นครศรีฯจ่อตัดไฟ น้ำท่วมตาย8ศพ


เพิ่มเพื่อน    

      นายกฯ สั่งทุกฝ่ายช่วยเหลือชาวใต้เผชิญอุทกภัย นครศรีธรรมราชยังจมน้ำ ผู้ว่าฯ แจ้งเตือนชาวบ้านเตรียมอุปกรณ์ส่องสว่างรับถูกตัดไฟ "นิพนธ์" ลงพื้นที่ รับรุนแรงสุดในรอบ 50 ปี เดือดร้อนกว่า 5 แสนคน เสียชีวิตแล้ว 8 ราย สงขลาทยอยประกาศเขตภัยพิบัติแล้ว 10 อำเภอ ขณะที่สุราษฎร์ธานีประกาศ 9 อำเภอ เยียวยาชาวสวนยางรายละ 3 พันบาท

      นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ 5 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี โดยสั่งการให้ส่วนราชการในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง กำชับให้เร่งช่วยเหลือประชาชนขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง พร้อมทั้งแจ้งให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมพร้อมบรรเทาความเดือดร้อน อพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัย และขอให้ประชาชนติดตามการแจ้งเตือน รวมถึงข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนเองลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหาย ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมนำความห่วงใยจากรัฐบาลไปมอบให้กับประชาชน

      รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคไหน เชื่อว่าความรักความสามัคคีของคนไทยจะช่วยให้ทุกคนปลอดภัย และก้าวผ่านสถานการณ์ไปด้วยกัน

      "นายกฯ มีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดภาคใต้ โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมในการระดมพล อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร สาธารณภัยจากทุกหน่วยงาน และจากทั้งหน่วยงานทหาร ฝ่ายพลเรือน ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชน จิตอาสา เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ และให้ความสำคัญกับการจัดลำดับในการดูแลประชาชนเกี่ยวกับสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ และจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบอาหารเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ"

      ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนเองจะยังไม่เดินทางไปดูสถานการณ์ในช่วงนี้ เพราะจะต้องไปภาคเหนือก่อน

เตือนชาวนครฯ รับมือไฟดับ

      ด้านสถานการณ์ในพื้นที่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช น้ำฝนและน้ำป่าได้ไหลบ่าเข้าท่วมเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความสูญเสียและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รถขนาดใหญ่ของหน่วยงานต่างๆ เข้าพื้นที่อพยพผู้ประสบภัย ขณะที่นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผวจ.นครศรีธรรมราช ส่งข้อความเสียงเตือนประชาชนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชให้ยกของขึ้นที่สูงเพิ่มจากเดิมอีกประมาณ 20-30 เซนติเมตร พร้อมชาร์จแบตเตอรี่อุปกรณ์ให้แสงสว่างให้พร้อม เพราะหากระดับน้ำเพิ่มสูงถึง 140 เซนติเมตร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครศรีธรรมราชจำเป็นต้องงดจ่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย

      ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครศรีธรรมราชสรุปตัวเลขความเสียหายเบื้องต้น มีพื้นที่ประสบภัย 19 อำเภอ รวม 133 ตำบล 942 หมู่บ้าน 114 ชุมชน มียอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รวม 5 ราย ในพื้นที่อำเภอนบพิตำ 1 ราย, อำเภอพระพรหม 2 ราย, เฉลิมพระเกียรติ 1 ราย และอำเภอฉวาง 1 ราย, บ้านพักเสียหายบางส่วน จำนวน 8 หลัง สถานศึกษา/ศาสนสถาน/ส่วนราชการ ได้รับผลกระทบและอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย ความเสียหายด้านการเกษตร มีพื้นที่การเกษตรประสบภัย 475,306 ไร่, ด้านประมงมีพื้นที่ประมงประสบภัย แบ่งเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 12,437 ไร่ กระชังปลา 7,851 ตารางเมตร (สัตว์น้ำที่เลี้ยงกระชัง/บ่อซีเมนต์) และด้านปศุสัตว์ มีรายงานสัตว์ตาย/สูญหาย 1 ตัว สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบ 122,812 ตัว แปลงหญ้า 433 ไร่ และสถานีชลประทานเสียหาย 1 แห่ง

      ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กำลังเจ้าหน้าที่ทั้งจากกองทัพภาคที่ 4 และหน่วยขึ้นตรง/ตำรวจภูธร/ตำรวจตระเวนชายแดน/อาสาสมัคร/หน่วยกู้ชีพกู้ภัย ตลอดจนประชาชนจิตอาสาเข้าสนับสนุนขนย้ายผู้ประสบภัย พร้อมนำอาหารและน้ำเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยที่ยังคงมีระดับน้ำท่วมขังสูงในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และในพื้นที่อำเภอต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

อุทกภัยร้ายแรงรอบ 50 ปี

      ต่อมาช่วงสายวันเดียวกัน นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย พร้อมด้วย ผวจ.นครศรีธรรมราช และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยที่ศูนย์อพยพวัดโทเอก อ.พรหมคีรี และศูนย์อพยพโรงเรียนวัดเสมาเมือง อ.เมืองนครศรีธรรมราช

      นายนิพนธ์กล่าวว่า อุทกภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราชครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50 ปี ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าประจำยังจุดเสี่ยงและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการจังหวัดเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาดูแลอยู่แล้ว ซึ่งจากข้อมูล ขณะนี้น้ำท่วมทั้ง 23 อำเภอของจังหวัด ที่หนักสุดได้แก่ อ.เมือง พระพรหม เชียรใหญ่ เฉลิมพระเกียรติ ลานสกา นบพิตำ ท่าศาลา และทุ่งสง มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 184,750 ครัวเรือน หรือประมาณ 5 แสนคน บ้านเรือนพังเสียหายหลายหลังคาเรือน

      มีรายงานว่า บริเวณทางเข้าท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชถูกกระแสน้ำป่าจากต้นน้ำตกพรหมโลก และน้ำตกอ้ายเขียว ใน อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช หลากเข้าท่วมรอบสนามบิน สูง 80 เซนติเมตร ถึง 1.5 เมตร โดยเฉพาะเส้นทางสายหลักเข้าสู่สนามบิน ริมถนนบางปู-เบญจมะ ต.ปากพูน อ.เมืองนครศรีธรรมราช ส่วนตารางการบินยังเป็นไปตามปกติ เนื่องจากตัวรันเวย์ แท็กซี่เวย์ ลานจอด รวมทั้งอาคารผู้โดยสารยังไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกองพันทหารสื่อสาร 24 กองทัพภาคที่ 4 ได้จัดรถขนาดใหญ่รับส่งผู้โดยสารเข้าออกสนามบินไปส่งยังจุดปลอดภัย

สงขลาประกาศเขตภัยพิบัติ 10 อำเภอ

      สงขลา ขณะนี้น้ำท่วมได้ขยายวงเป็น 12 อำเภอ โดยจังหวัดประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินเพิ่มเป็น 10 อำเภอ ประกอบด้วย อ.รัตภูมิ ควนเนียง บางกล่ำ สทิงพระ สิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ เมืองสงขลา หาดใหญ่ และจะนะ และพื้นที่ประสบภัยอีก 2 อำเภอ คือสะเดา และนาหม่อม

      ที่น่าห่วงที่สุดคือ ในพื้นที่ปลายน้ำของ อ.ควนเนียง โดยเฉพาะที่บ้านปากบาง หมู่ 3 ต.รัตภูมิ อ.ควนเนียง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำสุดท้ายที่ไหลมาจาก อ.รัตภูมิ บางกล่ำ และ อ.ควนเนียง ก่อนที่จะลงสู่ทะเลสาบสงขลา ขณะนี้มวลน้ำเริ่มไหลลงมารวมกัน และเกิดน้ำหนุนท่วมบ้านเรือนที่อยู่ปลายคลองภูมี และติดทะเลสาบสงขลา บางหลังมีเด็กเล็กต้องใช้เรือเข้าออก และน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งยังมีภาวะน้ำทะเลหนุน ที่สำคัญถูกน้ำท่วมซ้ำมาแล้ว 2 รอบ

      ผู้สื่อข่าวได้ล่องเรือตรวจสอบสภาพพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา พบว่ามีน้ำทะเลหนุนสูง และพบกับชาวบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ในสภาพติดเกาะ ถูกน้ำทะเลสาบสงขลาหนุนท่วมสะพานเข้าบ้านจนออกจากบ้านไม่ได้มา 5 วัน เป็นสองผัวเมียชื่อ นายมนัส จำปา อายุ 63 ปี และนางธัญรัตน์ จำปา อายุ 58 ปี มีอาชีพเลี้ยงปลากะพงในกระชัง อาศัยอยู่ริมทะเลสาบสงขลาพื้นที่หมู่ 5 บ้านปากจ่า ต.ควนโส อ.ควนเนียง ทั้งสองคนบอกว่าต้องกินข้าวกับปลาเค็มเพราะออกไปไม่ได้ ซึ่งครั้งนี้ถูกน้ำหนุนสูงที่สุดในรอบ 3 ปีไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้

      กระบี่ ฝนตกต่อเนื่อง 2 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำจากคลองสินปุน อ.เขาพนม ซึ่งเป็นคลองเชื่อมต่อจาก อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เริ่มเอ่อท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หมู่ 6 และหมู่ 10 ต.สินปุน อ.เขาพนม ระดับน้ำสูง 20 เซนติเมตร ชาวบ้านเตรียมขนย้ายทรัพย์สินไว้ที่ปลอดภัย นอกจากนี้น้ำที่เอ่มท่วมถนนยังไหลหลากพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันและยางพาราอีกหลายสิบไร่ เจ้าหน้าที่ได้ประกาศเตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง รวมทั้งจัดเตรียมกำลังและอุปกรณ์ เตรียมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผู้ประกอบการเรือหางยาวนำเที่ยวและเรือสปีดโบต ที่จอดหน้าหาดอ่าวนางและหาดนพรัตน์ธารา ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ กว่า 400 ลำ งดออกให้บริการนักท่องเที่ยวชั่วคราว และนำเรือไปจอดหลบคลื่นในลำคลองอ่าวต้นสน 

สุราษฎร์ฯ ก็ประกาศ 9 อำเภอ

      สุราษฎร์ธานี ฝนตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องตั้งวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอดอนสัก กาญจนดิษฐ์ เมืองสุราษฎร์ธานี บ้านนาสาร บ้านนาเดิม เวียงสระ พระแสง คีรีรัฐนิคม วิภาวดี ไชยา ท่าฉาง และพุนพิน ระดับน้ำสูงตั้งแต่ 50 ซม.จนถึงกว่า 2 เมตรในที่ลุ่ม เจ้าหน้าที่เร่งอพยพประชาชน เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน เนื่องจากปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง

      นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 9 อำเภอ ส่วนที่เหลือจะได้ทยอยออกประกาศให้ครบทุกอำเภอที่ประสบภัย ขณะนี้ทางจังหวัดได้เร่งส่งถุงยังชีพให้แต่ละอำเภอ เพื่อส่งต่อให้กับผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง ล่าสุดได้ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินถล่ม และวาตภัยแล้ว

      พัทลุง ฝนยังตกหนักเป็นช่วงๆ ทำให้หลายพื้นที่ระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ลุ่มริมทะเลสาบสงขลา ใน อ.ควนขนุน เมือง เขาชัยสน บางแก้ว และปากพะยูน เนื่องจากน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดหลากลงมาท่วมก่อนไหลลงสู่ทะเลสาบ ขณะที่มีน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำระบายลงสู่ทะเลไม่ได้ จึงเอ่อท่วมหนักในพื้นที่ 5 อำเภอดังกล่าว นอกจากนี้ในพื้นที่ ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน น้ำป่าจาก อ.ศรีบรรพต และควนขนุน ไหลหลากลงมาสมทบ และมีถนนรถไฟขวางกั้น ทำให้บ้านเรือนประชาชนกว่า 1,000 ครอบครัว มีน้ำท่วมสูง 1.5-2 เมตร กรมเจ้าท่าได้นำเรือท้องแบนบริการรับส่ง ขนย้ายสิ่งของให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่

      ชุมพร ห้วงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเกิดฝนตกเกือบทั้งวัน ทำให้มีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองชุมพร โดยเฉพาะถนนประชาอุทิศ ถนนพิศิษฐ์พยาบาล ซึ่งเป็นย่านร้านค้า ตลาดสด และสถานศึกษาคือ โรงเรียนศรียาภาย โรงเรียนสะอาดเผดิมวิทยา วิทยาลัยอาชีวศึกษาชุมพร และโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มีระดับน้ำท่วมขัง 20-30 เซนติเมตร ส่งผลให้รถจักรยานยนต์ของนักเรียน นักศึกษา ที่จอดเรียงแถวอยู่ริมถนนหน้าสถานศึกษาจมน้ำเสียหายหลายคัน นอกจากนี้ฝนที่ตกหนักในเขตเทศบาลเมืองชุมพร ทำให้ดินอิ่มตัวจนรั้วบ้านพังทลายทับบ้านและโรงจอดรถของเพื่อนบ้านพังเสียหายไปด้วย 1 หลัง

ช่วยชาวสวนยางรายละ 3 พัน

      การรถไฟแห่งประเทศไทยแจ้งว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้ปรับเปลี่ยนการเดินรถสถานีต้นทางปลายทาง และงดเดินขบวนรถบางขบวนในเส้นทางสายใต้ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.63 ต่อมาวันที่ 3 ธ.ค. สถานการณ์ระดับน้ำในพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย การรถไฟฯ จึงได้ประกาศปรับเปลี่ยนการเดินรถสถานีต้นทางปลายทาง และงดเดินขบวนรถบางขบวนในเส้นทางสายใต้ในวันนี้อีก 1 วัน โดยให้ขบวนรถที่มีปลายทางสถานีตรัง กันตัง และนครศรีธรรมราช เดินรถถึงสถานีชุมทางทุ่งสงและสถานีคลองจันดี และทำการขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์ไปยังสถานีปลายทางต่อไป สำหรับประชาชนที่ซื้อตั๋วโดยสารเดินทางกับขบวนรถดังกล่าวข้างต้น หากไม่ประสงค์จะเดินทาง สามารถติดต่อขอคืนเงินได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วสถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง

      นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักและทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ทั้งหมดประมาณ 5,274,333 ไร่ เป็นเกษตรกร จำนวน 478,760 ราย ขณะนี้ได้สั่งการให้ กยท.เขต และ กยท.จังหวัดในภาคใต้เร่งสำรวจสวนยางที่เกิดความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่ง กยท.มีมาตรการช่วยเหลือกรณีสวนยางประสบอุทกภัยผ่านกองทุนพัฒนายางพารา โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ ต้องเป็นสวนยางที่ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหายจนเสียสภาพสวน หรือได้รับความเสียหายในคราวเดียวกันไม่น้อยกว่า 20 ต้นต่อไร่ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท

            ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 4 ธ.ค.2563)" ฉบับที่ 18 ลงวันที่ 03 ธันวาคม 2563 ความว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ยังคงมีกำลังแรง สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนปกคลุมช่องแคบมะละกา ทำให้บริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะบริเวณที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่างๆ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

      ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง และชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 4 ธ.ค.63.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"