มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ : ทำเพียงพอแล้วหรือต้องทำเพิ่มขึ้นอีก


เพิ่มเพื่อน    

 

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างรุนแรงและขยายวงกว้างรวดเร็ว รัฐบาลแต่ละประเทศรวมทั้งไทย จำเป็นต้องจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเข้มข้น  ภาครัฐออกมาตรการการคลังแก้ปัญหาและเยียวยาขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  และความเสี่ยงระบบการเงินโดยรวมเปราะบางมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวแรง ส่งผลต่อรายได้ภาคครัวเรือนและธุรกิจ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพสินเชื่อด้อยลง  

ธปท.จึงออกมาตรการช่วยลูกหนี้ผ่านสถาบันการเงิน เช่น พักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แก่ SMEs ที่มีวงเงินรวมของกลุ่มไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน เริ่ม 23 เม.ย.- 22 ต.ค.2563 และไม่เป็นการผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญา แต่ยังคิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่พักชำระหนี้ รวมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการรวมหนี้ (debt consolidation) ลูกหนี้รายย่อย และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditors) เป็นต้น

 

        ต่อมา ธปท.“ขยายการพักหนี้ ” ผ่อนปรนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย อีกประมาณ 3 เดือน ถึงสิ้นปี 2563 เพื่อให้ไปเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย  โดยคงสถานะลูกหนี้ ไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) และพร้อมเปิดให้ลูกหนี้ขอพักหนี้ต่อได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563

 

          ที่ถูกถามบ่อยคือ การปรับโครงสร้างหนี้ที่ทำอยู่เพียงพอแล้วหรือไม่ เพราะเมื่อพบนักธุรกิจหลายรายเขาก็บอกว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารโทรมาติดต่อและแจ้งให้พักชำระหนี้แล้ว การปรับโครงสร้างหนี้เสร็จแล้ว แต่ธุรกิจยังแย่อยู่

 

          คำตอบขึ้นกับหลักการที่ว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ลูกหนี้ของสถาบันการเงินไม่สามารถชำระหนี้ตามเงื่อนไขเดิมได้  เจ้าหนี้คือสถาบันการเงินและลูกหนี้ จึงควรเจรจากันเพื่อกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้กันใหม่ให้สอดคล้องกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่เป็นอยู่และที่คาดการณ์ในอนาคตอันใกล้ของลูกหนี้ ซึ่งเมื่อมีการเจรจาหรือที่เรียกว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็สามารถชำระหนี้ได้  เจ้าหนี้ก็มีรายได้ดอกเบี้ยและรับเงินต้นคืน นำเงินต้นและดอกเบี้ยไปปล่อยกู้ใหม่ ให้สินเชื่อหมุนเวียนต่อไปได้  สถาบันการเงินมีความมั่นคง ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ให้กู้คือสถาบันการเงิน non-banks และย้อนมากระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

 

         ถ้าดูประสบการณ์การปรับโครงสร้างหนี้ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ การปรับโครงสร้างหนี้เมื่อเดินสุดทาง ส่วนใหญ่มีผลคล้ายคลึงกัน 3 ลักษณะ คือ (1) เจ้าหนี้ลดหนี้ (Hair cut) ดอกเบี้ยคงค้างให้ทั้งหมด ต้นเงินแบ่งเป็น 3 ก้อน ก้อนแรกแปลงหนี้เป็นทุน  ก้อนที่สองเป็นหนี้ปกติจ่ายคืนระยะ 10 ถึง 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ๆ ปีแรก แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปจนถึงอัตราสูงสุดที่ MLR  เงินต้นก้อนที่สามตั้งพักไว้ ไม่มีดอกเบี้ยจ่าย และเริ่มชำระเงินต้นส่วนนี้คืน เมื่อชำระต้นเงินก้อนที่สองหมดแล้ว  (2) ก่อนแปลงหนี้เป็นทุน ผู้ถือหุ้นเดิมต้องลดทุนก่อน จากนั้นเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนเข้ามา  ลูกหนี้เดิมจะเหลือทุนจำนวนไม่มาก เช่น ร้อยละ 10 ของหุ้นใหม่ทั้งหมด ทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ลงทุนไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น หุ้น ที่ดิน ก็โอนใช้หนี้ไป (3) การบริหารงาน เจ้าหนี้แต่งตั้งผู้แทนเข้ามาเป็นกรรมการและกรรมการบริหาร ส่วนลูกหนี้เดิมส่วนใหญ่เป็นแค่กรรมการ 

 

         ถ้าถือตามหลักการข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะนี้เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นส่วนใหญ่เพียงพักชำระหนี้ออกไปเป็นสำคัญ ทั้ง ๆ ที่การปรับโครงสร้างหนี้ยังมีวิธีการอีกมาก และสามารถปรับโครงสร้างหนี้เพื่อป้องกัน เพื่อให้ลูกหนี้เข้มแข็งกว่าปัจจุบันได้  พร้อมที่จะดำเนินธุรกิจเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ปัจจุบันลูกหนี้จำนวนมากไม่มีประสบการณ์ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เพราะวิกฤตรอบนี้เป็นลูกหนี้รายย่อย คือหนี้บ้าน เช่าซื้อรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น จึงไม่มีข้อมูลปรับโครงสร้างหนี้มากพอ

 

        การชะลอชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน และต่ออายุไปอีก 9 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564  เหมือนมีท่ออ๊อกซิเจนช่วยประคับประคองลูกหนี้ให้รอดรอเวลาเศรษฐกิจฟื้นตัว และไปชี้ชะตาวันสิ้นสุดการพักหนี้ว่าธุรกิจจะเดินต่อหรือเข้าขบวนการปรับโครงสร้างหนี้จริงจัง อย่างไรก็ดีการไม่รู้และไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับเพียงบางส่วน จะไม่สอดคล้องกับสถานะทางการเงินแท้จริงของผู้ประกอบการ  อาจเป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น

 

      คำถามที่ตามมาคือลูกหนี้ควรทำอย่างไร อยู่เฉยๆ รอวันสิ้นสุดการผ่อนผันการชำระหนี้ หรือเข้าไปหาเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินเพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรสนับสนุนอะไรเพิ่มเติม

 

     ผมเห็นว่าลูกหนี้ที่เจ็บไม่ถึงล้มและใจกายสู้  ควรไปเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเชิงป้องกันก็ได้ เช่น ขอยึดหนี้ ขอลดอัตราดอกเบี้ย ขอเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น เพื่อปรับเงื่อนไขชำระหนี้ ให้มีความพร้อมทำธุรกิจเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว  ส่วนลูกหนี้ NPL ที่ยังสู้ ให้ไปเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน เช่น ขอยึดหนี้ให้ยาวขึ้น พักชำระเงินต้น ชำระแต่ดอกเบี้ย ขอยกเลิกดอกเบี้ยปรับ เป็นต้น เพราะสถาบันการเงินต้องการเงินต้นและดอกเบี้ยมากกว่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน และการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ลูกหนี้ได้เงื่อนไขที่ดีและสถาบันการเงินยอมรับได้

        ในส่วนผู้กำหนดนโยบาย (1) การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระบนฐานเงินต้นที่ผิดนัดชำระจริง (2) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปีของสัญญาเดิม และ (3) กำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้นำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยและเงินต้นของยอดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ได้ช่วยผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ได้รับคำชมในหมู่ผู้ประกอบการรายย่อยและกลางมาก อย่างไรก็ดีจากการพูดคุยกับอดีตผู้บริหารระดับสูงสุดของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจ คือควรร่างรูปแบบการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นมาตรฐานตามลักษณะสินเชื่อ เช่น สินเชื่อบ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต ควรมีเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นมาตรฐานกลาง และให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจนำไปปรับใช้ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขหนี้รายย่อยทำได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจนะครับ

 

 สมศักดิ์  วงศ์ปัญญาถาวร

มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"