2 ธ.ค. 2563 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมชมบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และบริษัท แนบโซลูท จำกัด เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากบีโอไอ ว่า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ทั้งยังเป็นกิจการที่สร้างฐานความรู้ให้แก่สังคมไทยโดยหลังจากนี้บีโอไอมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ และยา (เมดิเคิล ฮับ) ซึ่งครอบคลุมถึงด้านเครื่องมือแพทย์ และการบริการ ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์เฉพาะทาง ซึ่งหลังจากนี้อาจจะต้องมีการไปเพิ่มเงื่อนไขในแต่ละประเภทให้ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการดึงดูดการลงทุน
นางสาวดวงใจ กล่าวถึงบริษัท ใบยาฯ ว่าเป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการส่งเสริมการงทุนจากบีโอไอในกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตที่ใช้เซลล์พืช เงินลงทุน 3.94 ล้านบาท โดยเป็นโครงการผลิตโปรตีนตัดแต่งจากการใช้ใบยาสูบ เพื่อเป็นแหล่งผลิตโปรตีนแบบชั่วคราว ถือเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ใช้ใบยาสูบในการเพาะเลี้ยงโปรตีน ตัดแต่งที่มียีนเป้าหมาย จากนั้นจึงสกัดโปรตีนที่ได้ ออกจากใบของต้นยาสูบ และทำให้บริสุทธิ์ เพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง
ขณะที่ บริษัท แนบโซลูท จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ได้รับส่งเสริมในกิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เงินลงทุน 3.46 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการให้บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ 2 เรื่อง คือ 1.การทดสอบประสิทธิภาพของชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ในการป้องกันเชื้อไวรัส โดยวิธีทดสอบการทะลุผ่านของเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถทำการทดสอบได้ทั้งในรูปแบบตัวอย่างผ้าของชุด PPE หรือทดสอบทั้งชุด PPE และ2.การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องสำอาง ยา สารสกัด และสารออกฤทธิ์ เป็นต้น โดยใช้เทคนิคเซลล์เพาะเลี้ยง
นางสาวสุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวว่าล่าสุดบริษัทได้ใช้โปรตีนที่สกัดได้จากใบยาสูบ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความคืบหน้าล่าสุดคือได้พัฒนาวัคซีนดังกล่าวและเตรียมทดสอบใช้กับมนุษย์ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ภายในกลางปี 2564 และถ้าได้ผลจะถือว่าเป็นวัคซีนของคนไทย 100% และจะสามารถกระจายให้ใช้ได้กับคนไทยในประเทศภายในช่วงปลายปี 64 หรือต้นปี 65 ซึ่งคาดว่าราคาที่ตั้งไว้ไม่น่าจะเกิดเกณฑ์ที่ผู้ผลิตหลายเจ้ากำหนด หรือประมาณ 500 บาทต่อ 1 โดส หรือต่ำกว่านั้น เนื่องจากวัตถุดิบของบริษัททำมาจากพืช
นอกจากนี้บริษัทยังได้เตรียมลงทุนพัฒนาพื้นที่เพื่อขยายกำลังการผลิตวัคซีนดังกล่าว โดยจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันกำลังกาพันธมิตรในการร่วมมืออยู่ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่รวบรวมการวิจัยและพัฒนาแล้ว ทั้งนี้บริษัทเตรียมดำเนินการพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 เพิ่มเติมด้วย ซึ่งจะเป็นคนละส่วนกับวัคซีน โดยปัจจุบันต้องรอสัตว์ทดลองที่สั่งจากต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาทดลองยาตัวดังกล่าว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงปีหน้าเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนของกิจการเทคโนโลยีชีวภาพนี้ ตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนก.ย. 2563 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว จำนวน 51 โครงการ เงินลงทุน 25,449 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 20 โครงการ สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์นั้น ตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนก.ย. 2563 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุน 1,918 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 10 โครงการ ซึ่งยังถือว่าไม่มากนัก แต่เราจะโตไปพร้อมกัน และบีโอไอพร้อมสนับสนุน
อย่างไรก็ตามคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์นับรวม ทุกประเภทกิจการที่อยู่ภายใต้หมวดนี้ จากสถิติตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนก.ย. 2563 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 129 โครงการ เงินลงทุนรวม 30,887 ล้านบาท จากสถิติที่ผ่านมาในอดีตจะพบว่า กิจการในกลุ่มการแพทย์ มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเฉลี่ยปีละ 30 กว่าโครงการ แต่มียอดพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 60 โครงการภายในระยะเวลา 9 เดือนของปี 2563 นี้ ซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |