'พุทธะอิสระ'จี้ผู้พิพากษาออกมาร่วมแก้ปัญหาบ้านพักศาลอย่าโยนภาระให้รัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

 

5 พ.ค.61 -  พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือ หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โพสต์ข้อความ ว่าเมื่อท่านขอมา พุทธะอิสระก็จัดให้

ท่านผู้พิพากษา โทรมาขอให้พุทธะอิสระพูด เขียนถึงกรณี พิพาทกันระหว่างประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่กับสถาบันศาล เขตภาคเหนือในเรื่องการใช่ที่ดินราชพัสดุ ซึ่งอยู่ในความดูแลของมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นผู้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2547 อนุมัติงบประมาณในปี 2556-57 ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

งานนี้ศาลตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาเสียเองโดยเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ตั้งเป้าเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเพื่อขอคืนพื้นที่ป่า

ซึ่งความขัดแย้งครั้งนี้ได้ดำเนินมานานพอสมควร ต่อมาท่านพลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เข้ามาเป็นแกนกลางเชิญประชุมร่วม 3 ฝ่ายเพื่อหาทางออก

แต่ผลปรากฏว่า ตัวแทนผู้พิพากษาไม่ได้มาร่วมประชุม นี่จึงถือว่าเป็นจุดแตกหัก เพิ่มความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับศาล

จึงถือว่าศาลได้ทิ้งหลักการ และโอกาสที่จะทำให้สังคมสงบสุข และการมีส่วนร่วมกันในสังคมระหว่างประชาชนกับสถาบันตุลาการศาล

แม้เรื่องนี้ตุลาการศาลมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะเป็นการดำเนินการของรัฐบาลยุคนายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ตามที แต่ตุลาการศาลเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรง จึงคงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะรัฐบาลเขาทำที่อยู่ให้ท่านผูกพิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาล เรื่องนี้จึงต้องมองเป็น 2 ประเด็นคือ ประเด็นด้านกฎหมาย และประเด็นความเหมาะสมคือ

1. ประเด็นทางกฎหมาย แน่นอนล่ะโครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการ จังหวัดเชียงใหม่ เชิงดอยสุเทพย่อมเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ และกฎหมายที่กำหนดเอาไว้

ถูกต้องทั้งที่ดินที่ได้มา

ถูกต้องทั้งงบประมาณที่ได้รับ

ถูกต้องทั้งแบบแปลนในการก่อสร้าง

เรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ก็กลายเป็นปัญหาจนได้ เพราะสร้างไม่ถูกที่ ดันไปสร้างในที่ที่ไม่สมควรจะสร้าง ที่ควรจะไม่เป็นเรื่อง จึงกลายเป็นเรื่องขึ้นมาเสียได้

ทั้งที่โครงการนี้มันเริ่มมาตั้งแต่ปี 47 ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตรนั้นแล้ว และอนุมัติงบก่อสร้างเมื่อปี 57 ในยุครัฐบาลปู ยิ่งลักษณ์ก็ตามที

แต่เมื่อมีผู้ไปขุดคุ้ยขึ้นมาจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ แต่มันดันกลายเป็นประเด็นว่า เหมาะสมหรือไม่ สมควรหรือเปล่า

2. ประเด็นความเหมาะสม จึงถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในสังคม ประเด็นนี้คงต้องอธิบายด้วยภาพถ่ายทางดาวเทียม

จากภาพถ่ายดาวเทียมที่ปรากฏ ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า การก่อสร้างครั้งนี้ได้ทำลายพื้นที่สีเขียว หายไปจนกลายเป็นสภาพฟันหลออย่างที่เห็น

อีกทั้งปัญหานี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเพราะมีประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็อาจจะมาจากหลักคิดที่ว่า สถาบันตุลาการศาลนอกจากเป็นผู้แก้ความขัดแย้ง แล้วจักต้องสง่างามด้วย เมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นในพื้นที่สีเขียว ที่มีสภาพเป็นป่า ภาคประชาชนจึงมองว่า เวลาชาวบ้านไปบุกรุกป่าเพื่อทำกิน กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับดำเนินคดี ต้องคำพิพากษาให้ติดคุก แต่บ้านพักตุลาการศาล เข้าไปสร้างในพื้นที่ป่า ที่อุดมสมบูรณ์ได้เพราะมีระเบียบอนุญาต มันจึงกลายเป็นความย้อนแย้งในหัวใจของประชาชน เกิดขึ้นจนกลายเป็นการไม่เห็นด้วย กับการก่อสร้างครั้งนี้ ด้วยเหตุข้ออ้างที่ว่าไปทำลายทัศนียภาพทางธรรมชาติของดอยสุเทพ ที่ประชาชนถือว่า เป็นดอยศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงใหม่

อีกทั้งโครงการนี้มันมีการทำลายทรัพยากรป่าไม้อย่างชัดแจ้ง แม้จักเป็นที่ราชพัสดุก็ตาม แต่ชาวบ้านเขามองว่าศาลผู้ทำงานในพระปรมาภิไธยของพระเจ้าแผ่นดิน จึงควรเป็นต้นแบบที่ดี ในการปกป้องรักษาทรัพยากรของชาติ อันเป็นสมบัติของทุกคนในแผ่นดิน ไม่สมควรที่ใครจักมาผูกขาด ได้ประโยชน์จากสมบัติของแผ่นดินผืนนี้แต่เพียงกลุ่มเดียว

เหล่านี้คือที่มาของคำว่า ไม่เหมาะสม

เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งยึดถือกฎหมาย

อีกฝ่ายหนึ่งยึดถือความเหมาะสม

ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ไม่ยอมพูดคุยกันเพื่อหาจุดร่วม เพื่อให้ได้ข้อยุติ เรื่องนี้จึงเดินมาสู่จุดแตกหัก อย่างที่เห็น

หากจะถามว่าฝ่ายใดผิด

ตอบได้เลยว่า ไม่มีฝ่ายไหนผิด

แต่มันอยู่ที่จิตสำนึก

ส่วนฝ่ายไหน ควรมีจิตสำนึกมากกว่าหรือเท่าๆ กันอย่างไร พุทธะอิสระไม่ขอลงลึก เดี๋ยวทั้งจะอายกันทั้งสองฝ่าย

เอาเป็นว่า หากต้องการจะให้เรื่องนี้จบโดยเฉลี่ยประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

ทั้งสองฝ่ายคงต้องเปิดใจพูดคุยกัน ด้วยเหตุด้วยผล โดยเฉพาะในเรื่อง พูดคุยนี้ คงต้องท้วงติงฝ่ายตุลาการ ด้วยที่พลาดเรื่องสำคัญที่ท่านควรต้องใช้เพื่อการยุติความขัดแย้งซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ในวิชาชีพของท่านต่อการยุติความขัดแย้ง

ทั้งที่ท่านมีพระบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ ที่ได้ทรงทำต้นแบบให้ท่านตุลาการทั้งหลายได้ดู มาตลอดพระชนชีพขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมราชชนก

ที่ทรงใช้กุศโลบายการพูดคุย เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ มาตลอดยาวนานถึง 60 กว่าปี

ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ท่านผู้พิพากษาทั้งหลาย ทำไมถึงได้เพิกเฉยไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งที่ท่านทั้งหลายได้ทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระองค์ท่าน ทำไมถึงไม่น้อมรับเอากุศโลบายการเจรจาพูดคุย กับผู้ขัดแย้งมาใช้ในเหตุการณ์นี้

หรือท่านทั้งหลายคิดไปเองว่า ท่านไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เลยไม่ให้ความสำคัญต่อการเจรจาพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชน เรื่องมันก็เลยบานปลายอย่างที่เห็น

อีกทั้งที่สถานภาพของสถาบันตุลาการ มีอำนาจหน้าที่ยุติความขัดแย้ง แต่งานนี้กลับโยนภาระไปให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา

ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นการดีต่อความเชื่อมั่นที่ประชาชน ควรจะมีให้แก่สถาบันตุลาการ อันเป็นหลักชัย 1 ใน 3 อำนาจของประเทศ คือ บริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ

การผลักภาระการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ของตุลาการกับประชาชน ในกรณีนี้ไปให้รัฐบาล ก็เท่ากับตุลาการ กำลังทำลายความน่าเชื่อถือที่ประชาชนมีให้แก่ตุลาการไปโดยปริยาย

ถามว่า และจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร

ตอบว่า ก็ใช้วิธีขององค์พ่อหลวงที่ทรงเสด็จลงไป นั่งสนทนา พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อรับรู้ถึงปัญหาที่เขามี เขาคิด แล้วทรงนำมาสังเคราะห์ ค้นหา จุดรวมในการประสานประโยชน์และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

ซึ่งพุทธะอิสระคิดว่า ชาวบ้านเขายังอยากฟังท่านผู้พิพากษาพูดอยู่นะ

อยากฟังท่านอธิบาย และให้โอกาสพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

แต่ถ้าเมื่อใดที่ท่านคิดว่า ตนเป็นผู้อยู่เหนือปัญหา ไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว นั้นแหละคือตัวก่อปัญหาสำหรับชาวบ้าน เพราะเขาไม่รู้ว่าจะหวังพึ่งใครได้ ไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร

สุดท้ายก็อย่างที่ท่านทั้งหลายเห็นนั้นแหละ

เหล่านี้คือ ความเห็นของพุทธะอิสระที่มีต่อกรณี ความขัดแย้งระหว่างประชาชนและตุลาการศาล

หวังว่า ท่านผู้พิพากษาที่ถามมาคงจะเข้าใจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"