ออกจากดักแด้กลายเป็นเสือ?


เพิ่มเพื่อน    

 

          ผมเห็นพาดหัวนี้ในบทความของ นางสาวพิรญาณ์  รณภาพ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วเกิดความสนใจ

            ยิ่งเมื่อพูดถึงการ "ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้านการลงทุน" ยิ่งทำให้เห็นว่าเป็นหัวข้อที่ควรแก่ความสนใจของรัฐบาลและเอกชน

            ผมอ่านข้อเสนอแล้วเห็นว่าเป็นแนวทางที่ควรจะมีการนำมาถกแถลงกันให้กว้างขวาง

            เพราะยุทธศาสตร์ของชาติในเรื่องการลงทุนมีผลต่ออนาคตของประเทศอย่างยิ่ง

            หากเราไม่รีบปรับปรุงหรือ transform เรื่องการลงทุน  อีกไม่นานเราก็หมดความสามารถในการแข่งขันกับเพื่อนบ้านเราค่อนข้างแน่นอน

            ทุกวันนี้การลงทุนของทุกประเทศในภาวะโควิดเปรียบได้กับ "หนอนในดักแด้"

            หรืออยู่ในภาวะจำศีล

            ไทยเราเจอศึกหนักกว่า

            เหตุผลเพราะก่อนหน้านี้เราก็เติบโตในอัตราต่ำอยู่แล้ว

            และหากย้อนกลับไปก็จะเห็นสถิติที่ตอกย้ำว่า การลงทุนอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน

            จึงต้องหันมาพิจารณามาตรการที่จะต้อง "ปรับปรุงงานกันขนานใหญ่" ในด้านนี้

            งานวิจัยของ ธปท.พบว่า ในระยะข้างหน้าไทยจำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องจนสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 4

            ร้อยละ 23 ในปี 2019 เป็นร้อยละ 27

            เพื่อให้หลุดจาก "กับดักประเทศรายได้ปานกลาง" ในอีก 15 ปีข้างหน้า

            แต่ไม่ใช่ลงทุนแบบไร้เป้าหมาย

            ไทยต้องเน้นคุณภาพการลงทุนให้ตรงจุด

            เพราะโลกกำลังผ่านความเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วง

            ไทยไม่ได้มีทุนไม่จำกัด

            ในช่วงนี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังคงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤติโควิด-19 ไม่สามารถขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศได้อย่างเต็มที่

            จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องรับบทบาทหลักในการปรับโครงสร้างการลงทุน

            ปรับปรุงอย่างไร?

            ข้อเสนอในบทวิเคราะห็นี้บอกว่าจะต้องผลักดันและเร่งให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เสริมสร้างศักยภาพการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย (Strategic Investment) ให้เท่าทันและสอดรับกับกระแสโลกใหม่ รวมทั้งจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนตาม (Crowding-in effects)  ได้แก่  

            1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลทั้งด้าน  hardware และ software ที่ผ่านมาภาครัฐได้เร่งให้เกิดการประมูลเพื่อลงทุนในโครงข่ายโทรคมนาคม 5G ทำให้ปัจจุบันบริษัทโทรคมนาคมของเอกชนกำลังดำเนินการลงทุนตามแผน

            แต่ลงทุนใน hardware อย่างเดียวไม่พอ

            รัฐควรพิจารณาลงทุนในด้าน software เพื่อให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย เช่น  การบูรณาการระบบฐานข้อมูลภาครัฐ (e-Government) ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้การทำธุรกิจ และทำให้ภาครัฐสามารถวิเคราะห์นโยบายการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุด

            การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยจับคู่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในระบบ รวมถึงอาจขยายความครอบคลุมไปจนถึงการหางานในระดับตำบลหรือหมู่บ้านที่เป็น self-employed ด้วย

            การสร้างแพลตฟอร์มช่วยให้ประชาชนหรือ SMEs  สามารถขายของ online ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ปิดช่องว่างแพลตฟอร์มในปัจจุบันที่ดำเนินการโดยเอกชน

            2.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ให้เชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง  เพื่อช่วยลดต้นทุนและลดเวลาในการขนส่งสินค้าและการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้วางยุทธศาสตร์การลงทุนในส่วนนี้ไว้แล้ว แต่ความท้าทายอยู่ที่การผลักดันให้เกิดขึ้นจริงตามแผน

            3.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

            เช่นระบบบริหารจัดการน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเพื่อป้องกันน้ำท่วม

            ระบบการจัดการขยะในเมืองใหญ่

            และการสร้างสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

            ประเด็นที่เป็นจุดอ่อนสำคัญและเป็นเรื่องที่เอกชนร้องเรียนมายาวนาน คือเรื่องกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อนและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ

            จึงต้องมีการปฏิรูปเรื่องนี้กันอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อดึงดูดธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่มีความพร้อมและฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง

            ผ่านไประยะหนึ่ง ภาคเอกชนควรมีบทบาทเข้ามาลงทุนต่อยอดและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐลงทุนไว้

            ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ

            ตัวอย่างเช่น การทำการเกษตรแบบอัจฉริยะ (Smart  Farming)

            ซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตและสามารถปลูกพืชที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและทนทานต่อสภาพอากาศได้มากขึ้น

            การนำหุ่นยนต์และระบบ Automation มาเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนการรักษาคนไข้ผ่านระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ที่ตอบโจทย์ทั้งกระแสคนรักสุขภาพและการก้าวสู่สังคมสูงวัย

            ข้อเสนอสุดท้ายที่ผมเห็นว่ามองข้ามไม่ได้เด็ดขาดคือ การลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital)

            โดยเฉพาะ "การยกระดับทักษะด้านดิจิทัล" ให้แรงงาน ซึ่งจำเป็นอย่างมากในอนาคต

            "คงไม่เป็นประโยชน์นัก หากภาครัฐและเอกชนเร่งลงทุนด้านดิจิทัลอย่างเต็มที่ แต่ภาคแรงงานกลับขาดทักษะ  รวมถึงไม่สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้" บทวิเคราะห์นี้จับประเด็นได้แม่น

            ทักษะด้านดิจิทัลของไทยเรายังต่ำ

            การจัดอันดับทักษะด้านดิจิทัลของ 133 ประเทศในรายงาน Networked Readiness Index ปี 2563 ของ  Portulans Institute บอกว่าทักษะด้านดิจิทัลของคนไทยในปัจจุบันยังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค เราอยู่ในอันดับที่ 63 เทียบกับสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่อันดับ 5, 10 และ 49 ตามลำดับ

            อาจจะเป็นความหวังที่ห่างไกล ณ จุดนี้ แต่ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปที่ว่า

            ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ การลงทุนของทุกประเทศอยู่ในภาวะจำศีล เปรียบเสมือนหนอนที่อยู่ในดักแด้

            ความท้าทายของผู้วางนโยบายคือ ทำอย่างไรให้ไทยออกจากดักแด้แล้วจะไม่เป็นเพียงผีเสื้อ

            แต่ต้องทรานส์ฟอร์มเป็นเสือที่แข็งแกร่งเพื่อแข่งขันได้ในโลกอนาคต

            เป็นชุดข้อเสนอที่ผมอยากให้มีการเผยแพร่เพื่อนำไปสู่การถกแถลงกันอย่างกว้างขวางทุกวงการ

            เพราะเราไม่อาจจะอ้อยอิ่งเดินเอื่อยๆ ตามจังหวะเดิมได้อีกต่อไปแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"