มารู้จัก Hi, Joe! คนนี้


เพิ่มเพื่อน    

    ถ้าใครตะโกน Hi, Joe! วันนี้ที่อเมริกา ทุกคนจะรู้ว่าหมายถึงใคร
    แม้ว่าคนอเมริกันที่ใช้ชื่อนี้จะมีอยู่หลายสิบล้านคนก็ตาม
    อีก 51 วันจากวันนี้ โจ ไบเดน ก็จะเดินเข้าทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 อย่างเต็มภาคภูมิ
    ในวัย 78 ผู้ชายคนนี้ได้ทำความฝันอันยาวนานเป็นความจริงอย่างสมบูรณ์แล้ว
    เขาเป็นลูกของเซลส์แมนที่ล้มเหลว จนต้องย้ายครอบครัวข้ามรัฐเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
    โจ ไบเดนมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอุปสรรคนานาประการ
    เผชิญกับโศกนาฏกรรมทั้งส่วนตัวและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง
    เรียนหนังสือโรงเรียนมัธยมคาทอลิก
    เรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่ใช่นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาระดับท็อปเทนของสหรัฐฯ
    แต่ไต่เต้าขึ้นมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาถึง 6 สมัย
    เป็นรองประธานาธิบดี 2 สมัย
    พอคิดจะสมัครเป็นประธานาธิบดีก็เจอคำถามสำคัญว่าอายุป่านนี้แล้วจะอยู่รอด 4 ปีในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศหรือไม่
    แต่โจไม่เคยท้อ ไม่เคยหวั่น และไม่เคยยอมให้ใครสบประมาท
    เพราะเขาเจอกับความท้าทายเช่นนี้ตั้งแต่เยาว์วัยจากการพูดติดอ่าง
    เพื่อนฝูงล้อเลียนและเหยียดหยามเขาเพราะพูดติดๆ  ขัดๆ
    โจฝึกฝนตัวเองอย่างมุ่งมั่น ฝึกคลายกล้ามเนื้อที่ปากและพูดกับตัวเองหน้ากระจกทุกวัน
    จนกลายเป็นนักปราศรัยที่คล่องแคล่ว สามารถหาเสียงกับประชาชนทุกชนชั้น จนกลายเป็นนักการเมืองที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของรัฐเดลาแวร์ของเขา
    ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติในชีวิตของเขา
    วันที่เขาประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งที่มีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นคู่แข่งนั้น โจบอกกับคนอเมริกันที่ไม่ได้เลือกเขาว่า
    "สำหรับท่านผู้ที่ไม่ได้เลือกผม ผมเข้าใจความผิดหวังของท่าน เพราะผมเองก็เคยผิดหวังในชีวิตมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า แต่จงเชื่อเถิดครับว่าผมจะเป็นประธานาธิบดีสำหรับคนอเมริกันทุกคน ไม่ว่าท่านจะเลือกผมหรือไม่ก็ตาม..."
    ตอนที่เขาชนะเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรก โจเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาคองเกรสที่อายุน้อยที่สุดในวัย 27
    วันนี้เขาเป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ
    บุคลิกและแนวคิดปรัชญาชีวิตของโจยืนอยู่คนละข้างกับทรัมป์โดยสิ้นเชิง
    เขาโตมาด้วยการแสดงถึงความเอื้ออาทรและพยายามเข้าใจมนุษย์คนอื่น 
    ทรัมป์กระโดดเข้าการเมืองด้วยการทำตัวเป็นผู้ต้องการจะเอาชนะคนอื่นด้วยทุกวิถีทาง ไม่สนใจว่าวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นน่ารังเกียจเพียงใดก็ตาม
    โจใช้กลยุทธ์สู้กับทรัมป์ด้วยการไม่ทำศึกภายใต้เงื่อนไขที่ทรัมป์สร้าง
    เขาเขียนกติกาแห่งสงครามกับทรัมป์ด้วยการกลับไปสู่ค่านิยมพื้นฐานแห่งการเมืองยุคเก่า
    นั่นคือการฝ่าข้ามการแบ่งแยกความคิดทางการเมืองระหว่างเดโมแครตกับรีพับลิกัน
    ขณะที่ทรัมป์เน้นประเด็น America First โจประกาศนโยบาย America is Back!
    ทรัมป์กระชากอเมริกาออกจากเวทีโลกเพื่อ "ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง" (Make America Great Again)     แต่โจต้องการจะบอกว่าสหรัฐฯ จะยิ่งใหญ่ได้ต้องจับมือกับพันธมิตร
    ทรัมป์ต้องการจะให้อเมริกาเป็นพระเอกคนเดียว
    โจต้องการเห็นอเมริกาเป็นพระเอกที่มีพระรองเคียงคู่ไปด้วย
    คะแนนที่โจได้ครั้งนี้กว่า 80 ล้านเสียงเป็นการสร้างสถิติสูงสุดของผู้ชนะการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกัน
    ทรัมป์ได้กว่า 73 ล้านเสียง ก็เป็นการทำลายสถิติของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ลงสมัครครั้งที่ 2 เช่นกัน
    นั่นแปลว่าคนอเมริกันออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้นำของเขาอย่างล้นหลาม
    เหตุเพราะความตื่นกลัวจากทั้งสองฝ่าย
    ต่างคนต่างกลัวว่าคนที่ตนต้องการให้ชนะการเลือกตั้งจะพลาดท่าเสียที
    เพราะการระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้คนที่นั่นใช้สิทธิ์ผ่านไปรษณีย์กันอย่างล้นหลาม
    ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
    นั่นคือความตื่นตัวของคนอเมริกันทุกชนชั้นและสีผิวที่ต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สำหรับสังคมที่ตกอยู่ในภาวะของความแตกแยกอย่างรุนแรงในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน
    ชัยชนะของโจ ไบเดน คือการเขย่าการเมืองสหรัฐฯ ให้กลับไปสู่ "ภาวะปกติ" หลังจากทรัมป์ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสนในค่านิยมของสังคมอเมริกันอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
    เรากำลังได้เห็นการเมืองอเมริกันที่จะเปลี่ยนสมการดุลอำนาจของโลกอีกครั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"