรเหมารวม
โดยมีการหยิบยกบางเคสมาแย้ง เช่น กรณี "บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" ที่ก่อนหน้านี้ ตอนสมัยเป็นนายกฯ ควบหัวหน้า คสช.ในรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ก็อ่วมไม่น้อย ตอนที่เกิดกรณี “น้องชายพลเอกปรีชา จันทร์โอชา” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม-อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ที่เคยมีกรณีการเสนอข่าวว่า หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ของปฐมพล จันทร์โอชา ลูกชายคนโตของ พล.อ.ปรีชา ชนะการประมูลงานรับเหมาก่อสร้าง 7 โครงการ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพภาคที่ 3 มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 155 ล้านบาท โดยพบว่า หจก.ดังกล่าวมีการจดแจ้งตั้งกิจการอยู่ในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ (สนามบิน) ของกองทัพภาคที่ 3 จนทำให้หลังเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น พลเอกประยุทธ์ก็ถูกตั้งคำถามและต้องการอยากรู้ท่าทีของพลเอกประยุทธ์ในเรื่องนี้ไม่น้อย ขณะที่กองเชียร์บิ๊กตู่ก็แย้งว่า เป็นเรื่องของน้องชายพลเอกประยุทธ์ ไม่ควรเอามาโยงกัน ปล่อยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช.สอบไป
ขณะที่กรณี น้องธนาธร กับ ธนาธร รายละเอียดหลายอย่างมีความแตกต่างกันพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่มีการตั้งข้อสังเกตจากบางฝ่าย เช่น "วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์" ที่ตอนไปยื่นหนังสือถึง วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เพื่อขอให้อัยการสูงสุดชี้แจงเหตุผลที่อัยการไม่ฟ้องสกุลธรเป็นจำเลยฯ และให้ข้อมูลว่า ขณะเกิดเหตุการกระทำผิดตามคำพิพากษานี้ คือ มี.ค.2560 - 18 ก.ย.2560 บ.เรียลแอทเสทฯ ได้แสดงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2560 ลำดับที่ 1 นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (มารดาของนายธนาธรและนายสกุลธร) ลำดับที่ 2 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส่วนลำดับที่ 6 คือ สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่า การทำธุรกิจคงไม่มีใครเอาเรื่อง "สีเทาๆ" ในการทำธุรกิจเข้าไปคุยอย่างเป็นทางการในบอร์ดบริษัท ในลักษณะให้รับรู้ร่วมกัน หรือเอาเงินบริษัทที่เป็นนิติบุคคลไปทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย
เปรียบเทียบก็เหมือนกับพรรคการเมือง คงไม่มีกรรมการบริหารพรรคพรรคไหน จะไปคุยกันในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และทำบันทึกการประชุมว่า ให้มีการนำเงินของพรรคไปซื้อเสียงเลือกตั้งและให้ใช้เงินของพรรคในบัญชีไปซื้อเสียง
ดังนั้นกรณีเรื่องสินบนที่ดินดังกล่าว หากจะให้สอบสวน เพื่อโยงไปเอาความผิดถึงระดับนิติบุคคล จึงแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้น คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในบริษัทอาจไม่ได้รับรู้ก็ได้
แต่ประเด็นที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเวลานี้ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย มันคือการโยงเรื่องคดีดังกล่าวกับบทบาทก่อนหน้านี้ของธนาธร และคนในเครือข่ายพรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า รวมถึงแกนนำม็อบสามนิ้ว ที่ถูกมองว่ายึดโยงกับ ธนาธรและคณะก้าวหน้ามีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีบริบทปลีกย่อยเรื่องของ "สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น บทบาทสมัยธนาธรเป็นอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบ ปี 2564 ที่เคยเข้าไปตรวจสอบและพูดถึงเรื่องงบและทรัพย์สินที่โยงถึงสถาบัน ไม่นับรวมกับบทสัมภาษณ์และการพูดเรื่องของสถาบันหลายเรื่องของธนาธร อีกทั้งที่ผ่านมาธนาธรก็มักจะพูดถึงเรื่อง "ธรรมาภิบาลและความโปร่งใสทางการเมืองและการทำธุรกิจในหลายโอกาส ขณะที่ข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้ว หลายครั้งก็มีการพูดถึงผลประโยชน์-รายได้ต่างๆ ของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดกรณี "สินบนที่ดินสำนักทรัพย์สินฯ" ขึ้น ตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงทำให้บางฝ่ายต้องการรู้ท่าทีของธนาธรในเรื่องนี้ ซึ่งก็ยังไม่มีการสื่อสารใดๆ ออกมา เช่นเดียวกับเครือข่ายการเมือง-แกนนำม็อบ ฝ่ายธนาธร ที่พบว่าก็ยังไม่มีการขยับหรือแสดงท่าทีใดๆ ในเรื่องนี้
ขณะที่ฝ่ายรุกไล่ ซึ่งต้องการความกระจ่างในเรื่องนี้ ก็ยังเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้บางหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้อำนาจที่มีอยู่เข้ามาตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลการทำงานของอัยการได้หรือไม่ หลังกฎหมาย ป.ป.ช.เปิดช่องไว้ว่า กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการดําเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐ อันอาจนําไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดําเนินการ ตรวจสอบโดยเร็ว
และยังมีการขยับรุกจากบางฝ่ายที่เริ่มมีให้เห็น เช่น การเคลื่อนไหวของ “วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรค ปชป.” ที่ไปเคลื่อนไหวยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดสั่งให้อัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการการทุจริตแจงต่อสังคม กรณีอัยการไม่เอาผิดสกุลธร ที่ได้ไปยื่นเมื่อ 4 ธ.ค. และต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ 7 ธ.ค. วัชระคนเดิมก็ขยับอีก ด้วยการไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เพื่อต้องการคำตอบกรณีพนักงานสอบสวนไม่เอาผิด สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ
และก็ยังมีคนในแวดวงการเมือง-อดีตผู้พิพากษา-สมาชิกวุฒิสภา-นักวิชาการ-นักกฎหมาย ก็ตั้งข้อสงสัยและข้อสังเกตถึงคดีดังกล่าวอย่างกว้างขวาง อาทิ "นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าและฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์" ที่ออกมากระทุ้งว่า
"อัยการต้องชี้แจงว่า เมื่อตอนท้ายของคำฟ้องและคำพิพากษา ที่มีการจ่ายเงิน 20 ล้าน ไม่ได้ระบุว่า นายสกุลธรเป็นผู้เสียหายอีกต่อไป แต่ฟังได้ว่า เป็นผู้ให้เงินจำนวนนี้ เพื่อติดสินบนเจ้าพนักงาน เหตุใดอัยการจึงไม่แจ้งข้อกล่าวหานายสกุลธร ว่าร่วมกันให้สินบนเจ้าพนักงาน อันนี้จะซ้ำรอยคดีกระทิงแดงหรือเปล่า"
เรื่องนี้สุดท้ายยังไงถึงวันหนึ่ง ธนาธรก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกถาม ซึ่งก็พอจะคาดเดาคำตอบได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่เห็นก็คือ ทุกการขยับขับเคลื่อนของธนาธร เขามีราคาที่ต้องจ่าย กับการถูกตั้งคำถามจากสังคมในเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องคนในครอบครัว และคนใกล้ชิด ในวันที่เปิดหน้าแลก-ชนกับบางฝ่ายในโครงสร้างทางสังคม-การเมือง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |