วันนี้ - นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ครั้งที่ 3/2563 ว่า ที่ประชุมได้รับรายงาน ตามที่สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้เปิดให้ผู้สนใจเสนอขอรับทุนจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ระหว่างวันที่ 1- 31 ต.ค. พบว่า มีผู้สนใจเสนอโครงการจำนวนมากถึง 337 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 313,590,989 บาท ถือว่ามากที่สุดเท่าที่มีการเปิดให้ขอรับทุนมา โดยแบ่งลักษณะการดำเนินงาน ดังนี้ แนวทางการเสริมสร้างองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมหรือกระบวนการที่ใช้พื้นฐานทางด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ต่อยอดร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ จำนวน 235 โครงการ รวมเป็นเงิน 218,515,049.50 บาท แนวทางสร้างความร่วมมือเครือข่ายเพื่อยกระดับคุณค่าที่หลากหลายทางสังคมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จำนวน 56 โครงการ รวมเป็นเงิน 34,595,134 บาท และแนวทางส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทย เพื่อมุ่งสร้างความนิยมไทยในต่างประเทศ และสร้างมูลค่าให้แก่แบรนด์ไทย จำนวน 46 โครงการ รวมเป็นเงิน 60,480,805.50 บาท
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ในปี 2564 สศร. สามารถจัดสรรเงินกองทุนให้ได้อยู่ในวงเงิน 10 ล้านบาท ดังนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จะต้องพิจารณาทุกโครงการอย่างรอบคอบ รัดกุม และให้โครงการที่ได้รับงบประมาณสามารถสร้างประโยชน์ให้ประชาชน อีกทั้งก่อให้เกิดสร้างรายได้ให้ประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จและประกาศผลได้ภายในเดือนธันวาคม 2563 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาการให้การส่งเสริมโครงการฯ ของกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อันเนื่องมาจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้พิจารณาให้แนวทางการส่งเสริมโดยมีความสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ทุกระดับ ซึ่งอาจเป็นการผสมผสานร่วมกันอยู่หลายสาขาในโครงการเดียวได้ พร้อมกันนี้ให้มีการตอบสนองต่อนโยบายแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 (พ.ศ. 2564-2565) และได้กำหนดตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพิ่มขึ้น ทั้งการเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากในประเทศ โดยการลดอัตราการว่างงาน สร้างอาชีพกระจายรายได้ ส่งเสริมให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อจีดีพีของประเทศ เป็นต้น
“ ที่ประชุมได้ออกข้อกำหนดแนวทางและกรอบระยะเวลาในการให้การส่งเสริมโครงการฯ ของกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3 แนวทาง ได้แก่ ต้องเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมหรือกระบวนการ และสร้างนวัตกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจากการนำเทคโนโลยี/เทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ 2.สร้างความร่วมมือเครือข่ายเพื่อยกระดับคุณค่าที่หลากหลายทางสังคม และ/หรือต่อยอดการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ และ 3. ส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทย เพื่อมุ่งสร้างความนิยมไทยในต่างประเทศและสร้างมูลค่าให้แก่แบรนด์ไทย ” นายอิทธิพล กล่าว