ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่สามารถอาศัยการเติบโตแบบอยู่เฉยๆ ด้วยความหวังที่ว่าการเติบโตทางด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น การขยายตัวของความเป็นเมือง กำลังคน กระแสการค้า และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นจะยังคงดึงดูดการลงทุนในระดับที่เพียงพอในภาวะที่ท้าทายอย่างในเวลานี้ได้อีกต่อไป ในทางตรงกันข้ามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องรู้จักที่จะพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น และต้องเสริมวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของการลงทุนทั่วโลกที่มีเอเชียแปซิฟิกเป็นศูนย์กลางให้มากขึ้น โดยเฉพาะหลักการเติบโตแบบใหม่นับจากนี้ ต้องอาศัยความยืดหยุ่น การเป็นพันธมิตรและการเป็นเจ้าของร่วมกัน ความโปร่งใส และการมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ร่วมกันเป็นกุญแจสำคัญนั่นเอง
นายเรย์มันด์ ชาว ประธาน PwC ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยถึงรายงาน Asia Pacific’s Time ที่ทำการศึกษาถึงภารกิจเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคม ได้ระบุถึง 5 เสาหลักสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งทั้งผู้นำ ผู้บริหาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทุกภาคส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น
สำหรับเสาหลักที่ 1 ก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกิจต้องตระหนักถึงการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ดิจิทัล และต้องจำลำดับความสำคัญของการประยุกต์ใช้โซลูชั่นเทคโนโลยีที่เหมาะสมทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าของตน ขณะเดียวกันบริษัทต่างๆ จะต้องมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงและมีความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ด้วย โดยในส่วนของภาครัฐ ต้องออกกฎระเบียบข้อบังคับที่รัดกุมและมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์
ส่วนเสาหลักที่ 2 กระตุ้นการเติบโตขององค์กรในระดับภูมิภาค องค์กรต่างๆ ควรพิจารณาการใช้กลยุทธ์ระดับภูมิภาคที่ขับเคลื่อนด้วยขีดความสามารถ โดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน 3 ด้าน ประกอบด้วย ประสิทธิภาพการดำเนินงาน สินค้าและนวัตกรรมด้านกระบวนการ และความเป็นเลิศในการออกสู่ตลาด ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้ดิจิทัลและการขยายการลงทุนไปสู่ภูมิภาคในภาคบริการ
ข้อต่อมาเสาหลักที่ 3 ปรับสมดุลห่วงโซ่อุปทานและส่งเสริมการใช้นวัตกรรม โดยบริษัทต่างๆ ควรใช้โอกาสที่มีในการพิจารณาปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของตน และขยายไปสู่การใช้เครือข่ายในระดับภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ จะช่วยให้องค์กรสามารถบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง การผลิต และเครือข่ายการจัดจำหน่ายของตนได้ดีขึ้น และยังช่วยทำให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความยืดหยุ่นให้มีมากขึ้น
ขณะที่เสาหลักที่ 4 ขยายกำลังแรงงานที่มีความพร้อมสำหรับอนาคต โปรแกรมการยกระดับทักษะที่ตรงกับความต้องการเฉพาะขององค์กร และพนักงานจะช่วยปรับปรุงความสามารถของแรงงาน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้ ขณะที่การเป็นพันธมิตรกันระหว่างรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจะยิ่งช่วยให้การยกระดับทักษะของบุคลากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลควรเป็นผู้นำในการจัดให้ระบบการศึกษาเป็นภารกิจสำคัญสำหรับการเติบโตในอนาคตของประเทศ รวมทั้งมีการสื่อสารที่ชัดเจนถึงบทบาทและหน้าที่สำหรับธุรกิจและสังคมด้วย
สุดท้ายเสาหลักที่ 5 สร้างความยั่งยืนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่ออนาคตของการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยเอเชียแปซิฟิกต้องสวมบทบาทการเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนกว่า โดยภูมิภาคควรสร้างให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะช่วยให้โลกเดินหน้าไปสู่การปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสนับสนุนการร่วมมือกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม
แน่นอนว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เพราะนอกจากจะเป็นภูมิภาคที่ขนาดโครงสร้างประชากรมีสัดส่วนคิดเป็น 60% ของประชากรโลกแล้ว ยังมีการเปลี่ยนผ่านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจนกลายมาเป็นภูมิภาคชั้นนำของโลกอย่างเช่นทุกวันนี้ อย่างไรก็ดี ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละประเทศ ยิ่งต้องหันมาปรับตัวและร่วมมือกันในด้านต่างๆ เพื่อนำพาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคมไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่สำคัญของภูมิภาคนี้.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |