การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ประกาศว่าปักกิ่งพร้อมจะพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ท่ามกลางความประหลาดใจของคนทั้งโลกนั้นย่อมมีนัยทางการเมืองที่น่าวิเคราะห์ยิ่ง
ประการแรกคือ การที่ผู้นำจีนสามารถจะกดดันให้โจ ไบเดน ที่กำลังจะเข้านั่งทำเนียบขาวว่า ถ้าสหรัฐไม่กลับมาเอเชีย จีนจะเข้าไปนั่งร่วมโต๊ะ CPTPP แล้วนะ
จีนเป็นแกนหลักของ RCEP อยู่แล้ว ถือว่านั่งเต็มก้นในเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ถ้าสหรัฐยังลังเลเรื่อง CPTPP ก็จะเปิดทางให้จีนไปร่วมอีกโต๊ะหนึ่งทันที
แต่ก่อนนี้อาจมีคนมองว่า CPTPP อาจจะไม่สำคัญแล้ว เพราะไม่มีสหรัฐแล้ว แต่เมื่อสหรัฐถอนออกไปสมัยทรัมป์ มาตรฐานที่สหรัฐวางเอาไว้ก็ลดลงไประดับหนึ่ง
“แต่เกมที่สองที่กดดันให้สหรัฐต้องกลับมา CPTPP คือถ้าสหรัฐบอกว่าไม่สนใจ จีนก็เล่นบทนำเลย...ก็เท่ากับปักกิ่งกำลังกดดันวอชิงตันให้กลับมาเพื่อเจรจากันใหม่ เป็นการกลับมาสู่โลกพหุภาคี...” ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร กูรูเรื่องเมืองจีนตั้งข้อสังเกต
นั่นแปลว่าเมื่อทรัมป์ตกกระป๋อง ไบเดนมาแทน และยืนยันว่าเชื่อในเรื่องพหุภาคี จีนก็สำทับด้วยการแสดงความสนใจเข้า CPTPP เพื่อส่งสัญญาณกับไบเดนว่าเขาต้องกลับมาภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องเจรจากับจีน
นี่ย่อมแปลว่าวันนี้จีนอยู่ในฐานะที่จะกดดันสหรัฐได้แล้ว
หรือจะตีความอีกอย่างก็คือ จีนกำลังพยายามให้มีการเขียนกติกาการค้าโลกใหม่
แต่ก่อนนี้อเมริกาเป็นคนกำหนดกติกาแต่เพียงผู้เดียว วันนี้จีนภายใต้สี จิ้นผิง กำลังส่งสัญญาณว่าจีนขอร่วมเขียนกติกานั่นด้วย
“เหมือนจีนกำลังจะบอกอเมริกาว่าเรามาเจรจากัน จะประนีประนอมอะไรอย่างไรก็ต้องมานั่งร่วมโต๊ะกัน...” ดร.อาร์มบอก
ข้อตกลง Phase 1 ที่ทรัมป์ทำกับสี จิ้นผิง ช่วงพยายามจะยุติสงครามการค้านั้นมีเงื่อนไขเหล่านี้บ้าง แต่ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
สี จิ้นผิง คงต้องการจะดึงให้ไบเดนมาเล่นเกมต่อรองกับจีนเพื่อให้มีกติกาการค้าโลกที่จีนสามารถต่อรองกับสหรัฐได้ในฐานะที่เท่าเทียมกัน
วันนี้ สี จิ้นผิง กำลังส่งสัญญาณว่าปักกิ่งไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างหรือเป็นผู้ตั้งรับอย่างเดียวแล้ว
จีนวันนี้ต้องการประกาศว่าตนต้องการจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐ
แม้จีนจะไม่ได้ประกาศตัวเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในบางมิติ แต่ปักกิ่งก็ไม่ต้องการเป็นเบอร์สองในทุกๆ เรื่องอีกต่อไป
จีนกำลังจะบอกอเมริกาภายใต้ไบเดนว่า จะต้องมาเล่นเกมพหุภาคี ไม่เล่นเกมประลองกำลังกันสองต่อสองอย่างที่ทรัมป์เล่นอีกต่อไป
ดร.อาร์มบอกว่า ในยุคของทรัมป์ สหรัฐดำเนินนโยบายที่จะแยกโลกเป็น “สองห่วงโซ่” หรือ supply chain
เรียกมันว่า “โลกทวิภพ”
ก่อนทรัมป์ขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐ โลกมีห่วงโซ่เดียวคือ global supply chain
เช่น ทุนมาจากสหรัฐ ใช้แรงงานจีน ชิ้นส่วนมาจากหลายๆ ประเทศมาประกอบกัน
แต่พอทรัมป์มา ก็เกิดคำว่า decoupling หรือการแยกโลกเป็นสองส่วน ต่างคนต่างทำการผลิตการตลาดของตัวเอง
ภายใต้ทรัมป์ ความคิดของวอชิงตันคือการคบหากับจีนเป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์และความมั่นคง จึงต้องการจะแยกตัวออกจากจีน
ผลที่ตามมาคือ การเกิดสองห่วงโซ่...หนึ่งคือห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก และสองคือห่วงโซ่สหรัฐเชื่อมโลก
ห่วงโซ่สหรัฐจะกีดกันจีน (แบบที่โอบามาพยายามทำด้วยการตั้ง TPP โดยไม่มีจีน)
ส่วนห่วงโซ่จีนเชื่อมโลกก็จะเห็นได้จากภาพของ RCEP ที่มีจีนเป็นแกนหลัก (ไม่มีสหรัฐ)
“ผมจึงแนะนำคนที่มาพูดคุยว่า ถ้าจะทำธุรกิจต้องศึกษาว่าจะเข้าสู่ห่วงโซ่สหรัฐหรือจีน มันสลับซับซ้อนมากขึ้น อุตสาหกรรมไหนจะเชื่อมห่วงโซ่ไหน โจทย์จะซับซ้อนขึ้น”
แต่สิ่งที่สี จิ้นผิง กำลังบอกชาวโลกด้วยการประกาศว่าพร้อมจะเข้าร่วม CPTPP ก็คือ
จีนพร้อมจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่สหรัฐเชื่อมโลก
นี่คือยุทธศาสตร์ที่น่าเกาะติดและวิเคราะห์ หลังจาก สี จิ้นผิง สร้างความฮือฮาเรื่อง CPTPP
ไม่ยอมให้ไบเดนตั้งตัวก่อนด้วยซ้ำไป!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |