3 ธ.ค. 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “โควิด19 กับอนาคตเศรษฐกิจไทย 2021” ว่า ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และอัตราการถดถอยของเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ต่ำเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ เนื่องจากรัฐบาลได้พยายามดูแลสถานการณ์เศรษฐกิจรากหญ้า และผู้ประกอบการคนตัวเล็ก ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการกว่า 94% สามารถกลับมาเดินหน้าต่อได้ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ต้องเข้าไปดูแลเพิ่มเติม ซึ่งถือว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะสถานการณ์ของสถาบันการเงินไทยอยู่ในระดับที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้ต่อได้โดยไม่มีปัญหา และไม่น่าจะเกิดความเสียหาย
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ เชื่อมั่นว่าจะติดลบน้อยกว่า 6% เนื่องจากการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ส่วนในปี 2564 เชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ที่ระดับ 3-4% โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากโควิด-19 จะใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือน หรืออาจจะเร็วกว่านั้น เพราะภาคการเงินของไทยแข็งแกร่งมาก เรียกว่ากระดูกยังดีอยู่ ทำให้วิกฤติเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ไม่น่ากลัวเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งตอนปี 2540 ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานถึง 3-4 ปี
“ปีหน้ายังมีความท้าทายอยู่มาก เพราะแม้ว่าวัคซีนโควิด-19 จะสำเร็จ แต่ก็คงใช้ได้ในไตรมาส2-3/2564 ดังนั้นระหว่างนี้ไทยต้องเตรียมตัวเพื่อเปลี่ยนประเทศ รัฐบาลไม่ต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาโตเท่าเดิม หรือเหมือนเดิม แต่ต้องการให้ประเทศเปลี่ยนไปดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ปี 2564 จึงเป็นปีที่ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ได้เดินหน้าไว้ เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม เปลี่ยนการส่งออกเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น รัฐบาลไม่ต้องการทำเรื่องเดิม ๆ สิ่งเดิม ๆ ต้องการทำสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ต้องการก้าวไปข้างหน้า ดังนั้นปีหน้าจึงจะเป็นปีแห่งการปฏิบัติการเชิงรุก ผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของสำนักงานภูมิภาคต่าง ๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสร้างความเจริญ ดึงดูดคนเก่งด้วยมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้เตรียมเอาไว้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลยังมีเม็ดเงินเพียงพอในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ที่ส่วนหนึ่งแบ่งไปใช้ในด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท และมีการจ่ายเยียวยาประชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้ว 3-4 แสนล้านบาท โดยยังเหลือวงเงินอีก 5-6 แสนล้านบาท ที่จะเป็นกระสุนในการฟื้นฟูและดูแลเศรษฐกิจในกรณีที่โควิด-19 ยังไม่ยุติได้ ตรงนี้เป็นแนวทางการบริหารด้านการคลัง
ขณะที่นโยบายด้านการเงิน ดำเนินการผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และระบบสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันระบบสถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับผลกระทบต่าง ๆ ส่วนสถานการณ์เรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ส่งผลทำให้เงินดอลล่าร์ไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันถือว่าต่ำมากแล้ว ถ้าลดลงกว่านี้ก็จะสู่ระดับ 0% ต่อปี ถึงติดลบ หลายประเทศก็ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในลักษณะนี้ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีช่องทางที่ทำให้เงินดอลล่าร์เข้า-ออกสะดวกได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมผล อย่าง ธปท. ก็มีมาตรการต่าง ๆ ออกมาดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา
“มาตรการด้านการคลังตอนนี้ เน้นให้เกิดการใช้จ่ายเป็นสำคัญ ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการช็อปดีมีคืน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการเงินมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท. ที่หมดลง ก็ได้ปรับเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุดเป็นรายคนมากขึ้น ส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ คลังได้สั่งให้ขยายมาตรการออกไปถึง มิ.ย. 2564” นายอาคม กล่าว
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ เชื่อว่าจะติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ หลังจากดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3/2563 จีดีพีติดลบที่ 6.4% น้อยกว่าคาดการณ์ที่คาดว่าจะติดลบ 7-10% ส่วนปี 2564 คาดว่าจีดีพีจะกลับมาโตเป็นบวกได้ที่ระดับ 4-5%
นายอาคม กล่าวอีกว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างภาษี เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกอนาคต โดยนำบทเรียนที่ได้จากโควิด-19 เช่น เรื่องเทคโนโลยี ธุรกิจโฮมดิลิเวอร์รี่ การช้อปปิ้งออนไลน์มาเป็นตัวเสริมเพื่อให้ไทยแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมที่ไฮเทคมากขึ้น รวมถึงต้องให้ความสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ทันสมัย รวมถึงการลงทุนในอีอีซีด้วย
“การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสามารถรองรับการใช้จ่ายในอนาคตได้ เพราะงบประมาณ 70% เป็นเรื่องรายจ่ายประจำ ตรงนี้ลดยาก มีทางเดียวคือการเพิ่มประสิทธิภาพผ่านการขยายฐานภาษี” นายอาคม กล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวติดลบที่ 7% โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. ที่ผ่านมา การส่งออกติดลบไปแล้ว 6.71% แต่ขณะนี้สถานการณ์การส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวได้ ทำให้เชื่อว่าในปี 2564 การส่งออกจะสามารถกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ที่ระดับ 4% โดยตลาดส่งออกสำคัญเริ่มฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย อาทิ จีน อินเดีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับนั้น เป็นผลดีกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพราะภาคการส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์ 1 ใน 4 ที่จะช่วยขับเคลื่อนจีดีพีประเทศ โดยที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันนโยบายเพื่อส่งเสริมการส่งออกมาอย่างถูกทาง ผ่านการสร้างนวัตกรรมทางการตลาดใหม่ ๆ หลายเรื่อง ทำให้ตัวเลขส่งออกติดลบไม่มาก และมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้เรื่อย ๆ มาตรการเชิงรุกทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนที่ทำให้ส่งออกของไทยไม่หยุดนิ่งแม้จะเจอสถานการณ์โควิดก็ตาม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |