เที่ยวเมืองรอง 'บุญบั้งไฟยโสธร 2561'


เพิ่มเพื่อน    

    

    อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเมืองไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ฤดูฝน ที่มาพร้อมกับประเพณีท้องถิ่นสำคัญของชาวอีสาน นั่นคือประเพณีบุญบั้งไฟ (Bun Bang fai Festival) มรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยมีความเชื่อดั้งเดิมว่าการจุดบั้งไฟเป็นการบูชาพระยาแถน ซึ่งเป็นเทพที่ดูแลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อประโยชน์ต่อการทำการเกษตร และในปัจจุบันได้กลายเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง 
    นางธนกร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี รับผิดชอบพื้นที่ (อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-ยโสธร-อำนาจเจริญ) กล่าวว่า ททท.ร่วมกับจังหวัดยโสธรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2561 บริเวณวิมานพญาแถน สวนสาธารณะพญาแถน และถนนภายในเขตเทศบาลเมืองยโสธร    


    งานประเพณีบุญบั้งไฟเป็นงานประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสานที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลปักดำทำนา จะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถนบนฟากฟ้า เพื่อขอให้พญาแถนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งฝน ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล หล่อเลี้ยงพืชผลการเกษตรที่ชาวบ้านทำไว้
    “น้ำฝนจากฟ้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์คืองานประเพณีแห่และจุดบั้งไฟจึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อเป็นความหวังและกำลังใจของพี่น้องชาวอีสานมาโดยตลอด” 


    สำหรับปีนี้ นอกจากกิจกรรมสำคัญคือ การประกวดขบวนแห่บั้งไฟ, งานพาแลง, การแสดงตำนานบุญบั้งไฟในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 และการแข่งขันการจุดบั้งไฟแฟนซีและบั้งไฟขึ้นสูงในวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 แล้ว ตลอดช่วงเวลาของการจัดงาน นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์โอท็อปขึ้นชื่อของเมืองยโสธร เช่น หมอนขวานผ้าขิด, ปลาส้มยโสธร และสินค้าอื่นอีกมากมาย อีกทั้งยังเลือกชิม อิ่มอร่อยกับมหกรรมอาหารอีสาน รวมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสาน การประกวดธิดาบั้งไฟโก้ การประกวดกองเชียร์ ประกวดกาพย์ เซิ้งบั้งไฟ  


    ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี กล่าวต่อว่า จังหวัดยโสธรยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด อาทิ วิมานพญาแถน แลนด์มาร์คใหม่จังหวัดยโสธร หรือพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก ที่เป็นแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์ตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับพญาคันคากและบั้งไฟ อันเป็นความเป็นมาของจังหวัดยโสธร 


    นอกจากนี้ยังมีเส้นทางน่าสนใจคือ การไปเยือนชุมชนบ้านสิงห์ท่า ค้นหาอดีตเมืองยโสธร ย่านเก่าซึ่งมีถนนวนรอบลัดเลาะเชื่อมถึงกัน ระหว่างชุมชน ตลาด โรงเรียน และวัด 3 แห่ง ได้แก่ วัดมหาธาตุ วัดศรีธรรมาราม และวัดสิงห์ท่า รวมถึงศาลหลักเมืองและสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนบานประตูและหน้าต่างเป็นทรงโค้ง ซึ่งยังเหลือให้เห็นอยู่ริมถนนศรีสุนทร นครปทุม อุทัยรามฤทธิ์ และถนนวิทยธำรง
    สถานที่ต่อมาไม่ควรพลาดเช่นกัน คือการไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทยโสธร  โบราณสถานสำคัญที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งอยู่บนเนินทรายริมฝั่งแม่น้ำชีทัศนียภาพสวยงามสงบร่มเย็น มีการแบ่งสัดส่วนเป็นเขตโบราณสถานและโบราณวัตถุชัดเจน ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปปางนาคปรก และศิลาจารึก ที่มีประชาชนหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้บูชาอย่างต่อเนื่อง 
    จากนั้นอาจแวะชมมาลัยข้าวตอกอันเลื่องชื่อที่พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก วัดหอก่อง อำเภอมหาชนะชัย หรืออาจจะแวะไปเยือนวัดอัครเทวดามิคาอิล ที่บ้านซ่งแย้ เป็นโบสถ์คริสต์ที่สร้างด้วยไม้หลังใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว Unseen In Thailand แต่ถ้าชอบเที่ยวหมู่บ้านหัตถกรรมก็สามารถเดินทางไปเยือนบ้านศรีฐาน บ้านนาสะไมย์ บ้านทุ่งนางโอก ซึ่งเป็นแหล่งหัตถกรรมสำคัญของยโสธร เช่น หมอนขวานผ้าขิด และงานจักสานของยโสธร


     “นี่คืออีกหนึ่งงานประเพณีที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สะท้อนวัฒนธรรม วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวอีสานอย่างแท้จริง ที่ ททท.อยากเชิญชวนทุกท่านไปสัมผัสความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวในเมืองระดับรอง” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี กล่าวเชิญชวนปิดท้าย    
    ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0-4524-3770, 0-4525-0714 ททท.สำนักงานอุบลราชธานี รับผิดชอบพื้นที่ (อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-ยโสธร-อำนาจเจริญ) โทรศัพท์ 0-4524-3770, 0-4525-0714 โทรสาร 0-4524-3771 E-mail : [email protected] Facebook : tatubonfanpage.com หรือ โทร.1672 เพื่อนร่วมทาง.    

    เปิดตำนานบุญบั้งไฟ
    เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตาย และได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้
     จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย ในที่สุดพญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมงป่อง ตะขาบ 
สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคกไว้ว่า “ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"