‘ก๊วนกทม.’ปัดชิ่ง แขวะ‘เพื่อไทย’ เล่นเกมให้น้อย


เพิ่มเพื่อน    

 

ก๊วน กทม.ปัดเตรียมชิ่งหนีตาม "หญิงหน่อย" บอกยังรักพรรคเพื่อไทย แต่กระตุกผู้บริหาร พท.คิดการเมืองให้น้อยลง  เอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ฝ่ายค้านจ่อยื่นศาล รธน.ตีความสร้างบรรทัดฐานร่าง พ.ร.บ.ประชามติ รอดูท่าทีหลายฝ่ายก่อนจะเข้าร่วมวงสมานฉันท์หรือไม่
    เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตผู้สมัครส.ส.กทม. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กลุ่ม กทม. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ช่วงนี้มีโทรศัพท์เข้ามาเยอะ หลายกระแสเหลือเกิน คาดการณ์ไปต่างๆ นานา จึงขอชี้แจงคร่าวๆ ดังนี้นะครับ 1.ผมและทีมงานพื้นที่ทั้งหมดยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และรักพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลง 2.ผมยังคงใส่เสื้อพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ทุกครั้ง หาเสียงให้พรรคในทุกครั้งที่พบเจอชาวบ้าน ขอคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทยทุกครั้ง 3.ที่ผมตัดสินใจออกมาให้สัมภาษณ์สดวันนี้ ออกมาจากความรู้สึกส่วนตัวที่ผมอึดอัด 4.ผมไม่ได้ออกมาพูดแทนใครทั้งนั้น อย่าคิดว่าผมเป็นเด็กของใครหรืออะไร เพราะสิ่งที่ผมออกมาพูดล้วนมาจากความรู้สึกส่วนตัวและผมเชื่อว่าสมาชิกพรรคทุกคน ย่อมสามารถสะท้อนความเห็นได้ ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานของประชาธิปไตย โดยเฉพาะในพรรคการเมือง  
    "ผมขอย้ำว่า ผมรักพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม เพราะบ้านหลังนี้ คือที่ที่มอบโอกาสให้ผมคนนี้ได้เข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ตามความฝันของผมที่อยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น โดยผมเองเดินต่อสู้เพื่อพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มที่มาโดยเสมอ ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง จนหลังถึงวันนี้ที่สอบตก ก็ยังเต็มที่เหมือนเดิม ไม่มีผ่อน ลึกๆ อยากหวังว่าผู้บริหารจะคิดการเมืองให้น้อยลง เอาผลลัพธ์ของประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มันคงจะดีกว่านี้" นายตรีรัตน์กล่าว
    นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการกำลังพิจารณาก่อนที่จะนำเข้าสู่รัฐสภาในวาระที่ 2-3 ในช่วงต้นปี 2564 เป็นเพียงเกมการเมืองที่รัฐบาลต้องการซื้อเวลาให้นานที่สุด เพื่อหวังที่จะบรรเทาสถานการณ์ทางการเมือง เมื่ออยากแก้รัฐธรรมนูญก็ให้แก้ แต่ไม่จริงใจทั้งหมด รัฐบาลสามารถสั่งได้ว่าจะให้ออกมาอย่างไร เพราะสามารถคุมเสียงได้ทั้งหมด ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ดังนั้นเมื่อเป็นผู้คุมเกมจะสั่งซ้ายหันขวาหันก็ได้ จะคว่ำในขั้นตอนไหนก็ได้ รวมทั้งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่มีความจริงใจกับประชาชนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่แรก ดังนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการเป็นการหาข้ออ้างว่า รัฐบาลได้ฟังเสียงประชาชนแล้ว เพื่อหยุดกระแสต้านเท่านั้น
    “พล.อ.ประยุทธ์โยนบาปให้ผู้ชุมนุมว่าทำลายเศรษฐกิจประเทศ ทั้งที่การชุมนุมมีเวลาแน่นอน ไม่กระทบกับความเป็นอยู่ประชาชน ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาการชุมนุมไม่ยาก หากรัฐบาลจะลงมาแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ แต่ พล.อ.ประยุทธ์มองว่าตัวเองเป็นเทวดา จึงมองไม่เห็นหัวประชาชน แต่มักอ้างประชาชนตลอด 6 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์สร้างภาระให้ประเทศมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา” นายวิสารกล่าว
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.… ของฝ่ายค้าน ที่ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่า เรื่องการถอนฝ่ายค้านไม่ติดใจ แต่การที่ยื่นไปทางสภาผู้แทนราษฎรนั้น เพื่ออยากให้มีหน่วยงานหรือองค์กรมาชี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปฏิรูปประเทศหรือไม่ และควรจะเป็นการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา หรือของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากได้ความชัดเจนก็อาจจะถอนก็ได้
    เมื่อถามว่า จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ก็น่าจะถึงขั้นนั้น และอยากบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กแล้วทำเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราต้องการสร้างบรรทัดฐาน เนื่องจากหวั่นว่ารัฐบาลจะเสนอกฎหมายปฏิรูปประเทศเข้ามามั่วๆ อีกหลายฉบับ ทั้งนี้ คงไม่กระทบกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติของรัฐบาล เนื่องจากเรายื่นตีความเฉพาะของร่างฝ่ายค้านว่ามาถูกทางหรือไม่ ถ้าศาลชี้ว่าของเราที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรผิด แล้วให้ยึดร่างของรัฐบาลเดินหน้าต่อ แต่ถ้าบอกว่าร่างของเราเข้ามาถูกแล้วนั้น เรื่องนี้จะจบอย่างไรก็ยังไม่รู้ อย่างไรก็ตาม การไม่ยื่นร่างของรัฐบาล เนื่องจากอยากให้ร่างที่รับหลักการเดินหน้าไป ไม่สะดุด และการยื่นร่างของฝ่ายค้านก็จะได้คำตอบไปยังร่างของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ เราอยากได้การทำประชามติ เพราะตามหลักการต้องทำและต้องรวดเร็ว แต่จะต้องไม่ผิด ไม่สร้างบรรทัดฐานที่จะมีปัญหาในอนาคต
     นายสุทินกล่าวถึงท่าทีฝ่ายค้านในการเข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ได้รับหนังสือจากประธานสภาผู้แทนราษฎรถึงเรื่องการส่งตัวแทนร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว ซึ่งตนจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมร่วมฝ่ายค้านในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ซึ่งการจะร่วมหรือไม่ หรือได้ชื่อคนหรือไม่นั้น ต้องรอดูมติอีกครั้ง
    เมื่อถามว่าจะต้องฟังเสียงผู้ชุมนุมว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ เพราะยังหาช่องทางการเชิญผู้ชุมนุมเข้าร่วมยังไม่ได้ นายสุทินกล่าวว่า จากเสียงของที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเขาไม่ได้ปฏิเสธ แต่อยากจะดูท่าทีของผู้ชุมนุมก่อน เพราะเป็นกลุ่มสำคัญและฝ่ายอื่นๆ จะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ หากผู้ชุมนุมและฝ่ายอื่นๆ เข้าร่วม พรรคฝ่ายค้านก็คงจะไม่มีปัญหา ส่วนกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้มีการตั้ง กมธ.เพื่อพูดคุยหาทางออกนั้น เป็นอีกแนวทางที่ฝ่ายค้านได้เสนอ ทั้งนี้ หลายคนมองว่าการตั้งเวทีในรูปแบบของกรรมาธิการ เพื่อให้คู่ขัดแย้งมาพูดคุยกัน เป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ส่วนรูปแบบกรอบประเด็นที่จะพูดคุยนั้นยังอีกไกล
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุให้มองหาคนที่เป็นกลางเข้าไปร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าไม่ทราบเรื่อง และนายกฯ ไม่ได้ปรารภกับตน ส่วนจะพูดกับคนอื่นหรือเปล่านั้นไม่ทราบ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า คนที่เป็นกลางใน ครม.ดูแล้วมีใครที่เหมาะสมบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี และเรื่องนี้นายกฯ คงเลือกเอง หรือจะนำเข้า ครม.ก็ได้ แต่เรื่องนี้ตนไม่รู้เลย ทราบแต่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้แจ้งโควตาของรัฐบาลมาแล้ว ซึ่งจะเป็นคนนอก ส.ส.หรือใครก็ได้ แต่ถ้าเป็นรัฐมนตรีอาจจะไม่ว่างไปนั่งฟัง เพราะถ้าเป็นกรรมการจะต้องว่างไปนั่งฟังด้วย
    เมื่อถามว่า หากเป็นตัวแทนที่มาจากรัฐมนตรี อาจดูไม่ค่อยเป็นกลางใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องเป็นกลางหรือไม่กลาง แต่เกี่ยวกับภารกิจของรัฐมนตรี และให้ไปดู 7 ภาคี ก็ไม่กลางอยู่แล้ว.  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"