เงื่อนปม-ข้อกฎหมาย จุดพลิกคดีบิ๊กตู่บ้านพักหลวง


เพิ่มเพื่อน    

              แวดวงการเมืองและอีกหลายวงการ เวลานี้ต่างจับจ้องไปที่ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ใน "คดีบ้านพักหลวง-บ้านทหาร" ที่บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตกเป็นผู้ถูกร้องที่ 9 ตุลาการศาล รธน.ได้นัดประชุมลงมติคำร้องคดีนี้ในช่วงเช้าวันพุธนี้ 2 ธ.ค. และนัดอ่านคำวินิจฉัยกลาง เวลาบ่าย 3 โมง

                ยิ่งเมื่อ "ม็อบสามนิ้ว" ออกลูกห้าว ประกาศนัดชุมนุมใหญ่กันที่บริเวณศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ จุดที่ตั้งของศาล รธน.เพื่อร่วมกันฟังผลคำวินิจฉัยคดีวันพุธนี้ ที่ถูกมองว่าเหมือนเป็นการกดดันการวินิจฉัยคดีของ 9 ตุลาการศาล รธน.ไปในตัว ส่วนฝ่ายค้านโดยเฉพาะ "เพื่อไทย" ก็ปั่นกระแสดักทางคำวินิจฉัยของศาล รธน.ไว้แต่หัววันว่า บิ๊กตู่ต้องผิดสถานเดียว ฐานอยู่บ้านพักที่ตั้งในบริเวณกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต หลังเกษียณอายุราชการ เพราะเห็นว่าเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญและมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง พ.ศ.2561

                อันพบว่าเพื่อไทยโหมกดดันศาล รธน.หนักมากในช่วง 2-3 วันก่อนวันตัดสินคดี เสมือนหนึ่งแกนนำเพื่อไทยพอจะรู้แนวคำตัดสินออกมาแล้วว่า จะมาทางไหน เลยพยายามสร้างกระแส "ศาล รธน.อย่าอุ้มนายกฯ" ดักไว้ก่อน เหมือนกับหวังผลให้เกิดการต่อยอดไปถึงม็อบสามนิ้ว หากนายกฯ รอด 

                ผลคำวินิจฉัยคดีบ้านพักหลวงดังกล่าว จะออกมา 2 ทาง คือ

                1.ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง พลเอกประยุทธ์ไม่ได้ทำผิดหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ในเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน ตามมาตรา 183 (4) และ 186

                ที่มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ห้าม ส.ส.-ส.ว.และรัฐมนตรี รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ โดยหากออกมาแบบนี้ ประเทศไทยก็ยังมีนายกฯ ชื่อพลเอกประยุทธ์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ม็อบสามนิ้วก็คงต้องเหนื่อยต่อไป

                2.ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) มีพฤติการณ์กระทำผิดตามคำร้อง

                คืออาศัยอยู่ในบ้านพักรับรอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จึงถือว่าเป็นการได้ประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ

                ผลที่ตามมาก็คือ พลเอกประยุทธ์ก็หลุดจากนายกฯ ทันที และทำให้รัฐบาลพ้นสภาพ กลายเป็นรัฐบาลรักษาการและรองนายกฯ อันดับ 1 ก็รักษาการนายกฯ แทน ขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ต้องเว้นวรรคการเมือง 2 ปี ตาม รธน.มาตรา 160 (8) ส่วนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมาในการตั้งรัฐบาลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการต่อรองเจรจา ของพรรคการเมืองต่างๆ

                ก่อนหน้านี้ ท่าทีของ ส.ส.ฝ่ายค้านดูจะมั่นใจมากว่า คดีนี้บิ๊กตู่รอดยาก หรือหากรอด การลงมติของ 9 ตุลาการศาล รธน.ก็น่าจะเสียงแตก ไม่เป็นเอกภาพ รวมถึงการเขียนคำวินิจฉัยกลาง ที่จะนำมาอ่านต่อหน้าคนทั้งประเทศ น่าจะเป็นคำวินิจฉัยกลางที่เขียนได้ยากมากที่สุดคดีหนึ่ง เพราะข้อกฎหมาย-ระเบียบที่เกี่ยวข้องมีรายละเอียดซับซ้อน และบางเรื่องศาล รธน.อาจยากต่อการเขียนคำวินิจฉัย เพราะเป็นเรื่อง "เปราะบาง" เช่น ปมสถานะของบ้านพักนายกฯ ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป หลังมีการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ พ.ศ.2562 

                ยิ่งเมื่อศาล รธน.ประชุมกันตอน 9 โมงเช้า แล้วอ่านคำวินิจฉัยบ่าย 3 โมง ฝ่ายค้านต่างวิเคราะห์ว่า จุดนี้แสดงให้เห็นว่า คำวินิจฉัยคดีนี้สำคัญมาก 9 ตุลาการคงมีความเห็นแตกต่างกันพอสมควร และคงรู้กันแล้วว่า หลังลงมติเสร็จตอนเช้าไม่เกิน 11 โมง วงประชุม ต้องใช้เวลาในการเขียนคำวินิจฉัยกลางในคดีนานหลายชั่วโมง เลยต้องนัดอ่านบ่าย 3 โมง

                ยิ่งช่วงหลัง คดีสำคัญๆ ที่ศาลนัดอ่านตอนบ่าย 3 โมง หลังประชุมเช้า หลายคดี "ผู้ถูกร้องแพ้" ไม่ว่าจะเป็นคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ-คดีหุ้นสื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-คดียุบพรรคอนาคตใหม่กรณีเงินกู้ เลยยิ่งทำให้ฝ่ายค้านขอลุ้นเล็กๆ รอบนี้จะได้เฮ ทั้งที่ในความเป็นจริงก็มีหลายคดีที่นัดอ่านตอนบ่าย แล้วศาล รธน.ยกคำร้องเช่นกัน ไม่ใช่ว่าจะตัดสินว่าผู้ถูกร้องผิดหมด

                ผสมกับ 2 ธ.ค. ครบรอบ 11 ปีที่ศาล รธน.เคยตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อ 2 ธ.ค.2551 จนทำให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลุดนายกฯ แล้วม็อบเสื้อเหลืองยุติการชุมนุม เลิกปิดสนามบินสุวรรรภูมิและเลิกยึดทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ บิ๊กตู่ ก็กำลังเจอม็อบแบบยุคสมชายเช่นกัน

                วงกาแฟเพื่อไทยหลายวงเลยแอบหวังเล็กๆ รอบนี้ฝ่ายค้านอาจได้เฮ ถึงคิวชนะบ้าง หลังก่อนหน้านี้บิ๊กตู่รอดมาแล้ว 2 คดีติดในชั้นศาล รธน. ทั้งคดีถวายสัตย์ฯ และคดีเจ้าหน้าที่รัฐฯ ที่ศาล รธน.ยกคำร้องหมด แม้ลึกๆ คนในพรรคเพื่อไทยที่เขียนคำร้องคดีนี้ส่งให้ ศาล รธน.กับมือ และเห็นเอกสารคำชี้แจงของทั้งพลเอกประยุทธ์และกองทัพบก ก็ยังยอมรับว่าเหตุผลที่นายกฯ และกองทัพบกนำมาสู้คดีก็มีสิทธิ์ทำให้ศาล รธน.ยกคำร้องได้เช่นกัน

                ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนรู้ผลทางคดี พบว่าแวดวงการเมืองและนักกฎหมายบางสำนัก วิเคราะห์ผลทางคดีที่จะออกมา โดยมองว่ามีออกได้ทั้งในเชิง "ข้อกฎหมาย" โดยอิง ประเด็นชี้แจงของกองทัพบก เช่น การอ้างถึง “พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ 2562” ซึ่งมีการระบุ หมายเหตุเรื่องการโอน กรมทหารราบที่ 1 ไปอยู่หน่วยงานอื่น แต่ก็มีการมองอีกด้านว่า หากศาล รธน.ใช้มุมนี้วินิจฉัยคดี ก็อาจเป็นการเข้าทางม็อบสามนิ้วนำไปขยายผลถึงสถาบันได้ เลยมีการมองว่า ศาล รธน.ก็อาจใช้ประเด็นการตีความมาตรา 184 (3) เรื่อง "ประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานของรัฐ" เพื่อไปดูว่า การที่พลเอกประยุทธ์อยู่บ้านพักดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่า ถือว่า "ได้รับประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานของรัฐ" หรือไม่ หรือว่าเป็นเรื่องของ สิทธิประโยชน์ที่รัฐพึงจัดให้ แล้วก็เอาข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย มาวินิจฉัยและเขียนคำวินิจฉัยกลาง

                คดีบิ๊กตู่-บ้านพักหลวง ถึงตอนนี้เห็นชัดผลแห่งคดี ไม่ว่าจะออกมาแบบไหน "บิ๊กตู่รอด" หรือ "บิ๊กตู่หลุดจากตำแหน่ง" ผลทางการเมืองจากคำวินิจฉัยของศาล รธน.จะมีตามมาอีกหลายระลอก.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"