ยุคที่บารัก โอบามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องการให้จีนเข้ามาอยู่ในกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกหรือ WTO
ผู้นำสหรัฐฯ มีจุดยืนว่าอเมริกาต้องเป็นคนกำหนดกติกาของโลก
เหมือนที่โจ ไบเดนประกาศเอาไว้เช่นกัน
พอมีข่าววว่าสี จิ้นผิงของจีนประกาศว่าจีนได้ร่วมก่อตั้ง RCEP เป็นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดของโลก ไบเดนก็ประกาศว่าวอชิงตันจะยอมให้จีนเป็นผู้เขียนกติกาการค้าของโลกไม่ได้ สหรัฐฯ ต้องเป็นผู้นำในการกำหนดกติกา
จึงแน่ใจได้ว่าไบเดนจะไม่ยอมให้จีนเป็นพระเอกของการค้าในเอเชียแน่นอน
ส่วนไบเดนจะให้อเมริกากลับมาเล่นบทพระเอกอย่างไรนั้นต้องคอยดูย่างก้าวต่อไป
การที่โอบามาชวนพันธมิตรมาก่อตั้ง Trans-Pacific Partnership (TPP) กลายเป็นนโยบายที่โดดเด่นในยุคสมัยนั้น
เป้าหมายของโอบามาตอนนั้นชัดเจนข้อแรกคือ ต้องการจะโดดเดี่ยวจีน
TPP ไม่ได้ชวนจีนมาร่วมด้วย
แต่ก้าวที่สองของโอบามาในเรื่องนี้คือ การเขียนกฎกติกาของ TPP นี้อย่างเคร่งครัด เช่น เรื่องห้ามรัฐวิสาหกิจอุดหนุนธุรกิจและมาตรฐานแรงงาน, สิ่งแวดล้อม, ทรัพย์สินทางปัญญา
มีคำถามว่าทำไมจึงเขียนเงื่อนไขเหล่านี้อย่างเข้มข้น ในเมื่อจีนไม่ได้อยู่ในเขตการค้าเสรีใหม่นี้
คำตอบก็คือ โอบามาประเมินไว้แล้วว่าในท้ายที่สุดจีนก็ต้องขอเข้ามาร่วม TPP อยู่ดี เพราะจีนกลัวจะเข้าตลาดสหรัฐฯ ไม่ได้
นั่นอาจจะหมายถึงการที่โรงงานอาจจะย้ายจากจีนไปเวียดนามเพื่อส่งสินค้าไปขายในสหรัฐฯ เพราะเป็นสมาชิก TPP เหมือนกัน
นั่นแปลว่าโอบามาวางแผนไว้สองชั้น
ชั้นแรกโดดเดี่ยวจีน ชั้นที่สองเมื่อจีนขอเข้าร่วม ก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก
พอโดนัลด์ ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ก็ฉีกสัญญา TPP ทิ้ง เพราะไม่เชื่อว่าจีนจะมาเล่นด้วย
อีกทั้งคนอเมริกันจำนวนหนึ่ง (ที่ชอบทรัมป์) ไม่ชอบเรื่องเขตการค้าเสรีและ "โลกาภิวัตน์" เพราะมองว่าคนงานอเมริกันตกงานส่วนหนึ่งเพราะโรงงานถูกย้ายไปต่างประเทศรวมทั้งจีน
ทรัมป์เล่นกับคนเหล่านี้ เพราะทรัมป์เห็นว่าโอบามาใช้ความเป็นนักกฎหมายในการดำเนินนโยบาย ทรัมป์ต้องการเล่นแบบพ่อค้า หรือวิธีแบบนักเลง
ทรัมป์เลิกเล่นเกมพหุภาคี หันมาใช้แนวทางทวิภาคี เจรจากันแบบสองต่อสองที่ทรัมป์เชื่อว่าสหรัฐฯ จะได้เปรียบมากกว่า และสามารถกดดันจีนได้มากกว่า
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการจีน บอกผมว่านักวิชาการส่วนใหญ่วิเคราะห์ว่า RCEP เป็นเวทีของจีน ส่วน CPTPP เป็นสิ่งที่อเมริกาสร้างแต่ก็ถอนตัวออกไป
เดิมคนเชื่อว่าจีนคงไม่สนใจเข้าร่วม CPTPP เพราะอเมริกาเขียนกติกาเอาไว้เคร่งครัดมาก แต่อยู่ดีๆ สี จิ้นผิงมาประกาศว่าจีนสนใจจะเข้า CPTPP จึงกลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างเซอร์ไพรส์อย่างกว้างขวางพอสมควร
"สังเกตไหมครับว่าโจ ไบเดนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดคำว่า TPP แม้ตั้งแต่หาเสียงก็ไม่พูดถึงโดยตรง..." ดร. อาร์มบอก
อาจารย์เห็นว่าไบเดนอยากให้อเมริกากลับมาร่วม TPP แน่ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองในประเทศ เขาพูดออกมาชัดๆ ไม่ได้เพราะจะเสียฐานเสียงบางส่วน
"ตั้งแต่การเลือกตั้ง 4 ปีที่แล้ว นอกจากทรัมป์จะออกมาต่อต้าน TPP แล้ว ฮิลลารี คลินตันที่เป็นคู่แข่งทรัมป์ขณะนั้นก็ยังต้องประกาศไม่สนับสนุน TPP เพราะกลัวจะเสียคะแนนจากกลุ่มคนอเมริกันที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์..."
ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันก็ไม่กล้าออกมายืนเคียงข้างเขตการค้าเสรีอย่าง TPP เพราะไม่มีเสียงสนับสนุนภายในประเทศเพียงพอ
คนอเมริกันจำนวนหนึ่งไม่ปลื้มกับ "เขตการค้าเสรี" หรือ "โลกาภิวัตน์" ที่พวกเขาเห็นว่าทำให้คนตกงานและรายได้คนอเมริกันถูกประเทศอื่นแย่งไป
ไบเดนจึงตกอยู่ในฐานะลำบากที่จะประกาศสนับสนุน TPP
แต่สี จิ้นผิงยืนอยู่อีกจุดหนึ่ง
"สี จิ้นผิงไม่อยากจะแสดงออกถึงความกระตือรือร้นที่จะเข้า TPP แต่ต้องทำอย่างนั้น...ใจจริงๆ แกก็คงไม่อยากให้จีนเข้า TPP นัก เพราะมาตรฐานที่สหรัฐฯ เขียนเอาไว้ค่อนข้างสูง ทำให้จีนต้องปฏิรูปมาก แต่สี จิ้นผิงจำเป็นต้องส่งสัญญาณ..."
สัญญาณของสี จิ้นผิงคืออะไร? พรุ่งนี้ว่าต่อครับ.
ที่มาภาพ:http://hanoitimes.vn/rcep-regional-free-trade-pact-with-profound-impacts-on-the-world-314977.html
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |