เด็กคิด ..ผู้ใหญ่หนุน "เขียนสังคม" ให้ใจ


เพิ่มเพื่อน    

จากคลินิกแม่เลี้ยงเดี่ยวจนถึงสภาเด็กเยาวชน

สวมบท"วิศวกร"เปลี่ยนสังคมสร้างคนคุณภาพ

 

 

 

      "เด็กเยาวชน คือ Asset หรือทรัพยากรสำคัญของประเทศ หรือเรียกได้ว่าเป็นบริษัทของประเทศไทย ทีดีอาร์ไอระบุว่า การลงทุนในเด็กเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด คุ้มค่ากว่าการสร้างรถไฟฟ้าเสียอีก" เป็นคำพูดของ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่บอกกล่าวเล่าสิบว่า ภารกิจของกระทรวงต้องสร้างความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้จึงขับเคลื่อน ส่งเสริม สนับสนุนให้เยาวชนของชาติช่วยกันวางแผนและเขียนสังคมที่ต้องการ ที่อยากเห็น อยากให้เป็น ด้วยมือของพวกเขาเอง

      "วันนี้ต้องใช้ศักยภาพของเด็กที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ให้บ้านพักเด็ก ซึ่งอยู่ในสังกัดของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ให้ไปดู เอกซเรย์ในพื้นที่ว่าสภาเด็กเยาวชนมีความพร้อมขนาดไหน และบังเอิญเราได้อบรมทีมแม่ไก่ไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทีมแม่ไก่เป็นทีมที่ขยายผลไปสร้างทีมเด็กเยาวชนที่เข้าไปคุยกันในเด็กเอง ก็จะไม่มีช่องว่างระหว่างวัย ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก เด็กคุยกับเด็ก ทำกิจกรรมกับเด็ก และเด็กที่ไปทำส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ม.6 เด็กมหาวิทยาลัยปี 2 ปี 3 อายุมากที่สุดคือปี 4 ยังไม่มีใครจบเข้าไปทำ และส่วนใหญ่จะเป็นคณะสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ เรามีบางคนที่เป็นวิศวะก็มา เราไปเจอเด็กบางคนที่จังหวัดพิษณุโลกกลายเป็นเด็กที่แอคทีฟ เป็นเด็ก ม.6 มาทำกันเองอย่างนี้ เป็นต้น"

      เมื่อให้เด็กคิด เด็กเขียน และลงมือทำเอง สิ่งที่พบปรากฏว่า มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ห่วงใยสังคม แล้วแคร์ว่าสังคมจะเป็นอย่างไรต่อไป อาทิ โครงการวิศวกรสังคมที่ทำมาตั้งแต่ปลายปี 2562 คือให้คุณคิด คุณสร้างสังคมที่คุณต้องการ และเป็นสังคมที่เห็นอกเห็นใจกัน เป็นสังคมที่ห่วงใยกัน และได้พบว่าเด็กพวกนี้มีเยอะมากพอสมควรเกินคาด และมีพลังมีส่วนในการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาเอง

        กรณีของคลินิกแม่เลี้ยงเดี่ยวก็เป็นอีกรูปแบบที่ให้เด็กจัดการบริหารชีวิตด้วยตัวเอง โดยมีการใช้แม่เลี้ยงเดี่ยวที่กระทรวงการพัฒนาฯ ดูแลนั้นกลับไปสอนเยาวชน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอีก โดยทำแบบมีเป้าหมาย มีตัวชี้วัด ไม่ใช่พูดหรืออบรมแล้วก็จบอย่างการปฏิบัติในอดีตที่ผ่านมา

      นายจุติอธิบายว่า คลินิกแม่เลี้ยงเดี่ยวไม่ได้เปิดสะเปะสะปะทั่วประเทศ จะเปิดเฉพาะที่พร้อม เพราะมีความห่วงว่าเด็กจะเข้าถึง เข้าใจและปฏิบัติได้ในชีวิตจริงหรือไม่ 

      "เด็กอายุ 14-15 ตั้งครรภ์แล้วคลอดลูก จบมาแล้วไม่ว่าจะฝากลูก เลี้ยงลูกให้ ฝึกอาชีพให้ หลังจากที่คุณคลอดมาแล้วหกเดือน ให้เงินคุณห้าพันแล้วบอกว่าไปจบ ออกข้างนอกได้ แล้วเขาจะไปไหน ครอบครัวก็ยังไม่ได้ให้อภัย หากินก็ยังไม่เป็น จะกู้เงินใครก็ยังไม่มีเครดิต งั้นวันนี้ก็ต้องต่อยอดว่า ธนาคารออมสินได้ไหม ธนาคารกรุงไทยได้ไหม แล้วก็มีพี่เลี้ยงของหอการค้าฯ ของคนที่มีประสบการณ์สอนว่าให้มีการยอมรับเดินหน้าไปให้ได้ มีปัญหากลับมาที่กระทรวงที่ในจังหวัดตัวเอง แล้วมาหาพี่เลี้ยงที่จะช่วยกันแก้ยังไง คือไม่ปล่อยให้หลุดเดี่ยวแล้วก็เผชิญโชค อายุสิบห้าสิบหกไม่มีประสบการณ์อะไรเลย ผัวก็ทิ้ง เพราะมันมีสถิติ มีคู่แล้ว ร้อยคู่ ปีแรกหลังจากหกเดือนไปแล้วก็ทิ้งกัน 75% และอีก 25% ปีถัดมาก็ครึ่งหนึ่งทิ้งกันอีก สรุปแล้วในร้อยคู่อยู่ยั่งยืนแค่สิบสามคู่ แล้วพวกนี้จะเป็นอันตรายที่แม่จะต้องเลี้ยงลูกที่ไม่พร้อม"

      ทีดีอาร์ไอทำวิจัยมาแล้ว ถ้าไม่ดูแลตรงนี้จะเป็นการเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ คือวงจรของความยากจน สร้างคนที่ไม่มีคุณภาพให้ประเทศเพราะความไม่พร้อม

        จึงต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำลำธาร ต้องแก้ตั้งแต่ตรงนี้ ไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้น และกระทรวงก็ไม่ได้ทำให้คนเดียว ก็ทำกับเอ็นจีโอ ภาคเอกชนที่เข้าไปช่วย เราทำคลินิกแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นตัวตั้ง เป็นภารกิจของกระทรวง

 

เด็กคิด..ผู้ใหญ่หนุน

        รมว.พม.เปิดเผยอีกว่า "สังคมในไอเดียของเด็ก เด็กอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เด็กอยากเห็นสังคมที่เป็นสุข เด็กอยากมีอนาคตของตัวเองที่ตัวเองกำหนด และอยากเป็นนายจ้างตัวเอง ไม่อยากเป็นลูกจ้าง ไม่อยากทำงานให้กับใคร นี่คือที่เด็กต้องการ อาจจะเป็นความฝัน แต่สิ่งที่เราทำวันนี้คืออะไร ทำให้เด็กคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น และพยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในสังคมให้เป็น และเราไม่ได้เน้นเรื่องงบประมาณ แต่ให้เขาเป็นตัวของตัวเอง สร้างพลังในตัวเอง ความแข็งในตัวเอง สอนให้เด็กคิดให้เป็น และคุณก็ใช้ต่อยอดจากจุดแข็งของคุณคืออะไร และคุณควรจะหาจุดแข็งของคุณไป สิ่งที่ผมเอากิมมิกไป คือถ้าผมบอกคุณว่า บอกทุกคนนั่งแล้วเขียนว่าคำนิยมในหนังสืองานศพคุณ คุณอยากจะชมคุณเรื่องอะไร นี่คือน่าจะมาจากจุดแข็งของคุณ ต้องสร้างจุดแข็งเพื่อให้เป็นใช่หรือไม่ สอนให้เขาคิดอย่างนี้ แต่จะไม่บังคับว่าคุณต้องมีนั่นนี่"

      ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง เห็นจะเป็นการที่กระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้เซ็นเอ็มโอยูกับ กยศ. หรือกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในกำกับของกระทรวงการคลัง โดย กยศ.มีภาคบังคับว่าเด็กต้องทำงานด้านสังคมกี่สิบชั่วโมง และทุกคนต้องมาทำงานกับกระทรวง พม. ซึ่งจุดนี้เองเปิดโอกาสให้แนวนโยบายของ พม.ที่สนับสนุนขับเคลื่อนให้เด็กเขียนสังคมของตัวเองนั้นได้ทรัพยากรใหม่ๆ หลากหลาย เข้าไปช่วยดีไซน์สังคมที่เด็กอยากให้เป็นและต้องการจริงๆ พร้อมกับเปิดทางเลือกให้มีการอบรมทักษะชีวิต อาทิ ใครที่มีกิจกรรมที่เก่ง ก็ต่อยอดความรู้ความสามารถนั้น พร้อมกับอบรมเรื่องเจ็ดคิว (7Q)

      "เวลาที่คุณเอาเด็กไปเล่นกีฬา มันจะมีหมดเลย เอคิว อีคิว ไอคิว ซีคิว คือเหมือนกับก่อนเล่นต้องเตรียมแผนการต้องฝึกทักษะยังไง เกมแรก เซตแรก หรือครึ่งแรกแพ้เขาต้องมาปรับปรุงปัญหา แก้ปัญหาทำยังไง มากันเป็นทีม ให้มีความคิดสร้างสรรค์ คิดยังไงจะเอาชนะเขา สุดท้ายคือแพ้เป็นแพ้ ชนะเป็นชนะ ต้องถอดบทเรียนเป็นและก็ทำขึ้นมาใหม่ พวกนี้เป็นการที่สอนให้เด็กเล่นกีฬาและมีเจ็ดคิวเข้าไปในตัว" นายจุติอธิบาย และย้ำว่า

      สิ่งที่ พม.ต้องการเห็นคือ เด็กและเยาวชนจะมีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 เพราะเด็ก เยาวชน คือแอสเซส ทรัพยากรสำคัญของประเทศ สอง เด็กพวกนี้ไม่มีค่าเสื่อม สาม เด็กพวกนี้สามารถสร้างครีเอตแวลูหรือมูลค่าเพิ่มได้ตลอดเวลา ถ้าคุณจะครีเอตได้ตลอดเวลา คุณก็ต้องเตรียมเขา เป็นคนที่คิดเอง ทำเอง ได้พึ่งตนเองได้ เขาจะสามารถสร้างคุณค่าของตัวเขา ซึ่งจะเป็นคุณค่าของสังคม และเป็นมูลค่าของประเทศได้อย่างยั่งยืน

      "ภารกิจของกระทรวงอันแรกคือสร้างทุนมนุษย์ และสร้างสังคมเป็นอันดับรอง ฉะนั้นทำเรื่องทุนมนุษย์มาตั้งแต่วันแรกที่มาที่นี่ ก็เก็บเด็กที่ไม่มีโอกาสให้มีโอกาส เด็กที่เปราะบางก็ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และที่เหลือที่ช่วยตัวเองไม่ได้ก็ต้องดูแล และผมจะบอกคนกระทรวงว่าเลิกคิดนะถ้าไปถึงช่วยแล้วจบ เอาซองไปส่งให้สองพันสามพันครอบครัวนี้ เขาถามแล้วมันหายจนไหม โอกาสมีเพิ่มมากขึ้นไหม..ไม่มี ก็กินยาพาราต่อไป เงินสามพันหมดก็จบ กลับไปปัญหาเหมือนเดิม ถ้างั้นแก้ที่ต้นเหตุ เหนื่อยยากกว่าเดิมแน่นอน แต่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ"

      สรุปได้ว่า เด็กในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตหรือไม่นั้น มีทางเลือกที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ได้เปิดเวทีให้แล้ว ที่เหลือก็คือการสืบสานให้สำเร็จตามแผนงานและมีความต่อเนื่อง เพราะความร่วมมือร่วมใจด้วยการมองเห็นปัญหาร่วมกัน ถือเป็นสัญญาณที่ดีนั่นเอง.

 

 

7Q สร้างความเป็นมนุษย์ที่พึงปรารถนา

 

        1.IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางสติปัญญา เป็นความสามารถในการคิด วิเคราะห์ การคำนวณ และการใช้เหตุผล   

        2.EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุม อารมณ์และยับยั้งชั่งใจตนเอง และแสดงออกอย่างเหมาะสม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรอคอย

        3.CQ (Creativity Quotient) ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิด จินตนาการหรือแนวคิดใหม่ๆ ในรูปแบบต่างๆ

        4.MQ (Moral Quotient) ความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรม คือมีความประพฤติดี รู้จักผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีจริยธรรม เป็นแนวคิดที่มุ่งตอบคำถามว่าการที่เรามีคนที่ IQ ดี EQ สูง แต่ถ้ามีระดับจริยธรรมต่ำก็อาจใช้ความฉลาดไปในทางที่ไม่ถูกต้องก็เป็นได้ MQ จึงเน้นเรื่องการปลูกฝังความดีงาม

        5.PQ (Play Quotient) ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น เกิดจากความเชื่อที่ว่าการเล่นพัฒนาความสามารถของเด็กได้หลายด้าน ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย ความเฉลียวฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์และสังคม

        6.AQ (Adversity Quotient) ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา คือมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวในการเผชิญปัญหาได้ดี และพยายามเอาชนะอุปสรรคความยากลำบากด้วยตัวเอง ไม่ย่อท้อง่ายๆ    

        7.SQ (Social Quotient) ความฉลาดทางสังคมที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพราะมนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"