2 พ.ย.2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมว่า วงเงินคำขอเบื้องต้นของ 8 ส่วนราชการ และ 5 รัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 6.29 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนราชการ 5.05 แสนล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 1.24 แสนล้านบาท ทั้งนี้หน่วยงานทางบก มีคำของบประมาณมากที่สุด ได้แก่ กรมทางหลวง(ทล.) 3.84 แสนล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท(ทช.) 8.21 หมื่นล้านบาท ขณะที่ส่วนราชการอื่นๆ ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 5.77 พันล้านบาท, กรมเจ้าท่า (จท.) 1.90 หมื่นล้านบาท, กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 1.22 หมื่นล้านบาท, กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 264 ล้านบาท, สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) 655 ล้านบาท และสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 1.06 พันล้านบาท
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีคำของบประมาณ 6.61 หมื่นล้านบาท, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 4.76 หมื่นล้านบาท, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 1.27 พันล้านบาท, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) 8.30 พันล้านบาท และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) 491 ล้านบาท ทั้งนี้วงเงินคำขอดังกล่าวอาจต้องมีการปรับเพิ่มอีกเล็กน้อย เนื่องจากพบว่าโครงการต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานเสนอมานั้น ยังมีบางเรื่องที่ตกหล่นอยู่ เช่น จท. ได้มอบให้ไปจัดทำแผนและงบประมาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันการบุกรุก และรุกล้ำลำน้ำ รวมถึงชายฝั่ง เพราะทุกวันนี้พบว่ามีการบุกรุกลำน้ำจำนวนมาก แต่ยังไม่เห็นการดำเนินการเรื่องนี้ที่ชัดเจน
นอกจากนี้มอบให้ ทย. พิจารณาศักยภาพท่าอากาศยานทุกแห่งว่า มีพื้นที่ส่วนใดสามารถทำเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้บ้าง และจะดำเนินการรูปแบบใด โดยให้จัดทำแผนให้ชัดเจน เพราะบางครั้งรู้สึกเสียดายงบประมาณที่สร้างท่าอากาศยานขึ้นมาแล้ว แต่ใช้งานไม่คุ้มค่า พร้อมกันนี้ได้ให้นโยบายว่าการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่นั้น จะต้องบูรณาการกับระบบโลจิสติกส์ด้วย ซึ่งในอนาคตท่าอากาศยานต้องอยู่ใกล้ และสอดคล้องกับโครงการในแผนแม่บทมอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่ (MR-MAP)
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้มอบให้ ขบ. พิจารณามาตรการสนับสนุนรถที่ใช้ไฟฟ้า (อีวี) เช่นเดียวกับ รฟท. ได้มอบให้ไปพิจารณานำรถไฟแบบอีวีมาใช้ในไทย โดยให้ดูต้นแบบจากต่างประเทศ ที่ทำเป็นตู้แบตเตอรี่พ่วงกับขบวนรถไฟ เท่าที่ทราบแบตเตอรี่ 1 ตู้ ลากจูงรถไฟได้ 400 กิโลเมตร(กม.) และยังมอบให้ รฟม. พิจารณาว่าสามารถนำระบบดังกล่าวมาใช้กับรถไฟฟ้าทั้ง 14 เส้นทางได้หรือไม่ หากทำได้จะช่วยลดงบประมาณการก่อสร้างได้มาก
“ในกลางเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมจัดทำคำของบประมาณฯ อีกครั้ง ก่อนที่จะสรุปคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 ภาพรวมของหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมให้สำนักงบประมาณพิจารณาในเดือน ม.ค.64 ต่อไป”นายศักดิ์สยาม กล่าว
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล. )กล่าวว่า สัปดาห์หน้า ทล. จะเสนอโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 1 พันล้านบาท จำนวน 23 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาทให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบกลางเดือน ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการขยายถนนจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร อาทิ สายอินทร์บุรี-สากเหล็ก จ.พิจิตร วงเงิน 1.3 พันล้านบาท, สายหล่มเก่า-เลย จ.เลย วงเงิน 2 พันล้านบาท และสายบ้านนายืน-บ้านหาดยาย จ.ชุมพร วงเงิน 1.4 พันล้านบาท เป็นต้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |