"บิ๊กตู่"ตีตั๋วยาว รอดคดีพักบ้านหลวง ม็อบสู้ยืดเยื้อ แต่ลากไกลยิ่งเหนื่อย


เพิ่มเพื่อน    

          กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9-0 เห็นว่า กรณี ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อยู่อาศัยบ้านพักรับรองของกองทัพบกถูกต้องตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 และไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) จึงไม่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ

               นอกจากจะเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์รอดคดี ต่อจากกรณีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ และการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้หรือไม่แล้ว ทุกๆ ครั้งมติของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็น ‘เอกฉันท์’ ทั้งหมด

               แตกต่างจากกรณีอื่นๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนหน้านี้ ที่มักจะได้เห็นมติ 7-2 หรือ 6-3 บ้าง กรณีของ ‘บิ๊กตู่’ นั้น อาจเป็นเพราะไม่ต้องการให้คู่แข่งทางการเมืองหรือฝ่ายตรงข้าม นำคำวินิจฉัยส่วนตนของเสียงข้างน้อยไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง

        โดยเฉพาะในสถานการณ์ขณะนี้ ที่สถานการณ์บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งสูง กลุ่ม ราษฎร 2563 เคลื่อนไหวบนถนนต่อเนื่องมาหลายเดือนเพื่อกดดันรัฐบาล จึงต้องป้องกันเพื่อไม่ให้มีใครนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ดี

               อย่างไรก็ตาม การที่ ‘บิ๊กตู่’ หลุดคดีพักอาศัยบ้านหลวง ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการปล่อยข่าวกันว่า คดีนี้อาจจะเป็นการต่อบันไดลงให้ เพื่อยุติความขัดแย้งในสังคม ยังมีนัยสำคัญทางการเมือง 

               เป็นเหมือนตราประทับว่า แม้จะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเลยเถิดไปถึงขั้นจาบจ้วงหมิ่นสถาบัน แต่การที่คำวินิจฉัยออกมาลักษณะนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่ายังมีความไว้วางใจให้ ‘บิ๊กตู่’ บริหารประเทศต่อ

               ขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรในช่วงที่ผ่านมา ไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายความมั่นคงได้

        นอกจากนี้ การที่ ‘บิ๊กตู่’ หลุดรอดคดีพักบ้านหลวง ทำให้ปัจจุบันไม่มีชนักปักหลังใดให้ต้องหวาดระแวง หรือกังวล หนำซ้ำยังเป็นการสร้างความมั่นใจในการบริหารประเทศต่อ

               สลับกันฝ่ายที่เหนื่อยและต้องออกแรงมากขึ้นคือ ฝ่ายค้าน และกลุ่มราษฎร ที่มีจุดมุ่งหมายให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่ง จะต้องหาวิธีการใหม่เพื่อกดดัน

               สำหรับฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล กลไกที่สามารถกดดันได้อีกช่องทางคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยการแสวงหาข้อมูลมาชำแหละในเวทีสภา 

               แต่ปัญหามีอยู่ว่า เสถียรภาพภายในของพรรคร่วมฝ่ายค้านเองก็ไม่ดีเท่าไหร่ พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลดูไม่เป็นเอกภาพในการร่วมกันทำหน้าที่ ต่างฝ่ายต่างแก่งแย่งกันขึ้นเป็นผู้นำในขั้วดังกล่าว 

               มีหลายครั้งที่การตัดสินใจในสภาของพรรคก้าวไกล แหวกมติพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อเดินไปในทางของตัวเอง จนทำให้พรรคเพื่อไทยต้องปวดหัว 

               พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลมีการชิงดีชิงเด่นกันในแง่ของการแย่งชิงมวลชน โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่มีการแย่งซีนกันหลายครั้ง 

        นอกจากปัญหาระหว่างพรรค ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยังมีปัญหาภายในด้วยกันทั้งคู่ โดยพรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งกันเองภายในพรรค ที่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘เจ๊หน่อย’ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

               นอกจากนี้ยังมีแกนนำพรรคคนอื่นๆ ลาออกด้วย ได้แก่ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายพงศกร อรรณนพพร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เพราะ ‘เจ๊หน่อย’ ไม่พอใจที่ถูกลดบทบาทภายหลังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคเพื่อไทยใหม่

        มีรายงานว่า นับตั้งแต่คุณหญิงสุดารัตน์ไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และไม่มีตำแหน่งบริหาร แทบไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพรรคเลย อำนาจการตัดสินใจต่างๆ ถูกผูกขาดอยู่ที่กลุ่มแคร์ ซึ่งเพิ่งกลับมาอยู่ในพรรค

               รวมไปถึงตำแหน่งต่างๆ ภายในพรรค คุณหญิงสุดารัตน์ และ ส.ส. นักการเมือง ในก๊วน แทบไม่ได้รับการจัดสรรอะไร จนมีความคิดที่จะตัดสินใจลาออก โดยรอจังหวะมาสักระยะ

               ขณะที่พรรคก้าวไกล แม้จะไม่ได้มีความขัดแย้งภายใน แต่สถานการณ์ของพรรคกลับมาสู่จุดน่าเป็นห่วงอีกครั้ง กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนกรณีการเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ในนามคณะก้าวหน้า ที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร ว่าเข้าลักษณะเป็นพรรคการเมือง ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 111 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดว่าผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่มีลักษณะคล้ายกับพรรคการเมือง อาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งอาจต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

               ประเด็นนี้ถูกมองว่า หากท้ายที่สุด กกต.เอาผิดคณะก้าวหน้า อาจมีการลากโยงมาถึงพรรคก้าวไกลได้

               ส่วนการต่อสู้บนถนนที่นำโดยกลุ่มราษฎร นอกจากกระแสที่อยู่ในช่วงขาลง เพราะเนื้อหาและรูปแบบการเคลื่อนไหววนลูปเดิม จนการชุมนุมแต่ละครั้ง ปริมาณมวลชนลดลงชัดเจนแล้ว ยังต้องเผชิญปัญหาเรื่องการบริหารจัดการมวลชน การ์ด และของ 

               อย่างล่าสุดมีประเด็นความขัดแย้งกันเรื่องการทำงานของการ์ด ไม่ว่าจะเป็นกรณี  นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้าการ์ดมวลชนอาสาราษฎร หรือ wevo ประกาศลดบทบาทการทำหน้าที่การ์ดม็อบราษฎร หลังมีปัญหาเรื่องการประสานงานกับการ์ดกลุ่มอื่นๆ 

               หรือกรณีการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว ที่ ‘เฮียบุ๊ง’ นายปกรณ์ พรชีวางกูร และ ‘ทราย’ น.ส.อินทิรา เจริญปุระ โพสต์เฟซบุ๊กโจมตีการ์ดเสื้อแดง ที่ไปถีบรถยนต์ประชาชน และริบปลอกแขน ปรากฏว่า สร้างความไม่พอใจให้กับนายสมบัติ ทองย้อย หัวหน้าการ์ดเสื้อแดง ถึงขั้นตัดพ้อว่า “เลวมากหรือไง จะเอาอะไรอีก”

               ปัญหายิบย่อยภายในกลุ่มราษฎรค่อนข้างมีเยอะ แม้แต่บรรดาแกนนำด้วยกันเองยังมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายว่า เวทีไหนกลุ่มเยาวชนปลดแอกเป็นผู้จัด หรือกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นผู้จัด 

               และการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ‘บิ๊กตู่’ อาศัยอยู่บ้านพักรับรองของกองทัพบกได้ แน่นอนว่า มันยิ่งทำให้โจทย์ในการโค่น ‘บิ๊กตู่’ ยากขึ้นไปอีก

               แกนนำกลุ่มราษฎรเองก็รู้ว่า ศึกนี้ไม่ง่าย ตามที่นายอานนท์ นำภา ประกาศที่เวทีห้าแยกลาดพร้าว เหมือนยอมรับว่า ไม่สามารถเผด็จศึกในปี 63 นี้ได้แล้ว

                “ปีนี้เราต้องค่อยๆ เปิดแผล แต่ปีหน้าจะเป็นรูปธรรมกว่านี้ จะเข้มข้นกว่านี้ ถ้าอยากรังแกเรา ปีหน้าสั่งซื้อแก๊สน้ำตามาเพิ่มเลย ปีหน้า ปี 64 บวกเป็นบวก”

                การประกาศยกระดับ และส่งสัญญาณว่า ม็อบราษฎรจะไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ แต่ในขณะเดียวกัน การที่ ‘บิ๊กตู่’ รอดคดีบ้านพักหลวง ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าไม่เกรงกลัวม็อบเช่นกัน ทำให้ประเทศจะมีการชุมนุมต่อเนื่อง โดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

        สงครามระหว่างกลุ่มราษฎรกับฝ่ายรัฐบาลส่อเค้ายืดเยื้อ ฝ่ายหนึ่งไม่ยอมทำตามเงื่อนไขม็อบ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมาไกล จนถอยไม่ได้ สุดท้ายอยู่ที่ว่า ใครอึดกว่ากัน 

               แต่ถ้าต้องสู้กัน โดยมีเวลาเป็นตัวแปร ยิ่งปล่อยนานวันฝ่ายที่จะลำบากคือ ‘กลุ่มราษฎร’ ที่มีปัญหาแทรกซ้อนตั้งแต่เล็กยันใหญ่มากมายระหว่างทาง การต่อสู้มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังต้องคอยเลี้ยงอารมณ์มวลชน 

                ตรงกันข้ามกับรัฐบาล ที่มีอำนาจรัฐ ทรัพยากร และ ‘แรงสนับสนุน’ ที่สำคัญ.  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"