วงเสวนาชำแหละภัยบิ๊กไบค์กับวัยรุ่น พบเจ็บตายเพียบ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ชี้ปมปัญหาสองล้อเต็มถนนเหตุระบบขนส่งมวลชนไม่เอื้อ พ่อแม่ส่งเสริมลูกมีรถโดยไม่คำนึงอายุและอุปกรณ์ป้องกัน ถกใบอนุญาตชั่วคราวให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แนะออกใบอนุญาตขับขี่บิ๊กไบค์อายุ 22 ปีขึ้นไป ควบคู่ฝึกทักษะขับขี่ปลอดภัย
พาดหัวข่าวและภาพที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน “เด็กวัย 13 ขี่บิ๊กไบค์พุ่งชนจักรยานยนต์และกระบะ” “สลดวัยรุ่น 18 ปีขับบิ๊กไบค์ชนดับคู่” “วัยรุ่น 20 ปีซิ่งบิ๊กไบค์เสียหลักดับคาที่” “หนุ่มนักสตรีมชื่อดังวัย 17 ขี่บิ๊กไบค์ดับ” ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ในปี 2561 พบว่า เด็กและเยาวชนช่วงอายุ 10-24 ปี มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดถึงร้อยละ 70.6 สาเหตุจากปัจจัยส่วนบุคคล พฤติกรรมผู้ขับขี่ ปัญหากายภาพโครงสร้างพื้นฐานของถนน ความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งเด็กเข้าถึงบิ๊กไบค์ได้ง่าย กลไกของรัฐไม่สามารถควบคุมหรือปิดกั้นความเสี่ยงต่อการเข้าถึงของเด็กหน้าใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดเวทีเสวนา “เยาวชนกับบิ๊กไบค์ในกฎกระทรวงใหม่...ได้หรือเสีย”
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ประเทศไทยครองแชมป์ติดอันดับ Top Ten การสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นอันดับที่ 9 ของโลก หรือ 32.7 คนต่อประชากรแสนคน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบการสูญเสียชีวิต 2.1 หมื่นคน หรือวันละ 69 คน คิดเป็น 29.9 คนต่อประชากรแสนคน เด็กและเยาวชนใช้รถจักรยานยนต์วัย 10-24 ปี สูญเสียชีวิต 70.6% สาเหตุมาจากตัวบุคคล พฤติกรรมการขับขี่ ปัญหาทางกายภาพ ไม่เข้มงวดในการใช้กฎหมาย เป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียบนท้องถนน การใช้รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ด้วยสมรรถนะเครื่องยนต์ ผู้ขับขี่หน้าใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี เป็นการเพิ่มปริมาณนักขี่หน้าใหม่ กลไกระบบขนส่งมวลชนเป็นระบบทางเลือกประชากรในการใช้รถจักรยานยนต์มากกว่าการใช้รถขนส่งสาธารณะ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง
ด้วยภาพอุบัติเหตุที่เราไม่อยากเห็น ทุกวันนี้เราได้รับสไลด์ข้อมูล 365 วันอันตราย ข้อมูลเมื่อวันที่ 10 พ.ย.63 มีผู้เสียชีวิต 55 คน ยอดสะสมเดือน พ.ย. รวม 485 คน เสียชีวิตวันละ 50 คน ยอดสะสมตั้งแต่ต้นปี 12,235 คน การตายจากอุบัติเหตุประเทศไทยติดอันดับที่ 9 ของโลก การที่ 55 ครอบครัวมีคนตายจากอุบัติเหตุถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมของครอบครัว ที่ผ่านมาเราได้ทำงานวิชาการร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่ามีคนใช้รถสาธารณะ 24% คนใช้รถจักรยานยนต์ 26% คนใช้รถยนต์ส่วนตัว 43% สะท้อนบริการขนส่งมวลชนยังไม่ตอบสนองต่อการใช้งานของประชาชน
คนขับรถบิ๊กไบค์จะต้องผ่านการฝึกอบรมก่อนที่จะได้รับใบขับขี่ เด็กอายุไม่ถึง 18 ปี (อายุ 15-17 ปี) มีใบขับขี่ได้ชั่วคราว ขับรถเครื่องได้ 110 ซีซี เนื่องจากยังไม่มีความเชี่ยวชาญมาก เราจะทำอย่างไรให้ความปลอดภัยเป็นเรื่องของเราทุกคน เพราะเราไม่อยากให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นกับครอบครัวใดอีก
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนไทยติดอันดับที่ 2 ของโลกเมื่อปี 2015 แต่ในปี 2018 ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลก แต่ผลสำรวจปี 2018 อุบัติเหตุที่เกิดจากรถมอเตอร์ไซค์ ไทยติดอันดับ 1 ของโลก
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ ได้ทำโครงการสืบหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ โดยใช้เทคนิคการสืบสวนเชิงลึกสำรวจ 1,000 ตัวอย่างในระยะเวลา 4 ปี พบว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากตัวบุคคลระหว่างคนขับขี่รถจักรยานยนต์และคนขับขี่รถคันอื่นกว่า 90% สำหรับสาเหตุจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.การคาดการณ์สถานการณ์ผิดพลาด 2.ตัดสินใจผิดพลาด 3.ควบคุมรถผิดพลาด 4.เข้าใจผิดพลาด จากข้อมูลเชิงลึกยังพบอีกว่า กรณีของผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ยิ่งใช้ความเร็วมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง และมีโอกาสรอดชีวิตน้อยเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ผู้ขับขี่มีทักษะ แต่ถ้าขับขี่ด้วยความเร็วสูง ระยะการตัดสินใจหลบหลีกจะแคบมาก ส่วนการแก้ไขปัญหาหรือลดการเกิดอุบัติเหตุต้องเน้นปลูกจิตสำนึกทั้งสองฝ่าย
“รถบิ๊กไบค์เป็นรถขนาดใหญ่ใช้ความเร็วสูง ผู้ขับขี่ที่เป็นเยาวชนต้องใช้ทักษะมากกว่ารถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป รูปแบบของการทำใบขับขี่บิ๊กไบค์ต้องแตกต่างทั้งในเรื่องของการอบรมและการทดสอบ ต้องมีขั้นตอนที่เข้มข้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขเชิงระบบ ป้องกันไม่ให้หย่อนยาน พร้อมออกมาตรการควบคุมให้เยาวชนมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย ฝึกทักษะเรียนรู้กฎจราจร วิธีขับขี่บนท้องถนน ทั้งนี้คนขี่บิ๊กไบค์ต้องยอมรับความจริงว่าเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในความเสี่ยงในระดับหนึ่ง ถ้าอยากขับขี่ให้ปลอดภัยต้องวิ่งเหมือนเป็นรถยนต์ อย่าขี่แทรกหรือแซงเหมือนรถคันเล็กควรใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด ต้องตระหนักและมีพฤติกรรม มีทักษะการขับขี่ที่ปลอดภัย มีใบขับขี่ เรียนรู้กฎจราจร การขับขี่มอเตอร์ไซค์ทุกประเภทไม่ใช่แค่ให้ถึงจุดหมาย แต่ต้องมีทักษะหลายอย่างเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน” รศ.ดร.กัณวีร์กล่าว
การขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ในประเทศญี่ปุ่นต้องผ่านการฝึกทักษะ คาดการณ์สถานการณ์เสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ตัดสินใจที่จะเบรกอย่างไร หรือหักหลบอย่างไรไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ญี่ปุ่นต้องการตรวจสอบว่ารถมอเตอร์ไซค์ที่ญี่ปุ่นผลิตนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากความผิดพลาดของคนขับหรือปัญหาท้องถนนไม่ได้คุณภาพเพียงพอ พบว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดการคาดการณ์สถานการณ์ที่เสี่ยง เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด บางครั้งเมื่อจะยูเทิร์นไม่ชะลอรถไม่เบรกโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง ความผิดพลาดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเด็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ก็ผิดพลาดทำให้เกิดการชนกันขึ้น ขณะนี้มีหลายหน่วยงานตื่นตัวที่จะลดอุบัติเหตุซึ่งจะต้องรณรงค์กันตลอดทั้งปี
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เกิดกับเยาวชนมีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ตอบโจทย์ความจำเป็นในการเดินทาง ส่งผลให้ทางเลือกในการเดินทางมีอย่างจำกัด เช่น ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนที่ไม่สะดวก หรือทำให้นักเรียนต้องเดินทางโดยใช้จักรยานยนต์แทน โดยเฉพาะการเข้าถึงรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือ “บิ๊กไบค์” ที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น ขณะที่กลไกควบคุมของรัฐเองยังกำกับได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะกฎกระทรวง ใบอนุญาตขับขี่ฉบับใหม่ที่ตั้งใจออกมาเพื่อควบคุมปัญหารถบิ๊กไบค์ แต่กลายเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ขอใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวที่อาจจะไม่มีประสบการณ์เข้าถึงรถบิ๊กไบค์ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งกลไกของรัฐยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มรถขนาดใหญ่ที่มีเครื่องยนต์ตั้งแต่ 250-399 ซีซี ที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมของกลุ่มเด็กและเยาวชนเช่นเดียวกัน
ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาเยาวชนกับรถบิ๊กไบค์ได้รับการแก้ไขจริงรัฐต้องจัดการที่ต้นทาง ควรกำหนดนิยามรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ และกำหนดเกณฑ์อายุสำหรับผู้ขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ให้สอดคล้องกับขนาดกำลังเครื่องยนต์ (cc) เช่น ผู้ขอใบอนุญาตบิ๊กไบค์ ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปี และไม่ควรให้ผู้ขอใบอนุญาตชั่วคราวมีสิทธิขับรถบิ๊กไบค์ได้ รวมถึงกำหนดประเภทใบอนุญาตจักรยานยนต์ในแต่ละขนาดเครื่องยนต์หรือขนาดความจุของกระบอกสูบให้เหมาะสมกับปัจจุบัน เช่น 110 cc+ 250 cc+ หรือ 400 cc+ ขึ้นไป กฎกระทรวงที่เพิ่งออกมาจึงต้องชัดเจนและครอบคลุมเรื่องนี้ด้วย
“ทั้งนี้สถานการณ์รุนแรงจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนในปี 61 ประเทศไทยมีอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงติดอันดับที่ 9 ของโลก มีผู้เสียชีวิตจำนวน 22,491 คน หรือ 32.7% คนต่อประชากรแสนคน โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ ในปีเดียวกันนั้นพบว่าเด็กเยาวชนช่วงอายุ 10-24 ปี มีอัตราเสียชีวิตถึง 70.6% โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากปัจจัยส่วนบุคคล พฤติกรรมของผู้ขับขี่ ปัญหากายภาพโครงสร้างพื้นฐานของถนน ความไม่เข้มงวดของกฎหมาย เด็กเยาวชนจำนวนมากเข้าถึงการขับขี่รถจักรยานยนต์ในทุกขนาดง่ายขึ้น โดยเฉพาะบิ๊กไบค์ ทำให้ประเทศไทยมีผู้ขับขี่หน้าใหม่ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ตามท้องถนนมากขึ้น” คงศักดิ์กล่าว
ฐาปกรณ์ ปิ่นพงศ์พันธ์ ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน กล่าวว่า ตนเริ่มต้นขับขี่มอเตอร์ไซค์เมื่อสิบกว่าปีก่อน เริ่มจากเป็นรถก้อนๆ ที่ต้องนำมาประกอบ “ผมชอบขับรถมอเตอร์ไซค์ไปเป็นกลุ่ม เข้าไปตามหมู่บ้าน แต่เมื่อเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ก็ห่างหาย ไม่ได้ขับเพราะรถเยอะ แต่เมื่อเห็นรถบิ๊กไบค์อยากได้ก็ซื้อ เริ่มต้นตอนนั้น 1,000 ซีซี บิดเพียงนิดเดียวความเร็วเกือบ 100 กม. ก็บิดไปที่ 200 กม./ชม. เรื่องการขับรถอยู่ที่การยับยั้งชั่งใจ ต้องใช้วุฒิภาวะในการขับรถ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรถ จำได้ว่าวันแรกลงไปในอุโมงค์เกษตรเกือบจะชนอุโมงค์ เป็นเพราะเราไม่มีทักษะเพียงพอ ผมขับรถมอเตอร์ไซค์มาแล้ว 6 คัน คันแรกไม่เกิดอุบัติเหตุ คันที่ 2 เกิดอุบัติเหตุ ผมมีคู่กรณีตลอด โดย 2 ใน 3 เป็นรถยนต์ คนวิ่งข้ามถนนใต้สะพานลอยไม่ถึง 15 เมตร ตอนนั้นต้องตัดสินใจจะเลือกชนหรือจะล้มเอง ด้วยแรงของรถต้องใช้แรงเยอะในการเลี้ยว ผมเลี้ยวไม่ทัน ตัดสินใจเบรกให้รถล้ม”
ในอดีตเคยประสบอุบัติเหตุรถบิ๊กไบค์ 3 ครั้ง ซึ่งครั้งที่รุนแรงใช้ความเร็ว 160 กม./ชม. ชนประสานกับรถยนต์ที่วิ่งสวนเลนมาอย่างจัง ขณะนั้นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดความรุนแรงในการชนน้อยที่สุด โชคดีที่ทั้งสองฝ่ายรอดชีวิต ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าอุบัติเหตุบนท้องถนน สาเหตุหลักมาจากวินัยของผู้ขับขี่ ถ้าทุกคนปฏิบัติตามกฎจราจร อุบัติเหตุจะเกิดน้อยมาก สังคมอาจมองว่าความเร็วเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ตนมองว่าวินัยและทักษะการขับขี่ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ยิ่งผู้ขับขี่บิ๊กไบค์เป็นเยาวชน ยิ่งต้องเข้มงวดในเรื่องทักษะการขับขี่ ดังนั้นเมื่อรัฐมีนโยบายบังคับใช้ใบขับขี่บิ๊กไบค์ รัฐต้องคัดกรองผู้ขับขี่ โดยเฉพาะเยาวชน ด้วยการจับมือกับภาคเอกชนหรือศูนย์อบรมผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ เพื่อนำทักษะจากการอบรมมาใช้ทดสอบสมรรถนะการขับขี่บิ๊กไบค์ ส่วนสนามสอบภาคปฏิบัติต้องมีถนนรองรับการทดสอบความเร็ว ที่สำคัญเอกสารประกอบการขอใบขับขี่ควรมีใบรับรองการผ่านการอบรม
อุบัติเหตุที่จดจำไม่รู้ลืมคือขับกลับบ้านถนนพุทธมณฑลสาย 4 ขับเลนที่ 2 ซ้ายสุด เป็นช่วงเวลา 3 ทุ่ม ขับเลยถนนอักษะที่มืด เป็นช่วงจังหวะที่ต้องยูเทิร์นเห็นเงารถสีขาวย้อนศรมา ตอนนั้นขับด้วยความเร็ว 160 กม. จะหลบซ้ายหรือหลบขวาหรือจะเบรก แต่ในใจคิดว่าหลบได้ สุดท้ายรถเก๋งเดินหน้าเข้ามา ลงท้ายชน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวติดกับกำแพงรถ ต้องปล่อยตัวให้ลอยข้ามรถไปเลย เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจแบบเฉพาะหน้า ลอยไปไกลเกือบ 50 เมตร ตอนนั้นเหมือนคนไม่ได้สติ แต่พยายามจะมีสติ ผมได้ข้อสรุปว่าหมวกกันน็อกต้องมีไว้ จะถูกจะแพงต้องสวมหมวกกันน็อก ถ้ากะโหลกแตกโอกาสเสียชีวิตสูง การสวมเสื้อที่มีน้ำหนัก การสวมถุงมือขณะขับรถ 3 สิ่งนี้จะต้องมีติดตัวเสมอ ต้องนึกถึงเสมอว่าการขับรถจะมีผลกระทบต่อตัวเรา ต่อครอบครัว ต่อเพื่อนร่วมทาง โอกาสพิการหรือเสียชีวิต ครอบครัวต้องเดือดร้อนแทนเรา ยิ่งช่วงวัยรุ่นดูแลตัวเองไม่ได้ก็ต้องใช้เงิน เคสผมต่อสู้คดี 7-8 ปีก็ยังไม่จบสิ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |