ชาวเล-มันนิ-กะเหรี่ยงรวมพลังร่วมประกาศปฏิญญา ‘หลีเป๊ะ’ พร้อมขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ุ


เพิ่มเพื่อน    

      

 

เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล/  ปิดฉากการจัดงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11 ที่เกาะหลีเป๊ะ ‘ส่งเสริมชีวิต  สู่การผลักดันกฎหมายและเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล’ ขณะที่ชาวเล-มันนิ-กะเหรี่ยง  รวมพลังร่วมประกาศปฏิญญา ‘หลีเป๊ะ’ เพื่ออนาคตของลูกหลาน ที่มีศักดิ์ศรี  มีสิทธิ์  มีความเสมอภาค  พร้อมขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ุ คาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในปี 2565 เนื่องจากเป็นกฎหมาย 1 ใน 16 ฉบับเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศที่มีประชากรกว่า 6 ล้านคน

 

ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายนนี้  ภาคีเครือข่ายภาครัฐ  ภาคประชาสังคม  และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกับชาวเลจัดงาน     ‘รวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11’  โดยชูประเด็นเรื่อง ‘ส่งเสริมชีวิต  สู่การผลักดันกฎหมายและเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล’ ที่บริเวณชายหาดหน้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ  อ.เมือง  จ.สตูล  โดยมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น  ชาวมันนิ  ชาวกะเหรี่ยงจากภาคเหนือ  เครือข่ายภัยพิบัติชุมชน  ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ  ประชาสังคม  นักวิชาการ  ศิลปิน  ฯลฯ  ประมาณ 600   คนเข้าร่วมงาน

 

เสียงสะท้อนจากชาวเล

 

นางสาวแสงโสม  หาญทะเล  ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ทะเล  กล่าวว่า   การจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 11 โดยจะจัดงานหมุนเวียนกันไปในพื้นที่ที่มีชาวเลอาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายทะเลอันดามัน (ระนอง  พังงา  กระบี่  ภูเก็ต  สตูล) ทุกปี   โดยมีเป้าหมายเพื่อ 1. ส่งเสริมความเข้มแข็งกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  การประสานภาคีความร่วมมือ  2.เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในระดับนโยบายและกฎหมาย และ 3.เพื่อเผยแพร่รูปธรรมการพัฒนาพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลต่อสังคม สาธารณะและนโยบาย

 

ชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล

 

ผู้แทนเครือข่ายชาวเลบอกด้วยว่า  ชาวเลเป็นกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม  แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  คือ  มอแกน  มอแกลน  และอูรัคลาโว้ย  มีภาษาพูดเป็นของตนเอง  แต่ไม่มีภาษาเขียน  มีหลักฐานว่าชาวเลอยู่อาศัยและหากินในท้องทะเลแถบอันดามันมานานไม่ต่ำกว่า 300 ปี  โดยการทำประมงแบบพื้นบ้าน  ปัจจุบันมีชุมชนชาวเล 43 ชุมชนกระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน  คือ  ระนอง  พังงา  ภูเก็ต  กระบี่  และสตูล  มีประชากรรวมประมาณ 12,241 คน 

 

“หลายสิบปีที่ผ่านมา  ชาวเลได้รับผลกระทบทั้งด้านที่อยู่อาศัยและการทำมาหากิน  เช่น  โดนเอกชนขับไล่ฟ้องร้องให้ออกไปจากที่ดินที่อยู่อาศัย  ทั้งที่ชาวเลอยู่อาศัยและทำกินมานานหลายชั่วอายุคน และอยู่มาก่อน  แต่ชาวเลส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ  ไม่รู้เรื่องกฎหมายจึงไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน  อีกทั้งหน่วยงานรัฐได้ประกาศเขตอุทยานทางทะเล  ทำให้ชาวเลเข้าไปทำประมงไม่ได้ หรือถูกเจ้าหน้าที่จับกุม  ชาวเลจึงได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อผลักดันและเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา”  ผู้แทนเครือข่ายชาวเลบอกเล่าปัญหา

 

นอกจากนี้จากนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องทะเลอันดามัน  ประกอบกับชายหาดที่ขาวสะอาด  น้ำทะเลสดใส  ความงดงามตามธรรมชาติของท้องทะเลและเกาะแก่งต่างๆ  ทำให้ชาวเลได้รับผลกระทบหลายด้าน  โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินบริเวณชายหาดซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวเลในหลายจังหวัด  ถูกนายทุน  เจ้าของกิจการโรงแรม  รีสอร์ท  ฯลฯ  อ้างเอกสารสิทธิ์ครอบครอง  และขับไล่พวกเขาออกไป  ไม่เว้นแม้แต่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล  ทำให้ชาวเลอยู่อาศัยและเข้าไปทำมาหากินในท้องทะเลไม่ได้

 

.บรรยากาศชายทะเลเกาะหลีเป๊ะ

 

อย่างไรก็ตาม  จากการผลักดันของภาคีหน่วยงานต่างๆ  เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาวเล  คณะรัฐบาลในสมัยนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ   ได้มีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล  ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล  และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ  แต่จนปัจจุบันนี้  เป็นเวลา 10 ปีแต่ปัญหาของชาวเลส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

7 ปัญหาหลักที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ทะเล  กล่าวว่า   จากการรวบรวมปัญหาของชาวเลในพื้นที่ 5 จังหวัดชายทะเลอันดามัน  ปัจจุบันพบปัญหาต่างๆ  ดังนี้

  1. ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย มี 25 ชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง ทั้งๆ ที่อาศัยมายาวนาน  กลายเป็นที่ดินรัฐหลายประเภท  ทั้งป่าชายเลน  กรมเจ้าท่า ป่าไม้ เขตอุทยาน  กรมธนารักษ์  ฯลฯ  เช่น  ชุมชนชาวเลสะปำ  จ. ภูเก็ต  ชุมชนชาวเลเกาะสุรินทร์ จ.พังงา  ชุมชนชาวเลเกาะเกาะพีพี  จ.กระบี่  เป็นต้น
  2. สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน  จากการสำรวจพบว่ากำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง มีทั้งการออกเอกสารมิชอบทับที่ดิน  ถูกรุกล้ำแนวเขต  ถูกห้ามฝังศพ  เช่น  พื้นที่บาราย (พื้นที่ทำพิธีกรรม) ของชาวเลหาด ราไวย์  จ.ภูเก็ต  สุสานเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล  เป็นต้น
  3. ถูกฟ้องขับไล่โดยธุรกิจเอกชนออกเอกสารสิทธิ์มิชอบทับชุมชน  โดยเฉพาะ ชุมชนชาวเลหาดราไวย์  ชุมชนชาวเลบ้านสิเหร่ ภูเก็ต  และชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล  ถูกดำเนินคดี  รวม 28 คดี  มีชาวเลเดือดร้อนมากกว่า 3,500 คน
  4.  ปัญหาที่ทำกินในทะเล จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า  แต่เดิมชาวเลหากินตามเกาะแก่งต่างๆ ไม่ต่ำกว่า  27 แหล่ง   แต่ปัจจุบันเหลือเพียง  2 แหล่ง  มีชาวเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ จับกุม  พร้อมยึดเรือเพิ่มขึ้น  พื้นที่หน้าชายหาดซึ่งทุกคนควรใช้ร่วมกัน   ผู้หญิงชาวเลใช้หาหอย หาปู  วางเครื่องมือประมง และที่จอดเรือ  กลายเป็นสิทธิของโรงแรมและนักท่องเที่ยว  เช่น หน้าหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต  บริษัทเอกชนพยายามปิดทางเข้า-ออก  ชายหาดและที่จอดเรือของเกาะหลีเป๊ะ และเกาะพีพี  ชาวเลถูกบีบบังคับกดดันไม่ให้จอดเรือ

 

 

  1. ปัญหาเรื่องการศึกษา  ภาษา  และวัฒนธรรม  กลุ่มชาวเลส่วนใหญ่  ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ขาดความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม  ทำให้ภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมกำลังจะสูญหาย
  2. ปัญหาเรื่องสุขภาวะ  ด้วยปัญหารอบด้านทำให้ชาวเลเกิดความเครียด  บางส่วนติดเหล้า  มีปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆ ตามมา
  3. ปัญหาการไร้สัญชาติ ยังมีชาวเลกว่า 400 คนที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะ ชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์  จ.พังงา  เกาะเหลา  เกาะช้าง  เกาะพยาม  จ.ระนอง

 

ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลกล่าวด้วยว่า  เนื่องจากปัญหาชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานานและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง  ทำให้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาไม่อาจจะแก้ปัญหาได้โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 เพียงอย่างเดียว  

 

“ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และเอื้อต่อการแก้ปัญหาที่สั่งสมมานาน  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามนโยบายรัฐบาล  โดยในขณะนี้ภาคีเครือข่าย  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เครือข่ายชาวเล  และพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด พระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  ซึ่งการจัดงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลในครั้งนี้ได้มีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดของชาวเลเพื่อนำมาบรรจุในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย”  ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลกล่าว

 

พ.ร.บ. ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ : กฎหมายเร่งด่วน 1 ใน 16 ฉบับของรัฐบาล

นายอภินันท์  ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะคณะทำงานจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  กล่าวว่า  การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์  โดยรัฐบาล
ได้จัดความสำคัญให้เป็นกฎหมายเร่งด่วน
16 ฉบับที่ต้องจัดทำให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งกำหนดไว้ในเอกสารภาคผนวกคำแถลงนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560  และมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

 

 การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.

 

นายอภินันท์กล่าวด้วยว่า  การผลักดันให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจากความต้องการของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการยกระดับแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 3 สิงหาคม 2553 ขึ้นเป็น พ.ร.บ. ซึ่งมีความพยายามในการผลักดันตั้งแต่ปี 2559  

 

ส่วนความสำคัญที่ต้องมี พ.ร.บ. ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ประกอบด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก  ประเทศไทยมีชาติพันธุ์มากกว่า 70 กลุ่มชาติพันธุ์  มีประชากรรวมประมาณ 6.1 ล้านคน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรประเทศ  แต่ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยต่างเผชิญกับปัญหาการถูกละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน  ด้วยอคติที่ถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าวไม่ใช่คนไทย  ทั้งที่จริงแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ต่างอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมาเป็นเวลาช้านาน  การถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่าไม้  ด้วยความไม่เข้าใจในวิถีเกษตรกรรมและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์               

 

ปัญหาการขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน  ปัญหาการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในฐานะพลเมือง เพราะยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ยังได้รับสัญชาติ  การตั้งถิ่นฐานในถิ่นทุรกันดารที่ไม่ได้รับการพัฒนาก็ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐที่พึ่งได้รับตามสิทธิพื้นฐานในฐานะพลเมือง

 

“ที่สำคัญไปกว่านั้นปัญหาสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์คือการสูญเสียอัตลักษณ์และภูมิปัญญา อันเป็นต้นทุนสำคัญในการพึ่งพาตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์  ทำให้ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธ์ต้องสูญเสียศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ดังนั้นการมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยส่งเสริม

ศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ” นายอภินันท์กล่าว

 

 

ประการที่สอง การมี พ.ร.บ. ส่งเสริมและอนุรักษ์สวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้เพราะ พ.ร.บ. ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ที่ระบุว่า “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน  ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย” 

 

ประการที่สาม การมี พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการดำเนินการตามพันธสัญญาระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันไว้ อาทิสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมหลายฉบับ  ส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights - ICESCR) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - CERD)   นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples - UNDRIP) อีกด้วย

 

ชาวมันนิ (ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าภาคใต้/ไม่ควรเรียกว่า ‘เงาะป่า’ หรือ ‘ซาไก’ เพราะถือเป็นการดูถูก) จาก จ.พัทลุงมาร่วมงานชาวเล

 

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

1.การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์  พ.ร.บ.ฉบับนี้ยืนยันในหลักการที่ไม่ได้ให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มชาติพันธุ์  หากแต่มุ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะเป็นกลุ่มคนด้อยสิทธิและยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ  ดังนั้น พ.ร.บ. จึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมอันเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน  โดยให้ความคุ้มครอง  เช่น  (1)การได้รับการดูแลและไม่ถูกเกลียดชัง เหยียดหยามหรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม  (2) การอนุรักษ์ภูมิปัญญาหรือความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต และความเชื่อตามจารีตประเพณี  (3) การจัดการชุมชนและพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

(4) การจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนของชุมชน  (5) การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในโครงการ กิจกรรมหรือกิจการของรัฐหรือเอกชนที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตหรือชุมชน  (6) การเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการบริการสาธารณะของรัฐ

2.การสร้างกลไกเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ร.บ ฉบับนี้ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องมีกลไกของรัฐที่จะเข้ามารับผิดชอบแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง  เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความเปราะบางและละเอียดอ่อน  จึงออกแบบให้มีกลไกคณะกรรมการระดับชาติ  เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ภายใต้  “คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  และสร้างกลไกการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติในรูปแบบของคณกรรมการระดับจังหวัด  ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรม

 

 บรรยากาศเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.

 

3.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในการจัดการตนเอง  พ.ร.บ.ฉบับนี้ยึดหลักการสำคัญที่มุ่งส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความสามารถที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการตนเองบนฐานภูมิปัญญาวัฒนธรรม จึงได้ออกแบบให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปแบบของสมัชชาชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะประกอบด้วยผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่เลิอกกันเองเพื่อเป็นสมาชิกสมัชชา โดยมีหน้าที่ดังนี้

(1) เป็นศูนย์กลางในการประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์  (2) ส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์อนุรักษ์หรือฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษา  (3) เสนอนโยบาย มาตรการคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการ   (4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการจัดการการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือความหลากหลายทางชีวภาพที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน  (4) เผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มชาติพันธุ์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน  (5) สนับสนุนการจัดทำข้อมูลและบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์  ฯลฯ

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย ให้สมาชิกสมัชชาเลือกสมาชิกจำนวนหนึ่งเป็น “คณะกรรมการบริหารสมัชชา”

4.การจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 70 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็มีวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำฐานข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์  โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้  

(1) เพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  (2) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกฎหมายในการรับรองสถานะบุคคล  (3) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีกลุ่มชาติพันธุ์  (4) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการประกาศและเพิกถอนเขตพื้นที่ที่มีกฎหมายกำหนดเพื่อการอนุรักษ์หรือการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การผังเมือง  และการดำเนินกิจการอื่นของรัฐที่กระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

5.การกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หัวใจสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ  การกำหนดให้มีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีแนวคิดมากจากการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ อันเป็นความพยายามของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ในการผลักดันให้มีการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงวิถีชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมอย่างสมดุลกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ โดยกำหนดให้ให้ชุมชนจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  และเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

 

ทั้งนี้ในการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  ให้มีคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บริหารจัดการ   โดยมีหน้าที่สำคัญในการจัดทำธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์   ประกอบด้วย  สิทธิและหน้าที่ของประชาชนในพื้นที่ทำกิน  พื้นที่อยู่อาศัย  พื้นที่วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ  และพื้นที่สงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การทำนุบำรุงรักษาสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและภาษา  มาตรการบังคับใช้ธรรมนูญ ในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  โดยต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแผนแม่บทที่เสนอต่อคณะกรรมการ

 

 บรรยากาศเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.

 

นายอภินันท์  ธรรมเสนา  คณะทำงานจัดทำร่าง พ.ร.บ. กล่าวว่า  ในการจัดงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลในครั้งนี้  คณะทำงานได้จัดเวทีชี้แจงความเป็นมาและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้  รวมทั้งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวเล  โดยชาวเลได้นำเสนอปัญหาต่าง ๆ เช่น  ด้านที่ดินที่อยู่อาศัย  ที่ทำกิน  ผลกระทบจากการท่องเที่ยว  การประกาศเขตอุทยานทางทะเลทำให้กระทบต่ออาชีพประมง  ปัญหาด้านการศึกษา  การรักษาพยาบาล  ฯลฯ  ซึ่งคณะทำงานจะนำข้อมูลไปประกอบการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับสมบูรณ์  และจะจัดเวทีในลักษณะนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อีก 10 แห่งทั่วประเทศ

“ตามแผนงานคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2564  ร่าง พ.ร.บ.ฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จ  และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ  หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา  เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป  และคาดว่าภายในปี 2565  พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จะประกาศใช้ได้”  นายอภินันท์กล่าวในตอนท้าย

            

ปฏิญญาหลีเป๊ะ :  “เพื่ออนาคตของลูกหลาน ที่มีศักดิ์ศรี  มีสิทธิ์  มีความเสมอภาค” 

การจัดงาน ‘รวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11’ ที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล  ในวันสุดท้าย (29 พ.ย.) เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  ร่วมกับพี่น้องชาวมันนิ (ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าภาคใต้/ไม่ควรเรียกว่า ‘เงาะป่า’ หรือ ‘ซาไก’ เพราะถือเป็นการดูถูก) และผู้แทนชาวกะเหรี่ยงจากภาคเหนือที่มาร่วมงาน  ร่วมกันประกาศ ‘ปฏิญญาหลีเป๊ะ’  มีเนื้อหาว่า...

“ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่อย่างหลากหลาย  ตั้งแต่ภูเขา จรดทะเล ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า  พวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ ได้บุกเบิกอาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินนี้มาแต่เดิม ก่อนมีการกำหนดอาณาเขตประเทศไทย

พวกเรากลุ่มชาติพันธุ์  มีวิถีเรียบง่าย  สอดคล้องกับระบบธรรมชาติที่เราอยู่อาศัย  สร้างขนบธรรมเนียม ภูมิปัญญา ความเชื่อ  ภาษา วัฒนธรรม  ที่เป็นอัตลักษณ์ของเราเอง  และปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

แต่ความเจริญที่ถาโถมเข้ามา  พร้อมกับนโยบายต่างๆ ของรัฐ  เช่น  การส่งเสริมการท่องเที่ยว  การส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงพานิชย์  รวมทั้งการประกาศเขตอนุรักษ์  สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้พวกเราไม่มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย  ที่ทำกิน  และพื้นที่ทางจิตวิญญาญเท่านั้น  แต่ยังทำให้อัตลักษณ์ของพวกเราสั่นคลอนไปด้วย  และจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันท่วงที

10 ปีของการมีมติคณะรัฐมนตรีในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล  มีปัญหาบางประการที่คลี่คลายไป  แต่มีอีกหลายประการที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข  เพราะปัญหาของพวกเราเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน  หลายกระทรวง

ในขณะที่พวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ได้ตระหนักถึงปัญหาข้างต้น จึงได้รวมตัวกันทั้งระดับชุมชนเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย  ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาระดับนโยบายอย่างต่อเนื่อง 

พวกเราจึงขอให้ปฏิญญาว่า จะร่วมกันทำงาน  ประสานพี่ประสานน้อง  เฉกเช่นที่ได้ทำมาต่อไปอย่างเข้มแข็งมากขึ้น และจะร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้สำเร็จ  มีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ.2565 ทั้งนี้เพื่ออนาคตของลูกหลาน ที่มีศักดิ์ศรี  มีสิทธิ์  มีความเสมอภาค  มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ดำรงวิถีชีวิตภายใต้ประเพณี  ภาษา  วัฒนธรรม  ภูมิปัญญาและความเชื่ออันเป็นอัตลักษณ์ของเราได้อย่างมั่นคงยั่งยืน”


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"