จากการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มบรรเทาลง รวมไปถึงการดำเนินมาตรการรักษาระดับการบริโภคในประเทศ และแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้
ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางสาขาเริ่มส่งสัญญาณกลับมาฟื้นตัวได้ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SME รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ โดยสาเหตุสำคัญมาจากสถาบันการเงินยังไม่มั่นใจการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากเห็นว่าผู้ประกอบการดังกล่าวยังมีความเสี่ยงในการชำระหนี้คืน
จากเสียงสะท้อนดังกล่าว ล่าสุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ถกคณะรัฐมนตรี (ครม.) หารือแนวทางในการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติม โดยเคาะมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย
โดย “ครม.” อนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 หรือ “โครงการ PGS ระยะที่ 9” วงเงินงบประมาณรวมไม่เกิน 24,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 หรือ “โครงการ Micro 'Entrepreneurs ระยะที่ 4” วงเงินงบประมาณรวมไม่เกิน 5,750 ล้านบาท รวม 2 โครงการ ในงบประมาณ 29,750 ล้านบาท
สำหรับโครงการ PGS ระยะที่ 9 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ทั่วไป สร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพ ที่ต้องการสินเชื่อแต่หลักประกันไม่เพียงพอให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ รวมทั้งผู้ประกอบการที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ วงเงินค้ำประกันโครงการรวม 150,000 บาท วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อต่อราย และต่อกลุ่มลูกค้า ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
ทั้งนี้ การยื่นขอให้ค้ำประกัน ขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในแต่ละปีตามที่ บสย.กำหนด โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการ SME ปีละไม่เกินร้อยละ 1.75 เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือไม่เกินร้อยละ 3.5 ตลอดอายุการค้ำประกัน
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SME ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 42,500 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 225,000 ล้านบาท หรือ 1.5 เท่าของวงเงินค้ำประกันโครงการ
ส่วนโครงการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 นั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ผู้ประกอบอาชีพอื่นที่มีสถานประกอบการชัดเจนและประกอบธุรกิจจริง ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงิน เป็นการลดต้นทุนการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการรายย่อย และช่วยแก้ไขปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบ มีวงเงินค้ำประกันโครงการ รวม 25,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท รวมทุกสถาบันการเงิน
การยื่นคำขอค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปี ตลอดอายุการค้ำประกันโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการรายย่อยปีละไม่เกินร้อยละ 1.5 เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือไม่เกินร้อยละ 3 ตลอดอายุการค้ำประกัน
ทั้งนี้ คาดว่าผู้ประกอบการรายย่อยจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 25,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามทั้ง 2 โครงการ ระยะเวลารับคำขอค้ำประกัน 2 ปี นับตั้งแต่ ครม.มีมติเห็นชอบ อายุการค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่อง สร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ตามดำริ “บิ๊กตู่” ที่อยากช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวเช่นนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |