เส้นทางต่อสู้กว่าจะเป็น 'สตรอว์เบอร์รีดอยคำ'


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     กว่าจะได้สตรอว์เบอร์รีสดลูกใหญ่คัดพิเศษ พันธุ์พระราชทาน 80 ปราศจากสารตกค้าง ส่งตรงมายังผู้บริโภคทุกวันในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ของทุกปี กลุ่มเกษตรกรสวนสตรอว์เบอร์รีโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ.ฝาง จ.เชียงใหม่  ต้องดูแลเอาใจใส่ ประคบประหงมสตรอว์เบอร์รีในแปลงไม่ให้เสียหาย ซึ่งถ้าผลผลิตออกมาดี นั่นหมายถึง ความอยู่ดี กินดีในปีนั้นของเกษตรกร เพราะบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก จะรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม ตามคุณภาพของผลผลิต

 

สตรอว์เบอร์รีพรีเมียม พันธุ์พระราชทาน 80 สร้างอาชีพ รายได้มั่นคง

      เส้นทางสตรอว์เบอร์รีผลสีแดง สวย รสชาติแสนอร่อยนั้น มีเบื้องหลังที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคและปัญหา ผลผลิตเสียหายจำนวนมากจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งเป็นผลพวงจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น อีกทั้งปัจจัยจากสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ หลายแปลงถูกแมลงศัตรูพืชบุกถล่ม ไม่รวมโรคพืชระบาด นอกจากนี้ การที่เกษตรกรผลิตต้นพันธุ์เองในแต่ละฤดูกาล ทำให้ต้นพันธุ์มีปัญหาไม่ปลอดโรค แสดงลักษณะด้อย ให้ผลผลิตต่ำ คุณภาพไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรบางคนต้องยอมทิ้งสวน ทิ้งอาชีพเพราะขาดทุนอย่างหนัก

โรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม 14 หลัง ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรชาวฝาง

 

      ทางดอยคำไม่นิ่งนอนใจ เข้าช่วยเหลือเกษตรกร โดยใช้ความรู้ทางวิชาการเกษตร โดยสร้างโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช เพื่อผลิตต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รีปลอดโรค ตลอดจนพัฒนาเทคนิค เทคโนโลยีทันสมัย มาเพิ่มปริมาณ และคุณภาพผลผลิต จนปัจจุบันดอยคำสามารถควบคุมผลผลิตสตรอว์เบอร์รีตราดอยคำ ให้มีคุณภาพระดับเกรดพรีเมียม  ทำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลืมตาอ้าปาก ถึงขั้นกินดีอยู่ดีเลยทีเดียว ปัจจุบันภายในโรงปฏิบัติการฯ มีการก่อสร้างโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมจำนวน 14 หลัง บนที่ดิน 13 ไร่ ให้กับกลุ่มเกษตรกร ภายใต้ "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอนฯ" ทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนตั้งแต่ปี 2562 โดยมีนักวิชาการดอยคำและหน่วยงานต่างๆ เป็นผู้แนะนำ และร่วมคิดค้นทดลองหาทางเอาชนะธรรมชาติ โรคแมลง และความไม่แน่นอนของสภาพอากาศจนเป็นผลสำเร็จ

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงตรวจสอบโรคพืชด้วยเทคนิคอณูชีววิทยา ในการเสด็จฯ เปิดโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม ที่โรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่

 

      เมื่อเร็วๆ นี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานพิธีเปิดโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมและโรงคัดบรรจุ ณ โรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตรและโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ เสด็จทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรือน เช่น การทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รี ห้องเพาะเลี้ยงต้นพันธุ์พืชปลอดโรค ห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา (Molecular Laboratory) ทรงตรวจสอบโรคพืชด้วยเทคนิคอณูชีววิทยา (RNA) ทรงได้รับการถวายรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานจากนายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด นักวิชาการดอยคำ และเกษตรกรที่ร่วมโครงการ พระองค์สนพระทัยและทรงมีข้อซักถามหรือข้อคิดเห็นเพื่อให้งานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

      นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ดอยคำ กล่าวว่า การพัฒนาสายพันธุ์และการปลูกสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถควบคุมผลผลิตสตรอว์เบอร์รีให้มีคุณภาพดี ลดการใช้สารเคมีในระบบการผลิต ปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค อีกทั้งเพิ่มปริมาณผลผลิต รวมถึงยังสามารถผลิตต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคเพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจ ปลูกในฤดูกาลถัดไป และเป็นต้นแบบของแหล่งการเรียนรู้การผลิตสตรอว์เบอร์รีแบบ Smart Farmer อีกด้วย

 

 นายนิวัฒน์ ขันโท ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมเกษตร  

 

    ด้าน นายนิวัฒน์ ขันโท ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมเกษตร ได้มีโอกาสถวายรายงาน กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรดำเนินการคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในการผลิตอาหารจากพืช โดยเฉพาะสตรอว์เบอร์รี รับสั่งว่ามีคนทูลว่า มีการใช้สารเคมีผลิตสตรอว์เบอร์รีเยอะ ตนถวายรายงาน ดอยคำทำต้นพันธุ์พืชปลอดโรคอยู่ ผลิตต้นพันธุ์พืชที่แข็งแรง จะช่วยลดการใช้สารเคมี โดยใช้ในการกำจัดศัตรูพืชเท่านั้น ส่วนการป้องกันไม่ใช้ เพราะควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิทยา (IPM) ส่วนด้านเทคโนโลยีถวายรายงานมีการทำเมล็ดเทียม เป็นการรักษาเซลล์พืชที่มีชีวิตอยู่อีก 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อนำมาใช้ใหม่ พระองค์ท่านสนพระทัยเป็นพิเศษ ทรงตรวจสอบโรคพืชด้วยเทคนิคอณูชีววิทยาในห้องทดลอง ซึ่งดอยคำจะนำต้นพันธุ์พืชปลอดโรคทดลองของพระองค์ไปขยายพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรต่อไปด้วย 

 

ทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือน ด้วยต้นพันธุ์ปลอดโรค   

 

   สำหรับโครงการพัฒนาการผลิตสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาพันธุ์สตรอว์เบอร์รี กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรยังเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีได้ยาก ยังคงใช้รูปแบบการเพาะปลูกแบบเก่ากันอยู่มาก เช่น ใช้ต้นพันธุ์ที่ขยายพันธุ์กันเองต่อเนื่องมายาวนาน ทำให้ต้นพันธุ์ที่เกษตรกรผลิตได้ไม่ปลอดโรคและอ่อนแอ เกิดการสะสมเชื้ออันเป็นสาเหตุโรคพืชในพื้นที่ปลูก อีกทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปในทุกๆ ปี จากสภาวะโลกร้อน ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรแปรผันไปตามสภาพแวดล้อม ทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตลดลง

      “ ปัจจุบันเกษตรกรต้องรับมือโรคสตรอว์เบอร์รี ส่วนใหญ่เป็นโรคแอนแทรคโนส เชื้อไวรัสทำลายทุกส่วนของพืช ใบ ลำต้น ก้าน ดอก ผล ทำให้ต้นตาย ถ้าเข้าผลผลิต ทำให้ผลสตรอว์เบอร์รีมีแผล ไม่มีคุณภาพ ถ้าระบาดต้องทิ้งทั้งแปลง ส่วนโรคราสีเทาจะขึ้นผลผลิต โรคราแป้งพบในแปลงปลูก ผลผลิตจะเสียหายทั้งหมด ฉะนั้น ในแล็ปดอยคำ ผลิตต้นพันธุ์พืชปลอดโรค ปลอดทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรคพืช รวมถึงไวรัสที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ อย่างไรก็ตาม ต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รีปลอดโรคเมื่อนำไปปลูกในแปลงธรรมชาติ จะแข็งแรงกว่าต้นพันธุ์ทั่วไป โรคแมลงทำร้ายน้อยลง เหมือนเพิ่มวัคซีนให้ต้นพันธุ์ แต่ยังมีโอกาสป่วยด้วยโรคพืชได้อยู่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมและการดูแลจัดการแปลงปลูกของเกษตรกร" นายนิวัฒน์ ให้ข้อมูล

 

 โรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช เป็นแหล่งวิจัย ปรับปรุง พัฒนาพันธุ์พืชสตรอว์เบอร์รี  

 

   แต่เป้าหมายสำคัญนอกจากการทำให้สตรอว์เบอร์รี ปลอดโรคแล้ว การวิจัยและปรับปรุงสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี ยังเน้นพัฒนาให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ตั้งเป้าผลผลิต 1 กิโลกรัมต่อต้น ซึ่งตอนนี้ได้ประมาณ 500 กรัมต่อต้น และ ปีนี้เป็นปีแรกที่ดอยคำผลิตต้นพันธุ์พืชที่ปลอดโรคส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรฯ ปลูก จำหน่ายให้กลุ่มเกษตรกรแล้วกว่า 50,000 ต้น ราคา 5 บาทต่อต้น โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรจากดอยคำ เป็นผู้แนะนำ วางแผน และให้ความรู้แก่เกษตรกร ปัจจุบันต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รีปลอดโรคเริ่มให้ผลผลิตฤดูกาลแรกแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอจำหน่ายผลสด ทางดอยคำส่งเข้าโรงงานหลวงฯ เพื่อแปรรูป โดยจะเริ่มทำสตรอว์เบอร์รีพรีเมียมตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2564 เป็นต้นไป

      นอกจากนี้ ดอยคำเริ่มผลิตต้นพันธุ์เสาวรสปลอดโรค ดำเนินการมา 4 เดือนแล้ว เพราะเกษตรกรพบปัญหาการระบาดโรคไวรัสสูง โดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ แค่มีไวรัสต้นเดียว เพลี้ยอ่อนไปดูดกิน แล้วเกาะกินต้นอื่น ทำให้ระบาด ต้องผ่านกระบวนการทดสอบ วิจัย และทดลองปลูก ก่อนส่งเสริมสู่เกษตรกร

      “ การสร้างโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช จะแก้ปัญหาสตรอว์เบอร์รีเป็นอันดับแรก ต้นพันธุ์เสาวรสอันดับสอง เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผลิตส่งให้โรงงานหลวงฯ ที่ 2 แม่จัน จ.เชียงราย พืชลำดับที่ 3 ต้นพันธุ์มะเขือเทศปลอดโรค เพื่อสนับสนับโรงงานหลวงฯ ที่ 3 เต่างอย จ.สกลนคร ส่วนโรงงานหลวงฯ แห่งที่ 4 ซึ่งจะเกิดขึ้นที่ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เกษตรกรปลูกเสาวรส ก็จะได้ประโยชน์จากสายพันธุ์ที่พัฒนาเช่นกัน เพื่อลดการใช้สารเคมีในประเทศ คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เป็นการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน" นายนิวัฒน์กล่าว

      ปัจจัยที่ทำให้สตรอว์เบอร์รีมีรสชาติและรสสัมผัสที่นุ่มกำลังดี นายนิวัฒน์บอกว่า ขึ้นกับสภาพอากาศ ประเทศไทยมีความแตกต่างของสภาพอากาศระหว่างวันสูงมาก กลางคืนต่ำสุด 10 องศา กลางวัน 30 องศา ปริมาณฝนมากก็มีผลต่อรสชาติ การปลูกในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมมีระบบควบคุมแสง อุณหภูมิ ความชื้น โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการออกดอกสตรอว์เบอร์รีอยู่ระหว่าง 5-28 องศา อย่างพันธุ์พระราชทาน 80 ใช้เวลา 80  ชั่วโมงในช่วงอุณหภูมิดังกล่าว จะกระตุ้นให้เกิดตาดอก ถ้าต่ำกว่า 5 องศา จะจำศีล เกิน 28 องศา ตาดอกจะกลายเป็นต้นไหลแทน ไม่เกิดผล สำหรับเกษตรกรที่สนใจสร้างโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม ดอยคำสามารถแนะนำทั้งระบบและพื้นที่ที่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม งบประมาณก่อสร้างโรงเรือนประมาณ 3 ล้านบาทต่อโรง

นางประภาวัลย์ ปัญญา และเกษตรกรชาวฝางที่ร่วมทดลองเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือน

 

      เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเกษตรจากบริษัท เข้าร่วมโครงการทดลองการผลิตสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนจำนวน 6 ราย ใช้พื้นที่ในโรงเรือน 10 หลัง และบริษัท ใช้พื้นที่โรงเรือนจำนวน 4 หลัง ทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ได้ปรับปรุงสายพันธุ์ ประภาวัลย์ ปัญญา เกษตรกรชาวฝาง อายุ 49 ปี ที่เข้าร่วมโครงการวิจัยปลูกในโรงเรือน บอกว่า  เดิมทำสวนลิ้นจี่ แต่ผลผลิตตกต่ำ ก่อนจะมาปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 โดยเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรสวนสตรอว์เบอร์รีโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอนฯ ผลผลิตสตรอว์เบอร์รีฤดูกาลหนึ่งสร้างรายได้หลักแสน ทำให้ชีวิตดีขึ้น มีอาชีพ มีรายได้มั่นคง ส่งเสียลูกเรียนจนจบปริญญา ส่วนการปลูกโรงเรือน โรค แก้ปัญหาโรค ไม่มีแมลงรบกวน ทำเกษตรได้สะดวกขึ้น ลดต้นทุนสารเคมีและค่าแรงในการกำจัดวัชพืช หญ้าในแปลง จากแต่ก่อนปลูกในแปลงธรรมชาติ มีปัญหาโรคพืช และแมลง  ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ใช้ไม่เกินค่ามาตรฐาน

      “ การทดลองปลูกเรายังต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูกไป  เพราะเป็นเรื่องใหม่ คาดหวังให้การปลูกสตรอว์เบอร์รีประสบผลสำเร็จ ถ้าทำได้เท่ากับได้พัฒนาตัวเอง ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ผมก็ไม่เข้าใจหรอกว่า สมาร์ทฟาร์มเมอร์คืออะไร แต่ถ้าปลูกแล้วไม่ต้องใช้สารเคมี ได้พันธุ์ดี ได้ผลสตรอว์เบอร์รีพรีเมียม เราไม่เสี่ยงอันตรายจากสารพิษ คนกินก็ปลอดภัย จะลุยต่อไม่ย่อท้อ" นางประภาวัลย์กล่าวด้วยรอยยิ้มแห่งความหวังและภาคภูมิใจที่ได้ดูแลสิ่งแวดล้อม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"