ในหลวง รัชกาลที่ 10 เสด็จฯ เปิดเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย พสกนิกรเผ้าฯ รับเสด็จเนืองแน่น เป็นภาพประวัติศาสตร์ล่าสุด สะท้อนความผูกพันกษัตริย์ไทยกับรถไฟไทย หากย้อนประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจในจังหวัดต่างๆ เสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกร รวมถึงเสด็จฯ แปรพระราชฐาน ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน อยู่เสมอ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ตลอดช่วงระยะเวลาครองราชย์ก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่าสี่พันโครงการ ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา
ทิพยประกันภัย ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมูลนิธิธรรมดี จัดกิจกรรมตามรอยพระราชา “ ทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 10” นำคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 40 คน ขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟหัวลำโพงร่วมตามรอยเสด็จฯ ทางรถไฟครั้งแรกของในหลวง ร. 9 เมื่อ พ.ศ. 2493
ขบวนรถไฟตามรอยพระราชาจากสถานีรถไฟหัวลำโพงสู่สถานีรถไฟหัวหิน
ขบวนรถไฟมุ่งสู่สถานีหัวหิน จ.เพชรบุรี ก่อนพาไปท่องแหล่งเรียนรู้จากโครงการพระราชดำริรัชกาลที่ 9 ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิชัยพัฒนา อ.ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เปิดงานโดยวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ครูอาจารย์จำนวน 120 คน ได้เรียนรู้และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.9 พร้อมทั้งถอดบทเรียนสร้างนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนทำให้นักเรียนนักศึกษาเข้าใจ เข้าถึงศาสตร์ของพระราชาอันทรงคุณค่าต่อไป
วิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิพยประกันภัยสนับสนุนการเดินทางตามรอยพระราชามาอย่างต่อเนื่องในการศึกษาเรียนรู้จากสถานที่ที่คัดสรรจาก 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิตตามรอยศาสตร์พระราชา การตามรอยเสด็จฯ ทางรถไฟสู่จังหวัดเพชรบุรี จัดเป็นครั้งที่ 10 แล้ว โดยร่วมกับองค์กรภาคีจัดกิจกรรมตามรอยพระราชาที่ทรงคุณค่า หวังว่า ทุกคนจะช่วยกันสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ที่ไม่มีวันล้าสมัย ให้คงอยู่
.กิจกรรมถอดบทเรียนบนรถไฟ สร้างการเรียนรู้ให้ครูอาจารย์
ก่อนหน้านี้ คณะครู-อาจารย์เดินทางในดินแดนแห่งการเรียนรู้ของพระราชาที่ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม ,ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี ,โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ, โครงการหุบกะพง จ.เพชรบุรี, เขื่อนขุนด่านปราการชล ศูนย์ภูมิรักษ์ จ.นครนายก ,โครงการพัฒนาชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จ.จันทบุรี,มหาชีวาลัยอีสาน จ.บุรีรัมย์ ,อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ,เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ ,อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา และโครงการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จ.ปราจีนบุรี ครูอาจารย์กว่า 200 คน ไปรู้จัก เรียนรู้ ลงมือทำ และเก็บความประทับในศาสตร์พระราชา ศาสตร์แห่งการพึ่งพาตัวเอง และกลับไปถ่ายทอดให้กับเด็กๆ
ที่สวนสมเด็จย่า จ.เพชรบุรี มี จารินี จันทร์คำ ผู้จัดการโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นผู้นำชมและให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ ซึ่งโครงการนี้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา จาริณี เล่าว่า พื้นที่ 340 กว่าไร่นี้ เดิมเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ขจัดความแห้งแล้ง และฟื้นฟูคืนความอุดมสมบูรณ์ด้วยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ความชุ่มชื่นซึมซาบลงสู่ผิวดิน กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ทรงงาน 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2539 ณ แปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ ทรงแนะนำควรมีแหล่งน้ำไว้เติม ครั้งที่ 2 ปี 2541 ตรัสว่า การทำทฤษฎีใหม่ให้ดี ต้องสามารถยืดหยุ่นได้ ปรับสัดส่วนใช้พื้นที่ให้เหมาะสม บริเวณที่ดินต้องมีหลายอย่าง โดยเฉพาะข้าวและบ่อเก็บน้ำ ต้องทำบัญชีแสดงการลงทุน ผลกำไร เจ้าหน้าที่น้อมนำมาปฏิบัติ และถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้าน ปัจจุบัน ที่นี่มีคณะมาเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร พันธุกรรมพืช รวมถึงเป็นที่ฝึกอบรมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรและสมุนไพร
“ ฟาร์มแบบผสมผสานของเราเป็นแบบอย่างการใช้พื้นที่เหมาะสม ปลูกไม้ผล แซมพืชอายุเก็บเกี่ยวสั้น ปลูกพืชผัก ไม้ดอก อย่างดาวเรือง เพาะเห็ด ไม้ผล แล้วแต่แปลง และมีการเผาถ่านจากไม้ล้มในฟาร์ม ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำส้มควันไม้ มีนา หลังนาปลูกผักและหว่านพืชบำรุงดิน สภาพพื้นที่มีน้ำฝนน้อย จะมีขุดบ่อ หลุมขนมครก กระจายทั่ว ผลผลิตในฟาร์มเหลือจากกิน ใช้ ก็ขาย มีรายได้ตลอดปี ช่วงโควิด-19 โครงการฯ ส่งผัก ข้าว ไข่ ช่วยงานตั้งโรงงานสู้โควิดของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่นี่ยังมีสวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ มีพันธุ์ไม้หายาก พืชสมุนไพรมากกว่า 300 ชนิด นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาหม่อง 5 สูตร ได้รับความนิยมมาก อนาคตจะเพิ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันไพร น้ำมันนวด พิมเสนน้ำ ลูกประคบ จนถึงแชมพูอาบน้ำสุนัข “ จารินี กล่าว
ฟังเรื่องราวดีๆ จากผู้จัดการโครงการฯ แล้ว คณะครูอาจารย์ได้ทำกิจกรรมเก็บดอกบัวหลวงสัตตบุศย์ในนาบัว พับกลีบดอกบัวถวายเป็นเครื่องสักการะสมเด็จย่า พระมารดาของ ร.9 แล้วนั่งรถรางชมโครงการ ศึกษาธรรมชาติรอบสวน ชมป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ก่อนจะลงรถร่วมปลูกป่าทางไกลด้วยวิธียิงหนังสติ๊ก ลูกกระสุนบรรจุเมล็ดพันธุ์นานาชนิด เช่น มะค่าแต้ ประดู่กิ่งอ่อน มะขาม มะกล่ำต้น คูน เพกา ยังไม่จบต่อด้วยปลูกมะค่าโมง สะเดา กระถินณรงค์ เสลา มะขามเปรี้ยว หว้า ก่อนจะเปลี่ยนชุดลงแปลงนา ดำนาปลูกข้าวแบบโบราณ มีชาวบ้านคอยแนะนำ
ปลูกป่าทางไกลด้วยวิธียิงหนังสติ๊ก เพิ่มความสมบูรณ์ ป่า3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
กิจกรรมในโครงการแห่งนี้มีมากมาย ไม่สามารถสาธยายได้หมด ต้องไปดูไปฟังด้วยตัวเอง แล้วจะได้รับความรู้ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตได้ มาเห็นด้วยตาตนเองแล้วจะนึกภาพไม่ออกว่าสามสิบห้าปีก่อนเคยแห้งแล้งเพียงใด กว่าจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาให้เป็นต้นแบบได้ทุกวันนี้ ที่นี่สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ไม่มีค่าเข้าชม
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิศูนย์คุณธรรมและมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และประธานมูลนิธิธรรมดี ร่วมตามรอยเสด็จฯ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรมตามรอยพระราชาบนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ปี 2493 โดยกิจกรรมถอดบทเรียนบนรถไฟใช้แนวคิด Edutainment: Training on the Train เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอย่างสร้างสรรค์และสนุกสนาน ครูอาจารย์จะได้แรงบันดาลใจต่อยอดกับคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกครั้งจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ ‘King Bhumibol Adulyadej of Thailand’ 3 เล่ม มีพระราชประวัติและพระราชจริยวัตรของ ร.9 สามารถนำไปถ่ายทอดผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์และสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาตำไมคนไทยรักและผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม
สำหรับผู้ร่วมโครงการฯ นอกจากได้เปิดใจ เปิดหูเปิดตา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต สวนสมเด็จย่า แล้ว ยังได้รับมอบใบประกาศนียบัตรด้วย