รองอธิบดีดับสลด วิ่ง'มินิ'หัวใจวาย


เพิ่มเพื่อน    


    ชาวสาธารณสุขเศร้า รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเสียชีวิตกะทันหันจากหัวใจวายขณะเข้าร่วมวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอนที่อุทยานวีรชนค่ายบางระจันเมื่อเช้าวันอาทิตย์ อีกทั้งเกิดเหตุซ้ำรอยที่ระยองในงานวิ่งมินิมาราธอนเช่นกัน ชายวัย 54 ปี และ 30 ปี เสียชีวิตอีก 2 ราย 
    มีรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ว่า นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมวิ่ง ถิ่นวีรชน มินิฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่  4 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ณ อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี หมดสติระหว่างวิ่ง แพทย์ได้ทำการปฐมพยาบาล ณ ที่เกิดเหตุ และนำส่งถึงโรงพยาบาลค่ายบางระจัน เวลา 06.00 น. โดยคนไข้ไม่รู้สึกตัว ได้พยายามทำการฟื้นคืนชีพเพื่อช่วยชีวิต ด้วยการ CPR OnEtTube เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 15 นาที และใช้เครื่องกระตุกหัวใจ 5 ครั้ง แต่คนไข้ไม่ตอบสนอง เสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เมื่อเวลา 07.15 น.
    ศพของ นพ.อัษฎางค์ จะนำกลับกรุงเทพฯ ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดเสมียนนารี และจะประกอบพิธีรดน้ำศพในวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน เวลา 17.00 น. ส่วนกำหนดการอื่นๆ อยู่ระหว่างการหารือของทางครอบครัว
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข แสดงความเสียใจกับครอบครัวของ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ซึ่งนับเป็นการสูญเสียผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่มีความรู้ความสามารถสูง จึงขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัว และยังกำชับให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกในการประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป นอกจากนี้ นายอนุทินยังให้กำลังใจผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค ซึ่งในฐานะ รมว.สาธารณสุข ชื่นชมและเคารพบทบาทของ นพ.อัษฎางค์เสมอ จึงหวังว่าทุกคนในครอบครัวสาธารณสุขจะก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้านี้ไปด้วยกัน
    วันเดียวกัน ได้เกิดเหตุการณ์สลดในงาน "อาสาพาวิ่ง 2020" จัดโดยสมาคมอาสาสมัครประชาสงเคราะห์ จังหวัดระยอง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหญิงและชายทุกวัยรวม 1,400 คน ใช้พื้นที่ภายในศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จ.ระยอง (อ่างเก็บน้ำดอกกราย) ท้องที่หมู่ 6 ต.แม่น้ำคู้ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เป็นจุดปล่อยตัว ระยะทางวิ่งแบ่งเป็นระยะ 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร 
    ปรากฏมีนักวิ่งชาย 2 คน คือ นายนราสิฐ สันสมภาค อายุ 54 ปี ชาวบ้านอำเภอเมืองระยอง และนายสกานต์ จันธิยะ อายุ 30 ปี ชาวบ้าน หมู่ 5 ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ที่วิ่งจากจุดปล่อยตัวออกมาได้ประมาณ 4 กม. เกิดมีอาการวูบล้มลง
    ต่อมาแพทย์รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลปลวกแดง เมื่อถึงโรงพยาบาลส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉิน โดยมีแพทย์และพยาบาลช่วยกันยื้อชีวิตทั้ง 2 คนไว้ แต่ในที่สุดทั้ง 2 ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งทางโรงพยาบาลปลวกแดงจะได้ส่งร่างทั้ง 2 คนไปผ่าชันสูตรที่โรงพยาบาลระยอง เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงต่อไป
    นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุอาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันชนิดเฉียบพลัน ส่งผลให้คนไข้มีอาการเจ็บหน้าอกบริเวณซีกซ้าย อาจจะมีร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ซึ่งผู้ป่วยที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลมาจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน คือ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง การบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเหล่านี้ด้วยก็ได้
    ด้าน นพ.เอนก กนกศิลป์ ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่และทุกเวลา เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งนอนหลับพักผ่อน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ แต่ยังรู้สึกตัวดีต้องรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด  ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าจะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เรียกว่าระบบช่องทางด่วน (fast track) ติดต่อได้ที่หมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า
    ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จะต้องได้รับการรักษาทันที ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหัวใจเพื่อการทำบอลลูน ซึ่งมีระยะเวลาที่เป็นนาทีทอง 120 นาที ในการเปิดหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ภายหลังการรักษาผู้ป่วยต้องรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ด้วยการมาพบแพทย์ตามนัด ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เวลาออกแรง เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้ ขาบวมกดบุ๋ม ให้รีบมาพบแพทย์ทันที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"