ประธานชวนยันวาระ "ประชามติ-ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญตีความ" ต้องเป็นตามคิว "คำนูณ" เชื่อไม่กระทบร่าง รธน.แม้ศาลรับเรื่อง 3 ธ.ค.เชิญไอลอว์ให้ความเห็นก่อนตามด้วย กรธ. "ยุทธพงศ์" บี้วิรัชโชว์สปิริต
ในวันอังคารที่ 1 ธันวาคมนี้ มีระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ในเรื่องด่วนที่น่าสนใจคือ 1.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ..... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และญัตติด่วน เรื่องขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ
โดยเมื่อวันอาทิตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมวันที่ 1 ธ.ค.ว่า มีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งการกำหนดจำนวนผู้อภิปรายและกรอบระยะเวลาอภิปรายนั้น ต้องหารือร่วมกันกับวิปทั้ง 3 ฝ่ายอีกครั้งในช่วงเช้าวันที่ 1 ธ.ค.
เมื่อถามถึงญัตติของนายไพบูลย์ นายชวนกล่าวว่า บรรจุวาระตามลำดับแล้ว ส่วนการพิจารณาก็เป็นไปตามลำดับก่อนหลัง ส่วนการส่งศาลตีความ จะกระทบต่อการพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.) หรือไม่นั้น ต้องรอฟังการพิจารณาของสภาก่อน เมื่อญัตติเข้าไปก็เป็นเรื่องของสภา เมื่อเรื่องไปถึงหน่วยงานไหน หน่วยงานนั้นก็ทำหน้าที่กันไป ไม่ได้มีผลต้องไปหยุดอะไร
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม กล่าวในประเด็นนี้ว่า เป็นคนละส่วนกัน กมธ.ก็พิจารณาไป ซึ่งญัตติดังกล่าวจะเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ซึ่งต้องใช้เสียงข้างมากของที่ประชุมร่วมว่าเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่อย่างไร
นายคำนูณยังกล่าวถึงกรณี กมธ.จะเชิญตัวแทนต่างๆ มาให้ข้อมูลว่า ที่ประชุมมีมติว่าจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย นอกจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ยังได้กำหนดกลุ่มที่จะเข้ามาให้ความคิดเห็นในเบื้องต้น คือกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ในฐานะที่เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างที่ 7 แม้ว่าร่างจะไม่ผ่านการพิจารณาการลงมติรับหลักการ นอกจากจะเชิญอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาชี้แจงสาเหตุสำคัญที่ยกร่างมาตรา 256 มีเหตุผลประการใด
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวถึงกรณีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ถูกอัยการสูงสุดชี้ขาดให้ฟ้องคดีการจัดสร้างสนามฟุตซอล ว่าเรื่องนี้ กมธ.ก็รู้กันมาสักพักแล้วว่านายวิรัชมีปัญหาเรื่องนี้ แต่ ส.ส.ฟากรัฐบาลและ ส.ว.ก็ยังมีมติเลือกนายวิรัชมาเป็นประธาน กมธ. แต่ขณะนี้เพิ่งเริ่มต้นการทำหน้าที่ของ กมธ.ได้เพียง 1 สัปดาห์ ยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาสาระอะไร เมื่อมีกรณีนี้จึงอยากเรียกร้องให้นายวิรัชเสียสละ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวก่อน เพื่อความสง่างามในการพิจารณากฎหมายสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับ
นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า จากการพิจารณารายชื่อ กมธ. และเงื่อนเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลขาดความจริงใจในการแก้ไข โดยเฉพาะในสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาลที่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงมีธงคัดแย้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญล่วงหน้า อาจทำให้การแก้ไขครั้งนี้ไม่ราบรื่น จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงความจริงใจในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศไม่เสียเวลา และเสียเงินงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |