อัดฉีดแสนล้านแก้จน รัฐบาลเพิ่มงบกลางปีซื้อใจรากหญ้า/สมคิดฟุ้งศก.61โต5%


เพิ่มเพื่อน    

“สมคิด” คาดจีดีพีไตรมาส 4/60 มีโอกาสถึง 5% เผยแผนปีนี้เน้นปฏิรูปเกษตร ยกระดับคุณภาพลดเหลื่อมล้ำ พร้อมสั่งคลังเร่งพิจารณาจัดทำงบกลางปี หวังเกิดผลรูปธรรมภายในปีนี้ สำนักงบฯ ชง ครม.สัปดาห์หน้า เคาะกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 62 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท คนจนทำท่าจะหมดไปในปี 61 จริงๆ ตั้งงบกลางปีกันไว้ 1 แสนล้านอัดฉีดผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยเฉพาะ
    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ “พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยสู่ยุคดิจิทัล” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเมื่อวันพุธว่า   ดัชนีตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 61 ปรับเพิ่มขึ้นดี สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดีจากการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และแนวโน้มการปฏิรูปประเทศที่ทันสมัย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/60 มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 5% และทั้งปีมีโอกาสที่จะถึง 4%
    ขณะที่ในปีนี้สิ่งที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการคือ การปฏิรูปภาคการเกษตร การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะเร่งพิจารณาจัดทำงบกลางปี เพื่อปฏิรูปการเกษตรและยกระดับฐานรากให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ภายในปีนี้
    สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2 ซึ่งในเฟสแรกนั้น รัฐบาลได้เพิ่มวงเงินในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นให้กับผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 500 บาท และหากมีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้วงเงินเพิ่มเป็น 300 บาท ทั้งนี้ จะตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดว่าผู้มีรายได้น้อยจะต้องพัฒนาและสร้างอาชีพด้วย
    ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือภาคเกษตรนั้น  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อยกระดับการเกษตรของประเทศไทย โดยจะพิจารณาเป็นรายกลุ่ม รายจังหวัด ว่าในแต่ละพื้นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือ หรือดำเนินการในลักษณะใดบ้าง รวมถึงจะต้องร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมด้วย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตั้งทีมงานเพื่อดูแลกลุ่มจังหวัดโดยเฉพาะ เพื่อให้การเติบโตในเศรษฐกิจฐานรากแข็งแรงและกระจายตัวมากขึ้น 
    นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์,  บมจ.กสท โทรคมนาคม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย ร่วมกันสร้างตลาดอีคอมเมิร์ซในร้านโชห่วย และร้านค้าประชาชน โดยให้สามารถซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าทีม ในการศึกษาและพิจารณาด้านกฎหมายดิจิทัลให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับกับสิ่งที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ และจะต้องได้ความชัดเจนภายในปีนี้ 
เตรียมพร้อมสู่ยุคดิจิทัล
    อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปจะสร้างให้ฐานรากมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะในยุคดิจิทัลหากประเทศไทยไม่ปฏิรูปประเทศเพื่อรองรับ จะทำให้ไม่สามารถปรับตัวเท่าทันกับโลกได้ โดยในปัจจุบันพบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งกลุ่มที่มีความสามารถ หรือมี Innovation tranform จะทำให้แรงงานที่มีทักษะมีรายได้เพิ่ม และการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย 
    ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งแม้ในภาพรวมจะมองว่าประเทศรายใหญ่ เช่น สหรัฐและจีน จะได้รับประโยชน์จากยุคดิจิทัลเทคโนโลยีมากที่สุด แต่ความจริงแล้วประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทยเอง จะสามารถใช้ประโยชน์จากยุคดิจิทัลมาพัฒนาประเทศได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้แก้ปัญหาประเทศในหลากหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา บริการสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีเติบโตได้อย่างยั่งยืน
    สำหรับความช่วยเหลือของภาครัฐที่มีต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลนั้นขณะนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดทำ Big Data ข้อมูลของเอสเอ็มอีทั่วประเทศเป็นครั้งแรกที่ได้มาขึ้นทะเบียนไว้กว่า 3.3 ล้านราย รวมถึงจัดทำ Big Data ข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อจะทำให้ภาครัฐได้ทราบข้อมูลต่างๆ ของเอสเอ็มอีและโรงงานอุตสาหกรรมในแต่ละแห่งว่าประสบปัญหาอย่างไร และต้องการให้รัฐบาลเข้าไปให้การช่วยเหลือในด้านใดบ้าง เพื่อที่จะให้รัฐบาลจัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและตรงจุดมากที่สุด
    นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า กระทรวงมีภารกิจที่สำคัญคือ การดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของการติดตั้งไฟเบอร์ออปติกให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยยังเหลืออีก 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้ การพัฒนาบุคลากรด้วยการฝึกอบรมความรู้ให้แก่ชุมชน เพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ตั้งเป้ามีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมทั่วประเทศประมาณ 1 ล้านคน รวมถึงเพื่อรองรับการเป็น E-Government กระทรวงยังอยู่ระหว่างสนับสนุนจัดทำฐานข้อมูล Big Data สำหรับ 20 กระทรวง
งบปฏิรูป 1 ล้านล้านบาท
    นอกจากนี้ การพัฒนาสู่ดิจิทัล 4.0 โดยมีโครงการ Digital Park ที่ศรีราชา, การจัดสร้าง Smart City และ โครงการ E-commerce ชุมชน เป็นต้น และระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งกระทรวงจะสนับสนุนการจัดทำระบบป้องกันภัยทางไซเบอร์ในกลุ่มที่สำคัญ เช่น ตลาดหลักทรัพย์, กลุ่มธุรกิจพลังงาน, บริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น
          ขณะที่นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า วันที่ 16 ม.ค. สำนักงบประมาณจะเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบ โดยมีกรอบงบประมาณรายจ่าย อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท และประมาณการการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2.55 ล้านล้านบาท ภายใต้การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 4.2%
    สำหรับกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2562 จะเป็นงบประจำ 70-75% เป็นงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 21% หรือประมาณกว่า 6 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ด้านการบริหารจัดการน้ำ การคมนาคมด้านถนน ระบบราง และอากาศ ให้ความเชื่อมโยงกัน การลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) สนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ส่วนที่เหลือเป็นงบชำระหนี้ประมาณ 7-7.5 หมื่นล้านบาท
    “กรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2562 จะเน้นเรื่องการปฏิรูปให้ต่อเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ และการนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การปฏิรูปเศรษฐกิจฐานราก จะจัดให้มีงบพัฒนารายภาคทั้ง 6 ภาค มีการงบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเหมือนปีที่ผ่านมา โดยในปีงบประมาณ 2562 จะมีงบเพื่อการปฏิรูปมีรวมกันถึง 1 ล้านล้านบาท” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว
    นายเดชาภิวัฒน์กล่าวอีกว่า การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลนั้น คงต้องพิจารณาภาพรวมของเศรษฐกิจ และความสมดุลของการจัดเก็บรายได้ว่าเพียงพอรองรับรายจ่ายเพื่อใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เคยมีแผนจะทำงบประมาณแบบสมดุล แต่ติดปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทยด้วย ทำให้ไทยจำเป็นต้องรักษาระดับการเติบโตโดยการจัดทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 ได้จัดทำงบประมาณขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท
งบกลางปีแสนล.อัดฉีดคนจน
     อย่างไรก็ดี ภายหลังจาก ครม.พิจารณาแล้ว คาดว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2562 ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวาระ 1 ได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.2561 โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดให้หน่วยงานราชการต่างๆ ส่งคำขอใช้งบประมาณเข้ามาแล้ว อยู่ที่ 5.1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก จึงได้ให้หน่วยงานต่างๆ กลับไปพิจารณาคำขอมาใหม่ให้มีความเหมาะสม และเสนอกลับมาภายในวันที่ 25 ม.ค. เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด
    ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการเสนอให้ ครม.พิจารณาการจัดทำงบประมาณกลางปี 2561 เพิ่มเติม โดยมีวงเงินทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท เป็นการกู้เงินเพื่อไปใช้ในโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 1 แสนล้านบาท และอีก 5 หมื่นล้านบาท เป็นเงินรายได้ที่ใช้ชดเชยเงินคงคลัง
    นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า การจัดทำงบประมาณกลางปี 2561 เพิ่มเติม ในส่วนของวงเงิน 1 แสนล้านบาทนั้น เพื่อใช้สนับสนุนมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ ครม. จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท, การปฏิรูปภาคการเกษตร วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการลดการปลูกพืชเกษตรที่มากเกินไปจนทำให้ราคาตกต่ำ เช่น ยางพารา โดยตั้งเป้าจะลดการปลูกให้ได้ 10-20% จะได้มีผลทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีงบประมาณเพียงพอ การลดการปลูกทำได้แค่ 1% จึงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนราคาพืชผลให้เพิ่มขึ้น
    สำหรับงบประมาณกลางปีในส่วนที่เหลือจะนำไปใช้กับโครงการของกองทุนหมู่บ้าน และโครงการพัฒนาระดับตำบลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะต้องเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนและปฏิรูปให้เศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศดีขึ้น โดยคาดว่าภายหลัง ครม.พิจารณาเห็นชอบแล้ว จะสามารถเสนอให้ สนช.พิจารณาได้ภายในเดือน มี.ค.2561.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"