รวมคลัสเตอร์เพิ่มศักยภาพ


เพิ่มเพื่อน    

 

   ในยุคสมัยนี้ศักยภาพผู้ประกอบการเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะการจะจัดการทั้งด้านผลิตและการแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด หรือการบริหารจัดการนั้นต้องเท่าทันผู้บริโภค และสิ่งสำคัญที่สุดที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปคือความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมที่กลุ่มเดียวกัน เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนทั้งความรู้ คอนเน็กชั่น หรือช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ โดยที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่สนับสนุนให้เกิดการร่วมมือดังกล่าวเป็นกลุ่มก้อนของภาคอุตสาหกรรมเสมอมา 

                หนึ่งในนั้นคือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการผ่านการส่งเสริมทักษะการประกอบการในด้านต่างๆ รวมถึงการรวมกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้ 2 เครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) 

                ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในระดับพื้นที่ในการรวมกลุ่มผู้ประกอบการทุกสาขาอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการส่งต่อข้อมูลการดำเนินธุรกิจ การช่วยเหลือกันของผู้ประกอบการในระดับจังหวัดและภูมิภาค ทำให้เครือข่ายผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน ดำเนินการไปแล้ว 367 รุ่น ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ 

                มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 11,879 กิจการ ซึ่งผลพลอยได้จากการเข้าร่วมโครงการ ทำให้เกิดการผนึกเครือข่ายที่มีความเข็มแข็ง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งยังสามารถให้ความช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที ระหว่างเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจต่างๆ

                และอีกโครงการคือการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ซึ่งเป็นเครื่องมือในระดับธุรกิจที่รวบรวมผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพภายในเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ  โดย กสอ.ได้ขยายผลการขับเคลื่อนการผนึกกลุ่มผู้ประกอบการบนแนวคิดศูนย์กลางของคลัสเตอร์ (คลัสเตอร์ ฮับ) คือ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเชิงพื้นที่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน 

                ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน สามารถพัฒนาคลัสเตอร์จำนวน 103 กลุ่ม โดยในปี 2564 มีแผนในการดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์รวมทั้งสิ้น 29 กลุ่ม แบ่งเป็น คลัสเตอร์เกษตรอุตสาหกรรม จำนวน 25 กลุ่ม และคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพ (เอส-เคิร์ฟ) จำนวน 4 กลุ่ม คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

                ขณะที่ปีนี้ได้เดินหน้าพัฒนาคลัสเตอร์ผ่านนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1 ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยเน้นที่จะส่งเสริม 2 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย คลัสเตอร์ผ้าทอ ECO และคลัสเตอร์เครื่องมือแพทย์ และเห็นว่าในปีหน้านี้จะเบนเข็มไปสนับสนุนใน “คลัสเตอร์ผึ้ง” ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลกใหม่เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้าถึง แต่ก็มีความเข้มแข็งพอสมควร โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง 

                จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตน้ำผึ้งมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (รองจากเวียดนาม) โดยสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ 1 หมื่นตันต่อปี และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย แคนาดา และจีน จำนวนกว่า 7.9 พันตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 616.59 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น่าสนใจ หากมีการสนับสนุนที่จริงจัง เชื่อว่าไทยจะขึ้นไปอยู่อันดับที่ดีกว่านี้ได้เพราะเชื่อในศักยภาพของผู้ประกอบการไทย     

                ถือว่าเป็นแผนงานที่ต่อเนื่องและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่พอสมควร และเป้าหมายที่กรมวางไว้ก็เป็นงานที่ท้าทายเนื่องจากปัจจุบันที่จะต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมากมาย แม้จะรวมตัวกันได้แล้ว แต่สิ่งที่ต้องมาคำนึงคือเรื่องกำลังซื้อ หากการส่งออกในปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ 100% ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจช่วยและให้กำลังใจกันต่อไป.

 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"