อะไรคือ RCEP Agreement :
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เป็นข้อตกลงระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา อันได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ เป็นเขตการค้าเสรีที่ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ภายใต้กติกาที่เปิดเผยโปร่งใส
ปัจจุบัน RCEP ครอบคลุมจีดีพี 30% และประชากร 1 ใน 3 ของโลก ส่งเสริมพหุภาคีนิยม เพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนในหมู่ชาติสมาชิก ในเบื้องต้นคาดว่าจะลดภาษี 92% ของสินค้าที่ค้าขายระหว่างกัน ให้มาตรการที่มิใช่ภาษี (Non - Tariff Measures : NTMs) โปร่งใสมากขึ้น ส่งเสริมการค้าชายแดน อีคอมเมิร์ซ ระบบการจัดส่งสินค้ายุคดิจิทัล ยกระดับมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ
ประวัติการจัดตั้ง RCEP :
การเจรจาจัดตั้ง RCEP เริ่มต้นเมื่อปี 2012 ประกอบด้วยชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สังเกตว่าหลายประเทศมีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันอยู่แล้ว
ในมุมมองอาเซียนแนวคิด RCEP เป็นไปตามวัตถุประสงค์การสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่บูรณาการเศรษฐกิจในหมู่สมาชิก ยกชูรักษาบทบาทอาเซียนในการเป็นแกนกลางขับเคลื่อนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น
แนวคิดตั้งแต่แรกไม่ได้มุ่งหวังว่า RCEP จะเป็นเขตการค้าเสรีตามอุดมคติขั้นสูง หวังเพียงช่วยลดกำแพงภาษี ส่งเสริมการลงทุน ยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ตระหนักว่าระบบและการพัฒนาเศรษฐกิจของสมาชิกนั้นหลากหลาย RCEP คือความร่วมมือบนพื้นฐานเหล่านี้ ข้อตกลงระบุชัดว่าบางประเทศ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ได้รับสิทธิพิเศษ ข้อตกลงมีความยืดหยุ่นสามารถเลือกปฏิบัติ (หรือไม่ปฏิบัติ) บางข้อตามความพร้อม สอดคล้องกับความเป็นอาเซียนโดยแท้
วิเคราะห์ RCEP :
ประการแรก เน้นอยู่ใกล้กัน อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
เป้าหมาย RCEP ไม่ใช่ความร่วมมือระดับโลกหรือเปิดโอกาสให้ทุกประเทศเข้าร่วม แต่เน้น “การอยู่ใกล้กัน” ในภูมิภาคเดียวกัน สมาชิกจึงประกอบด้วยชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก (แต่เดิมตั้งใจรวมอินเดียด้วย แต่ถอนตัวก่อน)
ประการที่ 2 ความสำเร็จเหนือการเมืองระหว่างประเทศ
ในแง่การเมืองระหว่างประเทศต้องถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ เพราะคือความร่วมมือของหลากหลายการเมืองการปกครอง บางประเทศเป็นปรปักษ์ทางการเมืองและความมั่นคงทางทหาร โดยเฉพาะกรณีจีนกับญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ต่างฝ่ายต่างพยายามรักษาผลประโยชน์ของตน มีประเด็นต้องขบคิดมาก เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้การเจรจากินเวลาหลายปี และอินเดียถอนตัวในตอนท้าย
รัฐบาลสหรัฐมองว่า RCEP อยู่ใต้อิทธิพลจีน ถ้าคิดตามกรอบนี้จะตีความว่าญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ที่เป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐอยู่ใต้อิทธิพลจีนด้วยหรือไม่ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ในแง่ความมั่นคงทางทหารญี่ปุ่นยังมองจีนเป็นภัยคุกคามอันดับต้นเช่นเดิม
ไม่ว่าจะวิเคราะห์ด้วยมุมมองใดเป็นหลักฐานอีกชิ้นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความขัดแย้งคู่ความร่วมมือเสมอ การขัดแย้งในด้านใดด้านหนึ่งไม่เป็นเหตุให้ร่วมมือกันไม่ได้เลย แท้จริงแล้วทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ RCEP จะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดกว่าเดิม มีผู้ประเมินว่าเมื่อถึงปี 2030 RCEP จะช่วยเพิ่มยอดการค้าโลกอีก 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยเฉพาะจะเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ถ้าพูดให้ครบถ้วนกว่านั้น สหรัฐไม่ว่าจะรัฐบาลชุดก่อนชุดปัจจุบันยังคงค้าขายกับจีน แม้จะเห็นจีนเป็นความท้าทายสำคัญหรือเป็นปรปักษ์ ใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อม นักลงทุนอเมริกันจำนวนมากยังคงทำธุรกิจในจีนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
บางครั้งถ้อยคำจากปากนักการเมืองอาจไม่ตรงความจริง บางครั้งเป็นเรื่องของการหาเสียงมากกว่า หวังให้ชนะเลือกตั้งก่อนเป็นพอ
RCEP เป็นหลักฐานที่บอกว่าประเทศในภูมิภาคจะไม่ทำสงครามใหญ่ต่อกัน ยิ่งใกล้ชิดกันมากเพียงไร ยิ่งสัมพันธ์กันมาก โอกาสทำสงครามใหญ่ยิ่งน้อย
ประการที่ 3 เขตการค้าที่ส่งเสริมกันและกัน
แม้มีสมาชิกเพียง 15 ประเทศ RCEP คือเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในขณะนี้ มีขนาดเท่ากับ 30% ของจีดีพีโลก (รองลงมาคือเขตการค้าอเมริกาเหนือ (NAFTA) ที่มีขนาด 28% ของจีดีพีโลก อียู 17%) ข้อตกลงครั้งนี้จะเพิ่มพูนการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เดิมมากอยู่แล้วจะมากขึ้นไปอีก
นักวิชาการหลายคนชี้ว่าศตวรรษที่ 21 เป็นปีทองของเอเชียแปซิฟิก RCEP คืออีกกลไกที่เชิดชูความโชติช่วงของภูมิภาคนี้
ประการที่ 4 สัมพันธ์ใกล้ชิดกับ BRI
ถ้ามองจากมุมจีน RCEP ส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) อย่างชัดเจน สมาชิก RCEP หลายประเทศมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ BRI อยู่แล้ว (โดยเฉพาะอาเซียน) ทั้ง 2 กรอบสนับสนุนซึ่งกันและกัน ประเทศอย่างญี่ปุ่นที่ไม่อยู่ใน BRI จะได้ประโยชน์ผ่านการค้าการลงทุนในกรอบ RCEP ด้วย
ทุกประเทศจะได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงทวีปเอเชีย-ยุโรป-แอฟริกา ภายใต้ BRI
สี จิ้นผิง ผู้นำจีนชี้ว่า RCEP คือชัยชนะของพหุภาคีนิยม การค้าเสรี
ประการที่ 5 ในแง่ของอาเซียน
อาเซียนเป็นการรวมตัวของประเทศในภูมิภาคเดียวกันเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกัน ประสานพลังในโลกที่ปลาใหญ่มักกินปลาเล็ก ตั้งแต่เริ่มเจรจาประกาศชัดว่าอาเซียนคือศูนย์กลางของคู่เจรจา
เป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สามารถนำชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่และเป็นคู่ค้าสำคัญให้ทำมาค้าขายภายใต้กติกาเดียวกัน ร่วมกันเขียนตั้งแต่ต้น เสริมการค้าเสรีเดิมที่มีอยู่แล้วในกลุ่มประเทศเหล่านี้ อาจตีความว่า RCEP คือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ขยายตัวเป็น AEC-Plus รัฐบาลกับประชาชนในกลุ่มนี้ใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิม
ประการที่ 6 มีทั้งได้กับเสีย
ถ้ามองแง่บวก RCEP ส่งเสริมการส่งออก ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าหลากหลายมากขึ้น ถ้ามองในแง่ลบการลดกำแพงภาษีเท่ากับเปิดทางให้สินค้าคู่แข่งจากสมาชิก RCEP มากขึ้น เป็นอีกเหตุผลที่อินเดียถอนตัว (มีผู้ประเมินว่าหากอินเดียเข้า RCEP จะกระทบอุตสาหกรรมอินเดีย การจ้างงานในประเทศ โดยเฉพาะพวกสิ่งทอ เกษตร หมวดอาหาร เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่าจีน ทำนองสหรัฐขาดดุลจีน)
การค้าเสรีอาจส่งเสริมการอยู่ดีกินดีในภาพรวม แต่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากต้องปรับตัว เพราะการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น เขตการค้าเสรีใช่ว่าจะมีแต่ได้ ทุกภาคส่วนจำต้องผลักดันตัวเองให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโลกยุคโลกาภิวัตน์
ในอดีตเมื่อพูดถึงการค้าเสรีจะนึกถึงชาติตะวันตก ประเทศประชาธิปไตย RCEP เป็นการริเริ่มของหลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาเร็วช้าต่างกัน บางประเทศเป็นคู่ขัดแย้งด้วยซ้ำ เป็นวิถีความร่วมมือบนความแตกต่างที่น่าสนใจและน่าจับตาว่าจะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไร ส่งผลต่อภูมิภาคและโลกอย่างไร.
-------------------
เครดิต : https://www.facebook.com/AusEmbMyr/photos/
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |