โควิดจ่อถล่มไทยทางภาคเหนือ พบผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 รายมาจากเมียนมา เปิดไทม์ไลน์ เชียงใหม่-เชียงราย โดนหางเลข เร่งติดตามผู้สัมผัส 326 ราย ทำความสะอาดบาร์โฮสต์ ส่วนฝั่งท่าขี้เหล็กอ่วม ป่วยรวดเดียว 15 คน กองกำลังผาเมืองคุมเข้มชายแดน เพิ่มไฟส่องสว่าง กล้อง CCTV โดรน หวั่นเล็ดลอด
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันที่ 28 พฤศจิกายนว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 5 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และพบในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ทุกรายเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ประกอบด้วย อินเดีย 1 ราย, ฟิลิปปินส์ 1 ราย และสวีเดน 1 ราย ส่วนอีก 1 รายมาจากเมียนมา เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่ได้เข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ซึ่งวันนี้มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 8 ราย
ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,966 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 2,454 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 1,512 ราย และผู้ป่วยที่ตรวจพบในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 1,004 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 8 ราย รวมเป็น 3,798 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 108 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 60 ราย
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 61,980,023 ราย รักษาหายแล้ว 42,784,315 ราย เสียชีวิต 1,448,928 ราย ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศ วันเดียวกันนี้ จำนวน 916 ราย จาก 14 เที่ยวบิน อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 13,454,254 ราย 2.อินเดีย จำนวน 9,351,224 ราย 3.บราซิล จำนวน 6,238,350 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 2,215,533 ราย 5.ฝรั่งเศส จำนวน 2,196,119 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 151 จำนวน 3,966 ราย
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป และ นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวในรายละเอียดกรณีผู้ป่วยจากประเทศเมียนมา
นพ.โสภณกล่าวว่า จากการสอบสวนโรค ที่เป็นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ และกองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 1 จ.เชียงใหม่ ข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 12.00 น. ของวันนี้คือ หญิงไทย อายุ 29 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยประวัติที่ได้จากการสอบสวนอย่างรวดเร็วเบื้องต้นดังนี้ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.-23 พ.ย. อยู่ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการป่วยด้วยอาการไข้ ถ่ายเหลว จมูกไม่ได้กลิ่น
ผู้สัมผัส 326 ราย
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ยังมีอาการไข้ ไอ ปวดศีรษะ เวลา 05.00 น. เดินทางจากเมียนมาเข้าแม่สาย จ.เชียงราย ด้วยรถตู้สาธารณะ เวลา 11.00 น. เดินทางจากเชียงรายมาเชียงใหม่ด้วยรถบัสประจำทาง เวลา 14.51 น. เดินทางถึงเชียงใหม่ ใช้บริการ Grab Car 1 คันกลับคอนโดฯ ของผู้ป่วย
ช่วงกลางคืนใช้บริการรถ Grab Car 2 ไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่งย่านสันติธรรมกับเพื่อน 2 คน มีการสูบบุรี่ร่วมกัน เวลา 02.00 น. เข้าพักค้างคืนที่คอนโดฯ แห่งหนึ่งของเพื่อนที่มาจากสถานบันเทิงด้วยกัน พร้อมกับเพื่อนคนที่ 1 และมีเพื่อนคนที่ 2 และคนที่ 3 ซึ่งพักอยู่ในห้องใกล้กันตรงข้ามกันเข้ามาร่วมดื่มสุรา
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. เวลา 12.00 น. ออกจากคอนโดฯ ของเพื่อน ใช้บริการ Grab Car 3 เวลา 13.00 น. เดินทางกลับถึงคอนโดฯ ที่พักของผู้ป่วย เวลา 15.30-20.30 น. ใช้บริการรถ Grab Car 4 ไปห้างสรรพสินค้าและอยู่ในห้าง โดยมีกิจกรรมคือ ชมภาพยนตร์ ทานอาหาร และเดินซื้อของ โดยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้ป่วยสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่ตลอด และได้เรียก Grab Car 5 กลับคอนโดฯ
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. เวลา 15.30 น. ใช้บริการ Grab Car 4 เพื่อไปตรวจที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ มีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น และถ่ายเหลว อุณหภูมิร่างกาย 36.9 เซลเซียส ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เวลา 22.00 น. ส่งต่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่ รพ.นครพิงค์
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ผลตรวจยืนยันพบเชื้อ ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค สสจ.เชียงใหม่ และ สคร.1 ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรค
เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสอบสวนโรค ติดตามผู้สัมผัส ปรากฏว่าได้จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงทั้งหมด 326 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 105 ราย, อยู่ในชุมนุม 65 ราย ประกอบด้วย คอนโดฯ ผู้ป่วย, คอนโดฯ เพื่อน, สถานบันเทิง, ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังมีผู้สัมผัสในยานพาหนะ 40 ราย แบ่งเป็น เชียงราย 35 ราย ผู้ที่เดินทางข้ามแดนด้วยกัน, รถตู้, รถบัส, คนขับแกร็บ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 149 ราย ประกอบด้วยชุมชน 140 คนคือ ในคอนโดฯ, ห้างสรรพสินค้า รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ 9 ราย และผู้สัมผัสอื่นๆ ในชุมชน 72 ราย
พบจำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงทั้งหมด 326 ราย แบ่งเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 105 ราย, ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 149 ราย และผู้สัมผัสอื่นๆ ในชุมชน 72 ราย
ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา เกิดกรณีเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เช่น 1.การค้นพบผู้ขนส่งชาวเมียนมา ติดเชื้อบริเวณชายแดนแม่สอด 2.หญิงฝรั่งเศสที่ติดเชื้อจากการปนเปื้อนเชื้อในสถานการณ์กักกันโรค ซึ่งจะต้องเข้าไปตรวจสอบ 3.การลักลอบเข้าเมืองของชาวเมียนมา ที่มีการกลับคำให้การจากเดิมบอกว่ามาจากแม่สอด แต่ข้อมูลจริงคือมาจากมาเลเซีย 4.ชายชาวอินเดีย ที่ตรวจพบเชื้อจากการตรวจร่างกายเพื่อทำใบ Work Permit ใน จ.กระบี่ ซึ่งเป็นการติดเชื้อมานานแล้ว แต่เพิ่งตรวจพบเชื้อ 5.ทหารเกาหลี ที่เดินทางเข้าไทยเพื่อมาร่วมฝึกอบรม 6.รัฐมนตรีจากประเทศฮังการี 7.ทูตประเทศฮังการีประจำประเทศไทย 8.การพบชาวเมียนมา ในศูนย์พักพิงอุ้มเปี้ยม จ.ตาก และ 9.หญิงไทย อายุ 17 ปี ที่มีผู้ปกครองเป็นชาวไทยและเมียนมา ป่วยเป็นโรค SLD โดยลักลอบเข้าประเทศไทย
ทำความสะอาดบาร์โฮสต์
“ดังนั้น วัตถุประสงค์ในการควบคุมโรคคือ 1.ยืนยันว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นการติดเชื้อโควิด-19 จริง 2.หาสาเหตุว่าติดมาจากที่ใด และ 3.เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นการแพร่กระจายให้ผู้อื่น แต่ในบางรายอาจจะให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จึงต้องมีการสอบสวนเพื่อให้เกิดความมั่นใจและให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงเป็นบทเรียนและประสบการณ์ในการป้องกันในครั้งต่อไป ทั้งนี้ การสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก การใช้กล้องวงจรปิดช่วยสอบสวนโรคได้อย่างดี รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ ที่จะทำให้ทราบข้อมูลการเข้า-ออก” นพ.โอภาสกล่าว
นายณัฐฐ์ชูเดช วิริยดิลกธรรม รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และนายดนัย สารพฤกษ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสาธารณสุข เทศบาลนครเชียงใหม่ นำเจ้าหน้าที่เข้าฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่บาร์โฮสต์แห่งหนึ่งย่านสันติธรรม ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ สถานบันเทิงที่หญิงสาว อายุ 29 ปี ที่ถูกระบุว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เดินทางมาเที่ยวเมื่อคืนวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนจะมีอาการไม่ได้กลิ่นและปวดเมื่อยตัว จึงเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง กระทั่งผลตรวจเป็นบวก จึงถูกพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครพิงค์
สถานบันเทิงดังกล่าวตั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 2 คูหา เป็นระบบห้องปรับอากาศทั้งหมด เจ้าหน้าที่ต้องสวมชุดพีพีอี พร้อมนำน้ำยาเข้าไปฉีดพ่นภายในสถานบริการบริเวณชั้น 1 ทั้งในห้องน้ำ ห้องครัว และโซฟาที่นั่ง ขณะเดียวกันพบว่าทีมสอบสวนโรค จากสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้เดินทางมาเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งของพนักงานบาร์โฮสดังกล่าว เพื่อส่งตรวจค้นหาเชื้อโควิด-19
จากการสอบถามชายที่เป็นผู้ดูแลบาร์โฮสต์แห่งนี้ ทราบว่ามีพนักงานทั้งหมด 40 คน วันนี้เจ้าหน้าที่เดินทางมาเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งส่งตรวจแล้วทั้งหมด รอเพียงผลตรวจเท่านั้น เบื้องต้นไม่รู้สึกกังวลอะไร เพราะหลังหญิงสาวที่ถูกระบุว่าติดเชื้อโควิด-19 เดินทางมาเที่ยวเมื่อคืนวันที่ 24 พฤศจิกายนแล้ว วันต่อมาก็ปิดให้บริการทันที?
ท่าขี้เหล็กเจอ 15 รายรวด
ด้านนายดนัย สารพฤกษ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสาธารณสุข เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวว่า นำเจ้าหน้าที่มาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังทราบว่าการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาของสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่ามีความเสี่ยง เทศบาลจึงต้องเร่งดำเนินการ ส่วนจุดเสี่ยงอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องรอแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ทั้งนี้ เทศบาลได้ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ทราบและลงพื้นที่ดำเนินการทันทีหลังทราบข่าว สำหรับการสั่งปิดพื้นที่ที่มีความเสี่ยง จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง ซึ่งมีการประชุมกันอยู่ทุกวัน หากพบพื้นที่ใดเสี่ยงสูง ก็จะพิจารณาและออกประกาศกันอีกครั้ง
ที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ได้สรุปผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 มียอดผู้ติดเชื้อใน จ.ท่าขี้เหล็ก จำนวน 15 ราย ทั้งหมดรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลท่าขี้เหล็ก เจ้าหน้าที่ได้มีการตั้งจุดตรวจ การสวมใส่หน้ากากอนามัยทั่วเมืองท่าขี้เหล็กอย่างเข้มงวด ทำให้การเดินทางจากนอกพื้นที่เข้าไปยังตัวเมืองจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองและกักตัวเพื่อดูอาการ 21 วัน ที่ศูนย์กักกันโควิค-19 พร้อมทั้งได้มีการสั่งให้มีการเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดให้ร้านค้าและสถานบริการให้ปิดร้านตั้งแต่เวลา 18.00 น. พร้อมประกาศเคอร์ฟิว ห้ามนอกเคหสถานเวลา 00.00-04.00 น.
ทางด้านสถานการณ์การลักลอบหลบหนีเข้าเมืองในพื้นที่ชายแดนด้าน จ.เชียงราย ซึ่งมีแนวชายแดนที่เป็นช่องทางธรรมชาติ ติดต่อกับประเทศเมียนมา ทางด้าน อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน ทางหน่อยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง ได้มีการจัดกำลังลาดตระเวนยามพื้นที่ชายแดนเพื่อป้องกันการลักลอบข้ามพรมแดน โดยสามารถจับผู้ลักลอบเข้าเมืองได้อย่างต่อเนื่อง และได้ส่งตัวไปยังสถานกักกันโรค ก่อนจะทำการผลักดันออกนอกประเทศ
พ.อ.สัมฤทธิ์ ฉัตรวัฒนาสกุล ผบ.ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง กล่าวว่า ในส่วนของกำลังทหารในพื้นที่ชายแดน ได้มีการเพิ่มกำลังในการลาดตระเวน รวมไปถึงเพิ่มอุปกรณ์ในการป้องกันการลักลอบเข้าเมือง ทั้งการเพิ่มไฟส่องสว่างในจุดต่างๆ การติดกล้อง CCTV ตลอดแนวชายแดน พร้อมทั้งใช้โดรนในการตรวจตรา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และการสกัดกั้นการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด 19 เข้ามาในประเทศไทย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |